เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มบำรุงกำลัง (Energy drinks)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 11 มกราคม 2557
- Tweet
เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่มีส่วนผสมของสารกาเฟอีน/คาเฟอีน (Caffeine) ในปริมาณไม่เกิน 50 มิลลิกรัม ต่อ 1 ขวด (100 - 150 มิลลิลิตร) เครื่องดื่มชนิดนี้ส่วนใหญ่เน้นไปทางด้านพลังงาน โดยส่วนใหญ่แล้วเครื่องดื่มชนิดนี้จะนิยมดื่มในหมู่ผู้ใช้แรงงาน และคนที่ทำงานหนัก เนื่องจากเมื่อทำงานเสร็จ ร่างกายจะอ่อนเพลีย จึงต้องการพลังงานชดเชยกลับมา
**ประวัติ
เครื่องดื่มชูกำลังเริ่มจำหน่ายในประเทศสก๊อตแลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) ในชื่อ "ไอรอน บรู (Iron Brew) ต่อมาเปลี่ยนเป็น ไอรัล-บรู (Irn bru)" ส่วนในประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีเครื่อง ดื่มชูกำลังในปี ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) คือ ลิโพวิตัน-ดี (Lipoviton D)
ในปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) จุดประสงค์ของการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังก็ถูกเปลี่ยนเป็น "ดื่มเพื่อชดเชยพลังงานที่เสียไป"
เครื่องดื่มชูกำลัง ออกวางจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1860 (พ.ศ. 2403) โดยใช้ชื่อยี่ห้อว่า "เกตเตอเรท (Gatorade)" โดยมีการปรับปรุงสูตร เพื่อให้สามารถรักษาพลังงานให้ยาว นานขึ้น
ในทวีปยุโรป เครื่องดื่มชูกำลังเริ่มต้นขึ้นโดยบริษัท เอส.สปิตส์ ออกจำหน่ายโดยใช้ชื่อทางการค้าว่า "เพาเวอร์ ฮอร์ส" (Power Horse)
สำหรับเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทยนั้น เข้ามาเป็นครั้งแรกโดยลิโพวิตันดีเมื่อปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) โดยกรรมสิทธิ์ในการผลิตเป็นของบริษัทโอสถสภา
หลังจากนั้นอีก 4 ปีต่อมา (ค.ศ. 1981/พ.ศ. 2524) บริษัท ทีซี-ฟามาซูติคอล จำกัด ก็ได้เริ่มนำเครื่อง ดื่มชูกำลังเข้าสู่ท้องตลาด โดยใช้ชื่อ "กระทิงแดง (Red Bull)" ภายใต้สโลแกน "กระทิงแดง...ซู่ซ่า"
แต่ในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) โอสถสภาก็ส่ง "เอ็ม-150 (M-150)" เข้ามาในตลาด ใน ขณะนั้น เอ็ม-150 มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 4% เมื่อเทียบกับกระทิงแดงที่มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 50% ในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) เอ็ม-150 สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากกระทิงแดงได้สำเร็จ ในขณะนั้นทำส่วนแบ่งการตลาดได้ถึง 40% โดยเอ็ม-150 ยังสามารถรักษาส่วนแบ่งการ ตลาดนี้มาได้จนถึงปัจจุบัน
**ส่วนประกอบของเครื่องดื่มชูกำลัง
ส่วนใหญ่ในเครื่องดื่มชูกำลังจะมีส่วนผสมที่สำคัญคือ สาร Xanthine (สารกระตุ้นระบบประ สาทชนิดหนึ่ง), วิตามิน บี และสมุนไพร บางยี่ห้อก็ใส่ส่วนผสมเพิ่มเติม เช่น Guarana (สารชนิดหนึ่งที่ได้จากพืช มีสรรพคุณกระตุ้นระบบประสาท) แปะก๊วย โสม บางยี่ห้อก็จะใส่น้ำตาลในปริ มาณที่สูง บางยี่ห้อก็ถูกออกแบบให้มีพลังงานต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนผสมหลักของเครื่องดื่มชูกำลังก็คือ กาเฟอีน/คาเฟอีน (Caffeine) ซึ่งเป็นส่วนผสมชนิดเดียวกันกับกาแฟหรือชา
เครื่องดื่มชูกำลังส่วนใหญ่จะมีปริมาตร 237 มิลลิลิตรต่อขวด (ประมาณ 8 ออนซ์) มีสารคา เฟอีนประมาณ 80 มิลลิกรัมต่อ 480 มิลลิลิตร [ในประเทศไทยกำหนดให้มีส่วนผสมของสารคาเฟ อีนในปริมาณไม่เกิน 50 มิลลิกรัม ต่อ 1 ขวด (100 - 150 มิลลิลิตร)] โดยในการทดสอบสูตรของเครื่องดื่มชูกำลังนั้น กลูโคส มักเป็นส่วนผสมพื้นฐานของเครื่องดื่มชูกำลังเสมอ (ซึ่งผสมอยู่ในคา เฟอีน, ทอรีน (Taurine/กรดอะมิโนชนิดหนึ่งช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อ), และสารกลูโคโน แล็คโทน/Gluconolactone/วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร)
การแข่งขันทางการตลาด
ในประเทศไทยนั้น เครื่องดื่มชูกำลังเริ่มมีการแข่งขันรุนแรงในช่วงปี 2549 - 2550 เนื่องจากเริ่มมีผู้ผลิตรายใหม่เพิ่มเข้ามามากขึ้น ประกอบกับการโฆษณาของเครื่องดื่มชูกำลังหลายค่าย เพื่อเรียกความนิยมให้ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังของตน โดยโฆษณาบางตัวมีการประกาศลดราคาเครื่องดื่มชูกำลัง บางค่ายก็ประกาศแถมเครื่องดื่มชูกำลัง เมื่อลูกค้าซื้อเครื่องดื่มชูกำลังครบตามกำหนด
กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศห้ามลด แลก แจก แถม หรือจัดส่งฝาชิงโชค เครื่องดื่มชูกำลังเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2551 ป้องกันไม่ให้คนซื้อเครื่องดื่มชูกำลังในปริมาณมากๆ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากแรงจูงใจของผู้ผลิต และป้องกันการหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้กับเครื่องดื่มอีกประเภทหนึ่ง คือสุรา
**การควบคุมเครื่องดื่มชูกำลัง
การควบคุมเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 ตามประกาศกระ ทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 214 พ.ศ. 2543
-ส่วนผสม
กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เครื่องดื่มชูกำลังมีส่วนผสมของกาเฟอีน/คาเฟอีนไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อขวด โดยถ้าเป็นส่วนผสมเพิ่มเติมจะต้องมีปริมาณไม่เกินที่กระทรวงสาธารณสุขประ กาศ เช่น
- วิตามินบี 1 ในปริมาณไม่เกิน 0.5 - 20 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 ในปริมาณไม่เกิน 1.3 – 7.5 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 ในปริมาณไม่เกิน 10 – 38 มิลลิกรัม ฯลฯ
-ข้อมูลบนฉลาก
จะต้องมีข้อมูลในฉลากดังนี้
- ต้องมีคำว่า "ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด เพราะหัวใจจะสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมี ครรภ์ไม่ควรดื่ม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- เลขสารบบอาหาร (อ.ย./สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณ สุข)
- สถานที่ผลิตและจัดจำหน่ายโดยละเอียด
- ชื่อเครื่องดื่มพร้อมยี่ห้อ
- ส่วนผสมที่สำคัญในเครื่องดื่ม
- วัน เดือน ปี ที่ผลิต
-การโฆษณา
สำหรับการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทยนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกหลักเกณฑ์ในการโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลัง เช่นการแสดงข้อความ, การห้ามใช้ผู้แสดงแบบโฆษณาโดยใช้แรงงานหรือนักกีฬา หรือการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลังไปในทางที่ชักจูง เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2546 กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มเติมข้อความบางส่วนของ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 214 พ.ศ. 2543 โดยเป็นการห้ามดาราหรือนักแสดงเป็นผู้แสดงโฆษณา และห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ซื้อเครื่องดื่มชูกำลัง โดยประกาศนี้มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา
**ข้อดีของเครื่องดื่มชูกำลัง
นักวิจัยกล่าวว่า เนื่องจากเครื่องดื่มชูกำลังมีส่วนผสมของทอรีน (Taurine) ซึ่งสามารถลดอา การเมาค้าง ลดคอเลสเตอรอล แต่ก็มีบางรายอ้างสรรพคุณว่า ช่วยส่งกระแสความรู้สึกให้ไวขึ้น ซึ่งคล้ายกับสารในนมแม่ ทำให้เครื่องดื่มของเด็กบางยี่ห้อได้ใส่สารนี้เข้าไป
และยังมีสารอาหารประเภทวิตามินอีกหลายแบบ เช่น
- วิตามินบี 6 ซึ่งช่วยบรรเทาการคลื่นไส้อาเจียน และ ช่วยร่างกายสร้างน้ำย่อยในกระเพาะอา หารและแร่ธาตุแมกนีเซียม
- และวิตามินบี 12 ที่มีคุณสมบัติช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง
สำหรับเครื่องดื่มชูกำลังบางยี่ห้อที่มีราคาสูง จะมีส่วนผสมของสารกลูโคโนแล็คโทน ซึ่งเป็นสารประกอบอีกชนิดหนึ่งของเครื่องดื่มชูกำลัง ช่วยทำให้ทุเลาอาการเหนื่อย ช่วยบำรุงข้อต่อส่วนต่างๆของร่างกาย
**โทษ/ผลกระทบของเครื่องดื่มชูกำลัง
-ด้านสุขภาพกาย
นักวิชาการหลายท่านออกมากล่าวว่า โทษของเครื่องดื่มชูกำลัง ส่งผลกระทบร้ายแรงในด้านระบบประสาท เช่น กระสับกระส่าย มือเท้าสั่น โดยเฉพาะในเด็ก
ในกรณีดื่มเครื่องดื่มชูกำลังร่วมกับสุรา จะทำให้เพิ่มอาการเมาเป็น 2 เท่า
สำหรับในสถานศึกษา ก็เริ่มมี "เหล้าชูกำลัง" เนื่องจากนักศึกษาบางคนต้องการดื่มสุรา แม้ ว่าจะผิดกฎหมายก็ตาม โดยเครื่องดื่มชูกำลังที่ผสมกับสุรานั้น มีอันตรายมากกว่า อาการเมาค้าง ถึงแม้จะเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมก็ตาม โดยเครื่องดื่มชนิดนี้ เมื่อดื่มเข้าไปแล้ว จะไม่รู้สึกอ่อนล้าหรือเพลีย แต่จะเป็นอันตรายต่อเยาวชน เนื่องจากเยาวชนจะเข้าใจผิดว่า เครื่องดื่มชนิดนี้ดื่มแล้วจะไม่เป็นอันตราย อาการที่เกิดขึ้น เช่น เกิดภาวะขาดน้ำ เนื่องจากฤทธิ์ของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ผสมกัน ที่ช่วยให้ปัสสาวะเพิ่มขึ้นในปริมาณมาก (ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจผิดว่าการผสมเครื่องดื่ม 2 ชนิดเข้าด้วยกัน จะช่วยแก้อาการเมาค้างได้)
สำหรับผลการศึกษาจากประเทศออสเตรเลีย ก็ระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มชูกำลังอาจเป็นอัน ตรายถึงชีวิต สำหรับคนที่มีอาการเครียด มีความดันโลหิตสูง หรือมีระบบการทำงานของระบบหลอดเลือดบกพร่อง สามารถเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองได้ (หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองอุดตัน) ทำให้มีนักวิชาการหลายท่านแนะนำว่า ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลังวันละ 2 ขวด (ไม่ควรเกิน 1 ขวด)
-ด้านจิตใจ และพฤติกรรม
ในปัจจุบันเครื่องดื่มชูกำลัง เริ่มมีการอวดอ้างสรรพคุณมากขึ้น และส่วนผสมเครื่องดื่มชูกำลังก็ใส่ส่วนผสมที่มากขึ้น โดยเฉพาะ คาเฟอีน, และ Guarana (ที่เป็นสารกระตุ้นระบบประสาท) มีปริ มาณมากขึ้น
ทำให้มีนักวิชาการออกมากล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มชูกำลังมากๆ ในระยะเวลาติดต่อกัน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน หรือการขับขี่รถยนต์ และถ้าหากดื่มในปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อจิตประสาท
และยังได้กล่าวอีกว่า เครื่องดื่มชูกำลัง 1 ขวด มีสารคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟ 1 ถ้วย แต่สา มารถดื่มได้ง่ายกว่า ทำให้กังวลว่า วัยรุ่นจะไปติดยาชูกำลังในลักษณะเป็นยาเสพติด หรือไม่ก็ไปมีเพศสัมพันธ์ที่ขาดการป้องกันที่ถูกต้องตามมาต่อ
และ รัฐบาลอังกฤษออกมาประกาศห้ามขายเครื่องดื่มชูกำลังในโรงเรียน เนื่องจากเครื่องดื่มชนิดนี้ทำให้เด็กนักเรียนหลายคนมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น
**ข้อสรุป
- ทางด้านเภสัชกรรมเห็นว่า เครื่องดื่มชูกำลังสามารถดื่มเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ให้พร้อมทำงานได้เต็มที่ หรือเติมพลังหลังออกกำลังกายมาอย่างเหน็ดเหนื่อย เนื่องจากมีส่วน ผสมของคาเฟอีน/กาเฟอีนอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นสารที่ไปกระตุ้นการเต้นของหัวใจ และกระตุ้นระ บบประสาทส่วนกลาง ทำให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน และรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น แต่หากดื่มมากจน เกินไป จะทำให้มีอาการกระสับกระส่าย, ใจสั่น และอาจนำไปสู่อันตรายที่ร้ายแรงมากกว่านี้ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ (เช่น จากโรคหลอดเลือดสมอง) อีกทั้งเครื่องดื่มชูกำลังยังเต็มไปด้วยน้ำตาลในรูปของ กลูโคส หรือเดกซ์โทรส (Dextrose) อีกด้วย หากดื่มมากจนเกินไปแล้วละก็ ความอ้วน/โรคอ้วน จะถามหาอย่างแน่นอนที่สุด นอกจากนี้ ยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จนอาจกลายเป็นโรคเบาหวานได้ในที่สุด
- หากจะดื่มก็ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด
- ผู้ที่เป็น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต รวมทั้งโรคเบาหวานไม่ควรดื่ม
- ข้อควรระวังของเครื่องดื่มชูกำลัง คือ สารคาเฟอีนในเครื่องดื่ม จะไปกระตุ้นหัวใจจนทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ยิ่งถ้าผู้ดื่มเป็นโรคหัวใจอยู่ด้วยแล้ว หากดื่มบ่อยๆเข้า ก็อาจเกิดอัน ตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
- หญิงตั้งครรภ์, หญิงให้นมบุตร, เด็ก และผู้สูงอายุ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง
บรรณานุกรม
- http://th.wikipedia.org/wiki/ [2014,Jan2].
- http://men.kapook.com/view42271.html [2014,Jan2].
- http://en.wikipedia.org/wiki/Irn-Bru [2014,Jan2].