เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial hyperplasia)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 10 กันยายน 2558
- Tweet
- เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติคืออะไร?
- เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติมีกี่ชนิด?
- เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติมีกลไกเกิดได้อย่างไร?
- เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากผิดปกติอย่างไร?
- รักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติอย่างไร?
- เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากผิดปกติได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- อวัยวะเพศภายในสตรี: กายวิภาคอวัยวะเพศภายในสตรี (Anatomy of female internal genitalia) / สรีรวิทยาอวัยวะเพศภายในสตรี (Physiology of female internal genitalia)
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer)
- เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด (Irregular bleeding per vagina)
- ห่วงอนามัยชนิดมีฮอร์โมน (Levonorgestrel Intrauterine device system)
- พีซีโอเอส หรือ พีโอเอส: กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (PCOS หรือ POS : Polycystic ovarian syndrome)
เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติคืออะไร?
โรค/ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากผิดปกติ หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวเกินปกติ (Endometrial hyperplasia) เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกมีการแบ่งตัวมากผิดปกติจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่มีมากเกินไปในร่างกายโดยที่ไม่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มาเปลี่ยนแปลงให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นมากผิดปกติ อุบัติการณ์ของโรคนี้พบได้ 0.1 - 0.2% ของสตรีและจะพบมากขึ้นในสตรีที่อายุมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวัยประมาณ 50 - 51 ปี
เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติมีกี่ชนิด?
แบ่งชนิดของเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติตามความความรุนแรง/ตามพยาธิสภาพที่มีโอกาสเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกดังนี้
1. โรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากผิดปกติแบบไม่ซับซ้อน (Simple hyperplasia) แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
1.1 ชนิดที่เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไม่ผิดปกติ (Endometrial hyperplasia without atypia) ภาวะนี้มีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกประมาณ 1%
1.2 ชนิดที่มีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติร่วมด้วย (Endometrial hyperplasia with atypia) ภาวะนี้มีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกประมาณ 8 - 10%
2. โรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากผิดปกติแบบซับซ้อน (Complex hyperplasia) คือ จำนวนเซลล์ในเยื่อบุโพรงมดลูกจะมากกว่าและเซลล์มีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มแบบที่ไม่ซับซ้อน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มเช่นกันคือ
2.1 ชนิดที่เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไม่ผิดปกติ (Endometrial hyperplasia without atypia) ภาวะนี้มีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกประมาณ 3 - 5%
2.2 ชนิดที่มีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติร่วมด้วย (Endometrial hyperplasia with atypia) ภาวะนี้มีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกสูงมากถึงประมาณ 25 - 30%
เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติมีกลไกเกิดได้อย่างไร?
ในสตรีปกติจะมีเลือดประจำเดือนมาเดือนละ 1 ครั้ง กลไกการมีประจำเดือนเกิดจากรังไข่ถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองเหนี่ยวนำให้มีการเจริญของฟองไข่ (Follicle) พร้อมๆ กับมีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) จากรังไข่ ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะไปกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีการเจริญหนาตัวขึ้น (Proliferate endometrium) ซึ่งเมื่อมีการตกไข่ (Ovulation ) เกิดขึ้น เซลล์ที่รังไข่จะผลิตฮอร์โมนเพศหญิงอีกตัวคือ โปรเจสเตอโรน(Progesterone) ออกมาเปลี่ยนแปลงให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่ถูกเตรียมหรือถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้วไปเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกที่เหมาะสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน (Secretory endometrium) กรณีมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น แต่หากไม่มีการปฏิสนธิและไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เซลล์ที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงทั้ง 2 ชนิดจะฝ่อไป ทำให้ไม่มีฮฮร์โมนไปเปลี่ยนแปลงที่เยื่อบุโพรงมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน
การที่เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติเกิดจากการมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ซึ่งฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีหรือขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะมาทำการเปลี่ยนแปลงเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก (Unopposed estrogen) เพื่อให้หลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือนในแต่ละเดือน จึงส่งผลทำให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นเรื่อยๆและมีลักษณะเซลล์เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ หากเซลล์มีความผิดปกติไปมาก เซลล์เหล่านี้สามารถกลายไปเป็นเซลล์มะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก/มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติมีอาการอย่างไร?
อาการเด่นของโรค/ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติคือ การที่มีเลือดประจำเดือนผิดปกติ มีได้หลายลักษณะเช่น มีประจำเดือนออกนานกว่าปกติ มีประจำเดือนกะปริบกะปรอยผิดปกติ และ/หรือประจำเดือนมาปริมาณมากผิดปกติ และอาจมีประวัติขาดประจำเดือนแล้วตาม มาด้วยมีประจำเดือนมามากและมานานผิดปกติ
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการผิดปกติของการมีประจำเดือน หรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ดังได้กล่าวในหัวข้อ อาการ
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ?
ปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติได้แก่
1. สตรีวัยหมดประจำเดือน
2. สตรีที่รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรืออาหารเสริมที่มีสารคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนนานๆเช่น พืชสมุนไพรบางชนิด โดยที่ไม่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจน/โปรเจสเตอโรน(Progestogen หรือ Progesterone) มาเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกให้หลุดลอกออกมาในสตรีที่ยังมีมดลูกอยู่
3. อ้วน: สตรีที่อ้วนจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากกว่าคนที่ผอมเนื่องจากร่างกายสามารถเปลี่ยนแปลงไขมันที่สะสมตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายให้ไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ นอกจากนี้ภาวะ/โรคอ้วนยังทำให้ระดับฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์หลั่งผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะไม่ตกไข่ (Anovulation) เมื่อไม่มีการตกไข่ รังไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมาทำการเปลี่ยนแปลงเซลล์ที่เยื่อบุโพรงมดลูกให้เป็นไปตามรอบปกติได้
4. มีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง (Chronic anovulation) เมื่อมีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง เยื่อบุโพรงมด ลูกจะหนาตัวขึ้นเรื่อยๆทำให้ประจำเดือนขาดหายไปหลายเดือน มีประวัติประจำเดือนนานๆมาครั้ง อาจขาดประจำเดือนไปนานอาจครั้งละ 4 - 5 เดือน เมื่อไม่มีการตกไข่ รังไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมาทำการเปลี่ยนแปลงเซลล์ที่เยื่อบุโพรงมดลูกได้จึงส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากกว่าปกติ ซึ่งพบได้ในหลายสภาวะเช่น Polycystic ovarian syndrome (โรค PCOS)
5. การมีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
6. การมีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อยเช่น ต่ำกว่า 12 ปี
7. การมีประวัติในครอบครัวที่เป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
แพทย์วินิจฉัยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากผิดปกติอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรค/ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากผิดปกติได้จาก
ก. ประวัติทางการแพทย์: ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยประจำเดือนออกมากและนาน บางคนจะเป็นประจำเดือนกะปริบกะปรอยแต่ออกนานกว่าปกติ อาจมีประวัติมีประจำเดือนนานๆมาครั้ง หรือมีเลือดออกจากโพรงมดลูกในวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว และมักพบร่วมในสตรีที่มีประวัติมีโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
ข. การตรวจร่างกาย: หากมีการเสียเลือดประจำเดือนมาก อาจตรวจพบว่ามีภาวะซีดได้ ส่วนการตรวจภายในพบว่าขนาดมดลูกอาจปกติหรือโตกว่าปกติเล็กน้อยได้
ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: ที่สำคัญคือ
1. การตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด ส่วนมากพบว่าเยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนามากกว่าปกติ แต่ผลแบบนี้ไม่แน่นอนเสมอไปต้องมีการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม
2. การสุ่มตัดชิ้นเนื้อจากเยื่อบุโพรงมดลูกเช่น การดูดเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endome trial aspiration), การขูดมดลูก (Uterine curettage) เพื่อนำชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นการตรวจมีความจำเป็นต้องทำเพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง บางตำราแนะนำให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อในสตรีที่มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกตั้งแต่ในอายุ 35 ปีขึ้นไป บางตำราให้ทำเมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปเพราะความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้จะมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
รักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพยาธิสภาพของโรคและความต้องการมีบุตร
สำหรับในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกสูง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก) แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดมดลูกเลย
สำหรับกรณีที่ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกต่ำ แพทย์จะรักษาโดยการให้รับประทานยาโปรเจสโตรเจน (Progestogen) เพื่อให้ไปเปลี่ยนแปลงการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูก โดยจะให้รับประทานยาเป็นรอบๆรอบละ 14 วันแล้วรอให้เป็นประจำเดือนมา จะต้องรับประทาน 6 รอบ หลังจากนั้นแพทย์จะนัดมาทำการดูดเยื่อบุโพรงมดลูกหรือขูดมดลูกอีกครั้ง เพื่อดูว่ามีการตอบสนองต่อการรักษาดีหรือไม่ เพื่อพิจารณาว่าจะให้หยุดยาหรือให้ยาต่อ หรือเปลี่ยนวิธีการรักษา หรือพิจารณาผ่าตัดมดลูกกรณีที่การรักษาด้วยฮอร์โมนไม่ได้ผล ยังจำเป็นต้องมีการสุ่มดูดเยื่อบุโพรงมดลูกตรวจทางพยาธิวิทยาทุก 6 - 12 เดือนหากสตรีนั้นยังมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ซ้ำอีกกรณีรักษาด้วยยา หรือมีอาการเลือดประจำเดือนออกผิดปกติอีกหลังหยุดการใช้ยา
ทั้งนี้ มีการนำเอาห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเคลือบที่แกนกลางห่วง (Levonorgestrel intrauterine system-LNG-IUS, Mirena®) มาใช้รักษาสตรีที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก พบว่าได้ผลดีเช่นกันเพราะห่วงชนิดนี้จะค่อยๆปล่อยฮอร์โมนโปรเจสโตเจนออกมาในโพรงมดลูกทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อ เลือดประจำเดือนออกน้อยไม่ต้องเสียเวลารับประทานยา ห่วงนี้มีอายุการใช้งานได้นาน 5 ปี ปัญหาที่พบบ่อยในกลุ่มที่ใส่ห่วงนี้คือ มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด
เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่พบได้จากโรค/ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติคือ ภาวะผิดปกติของประจำเดือน ภาวะเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด ภาวะซีดถ้าเลือดประจำเดือนออกมาก และเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ 1 - 30% ขึ้นกับชนิด/พยาธิสภาพของภาวะนี้ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ชนิด/พยาธิสภาพ
เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โดยทั่วไปโรค/ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากกว่าปกติมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาให้หายได้ด้วยวิธีการรักษาตามที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การรักษา
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติได้แก่
1. ปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาล
2. รับประทานยาที่แพทย์สั่งให้สม่ำเสมอ ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
3. ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนโดยเลือกรับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะ สม
4. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอในทุกวัน
5. พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆไม่ดีขึ้น
- อาการต่างๆเลวลง
- มีอาการผิดปกติที่ไม่เคยมีก่อนพบแพทย์เช่น ตกขาวมีกลิ่นเหม็น ปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อย
- กังวลในอาการ
ป้องกันโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากผิดปกติได้อย่างไร?
ป้องกันโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากผิดปกติได้โดย
1. ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน เลือกรับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณให้เหมาะ สม ไม่ให้เกิดภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน
2. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอในทุกๆวัน
3. ไม่ควรซื้อยาต่างๆรับประทานเองโดยที่ไม่ปรึกษาแพทย์เภสัชกรรวมทั้งสมุนไพรต่างๆ เพราะอาจมีฮอร์โมนเพศหญิงเจือปนอยู่
4. ไม่ควรปล่อยให้ขาดประจำเดือนไปนานๆ (หากยังไม่ถึงวัยหมดประจำเดือน) ควรรีบไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลถ้าขาดประจำเดือน
5. การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) สามารถช่วยลดโอกาสเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติได้
บรรณานุกรม
- Chudnoff SG. Endometrial hyperplasia. 2005
- http://emedicine.medscape.com/article/269919-overview [2015,Aug22]