เบบี้บลูในผู้ชาย (Baby blues in men) หรือ แดดดี้บลู (Daddy blues)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

เบบี้บลูในผู้ชาย(Baby blues in men) หรือ แดดดี้บลู(Daddy blues)คือ ภาวะผิดปกติทางอารมณ์ของบิดาที่เกิดหลังภรรยาคลอดบุตรหรือหลายคนเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงครรภ์ระยะท้ายก่อนคลอด โดยอาการ เช่น  ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ก้าวร้าวขึ้น นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า ฯลฯ ทั้งนี้ อาการอาจเกิดเพียงเฉพาะกับบิดา  แต่ทั่วไปมักเกิดร่วมกับฝ่ายมารดา พบอาการได้ตั้งแต่ในสัปดาห์แรกหลังทารกคลอด แต่พบ บ่อยกว่าในช่วง 3-6เดือนหลังทารกคลอด และในบางรายอาการอาจนานได้ถึง 1ปีหลังทารกคลอด

เบบี้บลูในผู้ชาย/แดดดี้บลู พบบ่อยทั่วโลกประมาณ 1%-25%(เพศหญิงพบ ประมาณ 80%) ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงการเกิดของแต่ละบิดาที่รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีในการมีลูกของแต่ละประเทศและอายุของบิดา  

         อนึ่ง:

  • เบบี้บลูในผู้ชาย สะกดได้อีกแบบ คือ เบบี้บลูส์ในผู้ชาย หรือ แดดดี้บลูส์
  • ชื่ออื่น เช่น Postpartum blue in men

เบบี้บลูในผู้ชายมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุเกิดเบบี้บลูในผู้ชาย/แดดดี้บลูที่แน่นอน แพทย์ยังไม่ทราบ แต่จาการศึกษาเชื่อได้ว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย: การศึกษาพบว่า ในบิดาที่เพิ่งมีการคลอดของทารกโดยเฉพาะที่มีอาการนี้ มีระดับฮอร์โมนหลายชนิดที่เกี่ยวกับอารมณ์และการใช้พลังงานของร่างกายต่ำลง เช่น  เทสทอสเทอโรน,   ฮอร์โมนต่อมหมวกไตในกลุ่มคอร์ติโซน
  • การเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างฉับพลัน เช่น บทบาทความเป็นพ่อ, ความเป็นสามี,  หน้าที่การงาน
  • การที่ภรรยาเกิดอาการมาม่าบลู
  • ความสงสารภรรยาที่ต้องดูแลให้นมลูกตลอดเวลา
  • ความสัมพันธ์กับภรรยาที่เปลี่ยนไป
  • ความสัมพันธ์ใหม่ที่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรกับทารก
  • ความกลัวในการดูแลทารก
  • ปัญหาทางเศรษฐกิจ
  • ปัญหาจากการคาดหวังของตนเอง ภรรยา และครอบครัว ในการเป็นพ่อที่ดี
  • หาคนช่วยเหลือดูแลลูกและภรรยาไม่ได้
  • ชอบเที่ยว
  • ใช้ยาเสพติด
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่อยากมีลูกตั้งแต่แรก
  • ทารกไม่สมบูรณ์ มีความพิการแต่กำเนิด

เบบี้บลูในผู้ชายมีอาการอย่างไร?

อาการของเบบี้บลูในผู้ชาย/แดดดี้บลู ทั่วไปเช่นเดียวกับในเพศหญิง(อ่านรายละเอียดจากเว็บhaamor.com เรื่อง มาม่าบลู) แต่บางอาการอาจต่างกัน ทั้งนี้เป็นอาการฉับพลัน พบได้ตั้งแต่ก่อนคลอดไปจนถึงประมาณ 1 ปีหลังคลอด แต่ทั่วไปมักจะปรับตัวได้ อาการจะหายเองภายใน 2-3วันแต่ไม่ควรเกิน 2 สัปดาห์หลังมีอาการ  ซึ่งถ้ามีอาการรุนแรงและต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์ มักจะเปลี่ยนไปเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดที่ควรต้องรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆ

ก. อาการเช่นเดียวกับในเพศหญิง: อาการส่วนใหญ่ เช่น

  • ซึมเศร้า อ้างว้าง  รู้สึกตัวคนเดียว
  • อ่อนเพลีย, เหนื่อยล้า
  • นอนไม่หลับ
  • เครียด
  • วิตกกังวล
  • สับสน
  • ทำตัวไม่ถูกกับทารก
  • ไม่สนใจทารกเท่าที่ควร
  • กลัวเสียความสัมพันธ์ในฐานะ สามี ภรรยา ลูก
  • อาจอยากทำร้ายภรรยา หรือลูก
  • เบื่ออาหาร
  • หันไปสูบบุหรี่, ดื่มสุรา, และ/หรือ ใช้ยาเสพติด

ข. อาการที่ต่างจากเพศหญิง: เช่น

  • ไม่มีเหตุผล
  • โกรธง่าย ฉุนเฉียว หงุดหงิด  ก้าวร้าว
  • บ้างานเกินปกติ
  • ทำตัวห่างเหินกับ ภรรยา ทารก และครอบครัว
  • มีอารมณ์ เยาะเย้ย ถากถาง

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’และอาการคงอยู่นานเกิน 2 สัปดาห์ และ/หรือ ส่งผลกระทบกับชีวิตครอบครัว ภรรยา ลูก  การงาน ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เสมอเพื่อได้รับการดูแลรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่อาการจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดอย่าง แท้จริง

แพทย์วินิจฉัยเบบี้บลูในผู้ชายได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเบบี้บลูในผู้ชาย/แดดดี้บลู ได้จาก

  • ซักถามประวัติอาการต่างๆ ระยะเวลาที่เกิดอาการ  ลักษณะการคลอด อาการของมารดา  สุขภาพทารก และที่สำคัญคือ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • อาจมีการตรวจเฉพาะทาง’ทางจิตเวช’ เช่นเดียวกับกรณีมาม่าบลูที่เกิดในมารดา กรณีแพทย์สงสัยว่าอาการเข้าระดับเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์

แพทย์รักษาเบบี้บลูในผู้ชายอย่างไร?

แนวทางการรักษาเบบี้บลูในผู้ชาย/แดดดี้บลูเช่นเดียวกับในผู้หญิง(มาม่าบลู) ได้แก่

ก. แพทย์จะพูดคุย แนะนำ ให้เข้าใจ ปรับทัศนคติ ในสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีปรับตัวสร้างสัมพันธ์ใหม่ กับภรรยา ลูก และคนในครอบครัว กับเพื่อน และเพื่อนร่วมงาน

ข. แนะนำการดูแลตนเอง: ซึ่งเช่นเดียวกับในกรณีอาการมาม่าบลูที่เกิดกับมารดาโดย หลักๆ ได้แก่  

  • เข้าใจ ยอมรับในชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงจากมีลูก
  • พูดคุย ปรึกษากับภรรยา ถึงความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หน้าที่ของแต่ละคน การช่วยกันดูแลลูก ความสัมพันธ์ในฐานะ ภรรยาและสามี
  • หาคนช่วยเหลือทั้งตนเอง และภรรยา
  • บอกเล่า ปรึกษา ความรู้สึกตนเองกับภรรยา ,คนที่ไว้ใจได้
  • หาเวลาพักผ่อนให้เต็มที่ ต้องเข้าใจเด็กแรกเกิดร้องไห้ทั้งวันทั้งคืน กินกับ ขับถ่ายทั้งวันทั้งคืนและไม่เข้าใจอะไรเลย ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติของชีวิตแรกเกิดที่ต้องได้รับการดูแลตลอดเวลา
  • ออกกำลังกายทุกวันตามเวลาที่มี
  • หาเวลาส่วนตัวเพื่อการผ่อนคลาย
  • ไม่คาดหวังว่าต้องเป็นพ่อและสามีที่ดี100%
  • เข้าใจ ปรับตัว และคอยช่วยเหลือภรรยาในการดูแลลูก
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกมื้ออาหาร
  • หยุดบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
  • หยุดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่ออกเที่ยวกลางคืน
  • ไม่เล่นพนัน
  • ไม่ใช้ยาเสพติด
  • พูดคุย ปรึกษา กับภรรยา เพื่อการเตรียมตัวทางด้านเศรษฐกิจ

ค. แพทย์ให้ยาตามอาการ เช่น ยานอนหลับเมื่อนอนไม่หลับ, ยาต้านเศร้า กรณีเริ่มมีอาการซึมเศร้าต่อเนื่อง

เบบี้บลูในผู้ชายก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากเบบี้บลูในผู้ชาย/แดดดี้บลู เช่น

ง. อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด หรือในที่สุดอาจถึงเป็นโรคจิตเมื่อดูแลรักษาล่าช้า

จ. มีผลกระทบต่อชีวิตคู่

ฉ. มีผลกระทบต่อทารก ถ้าอาการเรื้อรังจนเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด เพราะจะขาดความสัมพันธ์กับลูก ส่งผลให้เด็กเมื่อโตขึ้นจะขาดความอบอุ่น ก้าวร้าว เป็นเด็กเกเร เข้ากับเพื่อนได้ยาก มีปัญหาในการเรียน สติปัญญาไม่พัฒนาตามเกณฑ์

เบบี้บลูในผู้ชายรุนแรงไหม?มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ทั่วไป เบบี้บลูในผู้ชาย/แดดดี้บลู เป็นอาการที่ไม่รุนแรง มักปรับตัวได้ใน 2-3วันหลังเกิดอาการ หรือมักไม่นานเกิน 2สัปดาห์  ซึ่งส่วนน้อยอาจมีอาการต่อเนื่องนานกว่า2สัปดาห์ที่ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพราะอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าอย่างแท้จริงถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการเบบี้บลูในผู้ชาย/แดดดี้บลู จะเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวใน  ’หัวข้อ การรักษาฯ ข้อย่อย ข.’

ป้องกันเบบี้บลูในผู้ชายอย่างไร?

การป้องกัน เบบี้บลูในผู้ชาย/แดดดี้บลู เช่นเดียวกับในอาการมาม่าบลูที่เกิดในสตรี คือ

  • เตรียมตนเองล่วงหน้าให้พร้อมในการจะมีลูก
  • เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงเกิดแดดดี้บลู ควรปรึกษาภรรยา และแพทย์เพื่อ ความเข้าใจ และได้รับการช่วยเหลือ
  • หาคำแนะนำจากผู้ที่ไว้ใจได้ในการปรับตัว
  • และที่สำคัญอีกประการคือ การดูแลตนเอง ดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ การรักษา ข้อย่อย ข.’

บรรณานุกรม

  1. https://health.clevelandclinic.org/yes-postpartum-depression-in-men-is-very-real/ [2022,March5]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Postpartum_blues [2022,March5]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Postpartum_depression [2022,March5]
  4. https://www.psychologytoday.com/intl/blog/open-gently/201703/men-get-baby-blues-too [2022,March5]
  5. https://www.babycenter.com.au/x564552/can-dads-get-the-baby-blues [2022,March5]
  6. https://www.nct.org.uk/life-parent/emotions/postnatal-depression-dads-10-things-you-should-know [2022,March5]
  7. https://www.babycenter.com/baby/postpartum-health/can-men-get-the-baby-blues_3870 [2022,March5]