เมทาโดน (Methadone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 พฤศจิกายน 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยาเมทาโดนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเมทาโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเมทาโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเมทาโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเมทาโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทาโดนอย่างไร?
- ยาเมทาโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเมทาโดนอย่างไร?
- ยาเมทาโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มยาแก้ปวด และยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- ยาเสพติด (Narcotic drug)
บทนำ
ยาเมทาโดน (Methadone) เป็นสารสังเคราะห์ประเภทโอปิออยด์ (Synthetic opioid: ฝิ่นสังเคราะห์) ถูกนำมาใช้เป็นยาแก้ปวด และใช้บำบัดผู้ติดยาเสพติด เมทาโดนถูกพัฒนาขึ้นในประเทศเยอรมันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) โดยนำมาเป็นยาแก้ปวดประเภทปวดเรื้อรัง และจัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพการรักษาอาการปวดที่ดีมากตัวหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) ถูกนำเข้ามาใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา และมีรายงานว่า พบผู้ที่เสียชีวิตด้วยการใช้ยานี้ผิดวัตถุประสงค์และเสียชีวิตลงประมาณ 5,000 คน/ปี
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า เมทาโดนถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหารโดยใช้เวลาไม่เกิน 0.5 - 1 ชั่วโมงก็เริ่มออกฤทธิ์ ระยะเวลาของการออกฤทธิ์อยู่ที่ 6 - 8 ชั่วโมง หากได้รับยาเพิ่มเติม ระยะเวลาการออกฤทธิ์จะขยายได้ถึง 22 - 48 ชั่วโมง ปกติเมทาโดนสามารถจับกับโปรตีนในกระแสเลือดได้ประมาณ 60 - 90% อีกทั้งซึมผ่านรกและเข้าสู่น้ำนมของมารดาได้ด้วย ตับจะเป็นอวัยวะที่เปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ก่อนที่จะขับออกมากับอุจจาระและปัสสาวะ
เมทาโดนจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดประเภท 2 มีใช้ตามสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อจากร้ายขายยาทั่วไปได้ และการใช้ยากับผู้ป่วยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ยาเมทาโดนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเมทาโดนมีสรรพคุณดังนี้
- ใช้บำบัดรักษาอาการปวดเรื้อรัง
- ใช้บำบัดอาการในผู้ที่ติดยาเสพติด
ยาเมทาโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
เมทาโดนมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าไปจับกับตัวรับในสมองที่มีชื่อว่า โอปิเอท รีเซ็ปเตอร์ (Opiate receptors) ทำให้ร่างกายมีความรู้สึกและตอบสนองต่อความเจ็บปวดลดลง จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยาเมทาโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมทาโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาเม็ด ขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำ ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร บรรจุในขวด 1,000 มิลลิลิตร
ยาเมทาโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเมทาโดนมีขนาดรับประทานดังนี้
- สำหรับรักษาอาการปวด:
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นที่ 2.5 - 10 มิลลิกรัมทุกๆ 8 - 12 ชั่วโมง การปรับขนาดรับประทานควรเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย
- สำหรับใช้บำบัดผู้ติดยาเสพติด:
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นที่ 15 - 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง จากนั้นอีก 1 - 2 วันให้ลดขนาดรับประทานลง 20% ในแต่ละวัน ระยะเวลาของการบำบัดอยู่ในช่วงเวลาไม่ควรเกิน 10 วัน
*****หมายเหตุ: ขนาดยานี้ในเด็กขึ้นกับ น้ำหนักตัวเด็ก อายุ และดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีไป
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมทาโดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทาโดนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเมทาโดนสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาเมทาโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเมทาโดนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น อุจจาระมีสีดำ มีเลือดออกปนมากับอุจจาระและปัสสาวะ การมองเห็นภาพผิดปกติ การเห็นสีฟ้าและสีเหลืองเปลี่ยนไป เจ็บหน้าอก สับสน ชัก ไอ ปัสสาวะน้อย วิงเวียน เป็นลม ปากแห้ง อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติ ผื่นคัน เหงื่อออกมาก กระหายน้ำบ่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปาก-นิ้ว-ผิวหนังซีด น้ำหนักเพิ่ม ท้องผูก ปวดเกร็งในท่อทางเดินน้ำดี (ปวดท้องด้านขวาตอนบนที่เป็นตำแหน่งของถุงน้ำดี) ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้าลง เมื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะพบว่าผิดปกติ (ECG abnormalities) โปรตีนในเลือดสูง เกิดการกดการหายใจ (หายใจเบา/ตื้น อัตราการหายใจลดลง) และเกิดภาวะขาดประจำเดือน เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทาโดนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทาโดนดังนี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเมทาโดน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยโรคลำไส้อุดตัน ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันในกระโหลกศีรษะสูง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติหรือได้รับบาดเจ็บในบริเวณศีรษะ ผู้ป่วยโรคไตหรือโรคตับ ผู้ที่มีอารมณ์แปรปรวน ผู้ที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะปัสสาวะขัด โรคต่อมลูกหมากโต
- ไม่ควรใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรและเด็ก การใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นรับประทาน
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทาโดนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเมทาโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมทาโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้
- การใช้ยาเมทาโดนร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวีบางตัว เช่น Ritonavir เป็นเหตุให้ประสิทธิภาพในการแก้ปวดของเมทาโดนลดลง หากต้องใช้ยาทั้งคู่ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาเมทาโดนร่วมกับยาแก้ปวดเช่น Tramadol จะก่อให้เกิดความเสี่ยงของอาการชักร่วมกับมีการหายใจที่ผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
- การใช้ยาเมทาโดนร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัวเช่น Azithromycin สามารถเพิ่มความเสี่ยงของอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเมทาโดนร่วมกับยาขยายหลอดลมเช่น Turbutaline อาจเป็นเหตุให้หัวใจของผู้ป่วยมีการเต้นผิดจังหวะ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาเมทาโดนร่วมกับยาที่เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้เช่น Cisapride ด้วยการใช้ร่วมกันสามารถกระตุ้นให้หัวใจทำงานผิดปกติจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยาได้
ควรเก็บรักษายาเมทาโดนอย่างไร?
สามารถเก็บยาเมทาโดนที่อุณหภูมิห้อง ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะ ที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาเมทาโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมทาโดนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าเพียงตัวยาเดียวและบริษัทผู้ผลิตคือ
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Methadone GPO (เมทาโดน จีพีโอ) | GPO |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Methadone [2014,Nov1]
2 http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=methadone [2014,Nov1]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Methadone%20GPO/ [2014,Nov1]
4 http://www.drugs.com/methadone.html [2014,Nov1]
5 http://www.drugs.com/dosage/methadone.html#Usual_Adult_Dose_for_Pain [2014,Nov1]
6 http://www.drugs.com/sfx/methadone-side-effects.html [2014,Nov1]
7 http://www.webmd.com/drugs/2/drug-2671-1278/methadone-oral/methadoneconcentrate-oral/details/list-contraindications [2014,Nov1]
8 http://www.drugs.com/drug-interactions/methadone.html [2014,Nov1]
9 http://www.drugs.com/drug-interactions/methadone-index.html?filter=3&generic_only= [2014,Nov1]
10 http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a682134.html#storage-conditions [2014,Nov1]