เซทิไรซีน (Cetirizine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 พฤษภาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยาเซทีไรซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเซทิไรซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเซทิไรซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเซทิไรซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเซทิไรซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเซทิไรซีนอย่างไร?
- ยาเซทิไรซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเซทิไรซีนอย่างไร?
- ยาเซทิไรซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- โรคหวัด (Common cold)
- ลมพิษ (Urticaria)
บทนำ
ยาเซทิไรซีน (Cetirizine) เป็นกลุ่มยาต่อต้านสารฮีสตามีน (Histamine) มีคุณสมบัติช่วยลดอาการแพ้ต่างๆ เช่น ผื่นคัน ลมพิษ ไอ จาม เรามักได้ยินชื่อการค้าที่คุ้นเคยของยานี้ คือ ‘เซอร์เทค (Zyrtec)’
หลังรับประทานเซทิไรซีน ยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารภายใน 1 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นานถึง 21 ชั่วโมง และยานี้สามารถซึมผ่านเข้าสมองได้เพียงเล็กน้อย จึงเป็นเหตุที่ยานี้ไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการง่วงนอน
หลังรับประทานยาเซทิไรซีน ร่างกายจะกำจัดยาส่วนใหญ่ออกทางปัสสาวะ และบางส่วนถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่ตับ และถูกขับออกไปกับอุจจาระ ระดับยาในกระแสเลือดจะลดลง 50% (Half life) ภายในเวลาประมาณ 8.30 ชั่วโมง
ถึงแม้ยาเซทิไรซีนจะจัดอยู่ในหมวดที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ แต่ยาก็สา มารถขับออกได้ทางน้ำนมของมารดา การใช้ยากับผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ หรือในภาวะให้นมบุตร จึงยังต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ ด้วยมีผลข้างเคียงอื่นๆที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยและทารกเอง
ยาเซทิไรซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเซทิไรซีนมีสรรพคุณใช้รักษาอาการแพ้ต่างๆ เช่น ผื่นคัน ลมพิษเรื้อรัง รักษาอาการแพ้จากการเป็นโรคหวัด คัดจมูก
ยาเซทิไรซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
หลังจากได้รับยาเซทิไรซีนเข้าสู่ร่างกาย ยาจะถุกเปลี่ยนโครงสร้างเป็นสารที่มีชื่อว่า Hy droxyzine ซึ่งเป็นสารต้านฮีสตามีน (Histamine) ชนิดหนึ่ง Hydroxyzine จะไปต้านสารฮีสตามีนที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ โดยเข้าไปจับกับตัวรับ (Receptor) ที่เรียกว่า Selective Inhibi tion Of Peripheral H1 Receptor จึงทำให้กลไกที่ก่อให้เกิดการแพ้ทุเลาลง
ยาเซทิไรซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซทิไรซีนในประเทศไทยจัดจำหน่ายในรูปแบบ
- ยาเม็ดขนาด 10 มิลลิกรัม
- ยาน้ำเชื่อมขนาด 5 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร
ยาเซทิไรซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของ ยาเซทิไรซีน คือ
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ขึ้นไป รับประทาน 5 – 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
- ผู้สูงอายุตั้งแต่ 77 ปีขึ้นไป ควรรับประทาน 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
- เด็กอายุ 6-11 ปี รับประทาน 5-10 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็กอายุ 2-5 ปี รับประทาน 2.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง และสามารถปรับขนาดรับประทานได้สูงสุดไม่เกิน 5 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือแบ่งเป็น 2.5 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งก็ได้
อนึ่ง สามารถรับประทานยาเซทิไรซีนก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ และขนาดและระยะเวลาของการใช้ยา ควรต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาซึ่งขึ้นอยู่กับ อาการ ความรุนแรงของโรค และอายุของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเซทิไรซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเซทิไรซีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเซทิไรซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาเซทิไรซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาเซทิไรซีน คือ สามารถก่อให้เกิดการหดเกร็งของหลอดลมทำให้การหายใจลำบาก มีอาการบวมของใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอ ปากแห้ง หัวใจ เต้นผิดจังหวะ รู้สึกสับสน บางคนอาจมีอาการนอนไม่หลับ ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้น้อย เช่น วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซทิไรซีนอย่างไร?
ข้อควรระวังการใช้ยาเซทิไรซีน คือ
- ห้ามใช้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้กับเด็กทารกแรกเกิด
- ระวังการใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์
- ระวังการใช้ยากับผู้ที่มีการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ โดยอาจต้องปรับขนาดการรับ ประทานเพื่อความปลอดภัยของคนไข้
- ขณะใช้ยาเซทิไรซีน ควรหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักรหรือการขับขี่ยวดยานพาหนะ เพราะยาอาจก่อให้เกิดอาการง่วงนอนได้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเซทิไรซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเซทิไรซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเซทิไรซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น คือ
- การรับประทานยาเซทิไรซีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถส่งผลให้การควบคุมสติ และการควบคุมร่างกาย ด้อยประสิทธิภาพลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาเซทิไรซีนร่วมกับยากลุ่มต่างๆดังต่อไปนี้ สามารถก่อให้เกิดอาการงวงนอนมากยิ่งขึ้น หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน ยากลุ่มที่อ้างถึง เช่น กลุ่มยารักษาอาการแพ้ต่างๆ ยาแก้ปวดที่เป็นกลุ่มยาเสพติดให้โทษ กลุ่มยานอนหลับ กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ กลุ่มยาแก้โรคลม ชัก กลุ่มยาคลายความวิตกกังวล/ยาคลายเครียด กลุ่มยารักษาอาการซึมเศร้า เป็นต้น
ควรเก็บรักษายาเซทิไรซีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาเซทิไรซีนที่อุณหภูมิห้อง แต่บางบริษัทผู้ผลิตแนะนำให้เก็บยาในช่วง อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาเซทิไรซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อการค้าอื่นของยาเซทิไรซีน และบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Alerest (อะเลอเรส) | Community Pharm PCL |
Aller-GO (อัลเลอร์-จีโอ) | T.C. Pharma-Chem |
Cetihis (เซทิฮีส) | Unison |
Cetirizin Stada (เซทิไรซิน สตาดา) | Stada |
Cetrimed (เซทริเมด) | Medifive |
Cetrine (เซทรีน) | Dr Reddy’s Lab |
Cetrizet (เซทริเซท) | Sun Pharma |
Cetrizin (เซทริซิน) | T.O. Chemicals |
Ceza (เซซา) | Pharmaland |
Cistamine (ซิสทามายน์) | L. B. S. |
Cyzine (ไซซีน) | Pharmasant Lab |
Fatec (ฟาเทค) | Pharmahof |
Histica (ฮีสทิกา) | M&H Manufacturing |
Rentrex (เรนเทรก) | Umeda |
Rhitecin (ไรเทซิน) | Siam Medicare |
Rizetec (ไรเซเทก) | United American/Great Eastern |
Setin (เซติน) | Siam Bheasach |
Sutac (ซูแทก) | Sriprasit Pharm |
Tizine (ไตซิน) | B L Hua |
Triz (ทริส) | Indoco |
Zensil (เซนซิล) | Silom Medical |
Zermed (เซอร์เมด) | Medicine Products |
Zertine (เซอร์ไทน์) | Farmaline |
Zymed (ไซเมด) | Millimed |
Zyrac (ไซแรก) | Osoth Interlab |
Zyrtec (เซอร์เทค) | Olic |
บรรณานุกรม
1. http://www.drugs.com/cetirizine-hcl.html [2014,May5].
2. http://www.webmd.com/drugs/drug-12065-cetirizine+Oral.aspx?drugid=12065&drugname=cetirizine+Oral&source=3 [2014,May5]
3. http://www.rxlist.com/zyrtec-drug.htm [2014,May6].
4. http://www.drugs.com/drug_interactions.php [2014,May5].
5. http://en.wikipedia.org/wiki/Cetirizine [2014,May5].
6. MIMS Pharmcy Guide Thailand 6 th Edition 2006
7. MIMS Thailand TIMS 110 th Edition 2008