เจทแลค อาการเมาเวลาเหตุการบิน (Jet Lag)
- โดย นพ.มานพ จิตต์จรัส
- 6 ตุลาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- เจทแลคเกิดขึ้นได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- เจทแลคมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นอาการเจทแลค?
- มีวิธีรักษาเจทแลคอย่างไร? มีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
- เมื่อเกิดเจทแลคแล้ว ควรดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อไรควรพบแพทย์?
- มีวิธีป้องกันเจทแลคอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
- นาฬิกาชีวภาพ ระบบนาฬิกาชีวภาพ วงจรนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm หรือ Human Biological Clock)
- เมลาโทนิน (Melatonin)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- ยานอนหลับ (Sleeping pill)
- ประเภทอาหารทางการแพทย์ (Type of diet in hospital)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- ท้องผูก (Constipation)
- ท้องเสีย ท้องร่วง ท้องเดิน (Diarrhea)
บทนำ
เจทแลค หรือ เจ็ทแล็ค หรือ อาการเมาเวลาเหตุการบิน (Jet lag) เป็นกลุ่มอาการที่มีผลต่อสภาวะของผู้เดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาของโลก (Time zone เส้นที่ใช้กำหนดเวลาของแต่ละภูมิประเทศในโลก) โดยเฉพาะการเดินทางด้วยเครื่องบินไอพ่น ซึ่งไปได้รวดเร็วและไกล เกิดผลกระทบต่อระบบนาฬิกาชีวภาพ (Circadian rhythm) ในร่างกาย
เจทแลค เป็นความไม่สบายที่เกิดจากความแปรปรวนของสภาพร่างกายและจิตใจ รู้สึกเหนื่อย วิงเวียน ป้ำๆเป๋อๆ หลงลืมไปชั่วขณะ หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียโดยไม่มีสาเหตุ กลาง คืนนอนไม่หลับ แต่กลางวันง่วงหาว นอกจากนั้นยังทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำ เป็นไข้หวัด เป็นไข้ได้ง่าย เมื่อเจอกับอากาศและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
เจทแลค หรือทางการแพทย์เรียกว่า Desynchronosis หรือ Flight fatigue เป็นกลุ่มอา การด้านสรีรวิทยา ซึ่งเกิดจากการแปรปรวนต่อระบบนาฬิกาชีวภาพของร่างกาย อันเป็นผลจากการเดินทางระยะทางไกลและใช้เวลาอันรวดเร็วตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก หรือ ทิศตะวัน ตก-ทิศตะวันออกโดยเครื่องบิน (โดยเฉพาะเป็นเครื่องบินไอพ่น)
อาการของเจทแลค อาจเป็นอยู่หลายวันกว่าร่างกายจะปรับตัวเข้ากับเวลาของท้องถิ่นแห่งใหม่ ซึ่งปกติแล้วมักใช้เวลาปรับตัวหนึ่งวันต่อการเดินทางข้ามหนึ่งถึงสองเส้นแบ่งเวลา การเดินทางไปด้านทิศตะวันออก จะปรับตัวยากกว่าการเดินทางไปทางทิศตะวันตก (เพราะช่วงเวลาของวันยาวขึ้น)
อนึ่ง นาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm หรือ Human Biological Clock): เป็นระบบสำคัญของร่างกายระบบหนึ่งที่ทำหน้าที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมน
- เพื่อความตื่นตัว
- เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกาย
- เพื่อควบคุมวงรอบการหลับ-ตื่น (กลางคืน-กลางวัน)
- และควบคุมระดับอุณหภูมิร่างกายของแต่ละคน
ถ้าการทำงานของระบบ Circadian rhythm เป็นปกติ ก็จะเกิดสมดุลในร่างกาย เป็นผลให้สุขภาพและประสิทธิภาพการทำงานดีเป็นปกติ แต่ถ้าขาดความสมดุลสม่ำเสมอของตัวควบ คุมนาฬิกาชีวภาพ ก็จะเกิดการแปรปรวนของระบบ Circadian rhythm ซึ่งระบบนาฬิกาชีวภาพ เริ่มจากแสงสว่างและความมืดเป็นตัวควบคุมนาฬิกาชีวภาพที่สำคัญ ทั้งนี้ สมองส่วน ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) มีหน้าที่คล้ายศูนย์ควบคุมการกระตุ้นและการทำหน้าที่ต่างๆของร่าง กาย โดยมีแสงสว่างและความมืดเป็นตัวช่วยควบคุม และเป็นตัวกระตุ้นผ่านทางประสาทตา แล้วส่งสัญญาณไปที่สมองไฮโปธาลามัส เพื่อช่วยบอกร่างกายให้รู้ถึงช่วงเวลาของวัน ซึ่งคือกลางวัน-กลางคืน อันเป็นตัวกำหนดสมดุลในการทำงานของระบบต่างๆของร่างกาย ซึ่งวงจรทั้งหมดนี้ก็คือ นาฬิกาชีวภาพ หรือ ระบบนาฬิกาชีวภาพ หรือ วงจรนาฬิกาชีวภาพนั่นเอง
นอกจากนั้น เมลาโทนิน(Melatonin) เป็นฮอร์โมนสำคัญเกี่ยวกับนาฬิกาชีวภาพของร่างกาย โดยความมืดและกลางคืน จะกระตุ้นให้ไฮโปธาลามัสหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งทำให้ร่างกายนอนหลับ แต่ในทางตรงกันข้าม ไฮโปธาลามัสจะหยุดสร้างฮอร์โมนเมลาโทนินเมื่อร่างกายได้ รับแสงสว่าง ร่างกายจึงอยู่ในภาวะตื่นนอน
เจทแลคเกิดขึ้นได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
เจทแลค เกิดจากภาวะที่นาฬิกาชีวภาพของร่างกายไม่สามารถปรับตัวรวดเร็วได้ตามเวลาที่แท้จริงของท้องถิ่นในขณะนั้น สาเหตุจากการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลา มักพบเมื่อ ‘เดิน ทางข้ามเส้นแบ่งเวลามากกว่า 3 เส้นแบ่งเวลาขึ้นไป’ ทำให้เวลาของการรับประทานอาหาร เวลาหลับนอน การหลั่งฮอร์โมน อุณหภูมิของร่างกายไม่สามารถปรับสภาพให้สอดคล้องกับสิ่ง แวดล้อมของท้องถิ่นได้ ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการปรับตัวขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
อนึ่ง ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเจทแลค นอกจากขึ้นกับการข้ามเส้นแบ่งเวลาแล้ว ยังขึ้นกับ
- ความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น คนนอนหัวค่ำ มีโอกาสเกิดเจทแลคได้น้อยกว่าคนนอนดึก
- อายุ ยิ่งอายุมากยิ่งปรับตัวยาก
- ทิศของการเดินทาง การเดินทางไปทางทิศตะวันตกจะมีโอกาสเกิดเจทแลคได้น้อยกว่าเดินทางไปทางทิศตะวันออก เพราะจะได้กำไรช่วงระยะเวลาของวัน ร่างกายจึงปรับตัวได้ดีกว่า
เจทแลคมีอาการอย่างไร?
อาการเจทแลคมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนเส้นแบ่งเวลาที่เดินทางข้าม ความแตกต่างของแต่ละบุคคล และช่วงเวลาของวัน (บางคนมีอาการมากช่วงเช้า บางคนมีอาการมากช่วงบ่าย)
อาการที่พบบ่อยได้แก่
- อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กังวล หงุดหงิด และ ซึมเศร้า
- นอนไม่หลับ ง่วงนอนเวลากลางวัน
- มีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ และ พฤติกรรม
- การตัดสินใจและปฏิกิริยาตอบโต้ช้าลง
- มีการเปลี่ยนแปลงของประสิทธิภาพในการทำงาน และ แรงจูงใจ
- สมาธิไม่ดี ความจำระยะสั้นเสื่อมลง
- ระบบทางเดินอาหารแปรปรวน เบื่ออาหาร ท้องผูก หรือ ท้องเดิน
แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นอาการเจทแลค?
แพทย์วินิจฉัยอาการเจทแลคได้จาก
- อาการและประวัติการเดินทาง โดยเฉพาะเดินทางโดยเครื่องบินไอพ่น และเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลามากกว่า 3 เส้นแบ่งเวลา
- และการตรวจร่างกาย
มีวิธีรักษาเจทแลคอย่างไร? มีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
วิธีรักษาอาการเจทแลค ได้แก่
- แสงสว่าง เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญต่อการปรับเวลา การควบคุมอย่างระมัดระวังต่อการได้รับหรือหลีกเลี่ยงแสงแดดจ้าๆ รวมทั้งปรับตารางการนอนให้เร็วขึ้นประมาณ 30-60 นาที สา มารถช่วยในการปรับตัวต่อสถานที่แห่งใหม่ได้เร็วขึ้น
- อาจมีการใช้ยาเมลาโทนิน แต่ต้องระวังเรื่องขนาดของยาและช่วงเวลาที่รับประทานยาว่า ควรเป็นช่วงไหนจะได้ประโยชน์ที่สุด เช่น เที่ยง หรือ บ่าย และการแพ้ยา
- ปรับเวลาในการออกกำลังกายให้น้อยลง
- รับประทานอาหารให้เร็วขึ้นกว่าเดิมประมาณ 30-60 นาที
- อาจใช้ยานอนหลับออกฤทธิ์สั้น (Short acting) ช่วยในการปรับเวลาและเวลาพักผ่อน
ทั้งนี้ เจทแลคไม่ใช่อาการที่รุนแรง จะหายได้ในทุกคน โดยในรายที่มีอาการน้อย ถ้าได้พัก ผ่อนอย่างเพียงพอ อาการต่างๆก็จะหายไปเอง และกลับเป็นปกติภายหลัง 2-3 วัน แต่บางคนอาจมีอาการได้นานถึงประมาณ 2 สัปดาห์โดยอาการจะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ
อนึ่ง การเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาน้อยกว่า 3 เส้นแบ่งเวลา มักไม่ก่อให้เกิดอาการเจทแลค
เมื่อเกิดเจทแลคแล้ว ควรดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อไรควรพบแพทย์?
การดูแลตนเองเมื่อเกิดเจทแลค คือ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- เข้านอนแต่หัวค่ำ
- กินอาหารเย็นให้เร็วขึ้น กินอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมใน ประเภทอาหารทาง การแพทย์)
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ/ ภาวะขาดน้ำ โดยดื่มประมาณวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
- ปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรเรื่องยาเมลาโทนิน หรือยานอนหลับ ถ้านอนไม่หลับจนมีผลต่อการทำงาน
- ดื่มกาแฟ (กาเฟอีน) ช่วงกลางวันที่ง่วงนอนมากๆ แต่อย่าดื่มมากไปเพราะจะนอนไม่หลับช่วงกลางคืน
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายแต่พอควร
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ
- อาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’รุนแรงมากขึ้น
- หรือมีอาการนานเกิน 1 สัปดาห์ (โดยที่อาการไม่ได้ค่อยๆดีขึ้น) เพราะอาจไม่ใช่เกิดจาก เจทแลค
มีวิธีป้องกันเจทแลคอย่างไร?
วิธีป้องกันหรือวิธีบรรเทาอาการเจทแลคที่จะเกิดขึ้น ได้แก่
- ทั่วไป:
- ก่อนเดินทาง ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้มากพอ
- ก่อนเดินทางไปด้านทิศตะวันตก 2-3 วัน ให้เข้านอนดึกขึ้น และในทางตรงกันข้าม ถ้าจะเดินทางไปทางทิศตะวันออก ก็ปรับตัวให้นอนหัวค่ำขึ้น 2-3 วันก่อนเดินทาง
- เมื่อออกเดินทาง ปรับร่างกายเหมือนกับอยู่ที่สถานที่ปลายทาง โดยให้สอดคล้องกับเวลารับประทานอาหารและเวลาหลับนอน
- หลังจากถึงปลายทางเวลาเช้า พยายามให้ร่างกายตื่นตัวโดยการเดินออกกำลังในที่แจ้ง
- การปฏิบัติตัวระหว่างเดินทาง
- รับประทานอาหารเบาๆ/อาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมใน ประเภทอาหารทางการแพทย์) ให้มีเกลือโซเดียม/เกลือแกง/เค็ม ไขมัน และน้ำตาลน้อยๆ
- ระหว่างเดินทางไปทางทิศตะวันตก ให้รับประทานอาหารโปรตีนมากๆ เพื่อให้ร่างกายยังคงตื่นตัว
- ดื่มน้ำมากๆ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่สูบบุหรี่
- งีบหลับเป็นห้วงๆ ประมาณ 20 นาที โดยไม่ใช่ยานอนหลับ
- ลุกขึ้นยืน หรือ เดิน บ้าง ภายในห้องโดยสารเครื่องบิน ขณะนั่งก็ออกกำลังส่วนขา ข้อเท้า
- หลังจากเดินทางระยะไกล เมื่อถึงปลายทาง พยายามอย่าหลับก่อนเวลานอนของเวลาท้องถิ่น
สรุป
การขึ้นเครื่องบินเดินทางไปต่างแดนข้ามเส้นแบ่งเวลา เพียง 1-2 เส้นแบ่งเวลา ร่างกายมักจะปรับตัวได้โดยไม่รู้สึกถึงเวลาที่เปลี่ยนไป แต่การเดินทางไกลบินข้ามเส้นแบ่งเวลา 3 เส้นแบ่งเวลา หรือมากกว่าจะเกิดอาการของเจทแลคได้
โดยทั่วไปอาการเจทแลค จะเป็นมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนเส้นแบ่งเวลาที่บินข้าม ทิศ ทางที่เดินทางไป และความแตกต่างในการปรับตัวของแต่ละบุคคล
อาการเจทแลคจะดีขึ้นเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับจำนวนเส้นแบ่งเวลาที่บินข้าม โดยทั่วไปร่าง กายจะใช้เวลาปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ใหม่ปลายทางในอัตรา 1-2 เส้นแบ่งเวลาต่อ 1 วัน ดัง นั้นถ้าเดินทางข้าม 6 เส้นแบ่งเวลา ร่างกายก็จะใช้เวลา 3-5 วัน ในการปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ใหม่ปลายทาง ในกรณีของนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวที่ไม่มีเวลามากนัก การจะนอนพักเฉยๆ เป็นเวลาหลายวันอาจเป็นไปไม่ได้ จึงต้องมีวิธีป้องกันหรือบรรเทาอาการเจทแลคไม่ให้เกิดขึ้น หรือให้เกิดน้อยที่สุด ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การป้องกันฯ’
อนึ่ง มียาหลายชนิดที่โฆษณาว่า รับประทานแล้วจะช่วยให้ไม่เกิดอาการเจทแลค แต่ไม่ ได้ผลกับทุกคน และอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ ดังนั้นจึงควรใช้วิธีปฏิบัติตัวดังที่ได้กล่าวมา แล้วใน ‘หัวข้อ การป้องกันฯ’ จะปลอดภัยกว่า
บรรณานุกรม
- Water house , J., Jet lag and shift work (1). Circadian rhythms. Journal of the Royal Society of Medicine., 1999
- John A. Caldwell,Ph.D., and Lynn Caldwell,Ph.D. : Understanding and Managing Fatigue in Operational Aviation Contexts., 2012
- Cloaus Curdt – Christiansen et al : Principles and Practice of Aviation., 2010
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/jet-lag/symptoms-causes/syc-20374027 [2019,Sept14]
- https://www.sleepfoundation.org/articles/jet-lag-and-sleep [2019,Sept14]