เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง (Meningioma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เยื่อหุ้มสมอง (Meninges) เป็นเนื้อเยื่อบางๆที่ห่อหุ้มภายนอกทุกส่วนของเนื้อสมอง และของไขสันหลัง มีหน้าที่ในการปกป้องและช่วยคงรูปร่างเนื้อสมองและไขสันหลัง ซึ่งเนื้อเยื่อนี้สามารถเกิดเป็นเนื้องอกได้ โดยประมาณ 80% เป็นเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็ง/Benign tumor ที่เรียกว่า “เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง หรือเนื้องอกเมนิงจิโอมา(Meningioma)”, ประมาณ 15-20% เป็นเนื้องอกที่มีธรรมชาติของโรคอาจกลายเป็นมะเร็งได้ เรียกว่า “Malignant potential tumor หรือ Atypical meningioma” , และประมาณ 1-2% เป็นเนื้องอกมะเร็ง/ โรคมะเร็ง เรียกว่า “Malignant meningioma”

ทั้งนี้โดยทั่วไป จัด เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง อยู่ในกลุ่มเดียวกับ เนื้องอกสมอง(Brain tumor) และอยู่ในกลุ่มเดียวกับมะเร็งสมอง(Malignant brain tumor)กรณีเป็น มะเร็งเยื่อหุ้มสมอง

อย่างไรก็ตาม ในบทนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ”เนื้องอกเยื่อหุ้มสมองชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง และชนิดที่อาจกลายเป็นมะเร็ง”ได้เท่านั้น ซึ่งขอรวมเรียกว่า ‘เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง (Meningioma)’ ส่วนเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองชนิดที่เป็นมะเร็งได้มีบทความแยกต่างหากแล้ว คือ เรื่อง “เนื้องอกและมะเร็งสมอง” อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com

เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง เป็นโรคพบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยมาก ประมาณ 2-6 รายต่อประชากร 100,000 คน พบเป็นประมาณ 15-35% ของเนื้องอก/มะเร็งสมองชนิดปฐมภูมิ/Primary brain tumor(คือ เนื้องอกชนิดเกิดจากเนื้อเยื่อสมองเอง ไม่ใช่จากมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น มะเร็งปอดแพร่กระจายมาสมอง) ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะพบเกิดได้เพียงก้อนเนื้อเดียว แต่ก็พบหลายๆก้อนพร้อมๆกันได้ประมาณ 5-40% โดยเฉพาะเมื่อเกิดจากโรคทางพันธุกรรมบางโรค ที่เรียกว่า “Neurofibromatosis type 2 หรือเรียกย่อว่า โรคเอ็นเอฟทู (NF 2, โรคเนื้องอกของเส้นประสาท ซึ่งเกิดได้กับทุกๆเส้นประสาท แต่เป็นโรคพบยาก)”

เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง พบได้ทุกอายุ แต่ทั่วไปเป็นโรคของผู้ใหญ่ พบได้สูงขึ้นในช่วงอายุตั้งแต่ 45-50 ปีขึ้นไป โดยจะพบสูงขึ้นเรื่อยๆตามอายุที่สูงขึ้น ผู้หญิงพบได้บ่อยกว่าผู้ชายประมาณ 1.5-2เท่า

เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง เกิดได้กับเยื่อหุ้มสมองทุกส่วนรวมทั้งที่ไขสันหลัง โดยตำแหน่งที่พบบ่อยเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ

  • บริเวณสมองใหญ่ (Cerebrum) พบประมาณ 20-35%ของเนื้องอกนี้ทั้งหมด
  • บริเวณกลางศีรษะ(Parasagittal) พบประมาณ 20%
  • บริเวณฐานสมอง(Sphenoid ridge) พบประมาณ 20%
  • บริเวณสมองส่วนหลัง(Posterior fossa) พบ ประมาณ 10%
  • บริเวณต่อมใต้สมอง (Parasellar region) พบประมาณ 10% และ
  • บริเวณอื่นๆ คือ บริเวณที่นอกเหนือจากที่ได้กล่าวแล้ว พบรวมกันประมาณ 5-10%

ทั้งนี้ แบ่งเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองตามลักษณะการแบ่งตัวของเซลล์(Cell Grading) ออกได้เป็น3กลุ่ม/ชนิด/ประเภท(Type) คือ Grade I tumor, Grade II tumor, และ Grade III tumor

  • Grade I meningioma หรือ Grade I tumor หรือ Benign meningioma: คือ เนื้องอกที่เซลล์ไม่ค่อยมีการแบ่งตัว กลุ่มนี้โรคจะโตช้า และมักไม่มีการเปลี่ยน แปลงไปเป็นมะเร็ง ยกเว้น ถ้าโรคเกิดเป็นซ้ำหลายๆครั้งจนเซลล์เริ่มกลายพันธ์ไปเป็น Grade II เนื้องอกเยื่อหุ้มสมองGrade1 พบได้บ่อยที่สุด คือ ประมาณ 85% ของเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองทั้งหมด
  • Grade II meningioma หรือ Grade II tumor หรือ Atypical meningioma หรือ Malignant potential meningioma: เนื้องอกชนิดนี้พบได้ประมาณ 10% เป็นชนิดที่มีการแบ่งตัวของเซลล์ระดับปานกลาง เนื้องอกจะโตเร็ว มีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งสมองได้
  • Grade III meningioma หรือ Grade III tumor หรือ Malignant meningioma หรือ Anaplastic meningioma: เนื้องอกชนิดนี้ พบได้ประมาณ 5% เซลล์เนื้องอกมีการแบ่งตัวสูง ก้อนเนื้อโตเร็ว จัดเป็นมะเร็งสมอง

โรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองเกิดจากอะไร?

เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง แต่พบปัจจัยเสี่ยง คือ

  • เป็นโรคทางพันธุกรรมบางโรคดังได้กล่าวแล้วใน”บทนำ”
  • เคยได้รับรังสีรักษาในบริเวณศีรษะจากการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองในอีก 20-30 ปีต่อมา
  • ปัจจัยที่ยังอยู่ในการศึกษา คือ การได้รับรังสีอย่างต่อเนื่อง (เช่น จากโทรศัพท์มือถือ, จากสถานีไฟฟ้าแรงสูง), อุบัติเหตุที่สมอง, การสูบบุหรี่, หรือการใช้ฮอร์โมนเพศหญิง

โรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองมีอาการอย่างไร?

อาการของเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองคือ อาการที่เกิดจากเนื้อสมองถูกกด เบียด ทับจากก้อนเนื้อ ดังนั้น เมื่อก้อนเนื้อมีขนาดเล็กๆ จึงมักไม่มีอาการ ซึ่งบ่อยครั้งตรวจพบเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองกลุ่มนี้โดยบังเอิญจากการตรวจภาพศีรษะ/สมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ คลื่นแม่เหล็กเอมอาร์ไอ จากการตรวจโรคทั่วไปของสมอง เช่น อุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือจากการตรวจหาการแพร่กระจายของโรคมะเร็งชนิดอื่นๆเข้าสู่สมอง

เมื่อก้อนเนื้อนี้โตขึ้น จึงก่ออาการ ซึ่งอาการของเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองไม่เป็นอาการเฉพาะโรค แต่เป็นอาการเช่นเดียวกับอาการจากโรคเนื้องอก/มะเร็งสมองทุกชนิด ทั้งนี้อาการจะขึ้นกับตำแหน่งสมองที่เกิดโรค ทั่วไปอาการที่พบบ่อย คือ

  • ปวดศีรษะเรื้อรัง
  • อาจมีอาการชัก อาจชักทั้งตัว หรือเพียงนิ้วมือ หรือนิ้วเท้ากระตุกผิดปกติ
  • อาจมีใบหน้าชาซีกเดียว หรืออาจมีใบหน้าเบี้ยวซีกเดียว

แพทย์วินิจฉัยโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองได้เช่นเดียวกับในโรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง คือ จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายทางระบบประสาท การตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ และโดยทั่วไปการตรวจจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ มักสามารถให้การวินิจฉัยในเบื้องต้นได้ว่าเป็น เนื้องอกจากเยื่อหุ้มสมอง แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนว่า เป็นเนื้องอกแน่นอนหรือไม่ และเป็นชนิดใด จะได้จากการตัดชิ้นเนื้อหรือตรวจก้อนเนื้อหลังการผ่าตัดด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง คือ

ก. เมื่อตรวจพบโรคโดยบังเอิญดังกล่าวแล้ว โดยผู้ป่วยยังไม่มีอาการ ก้อนเนื้อยังมีขนาดเล็ก และก้อนเนื้ออยู่ในตำแหน่งที่ไม่ก่ออันตราย แพทย์มักแนะนำการตรวจติดตามโรคเป็นระยะๆ อาจทุก 1-2 ปี ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ ทั้งนี้เพราะก้อนเนื้อจากโรคนี้โตช้า บ่อยครั้งมักไม่ก่ออาการเลยตลอดชีวิตผู้ป่วย จึงไม่คุ้มกับการเสี่ยงต่อการผ่าตัดสมอง แต่เมื่อการติดตามโรคพบก้อนเนื้อโตขึ้น แพทย์จึงพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน นอกจากการผ่าตัดแล้ว ยังสามารถรักษาควบคุมก้อนเนื้อไม่ให้โตขึ้นได้ด้วยการฉายรังสีรักษาด้วยเทคนิคก้าวหน้าที่ซับซ้อนที่เรียกว่า รังสีรักษาแบบก้าวหน้า(Advanced radiotherapy)ที่มีรักษาแล้วในบ้านเรา แต่ค่าใช้จ่ายในการรักษายังค่อนข้างสูง เช่น รังสีศัลยกรรม (Radiosurgery ย่อว่า RS หรือ Stereotactic radiosurgery ย่อว่า SRS), การฉายรังสีแบบสเตอริโอแทคติค(Stereotactic radiotherapy ย่อว่า SRT), การฉายรังสีแบบปรับความเข็ม(IMRT, Intensity-modulated radiation therapy)

ข. เมื่อก้อนเนื้อขนาดใหญ่ และ/หรือ ผู้ป่วยมีอาการ การรักษาคือการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก โดยไม่จำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัดเมื่อผ่าตัดออกได้หมดและเซลล์เนื้องอกเป็น Grade I แต่ถ้าเซลล์เนื้องอกเป็น Grade II แพทย์จะพิจารณาเป็นรายผู้ป่วยไปว่า ผู้ป่วยสมควรจะรักษาต่อเนื่องด้วยการฉายรังสีรักษาหรือไม่ แต่ถ้าผลตรวจเซลล์ทางพยาธิวิทยาพบเป็น Grade III แพทย์มักแนะนำการรักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษา

อนึ่ง ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้ หรือกรณีโรคเกิดซ้ำๆหลังการผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการฉายรังสีรักษาร่วมด้วยเช่นกัน

โรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองรุนแรงไหม? มีระยะโรคไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โดยทั่วไปโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง มีการพยากรณ์โรคที่ไม่รุนแรง รักษาหายได้ แต่ถ้าโรคเกิดในตำแหน่งที่ผ่าตัดเอาก้อนเนื้อ ออกให้หมดได้ยาก เช่น เนื้องอกบริเวณฐานสมอง หรือเป็นเซลล์ชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งได้ โรคมักกลับเป็นซ้ำได้สูง

อนึ่ง เนื่องจากเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง ไม่มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ไม่มีการแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต และไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงยกเว้นการกดเบียดทับ จึงไม่มีการจัดระยะโรคในเนื้องอกนี้ การพยากรณ์โรค จึงขึ้นกับการผ่าตัดเป็นหลักสำคัญที่สุด

ทั้งนี้มีการศึกษาที่รายงานว่า ผลการควบคุมโรคได้/การพยากรณ์โรค ขึ้นกับการผ่าตัดที่เรียกว่า Simpson grading system ได้แก่

  • กรณี ผ่าตัดแบบSimpson grade I คือ ผ่าเอาก้อนเนื้อออกได้หมดรวมถึงเอากระดูกกะโหลกที่อยู่ข้างเคียงและเยื่อหุ้มสมองชั้นDuraออกไปด้วย โอกาสที่โรคจะย้อนกลับใน 10 ปี=9%
  • กรณีผ่าตัดแบบSimpson grade II คือ ผ่าเอาก้อนเนื้อออกได้หมดรวมถึงเอาเยื่อหุ้มสมองชั้นDuraออกไปด้วย โอกาสที่โรคจะย้อนกลับใน 10 ปี=19%
  • กรณีผ่าตัดแบบSimpson grade III คือ ผ่าเอาก้อนเนื้อออกได้หมด แต่ไม่สามารถผ่าเยื่อหุ้มสมองชั้นDuraออกได้ โอกาสที่โรคจะย้อนกลับใน 10 ปี=29%
  • ผ่าตัดแบบSimpson grade IV คือ ผ่าเอาก้อนเนื้อออกได้เพียงบางส่วน โอกาสที่โรคจะย้อนกลับใน 10 ปี=40%

นอกจาก การพยากรณ์โรคจะขึ้นผลของการผ่าตัดแล้ว ยังขึ้นกับชนิดเซลล์ โดย เซลล์GadeI ที่ผลการรักษาดีที่สุด และรองลงไปตามลำดับคือ เซลล์GradeII และGradeIII, และ

ยังขึ้นกับอายุผู้ป่วย ซึ่งการพยากรณ์โรคจะแย่ลงกรณีเป็นผู้ป่วยสูงอายุ

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง คือ อาการซึ่งอาจไม่กลับเป็นปกติภายหลังที่รักษาแล้ว เช่น อาการชัก อาการแขนขาอ่อนแรง และ/หรือมีปัญหาในด้านความจำ เป็นต้น

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองตั้งแต่ในระยะยังไม่มีอาการ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลตนเอง คือ สังเกตว่ามีอาการผิดปกติต่างๆที่ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆที่จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • เมื่อแพทย์แนะนำการใช้ยา (เช่น ยาควบคุมการชัก/ยาต้านชัก) ต้องกินยาให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • เมื่อมีการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูร่างกาย ต้องปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำอย่างถูกต้อง ต่อเนื่อง
  • ควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้เกิดโรคอ้วน เพราะเมื่อเป็นโรคทางสมอง เมื่ออ้วนจะดูแลตนเองได้ลำบาก รวมทั้งผู้อื่นก็ดูแลผู้ป่วยลำบากด้วย
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง และ/หรือ
    • มีอาการผิดไปจากเดิม เช่น ชักบ่อยขึ้น หรือแขนขาอ่อนแรงมากขึ้น และ/หรือ
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้ วิงเวียน มาก นอนไม่หลับต่อเนื่อง และ/หรือ
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง แต่การหลีกเลี่ยงรังสีชนิดต่างๆที่หลีกเลี่ยงได้ ก็น่าจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงลงได้ ถึงแม้ผลการศึกษายังไม่ชัดเจนก็ตาม เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือเฉพาะที่จำเป็นโดยเฉพาะกรณีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่เซลล์สมองยังไวเกินต่อรังสีต่างๆ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง รังสีจากโทรศัพท์มือถือ) เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers.
  2. Perez,C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Meningioma [2018,June30]
  4. http://emedicine.medscape.com/article/1156552-overview#showall [2018,June30]
  5. http://www.aans.org/Patients/Neurosurgical-Conditions-and-Treatments/Meningiomas [2018,June30]
  6. https://www.cancer.org/cancer/brain-spinal-cord-tumors-adults/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,June30]
  7. https://www.cancer.net/cancer-types/meningioma/stages-and-grades [2018,June30]
  8. file:///C:/Users/IT/Downloads/10_Epidemiology_of_Meningiomas_in_England_Presentation_CNS_S.pdf [2018,June30]