เมอร์เเคปโตพิวรีน (Mercaptopurine)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 20 กุมภาพันธ์ 2559
- Tweet
- บทนำ
- ยาเมอร์แคปโตพิวรีนนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเมอร์แคปโตพิวรีนอย่างไร?
- ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเมอร์แคปโตพิวลีนอย่างไร?
- ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (Acute Lymphoblastic Leukemia: ALL)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล หรือ เอเอ็นแอลแอล (Acute Myelogenous Leukemia : AML หรือ Acute Non-Lymphoblastic Leukemia : ANLL)
บทนำ
ยาเมอร์แคปโตพิวรีน (Mercaptopurine) หรือ 6-Mercaptopurine หรือย่อว่า 6MP เป็นยาเคมีบำบัดกลุ่ม Antimetabolite ซึ่งคือกลุ่มยาที่มีกลไกต้านมะเร็งโดยออกฤทธิ์ต้านการสังเคราะห์สารพันธุกรรมชนิดดีเอ็นเอ/DNA และชนิดอาร์เอ็นเอ/RNA ของเซลล์มะเร็ง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอของเซลล์มะเร็งแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนต่อไปอีกไม่ได้ เนื่องจากยาเมอร์แคปโตพิวลีนทำการยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรมดังกล่าวของเซลล์มะเร็ง
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันทั้งชนิด Acute lymphoblastic leukemia/Acute lumpho cytic leukemia/ALL และชนิด Acute myelogenous leukemia/AML
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีผลกดไขกระดูก/กดการทำงานของไขกระดูกอย่างชัดเจน การใช้ยานี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ผู้ป่วยที่กำลังได้รับยานี้ควรติดตามอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดการรักษาและกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที หากมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นก่อนวันนัด เพื่อความปลอดภัยและเพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาเพื่อการหายขาดและการรักษาแบบประคับประคองในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันทั้งชนิด Acute lymphoblastic leukemia/ Acute lmphocytic leukemia/ALL และชนิด Acute myelogenous leukemia/AML
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนเป็นยาเคมีบำบัดกลุ่ม Antimetabolite ที่มีกลไกต้านมะเร็งโดยออกฤทธิ์ ต้านการสังเคราะห์สารพันธุกรรมชนิดดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอของเซลล์มะเร็ง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีผลทำให้ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอของเซลล์มะเร็งแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนต่อไปอีกไม่ได้ เนื่องจากยาเมอร์แคปโตพิวลีนทำการยับยั้งการสร้างเซลล์
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาเมอร์แคปโตพิวรีนในประเทศไทยมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ดังนี้ ยาเม็ดสำหรับรับประทาน (Tablet) ขนาดยา 50 มิลลิกรัมต่อเม็ด
วิธีการบริหาร/รับประทานยาเมอร์แคปโตพิวรีนคือ ให้รับประทานยานี้ทั้งเม็ด ห้ามบด หรือแบ่งยาโดยเด็ดขาด เนื่องจากยาดังกล่าวเป็นยาเคมีบำบัด การบด การแบ่งยานี้อาจทำให้เกิดการสัมผัสยาเคมีบำบัดที่อาจฟุ้งกระจายและเข้าสู่ร่างกายได้หลังการบดแบ่ง และแนะนำให้สวมถุงมือยางสำหรับการตรวจโรคทุกครั้งก่อนหยิบยานี้ และรีบถอดถุงมือออกแล้วล้างมือทันทีหลังรับประทานยานี้เสร็จ
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนเป็นยาเคมีบำบัดที่มีรูปแบบเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน เป็นยาควบคุมพิเศษที่มีเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อยาเมอร์แคปโตพิวลีนได้จากร้านยาทั่วไป
ขนาดยานี้และวิธีการบริหารยานี้สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น โดยพิจารณาจากข้อบ่งใช้ของยาต่อโรคหรือต่อภาวะอาการโรคที่ต้องการรักษา ทั้งนี้ขนาดการใช้ยานี้มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเช่น น้ำหนักตัว อายุ ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด/ซีบีซี /CBC (ปริมาณเม็ดเลือดขาว, ปริมาณเม็ดเลือดแดง และปริมาณเกล็ดเลือด ฯลฯ) ค่าการทำงานของไตและค่าการทำงานของตับ รวมถึงยาชนิดอื่นๆที่ผู้ป่วยกำลังได้รับอยู่ ขนาดยานี้ในผู้ป่วยแต่ละคนจึงแตกต่างกันเป็นกรณีๆไปขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
นอกจากปัจจัยดังกล่าวในการกำหนดขนาดยาเมอร์แคปโตพิวรีนนั้น แพทย์/เภสัชกรยังจะคำนวณขนาดยาที่ควรได้รับตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วย โดยน้ำหนักตัวที่นำมาใช้ในการคำนวณนั้น สามารถเลือกใช้น้ำหนักตัวอุดมคติ (Ideal Body Weight, น้ำหนักตัวที่คำนวณจาก เพศ อายุ และส่วนสูง) หรือน้ำหนักตัวจริงของผู้ป่วยที่ได้จากการชั่งน้ำหนัก โดยจะเลือกใช้น้ำหนักที่มีค่าน้อยกว่า เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดขนาดยา
หากท่านกำลังใช้ยานี้อยู่ควรรับประทานยานี้ให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง ไม่เพิ่ม ลด หรือปรับขนาด ยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด หากท่านมีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเกิดขึ้นในช่วงระหว่างกำลังได้รับยาเมอร์แคปโตพิวรีนอยู่ ท่านควรต้องไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนกำหนดนัดเพื่อรับการรักษาอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว
การรับประทานยาเมอร์แคปโตพิวรีนแนะนำให้รับประทานยาขณะท้องว่าง โดยรับประทานก่อนมื้ออาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือรับประทานหลังอาหารไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเมอร์แคปโตพิวรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเมอร์แคปโตพิวรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยานี้มีผลพิษ ต่อทารกในครรภ์อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตรแนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตรเพราะยานี้ถูกขับออกทางน้ำนม อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตร
- ประวัติโรคขาดเอนไซม์ไทโอพิวลีน เมทิวทรานส์เฟอเรส (Thiopurine methyltransferase; TPMT, เอนไซม์ใช้ทำลายสารThiopurine ที่ใช้เป็นยาเคมีบำบัดเช่น ยาเมอร์แคปโตพิวรีน และยาอื่นๆบางชนิดเช่น ยา Mesalazine) มาแต่กำเนิด
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาเมอร์แคปโตพิวรีนโดยมีวิธีการรับประทานยาคือ รับประทานวันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารมื้อใดก็ได้นั้น ให้รับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยานี้มื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รอรับประทานยานี้มื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยานี้เวลา 7.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยานี้มื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 15.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 7.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยานี้มื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับ ประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 22.00 น.ของวันนั้น ให้รอรับประทานยานี้มื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม โดยการรับประทานยาเม็ดที่ลืมนั้นควรรับประทานขณะท้องว่างคือ ก่อนอาหารอย่างน้อย 1ชั่วโมงหรือหลังรับประทานอา หารไปแล้ว 2 ชั่วโมง
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาเมอร์แคปโตพิวลีนที่พบได้บ่อยเช่น
- การกดไขกระดูก (Bone Marrow Suppression): ส่งผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ, โลหิตจาง และเกล็ดเลือดต่ำ จึงเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อโรค, ภาวะซีดทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และเลือดออกผิดปกติได้ง่าย
- ภาวะพิษต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ ภาวะน้ำดีคั่งในตับ (Cholestasis) และเนื้อเยื่อตับตายเน่า (Hepatic gangrene)
- อาการของระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เยื่อบุในปากอักเสบ
- อาการทางระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น การปวดข้อ เป็นไข้ ใบหน้าบวม
- อาการทางผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นแดง คัน ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นสีเข้มมากขึ้น ผมร่วง
- อื่นๆ: มีรายงานภาวะจำนวนตัวอสุจิในน้ำอสุจิน้อยกว่าปกติ
ทั้งนี้หากท่านกำลังใช้ยาเมอร์แคปโตพิวรีนอยู่และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังต่อไปนี้ได้แก่ อาเจียนอย่างหนัก, ปวดท้องอย่างรุนแรง, ท้องเสียหรือถ่ายท้องอย่างมากจนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงและมีภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ (อาการที่สังเกตได้เช่น เหนื่อย สับสน อ่อนเพลีย อ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว) มีอาการเจ็บหน้าอก บวมน้ำ ปวดศีรษะ มีอาการเจ็บริมฝีปาก เจ็บภายในช่องปาก มีปัญหาภาวะเลือดออกเช่น อุจจาระมีสีดำ ปัสสาวะมีสีแดง มีจ้ำแดงๆตามผิวหนัง เจ็บ มีสัญญาณของภาวะติดเชื้อ (เช่น มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส/Celsius หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ) หายใจติดขัด/หายใจลำบาก มีอาการปวดแสบหรือร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปวด บวม แดง และเจ็บตามร่างกาย หากท่านมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์หรือไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สะดวกก่อนวันนัดโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมอร์แคปโตพิวรีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมอร์แคปโตพิวรีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ยาเมอร์แคปโตพิวรีนเป็นยาเคมีบำบัด เพื่อลดความเสี่ยงในการที่ยาจะสัมผัสกับผิวหนังจึงจำเป็นต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง แนะนำให้ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสยานี้ รวมถึงควรสวมถุงมือยางที่ใช้ในการตรวจโรคทุกครั้งที่ถือขวดบรรจุยานี้ การเตรียมยานี้ และในการบริหารยานี้
- การใช้ยาเมอร์แคปโตพิวรีนในเด็ก ยานี้ได้รับการรับรองให้ใช้ได้ในเด็กซึ่งควรใช้ด้วยความระมัด ระวังภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- การใช้ยาเมอร์แคปโตพิวรีนในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอาจต้องการยานี้ในขนาดที่ต่ำลงกรณีเมื่อผู้ป่วยมีแนวโน้มการทำงานของตับลดลงเพราะยานี้ถูกขจัดออกทางตับ โดยแพทย์จะพิจารณาลดขนาดยานี้ลงกรณีผู้ป่วยมีการทำงานของตับบกพร่อง
- ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีผลพิษต่อตับ ควรติดตามค่าการทำงานของตับทุกสัปดาห์ตามแพทย์แนะนำช่วงที่ผู้ป่วยได้รับยา หรือติดตามบ่อยขึ้นกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาโรคตับอยู่ก่อน และแพทย์จะพิจารณาหยุดยานี้ทันทีเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการดีซ่าน
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเมอร์แคปโตพิวรีนในช่วงกำลังตั้งครรภ์เนื่องจากยานี้มีผลพิษต่อทารกในครรภ์อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ และหากอยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยานี้ถูกขับออกทางน้ำนม อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตรได้ ควรหยุดให้นมบุตรหากมารดากำลังได้รับยานี้อยู่ หรือหยุดการใช้ยานี้ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของมารดาต่อภาวะที่กำลังเป็นอยู่โดยควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- ยาเมอร์แคปโตพิวรีนทำให้เกิดการกดไขกระดูกอย่างรุนแรงโดยทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง, จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ, เกล็ดเลือดต่ำ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการติดเชื้อรวมถึงภาวะเลือดออกง่ายในอวัยวะต่างๆ
- ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคขาดเอนไซม์ไทโอพิวลีน เมทิวทรานส์เฟอเรส (Thiopurine methyltransferase; TPMT) มาแต่กำเนิดนั้นต้องระวังการใช้ยาเมอร์แคปโตพิวลีน เนื่องจากยาถูกขจัดออกทางร่างกายโดยอาศัยเอนไซม์ไทโอพิวลีน เมทิวทรานส์เฟอเรส ดังนั้นหากผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเดิมขาดเอนไซม์ดังกล่าวอาจเกิดภาวะกดไขกระดูกอย่างรวดเร็วหลังใช้ยานี้ หากจำเป็นต้องใช้ยานี้ แพทย์จะพิจารณาลดขนาดยานี้เพื่อหลีกเลี่ยงการกดไขกระดูก
- ระวังการใช้ยาเมอร์แคปโตพิวรีนร่วมกับยาชนิดอื่นๆที่มีผลยับยั้งเอนไซม์ไทโอพิวลีน เมทิวทรานส์ เฟอเรส (Thiopurine methyltransferase; TPMT) เนื่องจากอาจเกิดความเป็นพิษที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นจากยาเมอร์แคปโตพิวรีน อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ห้วข้อ ยาเมอร์แคปโตพิวลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ในช่วงการรักษาด้วยยาเมอร์แคปโตพิวรีนจะส่งผลต่อการสลายตัวของเซลล์ (Cell lysis) อย่างรวดเร็ว แพทย์จะตรวจวัดระดับกรดยูริคในเลือดและในปัสสาวะเพราะอาจเกิดภาวะกรดยูริคเกินในเลือดหรือในปัสสาวะซึ่งส่งผลพิษต่อไต
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด รวมถึงยาเมอร์แคปโตพิวรีน ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมอร์แคปโตพิวรีนคู่กับยาที่มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโอพิวลีน เมทิวทรานส์เฟอเรส (Thiopurine methyltransferase; TPMT คือเอนไซม์ที่ใช้ในการขจัดยาเมอร์แคปโตพิวลีนออกจากทางร่างกาย) เช่น ยาเมซาลาซีน (Mesalazine: ยารักษาลำไส้อักเสบเรื้อรัง) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดพิษจากยาเมอร์แคปโตพิวลีนได้เพราะเอนไซม์ทำลายยาเมอร์แคปโตพิวลีนถูกยับยั้งการทำงาน
2. แพทย์จะพิจารณาลดขนาดยาเมอร์แคปโตพิวลีนหากใช้ร่วมกับยาซัลฟาเมทอกซาโซล/ไตรเมทโทรพริม (Sulfamethoxazole/Trimethoprim: ยาปฏิชีวนะ) เนื่องจากการกดไขกระดูกจะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ยาทั้งสองร่วมกัน
3. แพทย์จะพิจารณาลดขนาดยาเมอร์แคปโตพิวลีนลง 25 - 30 เปอร์เซนต์จากขนาดยาปกติ หากใช้ร่วมกับยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol: ยารักษาโรคเกาต์/ยาลดกรดยูริค) เนื่องจากยาอัลโลพูรินอลลดการขจัดยาเมอร์แคปโตพิวลีนออกจากร่างกายซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดพิษจากยาเมอร์แคปโตพิวลีนได้
4. เมื่อใช้ยาเมอร์แคปโตพิวลีนร่วมกับยาวาร์ฟาริน (Warfarin: ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) จะส่งผลลดฤทธิ์ในการต้านการแข็งตัวของเลือดของยาวาร์ฟารินได้จึงไม่ควรใช้ยาร่วมกัน
5. เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษา กรณีผู้ป่วยกำลังได้รับยาเมอร์แคปโตพิวรีนอยู่อาจพิจารณาปรึกษาเภสัชกรเพื่อตรวจสอบรายการยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยได้รับอยู่เพื่อลดโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างกับยาชนิดอื่นๆ
ควรเก็บรักษายาเมอร์แคปโตพิวลีนอย่างไร?
แนะนำเก็บยาเมอร์แคปโตพิวรีน ณ อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มากเช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน) ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้นเช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว โดยควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมที่ปิดสนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมอร์แคปโตพิวรีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Puri-nethol (พูลิ-นีทอล) tablet 50 mg | Aspen Pharmacre |
Purinetone (พูลินีโทน) tablet 50 mg | Korea United Pharm Inc |
บรรณานุกรม
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
- TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
- Product Information: Purinetone, Mercaptopurine, Korea United Pharm Inc, Thailand.