เชื้อราหลอดอาหาร (Esophageal thrush)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

เชื้อราหลอดอาหาร หรือ โรคหลอดอาหารติดเชื้อรา(Esophageal thrush หรือ Esophageal candidiasis) คือ โรคที่หลอดอาหารติดเชื้อราชนิด ‘แคนดิดา (Candida, โรค แคนดิไดอะซิส/ Candidiasis)’ ซึ่งมักเกิดในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ในผู้ป่วยโรคเอดส์ หรือผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง, ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้

เชื้อราหลอดอาหาร/หลอดอาหารติดเชื้อรา เป็นโรคพบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบได้เรื่อยๆประมาณ 0.3-5%ในคนทั่วไป แต่สูงขึ้นเป็นประมาณ 10%ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี พบในทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบสูงขึ้นในช่วงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้เท่ากัน

อนึ่ง ชื่นอื่นของเชื้อราหลอดอาหาร/ หลอดอาหารติดเชื้อรา คือ

  • หลอดอาหารอักเสบจากเชื้อรา
  • หลอดอาหารอักเสบจากเชื้อราแคนดิดา หรือ หลอดอาหารติดเชื้อแคนดิดา(Candida esophagitis)
  • แคนดิไดอะซิสหลอดอาหาร หรือ เชื้อราแคนดิดาหลอดอาหาร(Esophageal candidiasis)

อะไรเป็นสาเหตุเกิดเชื้อราหลอดอาหาร? เป็นโรคติดต่อไหม?

เชื้อราหลอดอาหาร

เชื้อราหลอดอาหาร/หลอดอาหารติดเชื้อรา ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ติดต่อจากผู้ป่วยไปสู่ผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆที่รวมถึง การคลุกคลี สัมผัส ใกล้ชิด หรือการติดต่อจากการกินอาหารร่วมกับผู้ป่วย

อนึ่ง เชื้อราที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคเชื้อราหลอดอาหาร /หลอดอาหารติดเชื้อรา คือ เชื้อราในวงค์(Family)แคนดิดา(Candida) ซึ่งมีถึงประมาณ20ชนิดย่อยที่สามารถก่อโรคได้ในคน แต่เกือบทั้งหมดจะเป็นเชื้อราชนิดย่อยที่ชื่อ ‘Candida albicans’

ทั้งนี้ เชื้อราวงค์แคนดิดานี้ เป็นเชื้อราที่อาศัยเป็นปกติทั่วไปในร่างกายเราทุกคน เช่น ที่ผิวหนัง อวัยวะเพศ ลำไส้ใหญ่ รวมถึงในช่องปาก และในหลอดอาหาร ซึ่งในภาวะที่ร่างกายมีภูมิคุมกันต้านทานโรค(ภูมิคุ้มกันฯ)ปกติ เชื้อรานี้จะเจริญเติบโตในอัตรามีสมดุลกับร่างกาย ไม่ก่อโรค แต่ถ้าภูมิคุ้มกันฯรต่ำ/ผิดปกติ เชื้อรานี้จะเจริญเกินปกติมากจนก่อโรคได้กับทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่รวมถึงหลอดอาหาร ดังนั้นทางการแพทย์จึงจัดให้ ‘โรคเชื้อราหลอดอาหาร’ เป็น ‘โรคหรือเป็น การติดเชื้อฉวยโอกาส’

เชื้อราหลอดอาหารมีอาการอย่างไร?

เชื้อราหลอดอาหาร/หลอดอาหารติดเชื้อรา อาจเกิดเฉพาะตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของหลอดอาหาร หรือเกิดตลอดความยาวของหลอดอาหาร หรือเกิดร่วมกับเชื้อราช่องปากก็ได้ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการ แต่ทั่วไปมักก่ออาการ

กรณีก่ออาการ อาการพบบ่อย คือ

  • กลืนเจ็บ อาจเจ็บในลำคอ หรือ ในช่องอกในแนวตำแหน่งหลอดอาหาร
  • กลืนลำบาก
  • แสบร้อนกลางอก
  • ปากแห้ง คอแห้ง (ปากคอแห้ง)
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ลิ้นไม่รับรสชาติ
  • ผอมลง/ น้ำหนักตัวลด จากกินได้น้อยจากกลืนเจ็บ
  • เมื่อเกิดร่วมกับเชื้อราช่องปาก อาจเห็นเนื้อเยื่อในช่องปากมีฝ้าขาวๆ/ขาวเหลือง ลักษณะคล้ายปื้นไขนมปกคลุ่มเป็นแผ่นกระจายที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง หรือทั่วช่องปาก อาจร่วมกับ มุมปากแตกเป็นร่องแผล

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเชื้อราหลอดอาหาร?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อราหลอดอาหาร/หลอดอาหารติดเชื้อรา ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่มีโรคที่ส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ที่พบบ่อยคือ
    • ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือ โรคเอดส์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์/ยาต้านเรโทรไวรัส หรือได้ยานี้ไม่สม่ำเสมอ
    • ผู้ป่วยมะเร็ง
    • โรคเบาหวาน
    • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น
    • ยาเคมีบำบัด เช่น โรคมะเร็ง
    • ยาสเตียรอยด์ เช่น โรคหืด โรคภูมิแพ้
    • ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
    • ผู้ป่วยโรคออโตอิมมูน
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาที่ทำให้ ปากคอแห้ง เช่น ยาลดความดันยาลดความดันเลือดบางชนิด (เช่นยากลุ่ม เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์ /Beta-adrenergic agonist)
  • มีโรคที่ทำให้ ปากคอแห้ง เช่น โรคหนังแข็ง , กลุ่มอาการโจเกรน
  • สูบบุหรี่
  • ใส่ฟันปลอม ทั้งใส่เพียงบางซี่ของฟัน หรือใส่ทั้งปาก
  • ติด/กินขนมหวาน/แป้งและน้ำตาลเป็นประจำ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะในคนที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยเชื้อราหลอดอาหารได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเชื้อราหลอดอาหาร/หลอดอาหารติดเชื้อรา ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญเช่น อาการ โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจดูในช่องปากและลำคอ
  • แต่การวินิจฉัยที่ให้ผลแน่นอนคือ การส่องกล้องตรวจหลอดอาหารที่อาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และ/หรือการป้ายเซลล์จากรอยโรคเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
  • นอกจากนี้ อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เพื่อช่วยวินิจฉัยหาสาเหตุ เช่น
    • ตรวจเลือด ซีบีซี/CBC ดูการติดเชื้อต่างๆ
    • ตรวจเลือดดู สารภูมิต้านทาน หรือ สารก่อภูมิต้านทาน เพื่อช่วยวินิจฉัย โรคที่อาจเป็นสาเหตุ

รักษาเชื้อราหลอดอาหารอย่างไร?

แนวทางการรักษาเชื้อราหลอดอาหาร/หลอดอาหารติดเชื้อรา ได้แก่ การใช้ยาต้านเชื้อรา, การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ, และการรักษาตามอาการ (การรักษาประคับประคองตามอาการ)

ก. การใช้ยาต้านเชื้อรา: ยาต้านเชื้อรามีหลายชนิด และหลายรูปแบบ ทั้งยาป้าย, ยากิน, และยาฉีด, ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ยาใดและรูปแบบใด ขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการ เช่นยา Fluconazole, Itraconazole, Voriconazole, Posaconazole, Amphotericin -B

ข. การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ: ซึ่งจะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่ละสาเหตุ เช่น สาเหตุจาก

    • โรคออโตอิมมูน
    • โรคมะเร็ง,
    • หรือยกเลิกการใช้ยา/ปรับเปลี่ยนยาต่างๆกรณีสาเหตุเกิดจากยา

(แนะนำอ่านรายละเอียดของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ ที่รวมถึง วิธีรักษา ได้จากเว็บ haamor.com)

ค. การรักษาตามอาการ: ซึ่งเป็นการรักษาทางอายุรกรรมทั่วไปตามอาการผู้ป่วย เช่น

  • ยาชาเฉพาะที่ กรณีเจ็บเวลากลืน/กลืนเจ็บ เช่นยา Topical lidocaine viscous
  • ยาแก้ปวด
  • ยาลดไข้
  • การให้ สารน้ำ หรือสารอาหาร ทางหลอดเลือดดำ กรณีกินได้น้อย หรือมีภาวะขาดน้ำ
  • การให้สูดดมออกซิเจน กรณีมีปัญหาทางการหายใจ เป็นต้น

เชื้อราหลอดอาหารรุนแรงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของเชื้อราหลอดอาหาร/ หลอดอาหารติดเชื้อราขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ

ก. สาเหตุ: ถ้าสาเหตุไม่รุนแรง เช่น จากผลข้างเคียงของยา การพยากรณ์โรคดี รักษาได้หาย และรวมถึงเมื่อรักษาควบคุมสาเหตุได้ดี การพยากรณ์โรคก็จะดี แต่ถ้าดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุได้ไม่ดีหรือไม่ได้ การพยากรณ์โรคก็ไม่ดี

ข.อายุ: ยิ่งอายุมาก หรือ เด็กเล็ก การพยากรณ์โรคไม่ดี เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยธรรมชาติ ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันฯต่ำ โรคมักตอบสนองไม่ดีต่อยาต้านเชื้อรา

ค. สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย: ถ้าสุขภาพไม่ดี มีโรคประจำตัว ภูมิค้มกันฯมักต่ำ การพยากรณ์โรคไม่ดี

ง. การตอบสนองของผู้ป่วยต่อยาต้านเชื้อรา: ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านเชื้อรา มักมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี

ดังนั้น การพยากรณ์โรคของโรคเชื้อราหลอดอาหารในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยเท่านั้นที่จะทราบการพยากรณ์โรคที่เหมาะสมได้

อนึ่ง เชื้อราหลอดอาหาร/ หลอดอาหารติดเชื้อรา หลังการรักษาหายแล้ว โรคมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำได้เสมอเมื่อร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันฯต่ำลง เพราะดังกล่าวแล้วในตอนต้นว่า เชื้อราที่ก่อโรคนี้ อาศัยอยู่แล้วในร่างกายเราตลอดเวลา การติดเชื้อราฯจึงเป็นในลักษณะของ ‘การติดเชื้อฉวยโอกาส’

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นเชื้อราหลอดอาหาร/หลอดอาหารติดเชื้อรา ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ เข็มแข็ง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร อย่างน้อยทุกวัน
  • ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
  • นอนหลับ พักผ่อน ให้เพียงพอ
  • ใช้ถุงยาอนามัยชายทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงในเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือ ทางปาก
  • ดูแล รักษา ควบคุม โรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดเชื้อราหลอดอาหารให้ได้ดี
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง เช่น กลืนเจ็บมากขึ้น กินได้น้อยลง อ่อนเพลียมากขึ้น
    • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น คลื่นไส้มาก
    • กังวลในอาการ

ป้องกันเชื้อราหลอดอาหารได้อย่างไร?

การป้องกันเชื้อราหลอดอาหาร/หลอดอาหารติดเชื้อรา ที่สำคัญ คือ

  • การดูแลตนเองให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันฯปกติ โดย
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
    • ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่
    • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์/สุรา เลิกสุรา
    • ป้องกัน ดูแล รักษา ควบคุม โรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเชื้อราหลอดอาหารให้ได้ดี
    • ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพ(Medical checkup)ประจำปีสม่ำเสมอทุกปี

บรรณานุกรม

1. Abdimajid Ahmed Mohamed et al. Diagnosis and Treatment of Esophageal Candidiasis. Canadian Journal of Gastroenterology and Hepatology. 2019. http://downloads.hindawi.com/journals/cjgh/2019/3585136.pdf [2020,April18]

2. https://www.cdc.gov/fungal/diseases/candidiasis/thrush/index.html [2020,April18]

3. https://en.wikipedia.org/wiki/Esophageal_candidiasis [2020,April18]

4. https://www.healthline.com/health/candida-esophagitis [2020,April18]