เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 มิถุนายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาเดกซาเมทาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเดกซาเมทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเดกซาเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเดกซาเมทาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเดกซาเมทาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเดกซาเมทาโซนอย่างไร?
- ยาเดกซาเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเดกซาเมทาโซนอย่างไร?
- ยาเดกซาเมทาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- ลมพิษ (Urticaria)
- แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
- หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน โรคซีอาร์วีโอ (Central retinal vein occlusion หรือ CRVO)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
บทนำ
ยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) คือยาสังเคราะห์กลุ่ม Glucocorticoid ที่เป็นยาสเตียรอยด์ชนิดหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้เป็นยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ และมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายมิให้ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อหรือต่ออวัยวะภายใน ซึ่งด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ส่งผลให้ยาเดกซาเมทาโซนถูกนำมาใช้บำบัดรักษาโรคต่างๆได้มากมาย อาทิเช่น รักษาโรคข้อรูมาตอยด์, อาการเกร็งตัวของหลอดลม(เช่น โรคหืด), การผ่าตัดฟันในทางทันตกรรม, บรรเทาอาการแพ้ชนิด Allergy Anaphylactic Shock (แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน), ใช้เป็นยายอดตาเมื่อต้องทำหัตถกรรมเกี่ยวกับตา เช่น ผ่าตัดตา, ใช้เป็นยาระงับอาการแพ้โดยผสมกับ ยาหยอดตา ยาหยอดหู ยาพ่นจมูก, ใช้ระงับการอักเสบในผู้ป่วยด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, บรรเทาและลดอาการข้างเคียงของยากลุ่มยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง, ใช้เป็นยาทดแทนในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาเพรดนิโซโลน, ใช้รักษาอาการป่วยของทารกในครรภ์มารดาที่มีการพัฒนาของปอดผิดปกติ และยังมีประโยชน์อีกหลายข้อที่มิได้กล่าวถึง ดังนั้น ขนาดการใช้ยาจึงมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับอาการโรคของแต่ละบุคคล
หลังจากร่างกายได้รับยาเดกซาเมทาโซน ยาจะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ และจะถูกลดระดับในกระแสเลือด 50% ภายในเวลาประมาณ 190 นาที โดยขับออกมากับปัสสาวะ
ยาเดกซาเมทาโซน มีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้หลายประการ การใช้ยาที่ปลอดภัยและเหมาะสมจึงต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ยาเดกซาเมทาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาเดกซาเมทาโซน เช่น
- บรรเทาอาการอักเสบต่างๆ ที่เกิดกับร่างกาย
- รักษาโรคข้อรูมาตอยด์
- รักษาอาการหอบหืด โรคหืด
- รักษาและป้องกันภาวะอักเสบของตาอันมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือ หลังผ่าตัดต้อกระจก
- บรรเทาอาการบวมของจอตา/จอประสาทตา อันมีสาเหตุจากเส้นเลือดดำใหญ่ที่ไปหล่อเลี้ยงตีบตัน(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน)
- รักษาอาการอักเสบของหู(หูติดเชื้อ) อันมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- รักษาและบรรเทาแผลในปาก ช่องคอ โดยใช้ในรูปแบบของยาพ่น
- ลดภาวะสมองบวมในผู้ป่วยด้วย เนื้องอกสมองมะเร็งสมอง
ยาเดกซาเมทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเดกซาเมทาโซนออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการเพิ่มปริมาณผิดปกติของเม็ดเลือดขาว (Leukocytes) ในบริเวณที่มีการอักเสบ อีกทั้งมีกลไกทำให้ของเหลวถูกดูดกลับคืนเข้าในหลอดเลือด เป็นเหตุให้ลดอาการบวมของร่างกาย และกดการตอบสนองของร่างกายต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
ยาเดกซาเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาเดกซาเมทาโซน เช่น
ก. ยาเดี่ยว: เช่น
- ยาเม็ด ขนาด 0.5 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีด ขนาด 4 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาพ่นคอ
ข: ยาผสม: เช่น
- ยาหยอดตา ชนิดน้ำ ยาขี้ผึ้งป้ายตา
- ยาหยอดหู
หมายเหตุ: ในรูปแบบยาผสม ยาเดกซาเมทาโซน มักจะมีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น Neomycin, Tobramycin, Polymyxin-B เป็นต้น
ยาเดกซาเมทาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยาเดกซาเมทาโซน เช่น
ก. ผู้ใหญ่: รักษาหอบหืด และ รักษาอาการอักเสบต่างๆของร่างกาย: รับประทาน 0.75 - 9 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุกๆ 6 – 12 ชั่วโมง
ข. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดรับประทาน ต้องอยู่ในคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
อนึ่ง ด้วยเดกซาเมทาโซนเป็น ‘ยาควบคุมพิเศษ’ มีใช้ในสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตเท่านั้น การใช้ยารวมถึงขนาดรับประทานที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผลที่สุดต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเดกซาเมทาโซน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเดกซาเมทาโซน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเดกซาเมทาโซน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า
ยาเดกซาเมทาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
หลังการใช้ยาเดกซาเมทาโซนอาจพบผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เกิดสิว
- นอนไม่หลับ
- วิงเวียนศีรษะ
- รับประทานอาหารมากขึ้น
- น้ำหนักเพิ่ม
- เบื่ออาหาร
- ผิวหนังบางลง
- ซึมเศร้า
- ความดันโลหิตสูง
- มีความเสี่ยงของการติดเชื้อมากขึ้น
- ความดันลูกตาสูง
- อาเจียนคลื่นไส้
- จิตใจสับสน
- ปวดศีรษะ /ปวดหัว
- ปัสสาวะน้อยลง
- บวม ใบหน้า ตามนิ้ว มือและขา
- กรณีที่ใช้ยาเป็นเวลานานๆอาจเกิดต้อกระจก
*อนึ่ง: หากหยุดยาเดกซาเมทาโซนกะทันหันหลังกินยาต่อเนื่อง อาจมี อาการถอนยา อาทิเช่น
- ความดันโลหิตต่ำ
- เป็นไข้
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดข้อ
- ขึ้นผื่นคันตามผิวหนัง
- น้ำหนักลด
- เยื่อจมูกอักเสบ
- และที่ร้ายแรงที่สุดคือ เสียชีวิต /ตาย
มีข้อควรระวังการใช้ยาเดกซาเมทาโซนอย่างไร?
ข้อควรระวังการใช้ ยาเดกซาเมทาโซน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเดกซาเมทาโซน
- ห้ามใช้ยานี้ กับผู้ป่วยที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการติดเชื้อ
- ห้ามใช้ยานี้ กับผู้ที่มีการติดเชื้อราในอวัยวะต่างๆของร่างกาย เพราะจะทำให้เชื้อรารุนแรงขึ้น
- ห้ามใช้ยานี้ กับผู้ป่วยที่เชื้อมาลาเรียขึ้นสมอง เพราะอาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
- ห้ามใช้ยานี้ กับผู้ที่อยู่ในช่วงให้วัคซีน เช่น วัคซีนฝีดาษ /วัคซีนไข้ทรพิษ เพราะจะทำให้เชื้อที่ใช้ผลิตวัคซีนรุนแรงขึ้น หรือประสิทธิภาพของวัคซีนด้อยลง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยามหดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเดกซาเมทาโซนด้วย) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเดกซาเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเดกซาเมทาโซน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเดกซาเมทาโซนร่วมกับยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม สามารถเพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะเอ็นอักเสบ (URL ในเว็บhaamor.com คือ เอ็นบาดเจ็บ1)โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่นยา Ciprofloxacin, Ofloxacin, Trovafloxacin
- การใช้ยาปฏิชีวนะบางตัว เช่นยา Rifampin ร่วมกับยาเดกซาเมทาโซน จะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาเดกซาเมทาโซนลดลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยาทั้งคู่
- การใช้ยาเดกซาเมทาโซนร่วมกับยาแก้ปวดบางตัว อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร – ลำไส้ (ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร) มีอาการปวดท้อง วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว อุจจาระมีสีดำเหมือนยางมะตอย(จากมีเลือดออกในทางเดินอาหาร) จึงควรหลีกเลี่ยง หรือ ให้รับประทานยาแก้ปวดหลังอาหาร ยาแก้ปวดดังกล่าว เช่นยา Ibuprofen
- การใช้ยาเดกซาเมทาโซน ร่วมกับยาลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด/ ยาต้านเกล็ดเลือด สามารถทำให้ประสิทธิภาพของยาลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดด้อยลงไป ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกันหรือ แพทย์ปรับขนาดของการรับประทานยาทั้งคู่ ยาลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เช่นยา Aspirin
ควรเก็บรักษายาเดกซาเมทาโซนอย่างไร?
ควรเก็บยาเดกซาเมทาโซน เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- บรรจุยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- และ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาเดกซาเมทาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเดกซาเมทาโซน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Archidex Eye/Ear (อาร์ชิเด็กซ์ อาย/เอีย) | T P Drug |
B. Dexol (บี. เดกซอล) | Medicine Products |
Cadexcin-N (คาเดกซิน-เอ็น) | Thai Nakorn Patana |
CD-Oph (ซีดี-ออฟ) | Seng Thai |
Decadron With Neomycin (เดกคาดรอน วิท นีโอมายซิน) | MSD |
Dexa (เดกซา) | Utopian |
Dexa ANB (เดกซา เอเอ็นบี) | ANB |
Dexacin (เดกซาซิน) | ANB |
Dexaltin (เดกซอลติน) | ANB |
Dexamethasone Charoen Bhaesaj (เดกซาเมทาโซน เจริญเภสัช) | Charoen Bhaesaj Lab |
Dexamethasone General Drugs House (เดกซาเมทาโซน เจเนอรัล ดักซ์ เฮาส์) | General Drugs House |
Dexamethasone GPO (เดกซาเมทาโซน จีพีโอ) | GPO |
Dexamethasone K.B. (เดกซาเมทาโซน เค.บี.) | K.B. Pharma |
Dexamethasone Medicine Products (เดกซาเมทาโซน เมดิซิน โพรดักซ์) | Medicine Products |
Dexamethasone Medicpharma (เดกซาเมทาโซน เมดิกฟาร์มา) | Medicpharma |
Dexamethasone Pharmasant (เดกซาเมทาโซน ฟาร์มาสัน) | Pharmasant Lab |
Dexamethasone T Man (เดกซาเมทาโซน ที แมน) | T. Man Pharma |
Dexamethasone T.P. (เดกซาเมทาโซน ที.พี.) | T P Drug |
Dexano (เดกซาโน) | Milano |
Dexa-O (เดกซา-โอ) | Chinta |
Dexa-P (เดกซา-พี) | P P Lab |
Dexapro (เดกซาโปร) | Medicine Products |
Dexasone (เดกซาโซน) | Atlantic Lab |
Dexa-Y (เดกซา-วาย) | Chinta |
Dexion (เดกเซียน) | Umeda |
Dexon (เดกซอน) | General Drugs House |
Dexone (เดกโซน) | The Forty-Two |
Dexoph Ear Drops (เดกออฟ เอีย ดร็อปส์) | Seng Thai |
Dexoph Eye Drops (เดกออฟ อาย ดร็อปส์) | Seng Thai |
Dexthasol (เดกทาซอล) | Olan-Kemed |
Dexthasone (เดกทาโซน) | Utopian |
Dexton (เด็กซ์ตอน) | T P Drug |
Dexylin Ear Drops (เดกซีลิน เอียดร็อปส์) | General Drugs House |
Dexylin Eye Drops (เดกซีลิน อายดร็อปส์) | General Drugs House |
Eyedex (อายเด็กซ์) | Siam Bheasach |
Lodexa/Lodexa-5 (โลเดกซา/โลเดกซา-5) | L. B. S. |
Maxitrol (แม็กซิทรอล) | Alcon |
Neodex (นีโอเด็กซ์) | Osoth Interlab |
Neo-Optal Ear Drops (นีโอ-ออฟตัล เอีย ดร็อปส์) | Olan-Kemed |
Neo-Optal Eye Drops (นีโอ-ออฟตัล อาย ดร็อปส์) | Olan-Kemed |
Oradexon (ออราเดกซอน) | MSD |
Ozurdex (โอเซอร์เด็กซ์) | Allergan |
Phenodex (ฟีโนเด็กซ์) | Vesco Pharma |
Sofradex (โซฟราเด็กซ์) | sanofi-aventis |
Tobradex (โทบราเด็กซ์) | Alcon |
Uto-Dexamethasone (ยูโท-เดกซาเมทาโซน) | Utopian |
Vesoph (เวสออฟ) | Vesco Pharma |
Vigadexa (วีกาเดกซา) | Alcon |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dexamethasone [2020, June 20].
- https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fDexon%2f%3fq%3ddexamethasone%26type%3dbrief%25203.http%3a%2f%2fcrvo.doctorsomkiat.com%2f [2020, June 20].
- https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fOzurdex%2f%3fq%3ddexamethasone%26type%3dbrief [2020, June 20].
- https://www.drugs.com/dosage/dexamethasone.html#Usual_Adult_Dose_for_Acute_Mountain_Sickness [2020, June 20].
- https://www.drugs.com/drug-interactions/dexamethasone-index.html?filter=2#R[2020, June 20].
- https://www.medicinenet.com/dexamethasone-oral/article.htm [2020, June 20].