เลโวโดปา (Levodopa)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 กุมภาพันธ์ 2558
- Tweet
- บทนำ
- เลโวโดปามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เลโวโดปามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เลโวโดปามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เลโวโดปามีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เลโวโดปามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เลโวโดปาอย่างไร?
- เลโวโดปามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเลโวโดปาอย่างไร?
- เลโวโดปามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- ผู้สูงอายุ (Older person)
- การดูแลผู้สูงอายุ (Elderly care)
- โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ โรคสั่นอีที (Essential tremor)
บทนำ
ยาเลโวโดปา (Levodopa) เป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่า โดพามีน (Dopamine), นอร์อีพิเนฟริน (Norepinephrine) และอีพิเนฟริน (Epinephrine) ยานี้ถูกนำไปใช้กับสัตว์ที่มีอาการโรคพาร์กินสันครั้งแรกในปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) จากนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนขนาดการใช้และพัฒนามาใช้กับมนุษย์ โดยพบว่าไม่ก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายมนุษย์แต่อย่างใด
เส้นทางการบริหาร/การใช้ยานี้กับมนุษย์มี 2 วิธีคือ การรับประทานและการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ยานี้จะอยู่ในร่างกายไม่เกิน 0.75 - 1.5 ชั่วโมงก็จะถูกกำจัดออกจากกระแสเลือดของผู้ป่วย 50% โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะเสียเป็นส่วนมาก และตัวยาเลโวโดปาสามารถซึมผ่านเข้าสมอง ผ่านรก และถูกขับออกมากับน้ำนมมารดาได้
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาเลโวโดปาลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยกำหนดให้ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Benserazide (ยารักษาโรคพาร์กินสัน) หรือ Carbidopa (ยารักษาโรคพาร์กินสัน) โดยระบุวัตถุประสงค์ของการรักษากลุ่มโรคที่มีความผิดปกติเรื่องการเคลื่อนไหวของร่างกาย ผู้ป่วยที่จะใช้ยานี้ได้ต้องได้รับการคัดกรองและการตรวจร่างกายจากประสาทแพทย์ก่อน การรับประทานยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาและ/หรือปรับขนาดการรับประทานยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด
เลโวโดปามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเลโวโดปามีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคพาร์กินสัน
เลโวโดปามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเลโวโดปาคือ ตัวยาจะเพิ่มระดับของสารสื่อประสาทโดพามีนในสมอง สารนี้จะไปกระตุ้นตัวรับ (Receptor) ซึ่งถูกเรียกว่า โดพามีน รีเซพเตอร์ (Dopamine receptor) จากกลไกดังกล่าวจะทำให้อาการของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันดีขึ้นเป็นลำดับ
เลโวโดปามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเลโวโดปามีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น
ก. ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับ Carbidopa เช่น
- Carbidopa 25 มิลลิกรัม + Levodopa 100 มิลลิกรัม
- Carbidopa 25 มิลลิกรัม + Levodopa 250 มิลลิกรัม
ข. ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับ Benserazide เช่น
- Levodopa 200 มิลลิกรัม + Benserazide base 50 มิลลิกรัม
- Levodopa 100 มิลลิกรัม + Benserazide base 25 มิลลิกรัม
ค. ยาแคปซูลที่ผสมร่วมกับ Benserazide เช่น
- Levodopa 100 มิลลิกรัม + Benserazide base 25 มิลลิกรัม
ง. ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับ Carbidopa และ Entacapone (ยารักษาโรคพาร์กินสัน) เช่น
- Carbidopa 12.5 มิลลิกรัม + Levodopa 50 มิลลิกรัม + Entacapone 200 มิลลิกรัม
- Carbidopa 25 มิลลิกรัม + Levodopa 100 มิลลิกรัม + Entacapone 200 มิลลิกรัม
- Carbidopa 37.5 มิลลิกรัม + levodopa 150 มิลลิกรัม + entacapone 200 มิลลิกรัม
- Carbidopa 50 มิลลิกรัม + levodopa 200 มิลลิกรัม + entacapone 200 มิลลิกรัม
เลโวโดปามีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเลโวโดปามีขนาดรับประทานดังนี้เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 125 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น และค่อยๆปรับเพิ่มขนาดรับ ประทานทุกๆ 3 - 7 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 8 กรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน
*อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารเพื่อลดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหารและลำไส้
- โรคพาร์กินสันเป็นโรคของผู้สูงอายุจึงไม่มีการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเลโวโดปา ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเลโวโดปาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเลโวโดปาสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
เลโวโดปามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเลโวโดปาสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการไม่สบายในกระเพาะอาหาร - ลำไส้หลังรับประทานยา และอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารติดตามมา หากใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก (แผลเปบติค) อาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ มีภาวะความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีภาวะอารมณ์ซึมเศร้าจนอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย อาจทำให้เกิดภาวะประสาทหลอน รวมถึงการตรวจเลือดอาจพบมีค่าเอนไซม์การทำงานของตับสูงขึ้นได้เล็กน้อย สามารถทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ
อาการที่ผู้ป่วยได้รับยาเกินขนาดสามารถพบอาการดังนี้เช่น มีอาการความดันโลหิตสูงในช่วงแรกๆ และติดตามมาด้วยอาการความดันโลหิตต่ำ จากนั้นจะพบอาการหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ (Sinus tachycardia) หงุดหงิด กระสับกระส่าย และนอนไม่หลับ หากพบอาการดังกล่าวควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อรักษาอาการที่เกิดขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้เลโวโดปาอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเลโวโดปาดังนี้เช่น
- ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหินชนิด Angle closure glaucoma
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Malignant melanoma)
- ไม่ควรปรับขนาดรับประทานยาหรือหยุดยานี้ด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคปอด ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคทางจิตประสาท ผู้ป่วยโรคต้อหินชนิด Open-angle glaucoma ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
- ระหว่างที่มีการใช้ยานี้ควรต้องตรวจและควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆดังนี้เช่น ตับ ไต หัวใจ ไขกระดูก รวมถึงภาวะทางจิตใจของผู้ป่วย
- ระวังเรื่องการทำงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักรหรือการขับขี่ยวดยานพาหนะด้วยผู้ป่วยที่ใช้ยานี้จะมีสมรรถนะของการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายไม่ดีเท่ากับคนปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเลโวโดปาด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เลโวโดปามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเลโวโดปามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเลโวโดปาร่วมกับยา Methyldopa ด้วยจะก่อให้เกิดพิษต่อระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง
- หากใช้ยาเลโวโดปาร่วมกับยา Metoclopramide จะก่อให้เกิดอาการของโรคพาร์กินสันรุนแรงขึ้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การรับประทานยาเลโวโดปาร่วมกับยาหลายตัวสามารถลดประสิทธิภาพของการรักษาในยากลุ่มดังกล่าว หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Phenothiazine, Butyrophenones, Thioxanthenes, Reserpine และ Papaverine
- ยาเลโวโดปาสามารถลดการดูดซึมของยากลุ่ม TCAs หากมีความจำเป็นต้องรับประทานร่วมกัน แพทย์ปรับขนาดหรือปรับช่วงเวลารับประทานยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษาเลโวโดปาอย่างไร?
ควรเก็บยาเลโวโดปาที่อุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เลโวโดปามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเลโวโดปาที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Duodopa (ดูโอโดปา) | Pond’s Chemical |
Levomed (ลีโวเมด) | Medochemie |
Levomet (ลีโวเมท) | Unison |
Madopar 250/Madopar HBS/Madopar Dispersible 125 (มาโดพาร์ 250/มาโดพาร์ เฮชบีเอส/มาโดพาร์ ดิสเพอร์ซิเบิล 125) | Roche |
Sinemet (ซายน์เมท) | M & H Manufacturing |
Stalevo (สเตลีโว) | Novartis |
Vopar (โวพาร์) | Unison |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/L-DOPA [2015, Jan 24] [2015, Jan 24]
2 http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/81#item-8565 [2015, Jan 24]
3 http://www.mims.com/USA/drug/info/levodopa/?type=full&mtype=generic#Dosage [2015, Jan 24]
4 http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=levodopa [2015, Jan 24]
5 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=levodopa [2015, Jan 24]