เลือดออกในช่องหน้าลูกตา (Hyphema)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 16 มิถุนายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- อะไรเป็นสาเหตุของการเกิดเลือดออกในช่องหน้าลูกตา?
- เลือดออกในช่องหน้าลูกตามีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์ตรวจอะไรบ้าง?
- แพทย์รักษาเลือดออกในช่องหน้าลูกตาอย่างไร?
- เลือดออกในช่องหน้าลูกตามีผลแทรกซ้อนอย่างไร?
- เลือดออกในช่องหน้าลูกตามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีเลือดออกในช่องหน้าลูกตา?
- ป้องกันเลือดออกในช่องหน้าลูกตาอย่างไร?
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- การตรวจตา การตรวจสุขภาพตา (Eye examination)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
- ยารักษาต้อหิน (Anitiglaucoma Medications)
- ความดันตาสูง(Ocular hypertension)
- ตาขี้เกียจ (Amblyopia)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
บทนำ
เลือดออกในช่องด้านหน้าของลูกตา (Hyphema) ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่มีเลือดขังอยู่ภายในช่องด้านหน้าของลูกตา (Anterior chamber, ช่องในลูกตาที่อยู่ระหว่างกระจกตาและม่านตา ภายในช่องเป็นของเหลวใส มีหน้าที่คงความดันในลูกตา, คงรูปร่างของกระจกตา, และเป็นแหล่งอาหารสำหรับกระจกตาและแก้วตา) ซึ่งถ้าเลือดมีจำนวนเล็กน้อย จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เห็นด้วยกล้องตรวจตา เรียกภาวะนี้ว่า Microscopic hyphema หรือถ้ามีเลือดมากขึ้นจนเห็นเป็นสีแดงฟุ้งกระจาย หากได้นอนพัก เลือดจะตกตะกอนลงด้านล่างเห็นเป็นแนวระ ดับ อาจเป็นแนวเล็กน้อยหรือมากขึ้นเป็น 1 ใน 4 หรือ ½ ของช่องหน้าลูกตา หรือบางรายมีเลือดมากจนเต็มช่องหน้าลูกตาแลดูเป็นสีแดงเต็มตา ในบางกรณีเลือดที่ออกมีมากและอัดกันแน่นทำให้แลดูเลือดข้นจนเป็นสีดำคล้ำ ที่ฝรั่งเรียกกันว่า “Eight ball hyphema” เนื่องจากสีดำเข้มคล้ายลูกบิลเลียดลูกที่ 8 นั่นเอง
อะไรเป็นสาเหตุของการเกิดเลือดออกในช่องหน้าลูกตา?
เลือดออกในช่องหน้าลูกตา อาจเกิดได้จาก
1. ได้รับการกระทบกระเทือนถูกกระแทกที่ตา (ไม่มีบาดแผล) ภาวะนี้พบน้อยสุดในบ้านเรา ที่พบบ่อยคือ จากหนังสติ๊ก ยิงหนังสติ๊ก แล้วยางย้อนกลับมากระแทกตา, ยางรัดของหรือเชือกที่ใช้ติดเครื่องยนต์ (Start) ที่มีการกระตุกเมื่อติดเครื่อง แล้วเชือกกลับย้อนมาตีที่ตา, ตลอดจนจากการเล่นกีฬา เช่น ถูกลูกขนไก่ ลูกปิงปอง เข้าที่ตา ซึ่งการที่ตาถูกอัดด้านหน้าเข้าสู่ด้านหลัง ทำให้ด้านข้างขยายออก ม่านตา และ แก้วตา จึงเลื่อนไปด้านหลัง ทำให้เนื้อเยื่อด้านข้างที่บริเวณมุมลูกตายืดออก และได้รับการกระทบกระเทือนจนอาจมีการฉีกขาดของม่านตาบริเวณตรงกลางฐานของม่านตา, ของหลอดเลือดที่ฐานของม่านตา, และที่บริเวณเนื้อเยื่อ Ciliary body (กล้ามเนื้อที่อยู่ที่ด้านข้างมุมลูกตา) ฉีกขาด เลือดจึงไหลเข้ามาในช่องหน้าลูกตานี้
2. มีบาดแผลจากอุบัติเหตุที่ลูกตา มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อที่เป็นเปลือกของลูกตาเข้าไปถึงในลูกตา ทำให้เกิดบาดแผลที่หลอดเลือดภายในลูกตาโดยตรง เลือดจึงไหลออกและค้างอยู่ในช่องหน้าลูกตา
3. การผ่าตัดภายในลูกตา อาจเกิดจากม่านตาช้ำจากการผ่าตัดหรือมีแผลจากผ่าตัด จึงมีเลือดซึมออกมาและค้างอยู่ในช่องหน้าลูกตา
4. เลือดออกเองโดยลูกตาไม่ได้รับการกระทบกระเทือน ไม่ได้เกิดจากสาเหตุ 3 อย่างเบื้องต้น (Spontaneous hyphema) ภาวะนี้พบไม่บ่อยนัก อาจเกิดจากมีความผิดปกติที่ม่านตาที่มีหลอดเลือดผิดปกติที่เรียกว่า ภาวะ Rubeosis iridis ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานขึ้นตา, หรือหลอดเลือดดำจอตาอุดตัน เป็นต้น หรืออาจพบในรายที่มีเนื้องอกภายในตา เช่น เนื้องอก Melanoma ของม่านตา แม้แต่มะเร็งจอตาก็อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้ในระยะท้ายๆของโรค
5. ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคเลือด มีปัญหาเลือดแข็งตัวไม่ดี, หรือผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด เช่น กลุ่มยาแอสไพริน หรือ Anticoagulants อื่นๆเพื่อการรักษาโรคทางกายอื่นๆ (เช่น โรคหลอดเลือดสมอง) แต่ภาวะนี้พบได้น้อย
อนึ่ง มีอีกภาวะที่อาจเกิดตามมาได้ คือ การเกิดเลือดออกซ้ำ (Secondary bleeding) ในช่องหน้าลูกตา กล่าวคือ เป็นภาวะที่มีเลือดออกครั้งที่ 2 ซึ่งมักเกิดหลังจากเลือดออกครั้งแรก 2 – 5 วัน โดยเกิดภายหลังจากเลือดที่ออกครั้งแรกได้หยุดไปแล้ว ทั้งนี้เชื่อว่า เกิดจากเลือดที่ออกในครั้งแรกรวมกันเป็นก้อนเลือด (Clot) แล้วก้อนเลือดนี้ เกิดการสลายตัว หดตัวลง ทำให้กระทบกระเทือนต่อหลอดเลือดที่ฉีกขาดเดิม จึงมีเลือดออกมาใหม่ ซึ่งเลือดที่ออกครั้งหลังนี้ มักรุนแรงกว่าครั้งแรก จึงต้องเฝ้าระวังภาวะนี้เสมอในผู้ป่วยที่มีเลือดออกในช่องหน้าลูกตา และเป็นข้อบ่งชี้ที่ผู้ป่วยต้องรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
เลือดออกในช่องหน้าลูกตามีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จากอุบัติเหตุ มักจะมีอาการเจ็บตาทันที ถ้าเลือดออกไม่มากจะรู้สึกว่าตาพร่ามัวลงเล็กน้อย ระคายเคืองตา หากเลือดออกมากขึ้นตาจะมัวลงมากขึ้น ตามด้วยการปวดตาเนื่องจากความดันภายในตาเพิ่มขึ้นตามจำนวนเลือดที่ออก หากออกมากอาจจะถึงกับตามืดมองไม่เห็นอะไรเลย
อาการตาพร่ามัว ปวดตา เป็นอาการหลักของผู้ป่วยที่ถูกกระแทกบริเวณตาแล้วมีเลือด ออกในช่องหน้าลูกตา อย่างไรก็ตาม ถ้าได้รับอุบัติเหตุทางตาแล้ว รู้สึกเจ็บเล็กน้อยทันทีที่ตา ตาไม่มัว หรือ ตามัวลงเล็กน้อย หายได้เองในเวลาต่อมา แต่ล่วงเลยมาในวันที่ 2 – 5 เกิด ตาแดง ปวดตา ต้องนึกถึงภาวะเกิดเลือดออกซ้ำ (Secondary bleeding) เสมอ และต้องรีบพบแพทย์/จักษูแพทย์/ไปโรงพยาบาล
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ
1. เนื่องจากการถูกกระแทก/อุบัติเหตุบริเวณตา บางครั้งระยะแรกยังไม่มีอาการเจ็บ ปวดตา หรือ ตามัวมากนัก แต่อุบัติเหตุที่ตาอาจทำให้เนื้อเยื่อภายในตารวน คือ เคลื่อนที่ไม่อยู่ที่เดิม เป็นสาเหตุให้เนื้อเยื่อภายในตาฉีกขาด ซึ่งมักก่อให้เกิดผลเสียในภายหลัง ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุบริเวณตาทุกราย จึงควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจตา เพื่อตรวจดูเนื้อเยื่อภายในตาว่าผิดไปจากเดิมหรือไม่ รวมทั้งตรวจว่ามีเลือดออกในช่องหน้าลูกตาหรือไม่
2. หากมีอาการเจ็บตา ตาแดง ตามัว ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
3. ทุกคนที่ได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ ควรทดสอบการมองเห็นในตาทีละข้าง (บางคนไม่ ได้ทดสอบใช้ตาข้างเดียว ทำให้ละเลยโอกาสในการรักษา เพราะไม่รู้สึกว่าตามัว เนื่อง จากตาอีกข้างที่ปกติทำงานแทน) ถ้ามีอาการตามัว ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยา บาลทันทีเพื่อรับการตรวจตา
4. หลังอุบัติเหตุ ถ้าตาปกติดี แต่ภายในวันที่ 2 – 5 วันต่อมา ตาเริ่มมัวลง หรือปวดตา มีโอกาสเกิดเลือดออกซ้ำ (Secondary bleeding) ในช่องหน้าลูกตาได้ จึงควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
แพทย์ตรวจอะไรบ้าง?
เมื่อมีอุบัติเหตุที่ตา รวมทั้งการมีเลือดออกในช่องหน้าลูกตา โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจตาดังนี้
1. สอบถามประวัติของอุบัติเหตุ เพื่อประเมินความรุนแรง และความผิดปกติที่อาจเกิด ขึ้นได้
2. ต้องรับการตรวจสายตา ดูระดับการมองเห็น ตรวจตั้งแต่ส่วนหน้าไปถึงส่วนหลังของลูกตา ที่สำคัญต้องดูว่ามีรอยทะลุ หรือฉีกขาดของลูกตาหรือไม่
3. หากตรวจพบมีเลือดออกในช่องหน้าลูกตา แพทย์จะประเมินและบันทึกจำนวนของเลือด เช่น เล็กน้อย, 1 ใน 4 ของช่องหน้าตา, ครึ่งหนึ่ง, หรือเต็มช่องหน้าตา
4. วัดความดันลูกตา (ถ้าทำได้) เพื่อประเมินผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงในเรื่องความดันลูกตาที่อาจสูงขึ้นตามมา ซึ่งในเด็กอาจวัดไม่ได้ แพทย์ใช้วิธีประเมินคร่าวๆ โดยวิธีคลำจับลูกตาว่าตึงมากหรือน้อย
5. ตรวจส่วนหลังของลูกตา เพื่อตรวจการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออื่นๆที่อาจพบร่วมด้วยได้ เช่น แก้วตาเคลื่อนที่ เลือดออกในน้ำวุ้นตา ตลอดจน จอตาฉีกขาด ซึ่งต้องรีบให้การรักษาไปด้วยทันทีเช่นกัน
6. การตรวจดูมุมตา ซึ่งอาจนัดตรวจในภายหลังในผู้ป่วยเลือดออกในช่องหน้าลูกตาทุกราย เพราะอาจมีการเกิดโรคต้อหินตามมาได้ ทั้งนี้ที่นัดตรวจภายหลัง เพราะในสัปดาห์แรกของอุบัติเหตุ การตรวจมุมตาอาจกระทบกระเทือนหลอดเลือดที่ฉีกขาด ทำให้มีเลือดออกมากขึ้นอีก
7. หากผู้ป่วยมีประวัติโรคเลือด หรือมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ จะมีการตรวจภา วะแข็งตัวของเลือดทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย
แพทย์รักษาเลือดออกในช่องหน้าลูกตาอย่างไร?
แนวทางการรักษาเลือดออกในช่องหน้าลูกตา ได้แก่
1. รับตัวผู้ป่วยไว้นอนพักในโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะมีภาวะที่เรียกว่า เลือดออกซ้ำ (Secondary bleeding) ซึ่งอาจเกิดในระยะเวลา 2 – 5 วันหลังอุบัติเหตุ ผู้ป่วยจึงควรนอนในโรงพยาบาล สังเกตอาการและป้องกันภาวะนี้เป็นเวลาประมาณ 2 – 5 วัน
ในปัจจุบันพบว่าถ้ามีเลือดออกในช่องหน้าลูกตาเล็กน้อย โอกาสเกิดเลือดออกซ้ำจะน้อย ผู้ป่วยบางรายที่สามารถดูแลตัวเองได้ดี แพทย์อาจจะให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านโดยสังเกตอาการตนเอง และมาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติไปก็อาจทำได้ แต่ในกรณีมีเลือดออกมากกว่าครึ่งของช่องหน้าลูกตา มักจะมีความดันในลูกตาสูงด้วย ควรนอนพักในโรงพยาบาลและแพทย์มักจะแนะนำงดกิจกรรมรุนแรงที่อาจกระเทือนทำให้มีเลือดออกได้อีก
2. การใช้ยา:
- Antifibrinolytic agent คือ ยาที่ทำให้เลือดหยุดไหล เพิ่มการแข็งตัวของเลือด เพื่อป้องกันเลือดออกซ้ำ
- ยาหยอดตาในกลุ่มยาสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดการอักเสบภายในช่องหน้าลูกตาที่มักมีร่วมด้วยเสมอ
- ยาขยายรูม่านตา เพื่อป้องกันการติดกันของม่านตากับแก้วตา (synechiae)
- ยาลดความดันในลูกตา(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยารักษาต้อหิน /ยาลดความดันตา)
3. การผ่าตัด มีการศึกษาพบว่าประมาณ 5% ของผู้ป่วย แม้จะรักษาด้วยยาแล้วแต่ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อป้องกันการเกิดประสาทตาฝ่อ (Optic atrophy) ป้องกันการที่เลือดซึมเข้าในกระจกตา (Blood staining) ทำให้กระจกตาฝ้า บดบังการมองเห็นที่ต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา รวมทั้งป้องกันม่านตาติดกับแก้วตา หากปล่อยให้เลือดอยู่ในช่องหน้าลูกตาจำนวนมากและนานเกินไป การผ่าตัดอาจทำได้หลายอย่าง เช่น
- เจาะเอาเลือดออก โดยการใช้เข็มกรีดเข้าช่องหน้าลูกตา ให้เลือดที่อยู่ภายในไหลออกมา ความดันในลูกตาจะลดลงได้
- ล้างช่องหน้าตา โดยผ่าตัดเข้าไปในช่องหน้าลูกตา โดยแผลผ่าตัดกว้างกว่าในการเจาะเอาเลือดออก เพื่อจะได้ใช้น้ำสะอาดเข้าไปล้างเลือดออก ซึ่งต้องทำในห้องผ่าตัด
- เข้าไปตัดก้อนเลือดที่แข็งตัวอยู่ในช่องหน้าตาออก ถ้าก้อนเลือดมีขนาดใหญ่ ยุบหายไปเองไม่ได้
- แพทย์บางท่านแนะนำการผ่าตัดเสมือนผู้ป่วยโรคต้อหิน โดยการเปิดแผลเล็กๆไว้ตรงมุมตาใต้เยื่อตา เพื่อเป็นทางให้เลือดในช่องหน้าลูกตาไหลออกมา (Intrabeculectomy)
เลือดออกในช่องหน้าลูกตามีผลแทรกซ้อนอย่างไร?
เมื่อมีเลือดออกในช่องหน้าลูกตา อาจนำไปสู่ผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง คือ
1. ความดันในลูกตาสูง ซึ่งอาจเป็นในระยะแรกหลังจากอุบัติเหตุ จากจำนวนเม็ดเลือดแดงมีมากไปอุดทางเดินของ ของเหลวในช่องหน้าลูกตา/ในลูกตา (Trabecular mesh work) ทำให้การไหลเวียนของของเหลวในลูกตาติดขัด หรืออาจมีเลือดบางส่วนไปอุดบริเวณรูม่านตา ทำให้เกิดความดันลูกตาสูงอย่างฉับพลัน หรือแม้แต่บางรายอุบัติเหตุนั้นไปกระทบบริ เวณมุมตา ทำให้ตะแกรงการไหลเวียนของของเหลวในลูกตาที่อยู่ที่มุมตาติดขัดเอง การหมุน เวียนของของเหลวจึงเสียไป
นอกจากนั้นในระยะยาวซึ่งอาจเป็นหลังจากอุบัติเหตุเป็นปีๆ (จนผู้ป่วยมักจะลืมประวัติที่เคยมีภาวะนี้) อาจเกิดโรคต้อหิน ชนิดที่เรียกกันว่า Angle recession glaucoma ได้
ดังนั้น ผู้ป่วยที่เคยมีเลือดออกในช่องหน้าลูกตา จึงจำเป็นต้องรับการตรวจวัดความดันลูกตาทุกปี โดยจักษุแพทย์จะทำการตรวจมุมตา (Gonioscopy) ซึ่งถ้าพบร่องรอยที่เคยบาดเจ็บบริเวณนี้ จะช่วยในการวินิจฉัยโรคแต่เนิ่นๆ และให้การรักษาแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะได้ผลรักษาดีกว่า
2. ม่านตาติดกับเนื้อเยื่อใกล้เคียง (Synechiae) เช่น กับกระจกตา และ/หรือ กับแก้ว ตา จากการมีเลือดขังอยู่ในช่องหน้าลูกตาเป็นเวลานาน ทำให้ม่านตาทำงานได้ไม่เต็มที่ อาจนำไปสู่ โรคต้อกระจก และ/หรือโรคต้อหินตามมาได้
3. ประสาทตาฝ่อ (Optic atrophy) ซึ่งอาจจะเป็นเพราะประสาทตาถูกกระทบโดย ตรงจากอุบัติเหตุ ร่วมกับเลือดที่ออกมากในช่องหน้าลูกตา จึงเพิ่มความดันในลูกตา จึงช่วยกันกดทำลายประสาทตาได้
4. เลือดที่ออกไปฝังตัวในเนื้อกระจกตา (Blood stained) มักพบในรายมีเลือดออกมาก โดยเฉพาะชนิดเต็มช่องหน้าลูกตา และ/หรือมีเลือดออกซ้ำ และ/หรือ ร่วมกับความดันในลูกตาสูง โดยปกติกระจกตาคนเราจะต้องใส แสงถึงจะผ่านทำให้ตาเรามองเห็น หากเกิดภาวะนี้ เม็ดเลือดแดงหรือผลิตผลจากเม็ดเลือดแดงที่แตกสลาย จะเข้าไปแทรกในเนื้อกระจกตา กระ จกตาจะขุ่นมัว ทำให้ตามัวลง โดยปกติแพทย์จะไม่รอให้เลือดมาฝังในกระจกตา ซึ่งถ้ามีเลือด ออกมาก หรือแพทย์พยากรณ์ว่าอาจเกิดการฝังตัวนี้ได้ แพทย์จะรีบผ่าตัดเพื่อล้างเลือดออกเสมอ
อนึ่ง การรักษาในเด็ก ภาวะนี้ถ้าเกิดในเด็กมักจะมีปัญหามาก เพราะเด็กไม่บอกอาการ ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจและรักษา อย่างไรก็ตาม การรักษาและปัญหาโรคแทรกซ้อนส่วน มากคล้ายในผู้ใหญ่ แต่ในเด็กต้องคำนึงถึงภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) ด้วย บางรายที่มี Blood stain จางๆ ถ้าในผู้ใหญ่อาจจะยังมีสายตาปกติได้เมื่อเลือดจางลง แต่ในเด็กอาจจะตาม มาด้วยภาวะตาขี้เกียจได้ ผู้ปกครองจึงควรต้องคอยสังเกต และนำเด็กพบแพทย์ตามนัดเสมอ
เลือดออกในช่องหน้าลูกตามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
เมื่อมีเลือดออกภายในช่องหน้าลูกตา โดยทั่วไป เลือดจะหยุดได้เองโดยการหดตัวของหลอดเลือด, อีกทั้งจากที่ความดันภายในลูกตาที่สูงขึ้นจะช่วยกดหลอดเลือด จึงช่วยให้เลือดหยุดไหล, และเลือดที่ออกจะรวมตัวกันเป็นก้อนเลือด เพื่ออุดกั้นบาดแผลของหลอดเลือดเพื่อหยุดเลือดออก นอกจากนั้น ยังมีสารที่ทำให้เลือดแข็งตัว (Fibrin) ล้อมรอบก้อนเลือด เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของก้อนเลือด ซึ่งต่อมาร่างกายจะกำจัดเลือดค้าง/ก้อนเลือดนี้ออกจากช่องหน้าลูกตาด้วยการสลายก้อนเลือด แล้วกำจัดเลือดที่ถูกสลายนี้ ผ่านออกทางเนื้อเยื่อที่เป็นตะแกรง (Trabecular meshwork) และทางม่านตา
การที่เลือดจะหมดไปจากช่องหน้าลูกตาเร็วหรือช้า และ/หรือจะเกิดผลข้างเคียงหรือไม่ และ/หรือผลการรักษา/การพยากรณ์โรค ของภาวะนี้จะเป็นอย่างไร ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น สาเหตุ ความรุนแรงของสาเหตุ และปริมาณเลือดที่ออก ดังนั้น แพทย์ที่ตรวจรักษาเท่านั้นที่จะเป็นผู้พยากรณ์โรคได้ เพราะจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน โดยทั่วไปในภาวะที่เลือดออกน้อย และเกิดจากสาเหตุจากอุบัติเหตุที่ตาที่ไม่รุนแรง เลือดมักจะหมดไปจากห้องด้านหน้าลูกตาในระยะเวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ หรือบางคนอาจนานกว่านี้ได้
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีเลือดออกในช่องหน้าลูกตา?
การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อมีอุบัติเหตุที่ตา ไม่ว่าจะมีอาการผิดปกติหรือไม่ก็ตาม ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีเลือดออกในห้องหน้าลูกตา ควรต้องไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน ต่อจากนั้นปฏิบัติ หรือ ดูแลตนเองตามแพทย์/พยาบาลแนะนำให้ถูกต้อง เคร่งครัด และพบแพทย์ตามนัดเสมอ
ป้องกันเลือดออกในช่องหน้าลูกตาอย่างไร?
การป้องกันเลือดออกในช่องหน้าลูกตาเต็มร้อยเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อดูจากสาเหตุบางสาเหตุ เช่น โรคเลือด หรือความจำเป็นในการใช้ยาละลายลิ่มเลือดรักษาโรคอื่นๆ (เช่น โรคหลอดเลือดสมอง) จะเป็นสาเหตุที่ป้องกันได้ยาก
แต่สาเหตุที่ป้องกันได้ คือ การระมัดระวังอุบัติเหตุต่อตา ด้วยการสวมใส่เครื่องป้องกันดวงตาเสมอในการทำงาน และการเล่นกีฬาประเภทที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่ตา และต้องระมัดระวังการเล่นสนุกต่างๆ เช่น การใช้หนังสติ๊ก ดังได้กล่าวในหัวข้อสาเหตุ เป็นต้น