โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง (Pituitary tumor)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland หรือ Hypophysis) เป็นต่อมในระบบต่อมไร้ท่อ อยู่ตรงกลางในแอ่งของกระดูกส่วนที่เป็นฐานของกะโหลก โดยอยู่ข้างใต้สมอง/ขมอง จึงได้ชื่อว่า ต่อมใต้สมอง ต่อมนี้มีรูปร่างค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร (ซม.) และหนักประมาณ 60 มิลลิกรัม ด้านบนของต่อมจะอยู่ติดกับส่วนของประสาทตาทั้งจากตาซ้ายและตาขวา ที่เรียกว่า Optic chiasm ดังนั้นโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองจึงส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติในการมองเห็นได้ทั้งตาซ้ายและตาขวาหรือทั้ง2ตา

ต่อมใต้สมองแบ่งออกเป็น 2 กลีบใหญ่ๆคือ กลีบที่อยู่ทางด้านหน้า (Anterior lobe) และกลีบที่อยู่ด้านหลัง (Posterior lobe)

ต่อมใต้สมอง จะถูกควบคุมการทำงานโดยฮอร์โมนหลากหลายชนิดจากสมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus, สมองส่วนอยู่ลึก) และตัวต่อมใต้สมองจะสร้างฮอร์โมนหลายชนิดเพื่อควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ ดังนั้นต่อมใต้สมองจึงมีความสำคัญมาก และเมื่อเกิดเนื้องอกขึ้น จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติได้หลากหลายอาการจากการทำงานผิดกติของต่อมไร้ท่อต่างๆ เช่น ต่อมหมวกไต ต่อมไทรอยด์ รังไข่ (ในผู้หญิง) หรืออัณฑะ (ในผู้ชาย)

ก. ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมองกลีบหน้า: ที่สำคัญ ได้แก่

  • ฮอร์โมนควบคุมการทำงานของต่อมหมวกไต (Adrenocorticotropin หรือ Adenocorticotropic hormone) ย่อว่า เอซีที่เอช (ACTH)
  • ฮอร์โมนควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid stimulating hormone) ย่อว่า ทีเอสเอช(TSH)
  • ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต(Growth hormone ย่อว่า GH) เช่น การเจริญเติบโต ของกระดูก และของเนื้อเยื่อต่างๆ
  • ฮอร์โมนควบคุมการทำงานของรังไข่ และอัณฑะ (Follicle stimulating hormone) เรียกย่อว่า เอฟเอสเอช(FSH)
  • ฮอร์โมนอีกชนิดที่ควบคุมการทำงานของรังไข่และอัณฑะ(Luteinizing hormone) ย่อว่า แอลเอช(LH)
  • ฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างน้ำนม(Luteotropic hormone) ย่อว่า แอลทีเอช(LTH) หรืออีกชื่อ คือ โปรแลคติน/โปรแลกติน (Prolactin ย่อว่า PRL)

ข. ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมองกลีบหลัง: ที่สำคัญ ได้แก่

  • ฮอร์โมนเกี่ยวข้องกับการหดตัวของมดลูก และอาจเกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางเพศ เรียกว่า ออกซีโตซิน (Oxytocin)
  • ฮอร์โมนต้านการปัสสาวะ เรียกย่อว่า เอดีเอช (Antidiuretc hormone ย่อว่า ADH) หรืออีกชื่อคือ วาโสเพรสซิน (Vasopressin) เป็นฮอร์โมนควบคุมการดูดซึมน้ำของไตจากปัสสาวะกลับเข้าสู่ร่างกาย เพื่อคงสมดุลของน้ำและเกลื่อแร่ในร่างกาย ซึ่งเมื่อเกิดความผิดปกติของต่อมใต้สมองส่วนสร้างเก็บฮอร์โมนนี้ จะส่งผลให้มีการปัสสาวะในปริมาณสูงมากจนส่งผลให้ร่างกายเสียเกลือแร่และเสียน้ำมาก เกิดโรคที่เรียกว่า “โรคเบาจืด หรือเรียกย่อว่า โรคดีไอ, Diabetes insipidus, DI)

โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง (Pituitary tumor หรือ Pituitary adenoma) เป็นโรคพบได้บ่อยพอสมควร ประมาณ 10-15%ของโรคเนื้องอกและมะเร็งสมองทั้งหมดและมักพบได้โดยบังเอิญ เช่น ประมาณ 10% จากการตรวจศพของผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุต่างๆโดยที่ไม่เคยมีอาการจากโรคเนื้องอกนี้ โรคนี้พบได้ในทุกวัยทั้งใน เด็ก (พบได้สูงในช่วงวัยรุ่น) วัยหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ และในผู้สูงอายุ ทั้งนี้โดยทั่วไป พบโรคนี้ได้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย แต่บางชนิดพบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย เช่น โรคคุชชิง (Cushing disease)ที่พบในผู้หญิงบ่อยเป็น 3 เท่าของผู้ชาย

อะไรเป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง?

โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุหรือ ปัจจัยเสี่ยงที่แน่ชัด ต่อการเกิดโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง แต่พบว่าผู้ป่วยโรคนี้ มีความผิดปกติในจีน/ยีน (Gene) หลายตัว และยังพบได้สูงขึ้นในคนมีครอบครัวเป็นโรคกลุ่มอาการที่มีเนื้องอกหลายๆชนิดร่วมกันของระบบต่อมไร้ท่อ ที่เรียกว่า โรค MEN-1 syndrome (Multiple endocrine neoplasia type 1 syndrome, เป็นโรคพบได้ประปราย)

โรคเนื้องอกต่อมใต้สมองมีกี่ชนิด?

โรคเนื้องอกต่อมใต้สมองมีหลายชนิด แต่แบ่งง่ายเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ กลุ่มที่เซลล์เนื้องอกสร้างฮอร์โมน และกลุ่มที่เซลล์เนื้องอกไม่สร้างฮอร์โมน

ก. เนื้องอกต่อมใต้สมองกลุ่มสร้างฮอร์โมน (Hyperfunction tumor หรือ Functioning tumor): ซึ่งมีได้หลายชนิด โดยแต่ละชนิดจะให้ฮอร์โมนดังกล่าวแล้วใน บทนำ ที่แตกต่างกันตามชนิดของเนื้องอก ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการจากการมีฮอร์โมนชนิดนั้นๆสูงเกินปกติ เช่น เป็นเนื้องอกชนิดสร้างฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตของกระดูก/เนื้อเยื่อต่างๆ ผู้ป่วยจะมีอาการ มือ เท้า ใบหน้า ใหญ่ ตัวใหญ่สูงกว่าปกติ ที่เรียกว่า โรคสภาพโตเกินไม่สมส่วน , หรือเมื่อเป็นเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนเอซีทีเอช ผู้ป่วยจะอ้วน ฉุ ผิวบางแตกเป็นลายเหมือนในหญิงตั้งครรภ์ และมีน้ำตาลในเลือดสูง (โรคเบาหวาน) หรือผู้ป่วยบางรายมีน้ำนมไหลตลอดเวลาโดยไม่ใช่ภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร จากมีเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดสร้างฮอร์โมนโปรแลคตินที่กระตุ้นการสร้างน้ำนมที่ผิดปกติ ที่เรียกภาวะนี้ว่า Hyperprolactinemia หรือเรียกเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดนี้ว่า Prolactinoma เป็นต้น

ซึ่งเนื้องอกในกลุ่มนี้ มักมาพบแพทย์ได้เร็ว เพราะการมีฮอร์โมนสูงเกินปกติจะส่งผลให้เกิดอาการได้เร็ว ผู้ป่วยจึงพบแพทย์ได้เร็ว ก้อนเนื้องอกจึงยังมีขนาดเล็ก จึงยังไม่กดเบียดทับเนื้อเยื่อข้างเคียง ซึ่งที่สำคัญ คือ ประสาทตา ดังนั้นผู้ป่วยจึงมักไม่มีอาการปวดศีรษะ หรือมีอาการทางสายตา

ข. เนื้องอกต่อมใต้สมองกลุ่มไม่สร้างฮอร์โมน (Non-functioning tumor): มีได้หลายชนิดเช่นกัน แต่เนื่องจากเซลล์ไม่สร้างฮอร์โมน จึงส่งผลให้มักพบแพทย์ได้ช้า เพราะจะมีอาการต่อเมื่อก้อนเนื้องอกมีขนาดโต จนกดเบียดทับเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ด้วยอาการผิดปกติทางสายตา และอาการปวดศีรษะ นอกจากนั้น ถ้าก้อนเนื้อโตมากขึ้น จะกดเบียดทับเซลล์ปกติของต่อมใต้สมอง ส่งผลให้เซลล์เหล่านั้นฝ่อ ต่อมใต้สมองจึงสร้างฮอร์โมนต่างๆตามปกติลดลง หรือไม่ได้เลย จึงส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะพร่อง/ขาดฮอร์โมนนั้นๆ ดังนั้นผู้ป่วยจึงมักมีอาการจากการขาดฮอร์โมนต่างๆร่วมด้วยได้ เช่น อาการจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หรือมีประจำเดือนผิดปกติ (ในผู้หญิง) หรือ มีความรู้สึกทางเพศลดลง เป็นต้น

โรคเนื้องอกต่อมใต้สมองมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง เกิดได้จาก 3 ปัจจัย คือ จากมีฮอร์โมนบางชนิดสูงเกินปกติจากเนื้องอกสร้างฮอร์โมน ซึ่งอาการจะแตกต่างกันตามชนิดฮอร์โมน/ชนิดของเนื้องอก, จากก้อนเนื้อโตกดเบียดทับเนื้อเยื่อข้างเคียง โดยเฉพาะประสาทตา, และจากก้อนเนื้อโตจนกดเบียดทับเซลล์ปกติของต่อมใต้สมองเอง จึงส่งผลให้เกิดภาวะพร่อง หรือขาดฮอร์โมนชนิดต่างๆดังกล่าวแล้วที่สร้างจากเซลล์ปกติของต่อมใต้สมอง

  • อาการจากมีฮอร์โมน เอซีทีเอช (ACTH) สูง: เช่น อ้วน ผิวหนังบาง แตกเป็นลายเหมือนในผู้หญิงตั้งครรภ์ มีจ้ำห้อเลือดได้ง่าย มีขนดก และมักมีโรคกระดูกพรุน/โรคกระดูกบาง ก่อนวัย
  • อาการจากมีฮอร์โมน ทีเอสเอช (TSH) สูง: เช่น ผอมลงทั้งๆที่กินจุ ใจสั่น มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ท้องเสียง่าย อารมณ์แปรปรวน
  • อาการจากมีฮอร์โมน จีเอช (GH) สูง: เช่น นิ้ว มือ เท้า ใบหน้า ใหญ่ กระดูกใหญ่ และอาจสูงกว่าคนทั่วไปมาก
  • อาการจากมีฮอร์โมน เอฟเอสเอช (FSH) สูง: เช่น มีบุตรยาก ประจำเดือนหมดเร็วกว่าวัยปกติ รังไข่หรืออัณฑะฟ่อหรือมีขนาดเล็กกว่าคนในวัยเดียวกัน
  • อาการจากมีฮอร์โมน แอลเอช (LH) สูง: อาการเช่นเดียวกับในกรณี ฮอร์โมน เอฟเอสเอชสูง
  • อาการจากมีฮอร์โมน โปรแลคติน (Prolactin) สูง: อาการสำคัญ คือ มีน้ำนมโดยไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร อาจมีน้ำนมออกทั้งสองเต้านม หรือ ออกเพียงเต้านมเดียว แต่น้ำนมไม่มากเหมือนในการให้นมบุตร อาการอื่นๆ คือ มีบุตรยาก และความรู้สึกทางเพศลดลง ในผู้หญิงอาจขาดประจำเดือน หรือประจำเดือนมาน้อย
  • อาการจากขาดฮอร์โมนซึ่งมักขาดฮอร์โมนไทรอยด์ และฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของรังไข่ หรืออัณฑะ: อาการที่พบบ่อย คือ อ้วน ฉุ บวม เชื่องช้า ความรู้สึกทางเพศลดลง และมีประจำเดือนผิดปกติในผู้หญิง
  • อาการจากก้อนเนื้องอกโตจนกดเบียดทับเนื้อเยื่อข้างเคียง: ที่พบบ่อย คือ ปวดศีรษะเรื้อรัง และตามองเห็นภาพผิดปกติ โดยมักเป็นการมองภาพได้แคบลง (เช่น มองไม่เห็นภาพทางด้านข้าง ทางด้านบน หรือทางด้านล่าง) จากมีลานสายตาผิดปกติ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้ออาการ ซึ่งอาการไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตนเองภายใน 1-2 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายทางระบบประสาท การตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ (MRI) การตรวจเลือดดูค่าฮอร์โมนต่างๆ ทั้งนี้การตรวจสืบค้นต่างๆจะขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์

รักษาโรคเนื่องอกต่อมใต้สมองได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง ขึ้นกับชนิดของเนื้องอกว่าสร้างฮอร์โมนหรือไม่, ขนาดของก้อนเนื้อ, อาการจากการพร่อง/ขาด หรือมีฮอร์โมนมากเกินปกติ, และการกดเบียดทับประสาทตา

  • เมื่อเป็นชนิดสร้างฮอร์โมน ซึ่งก้อนเนื้องอกมักมีขนาดเล็ก การรักษามักเป็นการใช้ยาลดการสร้างฮอร์โมน
  • เมื่อก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ กดประสาทตา การรักษามักเป็นการผ่าตัดก้อนเนื้อ และอาจรักษาต่อเนื่องด้วยการฉายรังสี (รังสีรักษา) เมื่อผ่าตัดได้ไม่หมด หรือใช้รังสีรักษากรณีเป็นการผ่าตัดหลังโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ
  • เมื่อการให้ยาไม่ได้ผล หรือสุขภาพผู้ป่วยไม่อำนวยให้ผ่าตัดได้ หรือผู้ป่วยปฏิเสธการผ่าตัด การรักษาคือ การฉายรังสีรักษา

โรคเนื้องอกต่อมใต้สมองมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โดยทั่วไป โรคเนื้องอกต่อมใต้สมองมีการพยากรณ์โรคโดยเป็นโรคที่ไม่รุนแรง รักษาได้ แต่โรคมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำได้ถึงแม้จะรักษาหายแล้วนานเป็น 5-10 ปี นอกจากนั้น อาจต้องกินยาฮอร์โมนบางชนิดต่อเนื่อง เพื่อการปรับสมดุลของฮอร์โมน เช่น ยาไทรอยด์ฮอร์โมน/ยาโรคไทรอยด์ เป็นต้น

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้ คือ เรื่องของภาวะฮอร์โมนเกิน หรือภาวะพร่อง/ขาดฮอร์โมนดังกล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ ซึ่งการดูแลรักษา คือการดูแลรักษาตามอาการ หรือตามภาวะที่เกิดขึ้น เช่น กินยากดการสร้างฮอร์โมน หรือกินฮอร์โมนชดเชย เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ต่อเนื่อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น ปวดศีรษะรุนแรง
  • อาการต่างๆที่มีอยู่เลวลง เช่น มองเห็นภาพแย่ลง
  • เมื่อมีผลข้างเคียงจากยาต่างๆที่แพทย์สั่ง จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • เมื่อกังวลในอาการ

มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง ก่อนมีอาการ ดังนั้นที่ดีที่สุด คือเมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวแล้วในหัวข้อ “อาการฯ” ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

ป้องกันโรคเนื้องงอกต่อมใต้สมองได้อย่างไร?

เนื่องจากโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ และมีปัจจัยเสี่ยงคือความผิดปกติทางพันธุกรรม ดังนั้น ปัจจุบันจึงยังเป็นโรคที่ไม่มีการป้องกัน ดังนั้น การดูแลตนเอง คือการรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ”อาการฯ”

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Pituitary_adenoma[2017,May27]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Pituitary_gland[2017,May27]
  5. http://emedicine.medscape.com/article/1157189-overview#showall[2017,May27]