เบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta2 - adrenergic agonists)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 มิถุนายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- ยาขยายหลอดลมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาขยายหลอดลมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาขยายหลอดลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาขยายหลอดลมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาขยายหลอดลมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาขยายหลอดลมอย่างไร?
- ยาขยายหลอดลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาขยายหลอดลมอย่างไร?
- ยาขยายหลอดลมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- โรคหืด (Asthma)
- หลอดลมอักเสบในเด็ก (Bronchitis in children)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
บทนำ
ยาขยายหลอดลมประเภท/กลุ่มเบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta 2-adrenergic ago nist หรือ Beta 2-adrenergic receptor agonist หรือเรียกสั้นๆว่า Beta 2 agonist) ซึ่งต่อไปในบทความนี้ขอเรียกสั้นๆว่า ‘ยาขยายหลอดลม’ เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ที่ตัวรับชื่อ เบต้า 2 แอดริเนอร์จิก (Beta 2-adrenergic receptor) มีผลให้กล้ามเนื้อเรียบเกิดการคลายตัวและส่งผลต่อมาที่อวัยวะหลายอวัยวะของร่างกายเช่น เกิดการขยายหลอดลม หลอดเลือดบริเวณกล้ามเนื้อเรียบและตับขยายตัวกว้างออก ท่อทางเดินปัสสาวะเกิดการคลายตัว และกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน เป็นต้น ยาหลายตัวในยากลุ่มนี้ถูกนำมารักษาโรคทางเดินหายใจเช่น โรคหืดและโรคปอด
อาจจะแบ่งยาขยายหลอดลมประเภท Beta2 adrenergic agonist ตามการออกฤทธิ์ได้ดังนี้
1. ประเภทออกฤทธิ์ในระยะเวลาสั้นๆ (Short-acting beta2 agonists) เช่น Levosalbutamol, Terbutaline, Pirbuterol, Procaterol, Clenbuterol, Metaproterenol, Fenoterol, Bitolterol mesylate, Ritodrine, Isoprenaline
2. ประเภทออกฤทธิ์เป็นเวลานาน (Long-acting beta2 agonists) เช่น Salmeterol, Formoterol, Bambuterol, Clenbuterol, Olodaterol
3 ประเภทออกฤทธิ์เป็นเวลายาวนานกว่าประเภท 2 (Ultra-long-acting beta2 agonists)เช่น Indacaterol
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้คัดเลือกยาในกลุ่มนี้บรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ของไทย อาทิเช่น Salbutamol, Procaterol, Terbutaline, และ Fenoterol โดยระบุการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ช่วยขยายหลอดลม
การพิจารณาเลือกใช้ยาขนานใด เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องผ่านการ คัดกรอง โดยนำความรู้ด้านการรักษาและความสามารถในการวินิจฉัยมาประกอบกัน แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้สั่งจ่ายการใช้ยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ประชาชนหรือผู้ป่วยไม่สมควรหาซื้อมาใช้เองโดยเด็ดขาด
ยาขยายหลอดลมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาขยายหลอดลมมีสรรพคุณดังนี้
- ใช้ขยายหลอดลมในผู้ป่วยโรคหืด
- ใช้รักษาและบรรเทาอาการของโรคปอด
ยาขยายหลอดลมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาขยายหลอดลมกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ที่ตัวรับในระดับเซลล์ที่เรียกว่า เบต้า แอดริเนอร์จิก รีเซ็ปเตอร์ (Beta adrenergic receptors) ทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบในหลอดลม ส่งผล ให้ช่องทางเดินหายใจเปิดกว้างขึ้น จึงมีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยาขยายหลอดลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาขยายหลอดลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาเม็ด ขนาดความแรง 2 และ 2.5 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ด ขนาดความแรง 25 และ 50 ไมโครกรัม/เม็ด
- ยาพ่น ขนาด 100 ไมโครกรัม/โด๊ส (Dose, ปริมาณยาต่อการใช้ 1 ครั้ง)
- ยาพ่นชนิดสารละลาย ขนาดความเข้มข้น 0.1% และ 0.5% น้ำหนัก/ปริมาตร (0.1 และ 0.5 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร)
- ยาพ่นชนิดเนปบูล/ฝอยละออง (Nebules) 2.5 มิลลิกรัม
- ยาชนิดน้ำเชื่อม ขนาด 1.5 และ 2 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาชนิดน้ำเชื่อม ขนาด 5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
ยาขยายหลอดลมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ด้วยในกลุ่มยาขยายหลอดลมประเภทเบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ มีหลายรายการ ขนาดรับประทานจึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยประวัติทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วย รวมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการ และมีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการรับประทานจึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาขยายหลอดลม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำ บาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาขยายหลอดลมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาขยายหลอดลมสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า อย่างไรก็ตาม หากลืมรับประ ทานยาบ่อยๆหลายครั้งก็สามารถก่อให้เกิดผลกระทบกับตัวผู้ป่วยได้เช่นเดียวกัน
ยาขยายหลอดลมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาขยายหลอดลมประเภทเบต้า2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ และส่งผลให้ชีพจรเต้นผิดปกติ นอนไม่หลับ จิตใจสับสน มือสั่น คลื่นไส้ เหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ เกิดภาวะปอดบวม หัว ใจขาดเลือด วิงเวียน อ่อนเพลีย ความดันโลหิตสูงหรือต่ำก็ได้
มีข้อควรระวังการใช้ยาขยายหลอดลมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาขยายหลอดลมดังนี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยยานี้จะไปเพิ่มความต้องการออกซิ เจนในกล้ามเนื้อหัวใจ และอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดขึ้นได้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (โรคหลอดเลือดหัวใจ) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคลมชัก และผู้ป่วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ)
- ไม่แนะนำให้ใช้ยาขยายหลอดลมประเภท Long acting beta2 agonist ในผู้ป่วยที่ใช้ยา กลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ควบคุมอาการหอบหืด ด้วยอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อคน ไข้มากขึ้น
- ไม่แนะนำการใช้ยากลุ่มนี้กับหญิงตั้งครรภ์ ด้วยยาสามารถส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
- ยากลุ่มนี้หลายตัวสามารถผ่านเข้าไปในน้ำนมของมารดา หากไม่จำเป็นควรเลี่ยงการใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยาขยายหลอดลมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามี ทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยา ทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาขยายหลอดลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาขยายหลอดลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้
- การใช้ยาขยายหลอดลมประเภทเบต้า2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ร่วมกับยาขับปัสสาวะประ เภทขับโพแทสเซียมออกด้วย (Non-potassium sparing diuretics) อาจทำให้เกิดภาวะเกลือโพ แทสเซียมในกระแสเลือดต่ำ (อาการเช่น อ่อนเพลีย เป็นตะคริว หัวใจเต้นผิดปกติ) หากมีความจำ เป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาขยายหลอดลมประเภทเบต้า2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ร่วมกับยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม MAOI (Monoamine oxidase inhibitor) สามารถส่งผลให้ระบบหลอดเลือดหัวใจทำงานผิด ปกติ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาขยายหลอดลมประเภทเบต้า2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ร่วมกับยารักษาโรคหัวใจ กลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-adrenergic receptor antagonist) สามารถรบกวนฤทธิ์ในการรักษาของยาขยายหลอดลม อีกทั้งอาจทำให้เกิดภาวะหลอดลมหดเกร็งตัวขึ้นมาได้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาขยายหลอดลมอย่างไร?
สามารถเก็บยาขยายหลอดลมภายใต้อุณหภูมิห้อง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาขยายหลอดลมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาขยายหลอดลมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aerotamol 100 (เอโรทามอล 100) | Aerocare |
Antomol (แอนโทมอล) | Medicine Products |
Asmasal SDU (แอสมาซอล เอสดียู) | Silom Medical |
Asmasal Syrup (แอสมาซอล ไซรัป) | Silom Medical |
Asmol (แอสมอล) | Suphong Bhaesaj |
Asthalin CFC-Free (แอสทาลิน ซีเอฟซี-ฟรี) | Cipla |
Asthamol (แอสทามอล) | Okasa Pharma |
Asthmolin (แอสโมลิน) | Pharmasant Lab |
Bronchosol (บรอนโชซอล) | Siam Bheasach |
Buto-Asma (บูโท-แอสมา) | Lab Aldo-Union |
Buventol Easyhaler (บูเวนทอล อิสซีเฮเลอร์) | Orion |
Durasal-CR (ดูราซอล-ซีอาร์) | Raptakos |
Naso (นาโซ) | T.Man Pharma |
Sabumol (ซาบูมอล) | GPO |
Salbusian (ซาลบูเซียน) | Asian Pharm |
Salbutac (ซาลบูแทค) | Polipharm |
Salbutamol GPO (ซาลบูทามอล จีพีโอ) | GPO |
Salbutamol Inhalation CFC-Free (ซาลบูทามอล อินฮาลาชั่น ซีเอฟซี-ฟรี) | Jewim |
Salbutamol Medicpharma (ซาลบูทามอล เมดิฟาร์มา) | Medicpharma |
Salbutamol Osoth (ซาลบูทามอล โอสถ) | Osoth Interlab |
Salbutamol Utopian (ซาลบูทามอล ยูโทเปียน) | Utopian |
Saldol (ซาลดอล) | The Forty-Two |
Salmol Atlantic (ซาลมอล แอทแลนติก) | Atlantic Lab |
Salmol Syrup (ซาลมอล ไซรัป) | Biolab |
Salvent (ซาลเวนท์) | Okasa Pharma |
Sulbuta-N (ซาลบูทา-เอ็น) | L. B. S. |
Venterol (เวนเทอรอล) | Greater Pharma |
Ventolin (เวนโทลิน) | GlaxoSmithKline |
Violin (ไวโอลิน) | T.O. Chemicals |
Zalbu Nebule (ซาลบู เนบลู) | Pharma Innova |
Asthnyl (แอสนิล) | Osoth Interlab |
Broncholine (บรอนโชลีน) | T.O. Chemicals |
Cofbron (คอฟบรอน) | MacroPhar |
P-Canyl (พี-คานิล) | Osoth Interlab |
Terbu Expectorant (เทอร์บู เอกซ์เปคโทแรนท์) | Community Pharm PCL |
Terbutaline Sulfate GPO (เทอร์บูทาลีน ซัลเฟต จีพีโอ) | GPO |
Terbutaline T.O. (เทอร์บูทาลีน ที.โอ.) | T. O. Chemicals |
Tolbin (ทอลบิน) | Unison |
Caterol (แคเธอรอล) | Pharmasant Lab |
Meptin (เมพทิน) | Otsuka |
Aerobidol (แอโรบิดอล) | Aerocare |
Berodual/Berodual Forte (เบโรดูแอล/เบโรดูแอล ฟอร์ท) | Boehringer Ingelheim |
Inhalex/Inhalex Forte(อินแฮเล็กซ์/อินแฮเล็กซ์ ฟอร์ท) | Silom Medical |
Iperol/Iperol Forte (ไอเพอรอล/ไอเพอรอล ฟอร์ท) | L. B. S. |
Iprateral (อิแพรเทอรอล) | Pharma Innova |
Punol (พูนอล) | Biolab |
Seretide (เซเรไทด์) | GlaxoSmithKline |
Serevent (เซเรเวนท์) | GlaxoSmithKline |
Seroflo 125 (เซโรโฟล) | Cipla |
Oxis (อ๊อกซิส) | AstraZeneca |
Symbicort/Symbicort Fort (ซิมบิคอร์ท/ซิมบิคอร์ท ฟอร์ท) | AstraZeneca |
Zenhale (เซนเฮล) | MSD |
Bambec (แบมเบค) | AstraZeneca |
Onbrez Breezhaler (ออนเบรซ บรีซแฮเลอร์) | Novartis |
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Beta2-adrenergic_agonist[2017,May27]
- http://www.webmd.com/lung/copd/beta2-agonists-for-chronic-obstructive-pulmonary-disease-copd[2017,May27]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=terbutaline[2017,May27]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=fenoterol[2017,May27]
- http://www.cvpharmacology.com/cardiostimulatory/beta-agonist.html[2017,May27]
- http://www.rxlist.com/perforomist-drug/side-effects-interactions.html[2017,May27]
- http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/beta-2-adrenergic-agonist-oral-route-injection-route/proper-use/drg-20069364[2017,May27]
Updated 2017,May27