เด็กอ้วน เด็กน้ำหนักตัวเกิน (Pediatric obesity and overweight)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ

ภาวะพร่องโภชนาการและภาวะโภชนาการเกินเป็นปัญหาสำคัญในการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่ควรแก้ไขโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ทั้งนี้ โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  รายงานในการกำหนดมาตรการ และจัดทำแผนขับเคลื่อน การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียนวัยรุ่น พบว่า เด็กไทยที่มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปี 2560-2562 ร้อยละ 11.1, 11.7, 13.6 ตามลำดับ  และลดลงในปี 2563 และปี 2564 ร้อยละ 12.5 และ 12.4 ตามลำดับ  ซึ่งยังพบสูงกว่าค่าเป้าหมาย (ไม่เกินร้อยละ 10)

เมื่อไรเรียกว่าเด็กน้ำหนักตัวเกินและเมื่อไรเรียกว่าเด็กโรคอ้วน?

เด็กอ้วน-เด็กน้ำหนักตัวเกิน

 

เด็กน้ำหนักตัวเกิน (Overweight) หมายถึง เด็กที่มีน้ำหนักตัวเมื่อเทียบกับอายุหรือส่วน สูงเกินค่ามาตรฐานปกติแต่ยังไม่มีความผิดปกติของการสะสมไขมันในร่างกาย

เด็กโรคอ้วน หรือ เด็กอ้วน (Obesity) หมายถึง ภาวะที่ร่างกายเด็กมีไขมันสะสมเกินปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นทั่วร่างกายทำให้อ้วนทั้งตัวหรืออ้วนเฉพาะส่วนกลางของลำตัวที่เรียกว่า Central obesity จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

การประเมินขนาดของร่างกายทำอย่างไร?

ในการแยกภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน ต้องนำน้ำหนักและส่วนสูงมาคำนวณเพื่อชี้วัดภาวะโภชนาการ ได้แก่

  • ดัชนีมวลกายหรือ บีเอมไอ (Body mass index, BMI): โดยนำน้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสองเช่น สูง 150 เซนติเมตรก็คือ 5 เมตรและยกกำลังสอง นำไปหารน้ำหนักที่เป็นกิโลกรัม
  • ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว(กิโลกรัม)/ความสูง(เมตร)2 
  • หาเปอร์เซ็นต์น้ำหนักตัวเทียบความสูง

เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเทียบความสูง = [น้ำหนักจริงของเด็ก(กิโลกรัม) X 100]/น้ำหนักมาตรฐานที่ความสูง (เซนติเมตร)เดียวกัน

แพทย์วินิจฉัยภาวะเด็กน้ำหนักตัวเกินและเด็กโรคอ้วนได้อย่างไร?

ก. วินิจฉัยภาวะเด็กน้ำหนักตัวเกิน ใช้ค่า/เกณฑ์ ดังนี้

  • ดัชนีมวลกาย (BMI) เทียบอายุแยกตามเพศอยู่ระหว่างเปอร์เซนไทล์ที่ 85 ถึง 95 หรือ
  • เปอร์เซ็นต์น้ำหนักตัวเทียบความสูงอยู่ระหว่าง 120 ถึง 140

ข. วินิจฉัยเด็กเป็นโรคอ้วน ใช้ค่า/เกณฑ์ ดังนี้

  • ดัชนีมวลกาย BMI เทียบกับอายุแยกตามเพศมากกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 95 หรือ
  • เปอร์เซ็นต์น้ำหนักตัวเทียบความสูงมากกว่า 140

อนึ่ง: ในการวินิจฉัยว่าเด็กมีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน แพทย์จะมีวิธีวินิจฉัย  ดังนี้

  • แพทย์จะประเมินว่าอ้วนจริงหรือไม่ โดยใช้เกณฑ์ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนดังกล่าวแล้ว
  • แพทย์จะสอบถามประวัติการรับประทานอาหาร บริโภคนิสัย และการรับประทานอาหารย้อนหลัง ใน 24 ชั่วโมง การออกกำลังกายการทำกิจวัตรประจำวัน ประวัติครอบครัว ประวัติการเลี้ยงดู และตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยเช่น เป็นโรคทางพันธุกรรม หรือโรคต่อมไร้ท่อ หรือมีความดันโลหิตสูง ร่วมด้วยหรือไม่
  • สอบถามประวัติการกินยา เนื่องจากยาบางอย่างอาจทำให้อ้วน เช่น ยารักษาอาการทางจิต ยากันชัก ยาเบาหวาน,  และสอบถามประวัติว่ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจเช่น มีนอนกรน หรือ มีปัญหานั่งหลับเวลาเรียนหรือไม่
  • แพทย์จะประเมินทางด้านจิตใจเพื่อช่วยบอกความพร้อมและความร่วมมือของเด็กและของครอบครัวในการรักษาโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักตัวเกิน
  • แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีโรคเบาหวาน(เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น) หรือ มีความผิดปกติของไขมันในเลือด (ไขมันในเลือดสูง) ร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

ค. ภาวะไขมันสะสมในร่างกาย:

        เนื่องจากการวินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรคอ้วน เด็กจะต้องมีการสะสมของไขมันในร่างกายผิดปกติด้วย ซึ่งแพทย์จะประเมินโดยประเมินการสะสมของไขมันใต้ผิวหนัง (Skin fold thickness), และเส้นรอบเอวที่เพิ่มขึ้นตามการกระจายของไขมันบริเวณผนังหน้าท้อง

  • การวัดเส้นรอบเอว: ทำได้โดยใช้สายวัดวัดตามแนวระนาบรอบเอวที่ระดับสัน/ขอบด้านบนของกระดูกเชิงกรานผ่านสะดือโดยไม่กดรัดผิวหนัง
    • ผู้ใหญ่ที่มีเส้นรอบเอวเกินปกติถือว่าอ้วนแม้ว่ามีน้ำหนักตัวปกติ ถ้าวัดเส้นรอบเอวได้เกิน 88 เซนติเมตร (35นิ้ว) ในผู้หญิง, และ 102 เซนติเมตร (40นิ้ว) ในผู้ชาย ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ เช่นโรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ
    • ในเด็กอายุ 5 - 16 ปี ขนาดเส้นรอบเอวก็สัมพันธ์กับระดับอินซูลิน (Insulin, ฮอร์โมนควบคุมการใช้น้ำตาลของร่างกาย) ในเลือดและกับระดับความดันโลหิต
    • มีการศึกษาในเด็กไทยอายุ 10-18 ปีพบว่า การวัดรอบเอวผ่านสะดือเป็นการคัดกรองอย่างง่าย
    • ในวัยรุ่นที่น้ำหนักเกิน คือ เด็กชายในอายุดังกล่าวหากเส้นรอบเอวมากกว่า 5 เซนติเมตร (29 นิ้ว) และเด็กหญิงในอายุดังกล่าวหากเส้นรอบเอวมากกว่า 72.3 เซนติเมตร (28 ½ นิ้ว) จัดว่าน้ำหนักเกิน
    • สำหรับเด็กชายในอายุดังกล่าวหากเส้นรอบเอวมากกว่า 8 เซนติเมตร (29 3/4 นิ้ว) และเด็กหญิงในอายุดังกล่าวหากเส้นรอบเอวมากกว่า 74.6 เซนติเมตร (29 1/2 นิ้ว) จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วน
  • การประเมินขนาดเส้นรอบเอวร่วมกับดชนีมวลกายเพื่อค้นหาความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน การวัดความหนาของไขมันใต้ผิวหนัง (Skin fold thickness) เช่น วัดความหนาที่กึ่งกลางความยาวของต้นแขนด้านหน้า (วัดเหนือกล้ามเนื้อชื่อไบเซพส์, Biceps skin fold thickness), หรือ วัดที่กึ่งกลางความยาวต้นแขนด้านหลัง (วัดเหนือกล้ามเนื้อชื่อไตรเซพส์(Triceps skin fold thickness), หรือ วัดความหนาของไขมันใต้ผิวหนังเหนือกระดูกสะบัก(Subcapsular skin fold thickness), เป็นต้น
    • การวัดความหนาของไขมันใต้ผิวหนัง จะวัดด้วยเครื่องวัดที่เรียกว่า แคลิเปอร์ (Caliper) ซึ่งต้องมีเทคนิคการวัดอย่างถูกต้อง ถ้าความหนาของไขมันใต้ผิวหนังบริเวณกล้ามเนื้อTriceps มากกว่า 85 เปอร์เซนไทล์ถือว่าอ้วน, ถ้ามากกว่า 95 เปอร์เซนไทล์จัดเป็นโรคอ้วนรุนแรง 
    • การวัดความหนาของไขมันใต้ผิวหนังมีความสัมพันธ์ได้ดีกับดัชนี้มวลกาย  จึงเป็นตัวชี้วัดที่ดีในการบอกว่ามีการสะสมของไขมันในเด็กวัยเรียน

แบ่งระดับความรุนแรงของโรคอ้วนในเด็กอย่างไร?

การใช้ค่าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักตัวเทียบความสูง (Weight for height) ช่วยบอกว่าเด็กมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน แต่การใช้เปอร์เซ็นต์น้ำหนักตัวเทียบอายุ (Weight for age) จะช่วยบอกความรุนแรงของเด็กน้ำหนักตัวเกินและเด็กโรคอ้วน โดย

  • เด็กน้ำหนักตัวเกิน หมายถึง เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเทียบอายุมีค่า 100 - 120 %
  • เด็กโรคอ้วนเล็กน้อยหมายถึง เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเทียบอายุมีค่า 120 - 140 %
  • เด็กโรคอ้วนปานกลางมีค่าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเทียบอายุ 140 - 160 %
  • เด็กโรคอ้วนมากมีค่าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเทียบอายุ 160 - 200 %
  • เด็กโรคอ้วนมากถึงขั้นที่มีปัญหา (Morbid obesity) มีค่าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเทียบอายุมากกว่า 200%

*หมายเหตุ:

เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเทียบอายุ = [น้ำหนักของเด็กที่ชั่งได้จริง(กิโลกรัม)X100] / น้ำหนักมาตรฐานที่อายุเดียวกัน

เด็กมีน้ำหนักตัวเกินและเด็กโรคอ้วนมีสาเหตุจากอะไร?

เด็กน้ำหนักตัวเกิน เป็นภาวะที่ร่างกายได้รับกำลังงาน/พลังงานและสารอาหารเกินความต้องการ จึงมีการเจริญเติบโตเกินปกติ แต่อย่างสมส่วน

ส่วนเด็กโรคอ้วน เกิดจากการสะสมกำลังงานส่วนเกินในเนื้อเยื่อไขมันทั่วร่างกายเนื่องจากความไม่สมดุลของกำลังงานที่ได้รับและการนำกำลังงานที่ได้รับไปใช้  มีการสะสมไขมันเกินปกติ (Excess adiposity)ซึ่งขึ้นกับ การรับประทานอาหาร, การเคลื่อนไหว, และการนำกำลังงานไปใช้ภายใต้การทำงานของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์, ฮอร์โมนในการเจริญเติบโต (Growth Hormone), สเตียรอยด์,  และ ฮอร์โมนอินซูลิน

สาเหตุของโรคอ้วนส่วนใหญ่ เกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคอาหารไม่ถูกต้อง, การใช้พลังงานในชีวิตประจำวันน้อยลง, ปัจจัยด้านพันธุกรรม, และปัจจัยจากความเจ็บป่วยของเด็ก  

ก. บิดาหรือมารดาอ้วน:

  • เด็กที่บิดามารดา 'ไม่อ้วน' มีโรคอ้วนเพียง 8%
  • เด็กที่บิดาหรือมารดา 'อ้วน' เป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน 79%

ข. ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด อาจทำให้ร่างกายขาดสารบางอย่าง เช่น เล็ปติน (Leptin ) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาสมดุลของกำลังงาน/พลังงานในร่างกาย ภาวะที่มี Leptin น้อยหรือสมองไม่ตอบสนองต่อ Leptin จะทำให้เกิดภาวะต้านการทำงานของอินซูลิน, ร่างกายสร้าง Growth hormone (ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต) ลดลง, และสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนลดลง, เด็กจึงเกิด เจริญเติบโตช้าแต่กินจุ, ร่างกายใช้น้ำตาลกลูโคสและไขมันไม่เต็มที่ทำให้มีไขมันในเลือดสูงขึ้น มีความดันโลหิตสูง และมีพัฒนาการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวช้า, เด็กที่ตัวเตี้ยจึงมีโอกาสอ้วนมากกว่าเด็กตัวสูง, เด็กที่มีกลุ่มอาการต้านอินซูลิน (Insulin resistance syndrome คือ กลุ่มอาการที่มีความผิดปกตในการใช้พลังงานของร่างกายที่ก่อให้เกิดโรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง) ทำให้ใช้น้ำตาลกลูโคสได้น้อย

ค. โรคต่อมไร้ท่อ:

โรคของอวัยวะในระบบต่อมไร้ท่อทำให้เด็กอ้วนได้ แต่พบได้น้อยกว่าปัจจัยอื่น (พบประมาณไม่ถึง 10% ของเด็กอ้วน) ในเด็กที่อ้วนและเตี้ยต้องนึกถึงโรคต่อมไร้ท่อและโรคทางพันธุกรรมด้วยเสมอ เช่น ภาวะขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต, กลุ่มอาการต้านอินซูลิน, ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน, 

เด็กที่มีความผิดปกติของต่อมไร้ท่ออาจพบว่า  มีภาวะอ้วนเตี้ย, มีความพิการทางสมอง สติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์, อายุการเจริญของกระดูกช้ากว่าอายุจริง, และเกิดมีโรคอ้วน (ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเช่น อ้วนที่ใบหน้าและลำตัว แต่แขนขาไม่อ้วน) โดยไม่มีประวัติอ้วนในครอบครัว

ง. นิสัยการบริโภคไม่ถูกต้อง:

การสะสมของไขมันในร่างกายและการมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับปริมาณกำลังงานของสารอาหารที่รับประทานโดยเฉพาะอาหารคาร์โบไฮเดรต อาหารรสหวาน และอาหารไขมันสูง ซึ่งมักพบในครอบครัวที่มีลักษณะ เช่น

  • เด็กอ้วนส่วนใหญ่มักเกิดในครอบครัวที่มีรายได้น้อยเนื่องจากบิดามารดาชอบอาหารที่มีกำลังงานสูง เช่น อาหารจำพวกแป้งน้ำตาล และไขมัน
  • พบในครอบครัวที่จัดอาหารเกินความต้องการของสมาชิกในครอบครัว
  • ชอบรับประทานอาหารสะดวกซื้อและเข้าถึงได้ง่ายเป็นประจำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารนอกบ้านที่ถูกปรุงด้วย น้ำมันไขมัน และน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น

จ. การออกกำลังกายไม่เพียงพอและไม่สม่ำเสมอ:

การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดการสะสมของไขมันในร่างกายได้ ทั้งนี้สภาพแวดล้อมที่สะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้มีการใช้กำลังงานน้อย มีผลต่อการสะสมไขมันในร่างกาย และเด็กที่ดูโทรทัศน์, เล่นคอมพิวเตอร์, และ/หรือ เล่นเกม มากเกินวันละ 2-3 ชั่วโมง มีผลทำให้อ้วนและทำให้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นลดลง

เด็กโรคอ้วนมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการมีโรคอ้วนในเด็ก เช่น

  • มีความผิดปกติของการหายใจและการนอนหลับ: 
    • เด็กโรคอ้วนจะมีปัญหาจากทางเดินหายใจถูกอุดกั้นในขณะนอนหลับซึ่งเรียกว่า Obstructive sleep apnea หรือเรียกย่อว่าโรคโอเอสเอ (OSA) ได้บ่อย โดยเด็กที่เป็น OSA มักจะนอนกรน หรือ หยุดหายใจขณะหลับ (โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ), ปัสสาวะรดที่นอน,  และชอบนั่งหลับในเวลากลางวัน, บางรายเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง, หรือ อาจมีภาวะพร่องสติปัญญา, ในรายที่มี OSA รุนแรงอาจมีอาการ โรคหืด และ/หรือ                            ภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย
    • เด็กอ้วนมาก อาจมีก้อนไขมันพอกและกดทับบริเวณหน้าอกทำให้ปอดขยายได้จำกัด เกิดกลุ่มอาการพิกวิกเกียน (Pickwickian syndrome) คือ ทำให้หายใจช้า, มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด, นั่งหลับเวลากลางวัน, และหยุดหายใจเป็นช่วงๆ, ตามด้วยเลือดข้น, ขาดออกซิเจน, หัวใจโต, และอาจเสียชีวิตกะทันหันได้
  • เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ: เนื่องจากมีไขมันในเลือดสูงเกินปกติเด็กจึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งและโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ เช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • เสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus): เนื่องจากมีภาวะต้านอินซูลินทำให้เซลล์ต่างๆในร่างกายไม่สามารถนำ น้ำตาลกลูโคส, กรดอะมิโน(Amino acid ), และกรดไขมันต่างๆ, เข้าสู่เซลล์ ทำให้สารดังกล่าวมีปริมาณในเลือดมากเกินปกติจึงทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆตามมา
  • มีความผิดปกติของระบบประสาท: เช่น
    • อาจพบมีความผิดปกติของระบบประสาทที่เรียกว่า ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Pseudotumor cerebri: มีความดันในสมองเพิ่มขึ้นโดยหาสาเหตุไม่ได้ชัดเจน) พบ 30 - 80% มีอาการสำคัญ เช่น ปวดหัว  คลื่นไส้อาเจียน มองเห็นภาพซ้อน (ภาพๆเดียวแต่มองเห็นซ้อนเป็นหลายภาพ)  
    • อาจมีเส้นประสาทตาผิดปกติ
  • มีความผิดปกติของกระดูกและข้อ: ทำให้กระดูกขาโก่ง หรือ พบหัวกระดูกต้นขาหลุดทั้งสองข้าง
  • ความผิดปกติของตับและท่อน้ำดี: โรคอ้วนในเด็กเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิด นิ่วในถุงน้ำดี   ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง และมีไขมันสะสมในตับมากขึ้น(โรคไขมันพอกตับ)
  • มีความผิดปกติด้านจิตใจและสังคมมาก:
    • ความผิดปกติที่พบในเด็กโตหรือวัยรุ่น เช่น ติดบุหรี่ ผลการเรียนเลวลง แยกตัวจากเพื่อน ขัดแย้งกับครอบครัว เป็นโรคซึมเศร้าที่ปฏิเสธการรักษา
    • เด็กอนุบาลที่อ้วนมักอ่านหนังสือไม่เก่ง, เด็ขาดความมั่นใจ, มีปัญหาปฏิสัมพันธ์ต่อสมาชิกในครอบครัว

รักษาเด็กโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินอย่างไร?

เป้าหมายการรักษาเด็กน้ำหนักตัวเกินและเด็กอ้วน คือ

  • รักษาและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนหรือภาวะผิดปกติที่เกิดร่วมกับน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ร่วมกับรักษาและควบคุมน้ำหนักตัว
  • ควบคุมน้ำหนักตัวเมื่อไม่มีภาวะแทรกซ้อนในเด็กยังมีการเจริญเติบโตได้ เมื่อตัวสูงขึ้นและควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากขึ้นความอ้วนก็จะลดลง ดังนั้นจึงควรมีตาชั่งชนิดที่วัดได้ละเอียดเป็นจุดทศนิยม 2 ตำแหน่งไว้ชั่งน้ำหนักตัวเด็กเพื่อการติดตามน้ำหนักตัวสม่ำเสมอ
  • ลดน้ำหนักตัวเมื่อมีภาวะแทรกซ้อน ในเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีทั้งภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน (แพทย์ไม่แนะนำการลดน้ำหนักในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีเพราะจะมีผลต่อการเจริญเติบโตและสุข ภาพของเด็กได้)

มีแนวปฏิบัติในการดูแลควบคุมน้ำหนักอย่างไร?

แนวปฏิบัติในการดูแลควบคุมน้ำหนักตัว คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นการรักษาที่ได้ผลดี การรักษาเน้นทั้งตัวเด็กและครอบครัวร่วมกันในการจัดการดูแลเรื่องอาหาร, การออกกำลังกาย, และการสนับสนุนดูแลทางด้านจิตใจ

ทั้งนี้เด็กควรได้รับการดูแลและติดตามจากแพทย์ด้านโภชนาการตามกำหนดที่แพทย์นัดเสมอ

ป้องกันการเกิดเด็กน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนอย่างไร?

การป้องกันการเกิดเด็กภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน ทั่วไป คือ

  • ติดตามการเจริญเติบโตของเด็กเป็นระยะๆ และติดตามน้ำหนักและส่วนสูงกับกราฟการเจริญเติบโต/เปอร์เซนไทล์ ตามเพศและอายุ
    • หากการเจริญเติบโตปกติ เส้นกราฟจะขนานไปกับเส้นเฉลี่ยของค่าปกติ (เปอร์เซนไทล์ที่ 50), ไม่เกินเปอร์เซนไทล์ที่ 97 (มากเกิน), และไม่ต่ำกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 3 (น้อยเกิน)  
    • ในเด็กที่น้ำหนักตัวเกินและเป็นโรคอ้วน: เส้นกราฟจะพุ่งขึ้นจากแนวปกติจึงต้องติดตามและป้องกันก่อนผิดปกติ
  • การวัดรอบเอวและเทียบกับค่าที่มีการกำหนดเส้นรอบเอว (วัดผ่านสะดือ) ตามเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าวแล้วในข้างต้น (หัวข้อ การวินิจฉัย/การประเมินภาวะไขมันสะสมในร่างกาย) ทำให้พบปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้เร็ว ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้เร็วและง่ายต่อการรักษามากกว่าเมื่อเกิดโรคอ้วนจนมีภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมาแล้วซึ่งจะรักษายากขึ้น
  • ลดอาหารที่ให้กำลังงาน/พลังงานสูง เช่น แป้งไขมัน น้ำตาล
  • ให้เด็กมีการเคลื่อนไหวและใช้พลังงานเสมอ ไม่เอาแต่นั่งดูโทรทัศน์หรือเล่นเกม นานๆ
  • เปลี่ยนทัศนคติว่า เด็กอ้วนน่ารักและพยายามเลี้ยงให้อ้วน
  • พ่อแม่ผู้ปกครอง:
    • ควรปฏิบัติเป็นตัวอย่างในเรื่อง การรับประทานอาหารการออกกำลังกาย
    • และควรมีกิจกรรมร่วมกัน ที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวมากกว่านั่งดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมนานๆ

เมื่อไรควรพาเด็กพบแพทย์?

ควรพาเด็กพบแพทย์เมื่อ

  • เด็กมีน้ำหนักตัวเบี่ยงเบนออกไปจากค่ามาตรฐานจากกราฟการเจริญเติบโตตามเพศและอายุ (ดูได้จากสมุดประจำตัวเด็ก)
  • เด็กอ้วนกว่าเด็กวัยไล่เลี่ยกัน
  • เด็กตัวเตี้ยกว่าเด็กวัยไล่เลี่ยกัน
  • เด็กมีอาการนอนกรน หรือ มีปัญหาหลับกลางวันมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นอาการบ่งบอกว่ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจ

บรรณานุกรม

  1. กุสุมา ชูศิลป์. น้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็ก. ใน: สุวรรณี วิษณุโยธิน, พัชรี คำวิลัยศักดิ์, จรรยา จิระประดิษฐา, ผกาพรรณ เกียรติชูสกุล, ณรงค์ เอื้อวิชญาแพทย์, จามรี ธีรตกุลพิศาล, อรุณี เจตศรีสุภาพ. บรรณาธิการ. กุมารเวชศาสตร์สาหรับนักศึกษาแพทย์ปี 5. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2555. (กำลังพิมพ์)
  2. วินัย สวัสดิวร. การบรรยายเรื่อง “ทิศทางการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในเด็กไทย: มุมมองของ สปสช.”การประชุมใหญ่กุมารเวชศาสตร์ ครั้งที่ 74 ณ. โรงแรม Centara Grand at Central World กรุงเทพมหานคร. 18 ตุลาคม 2555.
  3. Yamborisut U, Kijboonchoo K, Wimonpeerapattana W, Srichan W, Thasanasuwan W. Study on different sites of waist circumference and its relationship to weight-for-height index in Thai adolescents. J Med Assoc Thai. 2008; 91: 1276-84.
  4.  https://nutrition2.anamai.moph.go.th/web-upload/6x22caac0452648c8dd1f534819ba2f16c/filecenter/file/doc/2564-1.11-2.pdf   [2023,Jan14]