เมลฟาแลน (Melphalan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมลฟาแลน (Melphalan) อาจเรียกชื่ออื่นได้อีก คือ Sarcolysin, L-phenylalanine mustard, L-PAM, หรือ Phenylalanine mustard ยาชนิดนี้มีกลไกการออกฤทธิ์โดยทำให้สาร กัวนีนเบส (Guanine base)ซึ่งอยู่ในดีเอนเอ (DNA)เกิดสารหมู่แอลคิล(Alkyl group)ซึ่งส่งผลยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรมรุ่นใหม่ ทั้งดีเอนเอและอาร์เอนเอ(RNA)ตามมา นักวิทยาศาสตร์จึงนำมาใช้เป็นยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งได้หลายชนิด อาทิ มะเร็งเอ็มเอ็ม(MM, Multiple myeloma) มะเร็งรังไข่ มะเร็งนิวโรบลาสโตมา มะเร็งกล้ามเนื้อลาย และมะเร็งเต้านม

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเมลฟาแลน ถูกออกแบบให้มีทั้งยารับประทาน และยาฉีดทำให้เกิดความเหมาะสมและสะดวกต่อการนำไปรักษากับผู้ป่วยมะเร็งได้มากยิ่งขึ้น กรณีของยารับประทาน จะถูกรบกวนการดูดซึมจากระบบอาหารได้ จึงแนะนำให้รับประทานยานี้ขณะท้องว่าง ซึ่งยาเมลฟาแลนจะมีระยะเวลาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 0.7–2.3 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับทิ้งออกจากกระแสเลือด โดยผ่านไปกับปัสสาวะ

ผู้ที่ได้รับยาเมลฟาแลน อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หลังใช้ยาโดยมากจะเกิดภาวะเม็ดเลือดชนิดต่างๆมีปริมาณลดลง โดยหลังจากหยุดใช้ยานี้เป็นเวลา 42–50 วัน ร่างกายจะเริ่มฟื้นฟูระดับเม็ดเลือดให้กลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ยาเมลฟาแลนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว(Leukemia)ได้บ้างถ้าใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

อนึ่งก่อนใช้ยาเมลฟาแลน ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อดูความเหมาะสมต่อขนาดการใช้ยานี้ และต้องมารับการตรวจร่างกายเป็นระยะๆตามที่แพทย์นัดหมาย

ทั้งนี้ คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้กำหนดให้ยาเมลฟาแลนเป็นยาแผนปัจจุบันในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีวางจำหน่ายภายในประเทศภายใต้ชื่อการค้าว่า Alkeran

เมลฟาแลนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เมลฟาแลน

ยาเมลฟาแลนมีสรรพคุณรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ดังนี้ เช่น

  • มัลติเพิลมัยอีโลมาหรือมะเร็งเอ็มเอ็ม (MM: Multiple myeloma)
  • มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)
  • นิวโรบลาสโตมา (Neuroblastoma)
  • มะเร็งกล้ามเนื้อลาย (Rhabdomyosarcoma)
  • มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
  • ใช้เป็นยาปรับสภาพร่างกายผู้ป่วยก่อนได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก

เมลฟาแลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมลฟาแลนคือ เป็นยาเคมีบำบัดกลุ่ม Alkylating agent ตัวยานี้จะออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งซึ่งมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วได้เป็นอย่างดี โดยตัวยาจะทำให้สาร Guanine nucleoside บนสายดีเอนเอ(DNA) เกิดสารหมู่แอลคิล(Alkyl)ขึ้นมา ทำให้ดีเอนเอขาดคุณสมบัติในการสังเคราะห์ดีเอนเอและอาร์เอนเอ(RNA) รุ่นใหม่ หรืออาจกล่าวว่ากลไกเหล่านี้ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง โดยทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเติบโต ลดการแพร่กระจาย อย่างไรก็ตาม ยาเมลฟาแลนยังสามารถส่งผลกระทบ/ผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติของร่างกายได้เช่นเดียวกัน จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆตามมา

เมลฟาแลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมลฟาแลนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Melphalan 2 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดแบบผงแห้งปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยา Melphalan 50 มิลลิกรัม/ขวด

เมลฟาแลนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเมลฟาแลนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ยาเมลฟาแลนชนิดฉีด สามารถให้ได้ทั้งทาง หลอดเลือดดำ หรือ หลอดเลือดแดง
  • ยาชนิดรับประทาน ควรรับประทานขณะท้องว่าง เพื่อช่วยเรื่องการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกาย โดยรับประทานยา 1 ชั่วโมงล่วงหน้าก่อนรับประทานอาหาร หรือรับประทานยา หลังอาหาร 2 ชั่วโมง
  • ขนาดและระยะเวลาการใช้ยานี้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็ง และสภาพร่างกายของผู้ป่วย
  • ปัจจัยที่แพทย์นำมาใช้คำนวณขนาดการใช้ยานี้ ได้แก่ น้ำหนักของร่างกาย พื้นที่ผิวของร่างกาย อายุ ตลอดจนกระทั่งการทำงานของไต โดยใช้ค่าครีอะตินีน เคลียรานซ์(Creatinine clearance) มาเป็นเกณฑ์อ้างอิง
  • ผู้ป่วยต้องเข้ารับการให้ยานี้ตามที่แพทย์นัดหมาย กรณียารับประทานต้อง รับประทานยานี้ตรงตามเวลา ตรงขนาดที่แพทย์กำหนด ห้ามใช้ยารับประทานที่เม็ดยามี ลักษณะชำรุดเสียหาย โดยสังเกตจากสีของเม็ดยาที่เปลี่ยนไป หรือมีความชื้นเกิดขึ้นจน ทำให้เม็ดยาเสียรูปทรง
  • *ผู้ที่รับประทานยานี้เกินขนาด จะเกิดอาการคลื่นไส้อย่างรุนแรง ท้องเสีย ช่องปากเป็นแผล อุจจาระคล้ายมีเลือดปนหรือมีสีคล้ำ/อุจจาระเป็นเลือด ไอเป็นเลือด หรือ อาเจียนมีสีคล้ายกาแฟ/อาเจียนเป็นเลือด กรณีเช่นนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • หากลืมรับประทานยานี้ ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อสอบถามแพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อการตั้งต้นการรับประทานยานี้ครั้งใหม่ได้อย่างถูกต้อง

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมลฟาแลน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมลฟาแลนอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ควรดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับยาเมลฟาแลน?

ควรดูแลตนเองขณะได้รับยาเมลฟาแลนดังนี้ เช่น

  • ดื่มน้ำเปล่าสะอาดวันละ 2–3 ลิตร ถ้าไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม หรือ ดื่มตามคำแนะนำของแพทย์
  • ล้างมือบ่อยๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • ไม่อยู่ในที่มีผู้คนแออัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บเป็นแผลเลือดออก
  • เพื่อป้องกันเลือดออกบริเวณเหงือก และลดอาการช่องปากเป็นแผล ควรใช้ แปรงสีฟันที่มีขนนิ่ม
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจัด กรณีออกที่โล่งแจ้งควรใช้โลชั่น/ครีมกันแดด ที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป ทาป้องกันผิวหนังจากแสงแดด
  • กรณีมีอาการคลื่นไส้ ให้รับประทานยาบรรเทาอาการ/ยาแก้คลื่นไส้ที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น และห้ามไปซื้อหายาใดๆมารับประทานเอง
  • ขณะใช้ยานี้ ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ
  • ในผู้ป่วยสตรี ต้องป้องกันการมีบุตรขณะได้รับยาชนิดนี้/ยานี้โดยใช้การป้องกันทางกายภาพเช่น การใช้ถุงยาอนามัยชาย
  • พักผ่อนอย่างพอเพียง และรับประทานอาหารตามที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาเมลฟาแลนได้ ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อแพทย์/พยาบาล/บุคคลการทางการแพทย์ผู้ที่ทำการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อนัดหมายการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว

เมลฟาแลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมลฟาแลนเป็นยาที่ก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบการทำงานของร่างกายได้หลายประการ ผลข้างเคียงบางอย่างอาจเกิดขึ้นทันทีหลังใช้ยานี้ หรืออาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์จึงจะเกิดผลข้างเคียงเหล่านั้น อย่างไรก็ตามอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นส่วนมากสามารถหายได้เองหลังจากหยุดใช้ยานี้

ทั้งนี้ มีข้อสรุปทางคลินิกเรื่องผลข้างเคียงของยาเมลฟาแลน ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เกิดแผลในช่องปาก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผมร่วง เกิดผื่นคันที่มีอาการบวมของผิวหนังร่วมด้วย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะหัวใจหยุดเต้น หลอดเลือดดำอักเสบ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะกดไขกระดูก ทำให้มีภาวะเม็ดเลือดต่างๆต่ำ อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับยานี้ไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์
  • ผลต่อตับ: เช่น มีโอกาสเกิดพิษต่อตับ/ตับอักเสบรุนแรง
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น กดการทำงานของรังไข่จนเป็นผลให้ประจำเดือนขาด กดการทำงานของอัณฑะ อาการดังกล่าวโดยเฉพาะเพศชายสามารถหายกลับมา เป็นปกติได้ แต่ก็มีบางกรณีที่เกิดอาการเป็นหมันอย่างถาวร
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ : เช่น เกิดพังผืดในปอด มีภาวะปอดอักเสบ
  • ผลต่อไต: เช่น อาจส่งผลให้ระดับยูเรีย(Urea)ในเลือดเพิ่มขึ้นแต่เป็นอยู่ชั่วคราว ระดับยูเรียจะกลับมาเป็นปกติเมื่อหยุดการใช้ยานี้

มีข้อควรระวังการใช้เมลฟาแลนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมลฟาแลน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะไขกระดูกถูกกดการทำงาน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามให้นมบุตรในระหว่างใช้ยาชนิดนี้/ยานี้
  • เข้ารับการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด เช่น ดูการทำงานของตับ และของไต ตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง ไม่ควรหยุดการรักษาไปเฉยๆโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเมลฟาแลนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อาการข้างเคียงลักษณะใดที่ต้องนำผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว?

เมื่อมีการใช้ยาเมลฟาแลน กรณีพบอาการดังต่อไปนี้ ควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง เช่น

  • คลื่นไส้มากทุกครั้งที่รับประทานอาหาร และยาที่แพทย์สั่งจ่ายมาเพื่อบรรเทาอาการใช้ไม่ได้ผล
  • อาเจียนวันละ 4–5 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • ท้องเสีย 4–6 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • มีเลือดออกตามร่างกายโดยไม่รู้สาเหตุ
  • อุจจาระมีสีคล้ำ/อุจจาระเป็นเลือด และ/หรือ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
  • ตัวเหลืองตาเหลือง เกิดผื่นบวมแดงของผิวหนัง เจ็บขณะกลืนอาหาร

เมลฟาแลนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมลฟาแลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเมลฟาแลน ร่วมกับยาAdalimumab เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยง ต่อการติดเชื้อโรคต่างๆได้อย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาเมลฟาแลน ร่วมกับยาClozapine ด้วยะจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ รุนแรงจนมีการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆได้ง่ายตามมา
  • ห้ามใช้ยาเมลฟาแลนร่วมกับ วัคซีนป้องกันโรคชนิดต่างๆ เช่น วัคซีนโรคฝีดาษ วัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนโรคหัด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากวัคซีนที่ได้รับเสียเอง ตลอดจนผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของวัคซีนดังกล่าวก็ไม่เกิดประสิทธิผล
  • ห้ามใช้ยาเมลฟาแลน ร่วมกับวิตามินอี ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเมลฟาแลนด้อยลง

ควรเก็บรักษาเมลฟาแลนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเมลฟาแลน ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาฉีดภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
  • เก็บยาชนิดรับประทานภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
  • เก็บยาทั้ง2รูปแบบ ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว และ ห้ามทิ้งยาลงแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

เมลฟาแลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมลฟาแลน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Alkeran (อัลเคอแรน) ApoPharma USA, Inc

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Melphalan.aspx [2018,June9]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Melphalan [2018,June9]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/melphalan/?type=brief&mtype=generic [2018,June9]
  4. http://www.medsafe.govt.nz/profs/Datasheet/a/alkerantab.pdf [2018,June9]
  5. https://gp2u.com.au/static/pdf/A/ALKERAN_INJECTION-PI.pdf [2018,June9]
  6. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/131#item-8763 [2018,June9]
  7. https://www.drugs.com/mtm/melphalan.html [2018,June9]
  8. https://www.drugs.com/sfx/melphalan-side-effects.html [2018,June9]
  9. https://www.drugs.com/drug-interactions/melphalan-index.html?filter=3&generic_only=#A [2018,June9]