เตตราไซคลีน (Tetracycline)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 สิงหาคม 2564
- Tweet
- บทนำ : คือยาอะไร?
- ยาเตตราไซคลีน มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาเตตราไซคลีน มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเตตราไซคลีน มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเตตราไซคลีน มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาเตตราไซคลีน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาเตตราไซคลีน ควรทำอย่างไร?
- ยาเตตราไซคลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเตตราไซคลีนอย่างไร?
- ยาเตตราไซคลีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเตตราไซคลีนอย่างไร?
- ยาเตตราไซคลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- โรคติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
บทนำ : คือยาอะไร?
เตตราไซคลีน (Tetracycline) คือ ยาปฏิชีวนะที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียและมีการใช้ยาตัวนี้ยาวนานเกือบ70ปี ในอดีตถูกนำไปใช้รักษาอหิวาตกโรค วงการแพทย์ยังนำยานี้มาใช้รักษา สิว หลอดลมอักเสบ กามโรค(เช่น ซิฟิลิส)
ยาเตตราไซคลีน ยังใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้ยากลุ่มเพนนิซิลลิน ทั้งนี้ รูปแบบของยา ที่มีวางขายตามร้านขายยาและในสถานพยาบาล เช่น ยาขี้ผึ้ง ยาเม็ด ยาแคปซูล ยานี้จะถูกดูดซึมได้ดีเมื่อรับประทานในขณะที่ท้องว่าง จึงควรรับประทานก่อนอาหาร
อนึ่ง ได้มีการทดสอบการใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์ พบว่า ก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อน จึงห้ามใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์ อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ ควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์หรือได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรเท่านั้น
ยาเตตราไซคลีน มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเตตราไซคลีน มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรีย
- และโรค/ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ เช่น
- สิว
- กามโรค
- อหิวาตกโรค
ยาเตตราไซคลีน มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเตตราไซคลีน ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนและสารตั้งต้นทางพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรีย และทำให้เชื้อแบคทีเรียนั้นๆหยุดการเจริญเติบโต
ยาเตตราไซคลีน มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายที่พบบ่อยๆในประเทศไทยของยาเตตราไซคลีน เช่น
- ยาขี้ผึ้งทาผิวหนัง
- ยารับประทานที่เป็น ยาเม็ด, ยาแคปซูล, ขนาด 100, 250, และ 500มิลลิกรัม
ยาเตตราไซคลีน มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเตตราไซคลีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ขนาดของยาเตตราไซคลีน ที่รับประทานในผู้ใหญ่สำหรับการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีขนาดรับประทาน 250-500 มิลลิกรัมต่อครั้ง ทุก 6 ชั่วโมง
- สำหรับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่มีอายุมากกว่า 8ปีขึ้นไป มีขนาดรับประทานอยู่ที่ 25-50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว1กิโลกรัมต่อครั้งทุก 6ชั่วโมง
- ในผู้ป่วยโรคไต ต้องมีการปรับขนาดรับประทานโดยเป็นคำแนะนำจากแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดการติดโรคเชื้อรา หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียแบบซ้ำซ้อน (Bacteria superinfection) นอกจากนี้ยังอาจทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำได้ด้วย
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาเตตราไซคลีน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาเตตราไซคลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเตตราไซคลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือผ่านรก และเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาเตตราไซคลีน ควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเตตราไซคลีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ และถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น2เท่า
ยาเตตราไซคลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยาเตตราไซคลีน เช่น
- อาการทางผิวหนัง: อาจก่อให้เกิดภาวะผื่นคัน และผิวลอก
- อาจทำให้รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร โดยมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน
- สามารถก่อให้เกิดอาการ ปวดหัว เวียนศีรษะ การมองเห็นไม่ชัดเจน
- อาจทำให้มี ไข้ หนาวสั่น คล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่
- อาจทำให้มีภาวะ ตัวเหลืองตาเหลือง รวมไปถึงเบื่ออาหาร
มีข้อควรระวังการใช้ยาเตตราไซคลีนอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาเตตราไซคลีน เช่น
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ใน หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ยกเว้นเป็นคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
- ห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8ปี ด้วยก่อให้เกิดภาวะสีของฟันคล้ำขึ้น
- ห้ามรับประทานยาเตตราไซคลีนพร้อมกับนม ด้วยจะลดการดูดซึมของยา
- ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเตตราไซคลีน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเตตราไซคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเตตราไซคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยาเตตราไซคลีนร่วมกับกรดวิตามินบางตัว สามารถก่อให้เกิด ความดันเพิ่มขึ้นในสมอง และแสดงอาการ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้-อาเจียน ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าวควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรักษาและบำบัดอาการอย่างทันที ยากลุ่มกรดวิตามินดังกล่าว เช่นยา ไอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin, ยารักษาสิว)
- การรับประทานยาเตตราไซคลีน ร่วมกับยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งบางชนิด สามารถเพิ่มระดับของยารักษามะเร็งดังกล่าวในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้เกิดสีผิวซีด อ่อนแอ มีแผลในปาก คลื่นไส้- อาเจียน อุจจาระสีดำหรือมีเลือดออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ยารักษาโรคมะเร็งดังกล่าว เช่น เมโธเทรกเซท(Methotrexate)
- การรับประทานยาเตตราไซคลีน ร่วมกับยาที่ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารสามารถทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาเตตราไซคลีน ลดประสิทธิภาพลง ยาที่ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารที่กล่าวถึง เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของ แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) และ แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide)
ควรเก็บรักษายาเตตราไซคลีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาเตตร้าซัยคลิน เช่น
- เก็บยาในที่อุณหภูมิ ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาเตตราไซคลีน มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่ออื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต ยาเตตราไซคลีน เช่น
ชื่อการค้า | ผู้ผลิต |
Aureomycin (ออรีโอมัยซิน) | U.S. Summi |
Chlortetracycline Chew Brothers (คลอเตตร้าซัยคลิน จิวบราเทอร์) | Chew Brothers |
Lenocin (ลีโนซิน) | General Drugs House |
Tetracycline General drugs house (เตตร้าซัยคลิน เจเนอรัลดรักเฮ้า) | General Drugs House |
Tetracycline Osoth (เตตร้าซัยคลิน โอสถ) | Osoth Interlab |
Tetrana (เตตร้าน่า) | Atlantic Lab |
Tetrano (เตตร้าโน) | Milano |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/sfx/tetracycline-side-effects.html [2021,Aug21]
- https://www.drugs.com/tetracycline.html [2021,Aug21]
- Drug Information Handbook 20th edition with Charles Flacy RPh. Ms, Pharm D FCSHP , Lora L.Armstrong RPh, PharmD BCPS , Morton P.Goldman, RPh, PharmD BCPS,FCCP , Leonard L. RPh. BSPharm