เชื้อราที่เล็บ (Onychomycosis)
- โดย พญ. ธนัฐนุช วงศ์ชินศรี
- 9 ตุลาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเชื้อราที่เล็บ?
- เชื้อราที่เล็บติดต่ออย่างไร?
- เชื้อราที่เล็บมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยเชื้อราที่เล็บได้อย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- รักษาและป้องกันเชื้อราที่เล็บได้อย่างไร?
- เชื้อราที่เล็บมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- เชื้อราที่เล็บก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- กลาก (Tinea)
- ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
- ฟลูโคนาโซล (Fluconazole)
- กริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
เชื้อราที่เล็บ (Onychomycosis หรือ Fungal nail infection) คือ โรคจากเล็บติดโรค เชื้อรา อาการพบบ่อย คือ รูปลักษณะเล็บที่รวมถึงสีผิดปกติ ซึ่งมักพบในคนที่เล็บเปียกตลอดเวลา หรือรักษาความสะอาดที่เล็บได้ไม่ดีพอ หรือมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลก อัตราชุกอยู่ที่ระหว่าง 2 - 13% แตกต่างกันในแต่ละประเทศ พบทุกเชื้อชาติ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง พบบ่อยในผู้สูงอายุมากกว่าช่วงอายุอื่น และพบที่เล็บเท้ามากกว่าที่เล็บมือ
อนึ่ง: ชื่ออื่นของโรคนี้ เช่น Dermatophytic onychomycosis, Tinea unguium ในกรณีที่ติดเชื้อรากลุ่มกลาก
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเชื้อราที่เล็บ?
โรคเชื้อราที่เล็บ เกิดจากการติดโรคเชื้อราของเล็บ โดยมีเชื้อราหลายสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุซึ่งแต่ละสายพันธุ์ จะมีความแตกต่างในการรักษา และในผลการรักษา เช่น
- กลุ่มกลาก (Dermatophyte)
- กลุ่มกลากเทียม (Non-dermatophyte)
- กลุ่มยีสต์/Yeast (Candida spicies)
ปัจจัยเสี่ยงเกิดเชื้อราที่เล็บ ได้แก่
1. มีโรคเรื้อรังอื่นๆบางโรคร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน, โรคสะเก็ดเงิน
2. มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือ ยาเคมีบำบัด
3. มีการบาดเจ็บบริเวณเล็บบ่อยๆ หรือมีการทำลายของผิวหนังบริเวณขอบเล็บซึ่งเป็นส่วนที่ป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่เล็บ เช่น การใส่รองเท้าที่รัดแน่นไป, การล้างมือบ่อยๆ, การที่เล็บโดนสารระคายเคืองต่างๆ เช่น สารเคมีต่างๆ, การทำเล็บ
4. การถอดรองเท้าเดินตามห้องน้ำสาธารณะหรือห้องอาบน้ำรวม เช่น นักว่ายน้ำ นักกีฬา
5. การมีสุขอนามัยที่ไม่ดีไม่รักษาความสะอาดร่างกายและเล็บ
เชื้อราที่เล็บติดต่ออย่างไร?
โรคเชื้อราที่เล็บติดต่อได้จากการสัมผัสกับเชื้อราโดยตรง เช่น การเกาผิวหนังที่มีการติดของเชื้อรา, การติดเชื้อราที่เล็บมือจากการแกะเกาเล็บเท้า
เชื้อราที่เล็บมีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อราที่เล็บ มักเป็นเล็บเดียว แต่ก็สามารถเป็นได้หลายเล็บพร้อมกัน โดยเล็บจะมีลักษณะ/อาการผิดปกติ โดย
- มีโพรงใต้เล็บ
- มีการหนาตัวของเล็บ
- มีการเปลี่ยนสีของเล็บ โดยมักเป็นสีเหลืองหรือสีขาว
- ผิวเล็บไม่เรียบ
- เล็บมีรูปร่างผิดปกติ
- บางรายเล็บอาจฝ่อไป
อนึ่ง คนไข้โรคเชื้อราที่เล็บ ส่วนมากไม่มีอาการเจ็บ/ปวด ยกเว้นในรายที่เล็บมีโพรงหรือมีการหนาตัวหรือผิดรูปมาก ทั่วไปคนไข้จึงมักไปพบแพทย์เพราะเรื่องเล็บดูไม่สวยงาม
แพทย์วินิจฉัยเชื้อราที่เล็บได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคเชื้อราที่เล็บได้จาก
- การดูลักษณะทางคลินิกที่เล็บ
- และมักมีการตัดเล็บและขูดเล็บบริเวณที่มีรอยโรคไปตรวจโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์และทำการเพาะเชื้อ เนื่องจาก เชื้อราบางสายพันธุ์มีการรักษาและการพยากรณ์โรคที่แตกต่างออกไป และบางโรค เช่น สะเก็ดเงิน หรือเล็บของผู้สูงอายุ จะมีอาการแสดงที่เหมือนกับการติดเชื้อราในเล็บได้
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
เมื่อเล็บมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ หรือมีความผิดปกติต่างๆควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
รักษาและป้องกันเชื้อราที่เล็บได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคเชื้อราที่เล็บ คือ การใช้ยาต้านเชื้อราซึ่งโดยทั่วไป
- จะใช้เป็นยารับประทานเนื่องด้วยยาต้านเชื้อราแบบทานั้นการซึมผ่านของยาเข้าไปในเล็บเพื่อฆ่าเชื้อราไม่ได้ดีนัก เช่น ยา Itraconazole, Fluconazole, Griseofulvin
- แต่ปัจจุบันมียาทาในรูปของแล็กเกอร์เคลือบเล็บ (Nail lacquer) ซึ่งอาจใช้ในกรณีที่
- คนไข้เป็นไม่มาก
- มีการติดเชื้อราแค่บริเวณปลายเล็บ
- หรือใช้ในคนไข้ที่ไม่สามารถรับประทานยาได้ เช่น สตรีตั้งครรภ์, เด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก), หรือ ผู้ป่วยที่แพ้ยาต้านเชื้อราอื่นๆ
- นอกจากนี้อาจใช้การถอดเล็บเป็นการรักษาเสริมกรณีที่การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล
อนึ่ง:
- การรักษาเชื้อราที่เล็บ จำเป็นต้องรับประทานยาต้านเชื้อราเป็นเวลานาน โดยทั่วไปประมาณ 3 - 6 เดือน ตัวอย่างเช่น ยา Itraconazole ให้ทานวันละ 200 มก. (มิลลิกรัม) วันละ 1 ครั้งนาน 3 เดือนสำหรับเชื้อราที่เล็บมือ, และนาน 6 เดือนสำหรับเชื้อราที่เล็บเท้า
- แต่ปัจจุบันมีการรักษาแบบกินยาเป็นช่วงๆ (Pulse therapy) คือ กินยาในขนาดที่สูงในระยะเวลาไม่นานแล้วหยุด แล้วกินใหม่อีกที เป็นช่วงๆ ตัวอย่างการให้ยาแบบเป็นช่วงๆ (Pulse Therapy) เช่น ให้ Itraconazole วันละ 400 มก. ติดกัน 7 วันใน 1 เดือน (1 Pulse) โดยในการติดเชื้อที่เล็บมือจะให้ 2 Pulse, และให้ 3 Pulse ในการติดเชื้อที่เล็บเท้า
- นอกจากนั้น ควรกำจัดปัจจัยส่งเสริมต่างๆที่ทำให้เกิดการติดเชื้อราที่เล็บ เช่น
- การรักษาความสะอาดเล็บ
- การหลีกเลี่ยงสารระคายเคืองที่เล็บ
- หรือการที่มือเปียกน้ำบ่อยๆ
- หรือการทำเล็บที่ขูดเอาผิวหนังส่วนที่ป้องกันเล็บออกไป
เชื้อราที่เล็บมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของเชื้อราที่เล็บ อัตราการรักษาหายอยู่ที่ประมาณ 60 - 80% และแม้จะหายจากการติดเชื้อราที่เล็บแล้ว แต่เล็บที่ผิดปกติต้องอาศัยระยะเวลานาน เช่น ประมาณ 6 เดือนที่เล็บมือและประมาณ 12 เดือนที่เล็บเท้า กว่าที่เล็บจะกลับเป็นปกติ นอกจากนั้นในคนไข้บางรายเล็บที่มีการผิดรูปอาจจะไม่สามารถกลับมามีลักษณะเหมือนปกติได้
ในการติดเชื้อรากลุ่มกลากเทียม (Non-dermatophyte) ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อราตัวไหนสามารถรักษาเชื้อราที่เกิดจากเชื้อรากลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อัตราการหายจากโรคนี้ จะน้อยกว่า 50% และใช้ระยะเวลารักษานานกว่าเชื้อราชนิดอื่นมาก
เชื้อราที่เล็บก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
เชื้อราที่เล็บก่อผลข้างเคียงได้ดังนี้ เช่น
1. ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนไม่ว่าจะเป็นบริเวณตัวเล็บที่ติดเชื้อราเอง (Secondary bacterial infection) หรือการติดเชื้อแบคทีเรียไปที่ผิวหนังชั้นลึก (เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ/ Cellulitis) ที่อยู่ล้อมรอบเล็บนั้นๆ
2. ติดเชื้อราไปที่ผิวหนังบริเวณอื่นของร่างกาย เช่น อวัยวะเพศ
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นเชื้อราที่เล็บที่สำคัญคือ
1. ควรรับประทานยาที่แพทย์สั่งให้สม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเอง
2. ตัดเล็บให้สั้น แยกที่ตัดเล็บเฉพาะเล็บที่ติดเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อไปเล็บอื่น
3. อย่าใช้ถุงเท้ารองเท้าร่วมกับผู้อื่น และควรทำความสะอาดถุงเท้ารองเท้าให้สม่ำเสมอ
4. ไม่ควรเดินเท้าเปล่าที่ห้องน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ ควรหารองเท้าเฉพาะเพื่อใส่ใน บริเวณนั้นๆ
5. อาจเปลี่ยนรองเท้าเดิมที่ใส่เพราะอาจเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อราที่เล็บซ้ำได้
6. หากมีการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ควรรีบรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อไปที่เล็บ
7. หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บระคายเคืองบริเวณเล็บ เช่น
- หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง/สารเคมีต่างๆ
- การที่มือเปียกน้ำบ่อยๆ
- ควรใส่ถุงมือยางเวลาทำงานบ้าน
- หลีกเลี่ยงการทำเล็บที่ขูดเอาผิวหนังส่วนที่ป้องกันเล็บออกไป
- ใส่รองเท้าที่หน้ารองเท้ากว้าง ไม่คับแน่น
8. พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
เมื่อไหร่ควรพบแพมทย์ก่อนนัด?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- มีผลข้างเคียง/อาการผิดปกติจากการใช้ยาที่แพทย์สั่งใช้ เช่น คลื่นไส้อาเจียนมากเป็นลมพิษ
- อาการที่เล็บเลวลงหรือเล็บมีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น เกิดหนอง เล็บบวม แดง หรือ เจ็บ/ปวดเล็บมากขึ้น
- กังวลในอาการ
บรรณานุกรม
- ปรียากุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
- Burns, T., & Rook, A. (2010). Rook's textbook of dermatology (8th ed.). Chichester, West Sussex, UK ; Hoboken, NJ: Wiley-Blackwell.
- Lowell A.Goldsmith,Stephen I.Katz,BarbaraA.Gilchrest,Amy S.Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick Dermatology in general medicine .eight edition.McGraw hill.
- https://dermnetnz.org/topics/fungal-nail-infections/ [2021,Oct9]
- https://emedicine.medscape.com/article/1105828-overview#showall [2021,Oct9]
- https://www.nhs.uk/conditions/fungal-nail-infection/ [2021,Oct9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Onychomycosis [2021,Oct9]