เอนไซม์อินดิวเซอร์ (Enzyme inducer drugs)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

การใช้ยาต่างได้อย่างปลอดภัย และผู้ป่วยได้รับประสิทธิภาพสูงสุดจากยา สิ่งที่ควรต้องคำนึงถึง คือ การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา และการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา(Drug interaction)ต่างๆที่ผู้ป่วยกำลังได้รับอยู่ร่วมกัน พบว่า การใช้ยาหลายชนิดร่วมกันโดยปราศจากความระมัดระวังหรือขาดความตระหนักถึงอันตรกิริยาระหว่างยา/ปฏิกิริยาระหว่างยา อาจเป็นสาเหตุของการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่รุนแรงได้

เพื่อป้องกันเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาหลายชนิด แพทย์จะคำนึงถึงการสั่งใช้ยาชนิดต่างๆในผู้ป่วยที่มีรายการยาหลายตัว และผู้ป่วยเองควรต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกรถึงการใช้ยาต่างๆ ผู้ป่วยควรให้การระมัดระวังการซื้อยารับประทานเอง รวมถึงผู้ป่วยที่มีรายการยาหลายตัว ควรต้องระมัดระวังปฏิกิริยาระหว่างยา และควรต้องทำบันทึกรายการยาที่ตนเองกำลังได้รับอยู่ เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารเรื่องยากับ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรกรณีที่มีการพบแพทย์หลายสาขา เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยาซ้ำซ้อน อีกทั้งลดโอกาสการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา

ในบางครั้ง ปฏิกิริยาระหว่างยา อาจส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงจากอาการไม่พึงประสงค์จากยามากจนเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ในทางตรงข้าม ปฏิกิริยาระหว่างยาบางชนิดอาจทำให้ระดับยาในเลือดของยาที่ใช้ร่วมกันอยู่ลดลงจนทำให้มีค่าต่ำกว่าระดับการรักษาจนเป็นที่มาของการเกิดความล้มเหลวในการรักษาได้จากระดับยาไม่เพียงพอต่อการรักษา

ดังนั้น ก่อนที่จะมีการสั่งยาชนิดใดๆก็ตามให้แก่ผู้ป่วยที่มียาเดิมหลายชนิด แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร จำเป็นต้องตรวจสอบโอกาสในการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพจากการใช้ยาต่างๆ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยกำลังได้รับยาที่มีคุณสมบัติในการกระตุ้นหรือยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีหน้าที่ในการทำลายยาเพื่อขับออกจากร่างกาย

ไซโตโครมพี 450คืออะไร?

เอนไซม์อินดิวเซอร์

สาเหตุของการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้นั้น เป็นผลมาจากเอนไซม์ไซโตโครมพี 450 (Cytochrome P450) หรือย่อว่า CYP450 หรือที่เรียกทั่วไปว่า “เอนไซม์ซิพ” ซึ่งเป็นเอนไซม์(Enzyme)ในร่างกายที่มีหน้าที่เปลี่ยนแปลงสภาพยา(Drug metabolism) และทำให้ยาส่วนใหญ่ที่ผู้ป่วยได้รับนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเพื่อให้ยาดังกล่าวพร้อมถูกขับออกจากร่างกายไป

“กระบวนการเปลี่ยนสภาพยา(Drug metabolism)” เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในคนแต่ละเชื้อชาติ อายุ สภาวะของร่างกาย และยังพบว่าเอนไซม์ไซโตโครมพี 450 นี้สามารถถูกเหนี่ยวนำให้ทำงานได้มากกว่าปกติ(Enzyme inducer drugs) หรือถูกยับยั้งให้ทำงานลดน้อยลง(Enzyme inhibitor drugs)ได้โดยยาชนิดอื่นๆที่ใช้ร่วมกัน และ/หรือ กับอาหาร และ/หรือเครื่องดื่มบางชนิดที่ผู้ป่วยกำลังได้รับร่วมอยู่ได้

ปัจจุบัน เอนไซม์ไซโตโครมพี 450 (Cytochrome P450) หรือ CYP450 ในร่างกายมนุษย์ไม่ใช่เอนไซม์เดี่ยว แต่เป็นกลุ่มของเอนไซม์เดี่ยวหลายๆชนิด โดยเอนไซม์นี้ที่มีความเหมือนกันของโปรตีนจะอยู่ในกลุ่มย่อย (Families) เดียวกัน และถ้าหากมีหน่วยย่อยของโปรตีนที่เรียกว่า กรดอะมิโนที่มีความเหมือนกัน จะถูกรวมไว้ในแขนงกลุ่มย่อยเดียวกัน(Subfamilies)

เนื่องจากเอนไซม์ไซโตโครมพี 450 มีหลายชนิด จึงมีการตั้งชื่อเพื่อใช้เรียกและสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน โดยการกำหนดให้ใช้คำว่า CYP (ซิพ) แทน ไซโตโครมพี 450 (Cytochrome P450) จากนั้นตามด้วยตัวเลข 1,2,3... เพื่อแสดงความเหมือนกันในกลุ่มย่อย (Families) จากนั้นจึงตามด้วยอักษรภาษาอังกฤษ A, B, C,.... เพื่อแสดงความเหมือนกันในแขนงกลุ่มย่อย (Subfamilies) ต่อมาจึงตามด้วยตัวเลข 1,2,3,... เพื่อแสดงความเป็นเอนไซม์เดี่ยวแต่ละชนิด เช่น CYP3A4 หมายถึง เอนไซม์ไซโตโครมพี 450 (Cytochrome P450) กลุ่มย่อย (Families) ที่ 3, แขนงกลุ่มย่อย (Subfamilies) A และเป็นเอนไซม์ตัวที่้ 4 หรือ CYP2C9 หมายถึง เอนไซม์ไซโตโครมพี 450 (Cytochrome P450) กลุ่มย่อยที่ 2, แขนงกลุ่มย่อย C และเป็นเอนไซม์ตัวที่้ 9

เอนไซม์ไซโตโครมพี 450 เป็นเอนไซม์ในร่างกายที่พบได้ที่อวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต ผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ปอด สมอง เป็นต้น แต่พบมากที่สุดที่ตับ มีหน้าที่ในกระบวนการสร้างสารสเตียรอยด์จากไขมันคอเลสเตอรอล และยังทำหน้าที่ในกระบวนการเปลี่ยนสภาพยา(Drug metabolism) โดยจะมียาหลากหลายชนิดที่จะถูกเปลี่ยนสภาพโดยเอนไซม์ซิพ (CYP)ตามแต่ละชนิด

พบว่า ร่างกายมนุษย์จะมีเอนไซม์ในกลุ่ม CYP3A4 เป็นจำนวนมากที่สุด โดยจะพบว่ามีที่ตับร้อยละ 35(35%) และที่ลำไส้เล็กร้อยละ 82(82%) โดยพบว่า CYP3A4 เป็นเอนไซม์ซิพที่สามารถทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสภาพยาได้มากชนิดที่สุดในร่างกาย คือ ร้อยละ 50(50%) และรองลงมา คือ CYP2D6 สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพยาได้ ร้อยละ 30(30%)

ในการเปลี่ยนแปลงสภาพยาชนิดหนึ่งๆเพื่อให้ยาอยู่ในสภาพที่ไม่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพร้อมจะถูกขับออกจากร่างกายนั้น ยาชนิดนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยใช้เอนไซม์ซิพ (CYP) หลากหลายชนิดในกระบวนการดังกล่าว ขณะเดียวกันหากมีการใช้ยาร่วมกันหลายๆชนิดมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป จะมีโอกาสที่ยาที่ใช้ร่วมกันนั้นจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาต่อกันได้ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป หัวข้อ “ปฏิกิริยาระหว่างยา”)

ปฏิกิริยาระหว่างยาคืออะไร?

เมื่อมีการใช้ยาต่างๆร่วมกันหลายๆชนิดที่มากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพยา(Drug metabolism) เพื่อให้ยาหมดฤทธิ์และพร้อมถูกขับออกจากร่างกาย กระบวนการขับยาออกจากร่างกายต้องอาศัยเอนไซม์ซิพ (CYP) เป็นตัวเปลี่ยนแปลงฤทธิ์ของยาให้หมดฤทธิ์และพร้อมที่จะถูกขับออกจากร่างกาย ขณะเดียวกันโอกาสที่ยาต่างๆที่ผู้ป่วยกำลังได้รับร่วมกันอยู่นั้น อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างกันได้ซึ่งเรียกว่า “ปฏิกิริยาระหว่างยา(Drug interaction)” ซึ่งเมื่อใช้ยาร่วมกันหลายชนิด โอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาก็จะเกิดเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ปฏิกิริยาระหว่างยาที่สามารถเกิดขึ้นได้ มี 2 แบบ ดังนี้

ก. แบบที่ 1 เรียกว่า เอนไซม์ถูกเหนี่ยวนำให้ทำงานมากขึ้น (Enzyme induction): พบว่า เอนไซม์ซิพ (CYP) บางชนิดจะถูกเหนี่ยวนำโดยยาบางชนิดที่เรียกว่า “Enzyme inducer drugs” ให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ มีผลทำให้เอนไซม์ซิพ ทำงานในการเปลี่ยนแปลง”ยาอื่นๆ”ที่รับประทานร่วมด้วยได้มากขึ้น ดังนั้น”ยาอื่นๆ”จะถูกกำจัดออกจากร่างกายได้มากขึ้น “ยาอื่นๆ”จึงคงเหลืออยู่ในร่างกายลดลงจนประสิทธิภาพในการรักษาลดลงเมื่อมีการใช้”ยาอื่นๆ”ดังกล่าว ร่วมกันยาที่มีความสามารถเหนี่ยวนำให้เอนไซม์ซิพทำงานได้มากขึ้น

ข. แบบที่ 2 เรียกว่า เอนไซม์ถูกเหนี่ยวนำให้ทำงานน้อยลง (Enzyme inhibition): พบว่า เอนไซม์ซิพ (CYP) บางชนิดจะถูกเหนี่ยวนำให้มีปริมาณลดต่ำลงกว่าปกติจากยาบางชนิด มีผลทำให้เอนไซม์ซิพ ทำงานในการเปลี่ยนแปลง”ยาอื่นๆ”ที่ใช้ร่วมกันได้ลดลง ดังนั้น”ยาอื่นๆ”ที่ถูกกำจัดผ่านเอนไซม์ซิพจะถูกกำจัดได้ลดลง “ยาอื่นๆ"จึงคงเหลืออยู่ในร่างกายมากขึ้นจนเกิดการะสะสมของ”ยาอื่นๆ” จนอาจเกิดความ เป็นพิษ/ผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ เมื่อมีการใช้”ยาอื่นๆ”ดังกล่าว ร่วมกันยาที่มีความสามารถเหนี่ยวนำให้เอนไซม์ซิพทำงานได้น้อยลงที่เรียกยาในกลุ่มนี้ว่า “Enzyme inhibitor drugs”

อนึ่ง บทความนี้ จะกล่าวถึงคุณสมบัติและรายการยากลุ่มเอนไซม์อินดิวเซอร์ (Enzyme inducers หรือ Enzyme inducer drugs)เท่านั้น ส่วน ยา Enzyme inhibitor drugs ได้แยกเขียนเป็นอีกบทความในเว็บ haamor.com บทความชื่อ “Enzyme inhibitor drugs”

ยากลุ่มเอนไซม์อินดิวเซอร์คืออะไร?

ภาวะเอนไซม์ซิพที่ใช้ในการเปลี่ยนสภาพยาและถูกเหนี่ยวนำให้ทำงานได้มากขึ้น (Enzyme induction)เกิดขึ้นได้จากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) ซึ่งกลไกของปฏิกิริยาระหว่างยาเกิดขึ้นโดยยานั้นๆและ/หรือสารบางชนิดที่ผู้ป่วยได้รับข้าสู่ร่างกาย ไปส่งผลกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ซิพ (CYP)บางชนิดให้ทำงานเพิ่มขึ้น โดยเรียก “ยาหรือสารที่มีคุณสมบัติในการเหนี่ยวนำการทำงานของเอนไซม์ซิพให้ทำงานได้มากกว่าปกติว่ายากลุ่มเอนไซม์อินดิวเซอร์ (Enzyme inducer หรือ Enzyme inducer drugs)”

ยากลุ่มเอนไซม์อินดิวเซอร์/ยาเอนไซม์อินดิวเซอร์ มีคุณสมบัติ คือ เมื่อยาเอนไซม์อินดิวเซอร์เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเหนี่ยวนำเอนไซม์ซิพ (CYP) บางชนิดในร่างกายให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ผลที่เกิดขึ้น คือ ระดับของ”ยาอื่นๆ”อีกชนิดหนึ่งในเลือดที่ใช้ร่วมกัน จะมีระดับลดลง อันเป็นผลมาจาก “ยาอื่นๆ”นั้นถูกทำลายเพิ่มขึ้นจากเอนไซม์ซิพที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นภายหลังถูกกระตุ้นให้สร้างมากขึ้นจากยากลุ่มเอนไซม์อินดิวเซอร์

โดยทั่วไปแล้ว การที่เอนไซม์ซิพถูกเหนี่ยวนำให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในร่างกาย จะต้องใช้ระยะเวลา อาจใช้ระยะเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวันหลังจากร่างกายได้รับยาเอนไซม์อินดิวเซอร์ โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาที่มีคุณสมบัติเป็นเอนไซม์อินดิวเซอร์ติดต่อกัน (Chronic exposure)เป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงจะส่งผลให้ฤทธิ์เอนไซม์ซิพถูกสร้างเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ป่วยวัณโรคต้องใช้ยาไรแฟมปิซิน (Rifampicin) รักษาวัณโรค เป็นระยะเวลาติดต่อกันประมาณ 6 เดือน หรือ ผู้ป่วยโรคลมชักต้องได้รับยาฟิโนบาบิทาล(Phenobarbital) รักษาอาการลมชักเป็นเวลาตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม หลังการได้รับยาเอนไซม์อินดิวเซอร์ไประยะหนึ่ง จำนวนเอนไซม์ซิพก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นภายในร่างกาย แต่เมื่อหยุดใช้ยาที่เป็นเอนไซม์อินดิวเซอร์ ฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ซิพ ก็จะค่อยๆลดน้อยลงไปตามระยะเวลาที่ยาเอนไซม์อินดิวเซอร์ถูกขจัดออกจากร่างกาย

ตัวอย่างยาเอนไซม์อินดิวเซอร์จำแนกตามผลการกระตุ้นการทำงานของไซโตโครมพี 450ชนิดต่างๆ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาในกลุ่มเอนไซม์อินดิวเซอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และ เภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา / แพ้อาหาร / แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรหากท่านกำลังมีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังได้รับยาชนิดใดอยู่บ้าง เพราะ ยาเอนไซม์อินดิวเซอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หากเจ็บป่วยเล็กน้อย และต้องการซื้อยาเพื่อบรรเทาอาการด้วยตัวเอง ควรแจ้งเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนทุกครั้ง ว่าท่านกำลังรับประทานยาอะไรอยู่บ้าง เนื่องจาก ยาที่ท่านกำลังรับประทานอยู่ อาจมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆที่ท่านกำลังจะได้รับใหม่ได้
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจาก ยาบางตัวในกลุ่มเอนไซม์อินดิวเซอร์อาจมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ อีกทั้งยาบางชนิดสามารถขับผ่านทางน้ำนมของมารดาได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของทารกจากอาการไม่พึงประสงค์จากยาจากมารดาผ่านทางน้ำนม สุภาพสตรีควรแจ้งแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร เสมอหากกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่

มีวิธีรับประทานยากลุ่มเอนไซม์อินดิวเซอร์อย่างไร?

ตามหลักการแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยากลุ่มเอนไซม์อินดิวเซอร์ให้ตรงเวลาอย่างเคร่งครัด อาหารอาจมีผลต่อการดูดซึมยากลุ่มนี้บางชนิด ดังนั้นการรับประทานยาต่างๆรวมถึงยาเอนไซม์อินดิวเซอร์เพื่อให้ได้มีประสิทธิภาพที่ดี ผู้ป่วยควรศึกษาวิธีการรับประทานยาแต่ละชนิดก่อน โดยปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร

กรณีที่อาหารมีผลรบกวนการดูดซึมยา จะแนะนำให้รับประทานยาขณะท้องว่าง คือ ช่วงก่อนมื้ออาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือรับประทานยาหลังมื้ออาหารไปแล้วอย่างน้อยประมาณ 2 ชั่วโมง

แต่หากอาหารไม่มีผลรบกวนการดูดซึมยา ผู้ป่วยสามารถเลือกรับประทานยาได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร แต่จำเป็นต้องรับประทานยาให้ตรงเวลาตามคำแนะนำของแพทย์

กรณีลืมรับประทานยาที่มีวิธีการรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

กรณีลืมรับประทานยาที่มีวิธีการรับประทานวันละ 2 ครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ (หากห่างไม่เกิน 6 ชั่วโมง จากเวลารับประทานปกติ) แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่า 6 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ข้ามมื้อยาที่ลืมรับประทานไป จากนั้นรับประทานยานั้นในขนาดปกติต่อไป (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หรือนำยามื้อที่ลืมไปมารับประทานด้วย) และรับประทานยาในมื้อถัดๆไปในขนาดยาปกติ

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอนไซม์อินดิวเซอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอนไซม์อินดิวเซอร์ เช่น

1. ข้อควรระวังในการใช้ยากลุ่มเอนไซม์ อินดิวเซอร์ คือ อันตรกิริยาระหว่างยา/ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ เนื่องจากยาในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ซิพจึงมักทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับ”ยาอื่นๆ”ได้ง่ายเมื่อมีการใช้ยาหลายชนิดพร้อมกัน โดยอาจมีผลทำให้ระดับ”ยาอื่นๆ” มีระดับยาในร่างกายลดลงได้ เนื่องจาก เอนไซม์ซิพที่มีหน้าที่ในการทำลายยามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น จึงสามารถเปลี่ยนสภาพยาให้ไม่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาได้มากขึ้น จากกรณีนี้ จึงอาจทำให้เกิดการรักษาที่ล้มเหลวได้ หรือในบางครั้งผู้ป่วยอาจได้รับพิษของสารเคมีต่างๆ(Metabolite)ที่เพิ่มมากขึ้น ที่เกิดจาก”ยาอื่นๆ”ถูกทำลายได้

2. เฝ้าระวังอาการแพ้ยา/อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากการใช้ยาในกลุ่นเอนไซม์อินดิวเซอร์ โดยหากเกิดการผิดปกติในช่วงที่ได้รับยาชนิดใดๆก็ตาม ควรรีบปรึกษาแพทย์และเภสัชกร/ไปโรงพยาบาลด่วน/ทันที

3.ปรึกษาแพทย์ผู้รักษา หากกำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร

4.หากท่านมีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง, ของตับบกพร่อง หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ โปรดแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ที่ดูแลท่านเสมอ เพราะแพทย์อาจจำเป็นต้องปรับขนาดยากลุ่มเอนไซม์อินดิวเซอร์ตามค่าการทำงานของไตและของตับ หรืออาจต้องทำการรักษาโรคประจำตัวเดิมของท่านก่อนการเริ่มใช้ยากลุ่มเอนไซม์อินดิวเซอร์

5. แจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรเสมอว่า ท่านมียาใดบ้างที่กำลังรับประทานอยู่ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาสมุนไพรต่างๆ

สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้อย่างไร?

เป้าหมายหลักของการป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาต่างๆที่รวมถึงยาเอนไซม์อินดิวเซอร์ คือ คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยจากการใช้ยาในการบำบัดรักษาโรคหรือบำบัดรักษาความเจ็บป่วย ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงในการบริบาลทางเภสัชกรรม

ในมุมของผู้ป่วย สามารถช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา ให้บรรลุเป้าหมายได้ โดยสิ่งปฏิบัติที่ง่ายที่สุด คือ

  • ใช้ยาต่างๆเท่าที่จำเป็น
  • ไม่ใช้ยาโดยไม่มีข้อบ่งใช้
  • รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร
  • เมื่อใดก็ตามที่มีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นและจำเป็นต้องใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบเกี่ยวกับยาที่รับประทานอยู่หรือยาที่ได้รับมาก่อนแล้วทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล ยาที่ซื้อรับประทานเอง หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา

ในขณะเดียวกัน แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร จะทำการสัมภาษณ์ผู้ป่วย และ/หรือญาติผู้ดูแลผู้ป่วยเกี่ยวกับประวัติการได้รับยาทุกชนิด ตลอดจนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อตรวจสอบรายการยาที่ผู้ป่วยกำลังได้รับอยู่ว่า มีโอกาสที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้หรือไม่

นอกจากนี้ความร่วมมือของผู้ป่วยในการรับประทานยาหรือในการใช้ยาต่างๆก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิด ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย รวมทั้งสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้เช่นกัน

ควรเก็บรักษายาเอนไซม์อินดิวเซอร์อย่างไร?

แนะนำเก็บยาเอนไซม์อินดิวเซอร์ ที่อุณหภูมิห้อง ไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 30 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเก็บยาในห้องที่ร้อนจัด หรือมีความชื้นมาก เช่น ห้องที่ถูกแสงแดดส่องถึงทั้งวัน ในรถยนต์ ในห้องครัว หรือในห้องน้ำ นอกจากนี้ยังควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด หรือบริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึงตัวยาตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของยาให้มีประสิทธิภาพตลอดถึงวันสิ้นอายุของยา หากยาเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพ เช่น สี, ลักษณะเม็ดยา/สารละลายยาเปลี่ยนแปลงจากปกติ ควรทิ้งยานั้นๆไปและควรศึกษาเอกสารกำกับยาทุกครั้งในวิธีการเก็บรักษายาแต่ละชนิด เนื่องจาก ยาบางชนิดอาจจำเป็นต้องเก็บในตู้เย็น หรือมีวิธีการเก็บรักษาพิเศษ

บรรณานุกรม

  1. Jeffrey CD. Understanding and preventing drug interactions in elderly patients. Critical Reviews in Oncology/Hematology 48 (2003) 133–143
  2. Lori ES and Neli HS. Drug interactions/P450. Curr Probl Dermatol, May/June 2001.
  3. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  4. บุษบา จินดาวิจักษณ์, สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล, ปรีชา มทกานติกุล และคณะ, บรรณาธิการ. Review and Update on Drug Interactions. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด; 2553
Updated 2017,May20