เข่าเสื่อม (Gonarthrosis)

สารบัญ

บทนำ

เข่าเสื่อม (Gonarthrosis) ในที่นี้หมายถึง เข่าเก่าแล้ว เข่าแก่แล้ว ทั้งนี้ เข่าเป็นข้อต่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย ทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวเวลาที่เรา ยืน เดิน วิ่ง และทำหน้าที่ให้ขาพับได้เพื่อ การนั่ง การลุก การเดิน การขึ้นลงบันได และการปีนป่าย เข่าที่ใช้งานมาสี่ห้าสิบปีขึ้นไป จะเริ่มเสื่อมถอย ทำให้ไม่สามารถใช้งานในระดับเดิมเหมือนเมื่อตอนเป็นหนุ่มเป็นสาวได้

เข่าเสื่อมเกิดได้อย่างไร? มีอะไรเป็นสาเหตุ?

เข่าเสื่อม

เข่าเสื่อม ให้ความหมายว่า หัวเข่านั้นมีความสึกหรอเกิดขึ้น โดยผิวสัมผัสของข้อซึ่งเป็นกระดูกอ่อนมีความบางลงเรื่อยๆในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของข้อเข่าหรือหลายๆบริเวณ และมักมีกระดูกงอกขึ้นมาในบริเวณขอบๆของข้อ (เรียกว่า Osteophyte อาจเปรียบได้เหมือนเป็นสนิมหรือตระกันจับ) (รูป1, รูปที่ 2)

สาเหตุของเข่าเสื่อมนั้น ชื่อก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่าเพราะมันเสื่อม ทำไมถึงเสื่อม ก็เพราะใช้งานเข่ามานานหลายสิบปี แก่ก็ต้องเสื่อม ยิ่งอายุมากก็ยิ่งเสื่อมมาก แต่แน่นอนว่า อายุเท่า กัน อาจเสื่อมไม่เท่ากัน ทั้งนี้ทั้งนั้นการเสื่อมเร็ว เสื่อมช้า อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นที่นอกเหนือความชรา เช่น

  • การมีเข่าที่เคยได้รับบาดเจ็บมาก่อน (เคยมีกระดูกแตกเข้าข้อเข่า การมีเอ็นหัวเข่าขาด)
  • การมีขาโก่งทำให้การรับน้ำหนักกระจายไม่สม่ำเสมอ จุดที่รับน้ำหนักมากก็เสื่อมเร็ว
  • การมีโรคไขข้อที่ทำให้เข่ามีการอักเสบอยู่เรื่อยๆ
  • การเคยมีเข่าที่ถูกทำลายเพราะการติดเชื้อโรค
  • การใช้งานเข่าที่หนักเกินไปในช่วงวัยหนุ่มสาว
  • และยังขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของแต่ละคนด้วย

 

เข่าเสื่อมมีอาการอย่างไร?

อาการของเข่าเสื่อม คือ ปวดเข่า เข่าบวม เข่าผิดรูป (ขาโก่งเพราะเข่าเสื่อม) เข่าไม่มั่น คง ไม่สามารถนั่ง ยืน เดินได้นานเหมือนตอนหนุ่มสาว ไม่สามารถพับข้อเข่าเพื่อการนั่งเตี้ยๆ ไม่สามารถนั่งยองๆทำธุระส่วนตัว และไม่สามารถขึ้น-ลงที่สูงได้

เข่าเสื่อมมีกี่ชนิด?

เข่าเสื่อม ก็คือ เข่าเสื่อม มีชนิดเดียว แต่อาจมีการแบ่งตามสาเหตุที่ทำให้เสื่อมได้ดังต่อไปนี้

  • เข่าเสื่อมเพราะอายุมาก (Degenerative Gonarthrosis)
  • เข่าเสื่อมเพราะมีการบาดเจ็บ (Post-traumatic Gonarthrosis)
  • เข่าเสื่อมเพราะการติดเชื้อ (Post-infection Gonarthrosis)
  • เข่าเสื่อมเพราะเข่าอักเสบบ่อยๆ (Gonarthrosis from Arthritis)

 

เข่าเสื่อมมีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร?

การวินิจฉัยเข่าเสื่อม อาศัยเพียงเอกซเรย์เข่าก็บอกได้แล้วว่าเข่าเสื่อมหรือไม่ แพทย์ออร์โทพีดิกส์อาศัยการมองดูฟิลม์เอ็กซเรย์ ที่จะพบว่ามีการแคบลงของข้อ (เพราะผิวข้อบาง) และ/หรือ มีกระดูกงอกตามขอบกระดูกของข้อเข่า

เข่าเสื่อมมีวิธีรักษาอย่างไร?

การรักษาเข่าเสื่อม เป็นการรักษาให้เข่าที่เสื่อมนั้นสามารถรับใช้เจ้าของของมันได้พอเหมาะพอสมตามสมควรกับวัย ด้วยการทำให้ไม่ปวดหรือปวดน้อยลง การรักษาให้เข่าหายจากการเสื่อม เป็นไปไม่ได้เลย เพราะคนเราทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วก็มุ่งไปทางที่ร่างกายหรือสังขารเสื่อมด้วยกันทั้งนั้น แต่เราทุกคนสามารถดูแลให้เข่าเสื่อมช้าลงได้ หรือถ้าไม่ได้เพราะมันเสื่อมแล้ว แพทย์ก็สามารถรักษาไม่ให้มันปวดได้ วิธีการรักษาประกอบด้วย

  • การปรับการใช้งาน ให้ข้อเข่าทำงานน้อยลง ได้แก่ หลีกเลี่ยง การขึ้นลงบันได การนั่งยอง นั่งพับเพียบ การคุกเข่า
  • การลดน้ำหนักที่กดลงบนข้อเข่า ด้วยการไม่ให้อ้วน ถ้ายังไม่อ้วนก็อย่าอ้วน ถ้าอ้วนอยู่แล้วก็พยายามให้ผอมลง (การทำให้ผอมนี้ห้ามใช้วิธีการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง การขี่จักรยาน หรือการเต้นแอร์โรบิคอย่างที่ทำกันโดยทั่วไป) ขอแนะนำให้ใช้วิธีคุมอาหาร ร่วมกับการบริหารข้อเข่า โดยเดินในน้ำ วิ่งกระโดดในน้ำ ว่ายน้ำในน้ำที่มีความสูงน้ำประ มาณเอวถึงหน้าอก (ควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา ก่อนนำไปใช้ดูแลตนเอง)
  • การถือไม้เท้า ไม้เท้า (ถือร่มแทนก็ได้) มีประโยชน์สารพัด ช่วยไม่ให้น้ำหนักตัวขณะยืนเดินกดลงบนเข่าที่เสื่อม ช่วยให้การยืนเดินมั่นคงไม่ล้ม ช่วยป้องกันไม่ให้สุนัขหรือโจรผู้ร้ายเข้ามาใกล้ และยังช่วยให้คนหนุ่มสาวเสียสละที่นั่งบนรถไฟฟ้าให้ และถ้าใช้ร่มแทนไม้เท้าก็ยังใช้กันแดดกันฝนได้อีกด้วย
  • การทานยาลดการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ คือ ยาเอ็นเสดส์ (Non-steroidal Anti Inflammatory Drugs ย่อว่า NSAIDs) เพื่อลดอาการบวมอักเสบที่เป็นเหตุให้ปวดเข่า
  • การกินยา กลูโคซามีน (Glucosamine) เพื่อชะลอความเสื่อมของข้อ แต่ผลในการชะลอความเสื่อมของเข่าและการลดอาการปวด ยังไม่เป็นที่พิสูจน์ทราบอย่างชัดเจน
  • การฉีดสาร Hyaluronan (Hyaluronic acid หรือ Hyaluronate) เข้าข้อเข่า แต่ผลในการชะลอความเสื่อมของเข่าและการลดอาการปวด ยังไม่เป็นที่พิสูจน์ทราบอย่างชัดเจน ทั้งยังอาจมีโรคแทรกซ้อนและอาการอันไม่พึงประสงค์ เช่น การติดเชื้อข้อเข่า
  • การผ่าตัดผ่านทางกล้องเพื่อเข้าไปล้างข้อ (Arthroscopic Debridement and Irriga tion)
  • การผ่าตัดปรับแนวขาที่โก่งให้ตรงเพื่อให้น้ำหนักที่กดลงบริเวณที่เสื่อม ย้ายไปลงบริเวณอื่นที่ยังไม่เสื่อม
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า (Knee Arthroplasty) (รูป 3.) เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน แต่แพทย์จะใช้วิธีนี้ต่อเมื่อ อาการปวดทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจากเข่าเสื่อมนั้นไม่ดีขึ้น หรือ ไม่ทุเลาด้วยวิธีการอื่นๆข้างต้นแล้วเท่านั้น แพทย์ผู้ผ่าตัดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำถึงความจำ เป็น และข้อดี-ข้อเสียของการผ่าตัด

 

เข่าเสื่อมรักษาหายไหม?

พระพุทธองค์สอนว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครหนีพ้น เข่าเสื่อมหรือเข่าแก่จึงไม่สามารถทำให้หายไปได้ แต่ ทั้งผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากเข่าเสื่อม และแพทย์ที่ให้การดูแลรัก ษา สามารถร่วมมือกันทำให้เข่าที่เสื่อมนั้น ไม่ปวด และสามารถรับใช้เจ้าของของมันตลอดไป

ควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีเข่าเสื่อม ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลที่ดูแลรักษาเรื่องข้อเข่า แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน
  • ลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วน เพื่อลดการแบกภาระน้ำหนักของข้อเข่า
  • หาวิธีช่วยพยุงเข่า และช่วยลดน้ำหนักตัวที่ลงมาที่เข่า เช่น การใช้ไม้เท้า
  • หลีกเลี่ยงการงอเข่าเป็นมุมแหลม เช่น นั่งกับพื้น นั่งยองๆ ขึ้น-ลงบันได
  • ทำกายภาพบำบัดเข่าตามแพทย์และนักกายภาพบำบัดแนะนำ
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ อาการต่างๆเลวลง หรือไม่ดีขึ้น (เช่น เข่าบวมมากขึ้น เจ็บ ปวดเข่ามากขึ้น) หรือเมื่อกังวลในอาการ

 

เข่าเสื่อมป้องกันได้ไหม?

เราไม่สามารถป้องกันเข่าเสื่อมได้ 100% เพราะสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมของข้อตามธรรมชาติ แต่สามารถชะลอให้เข่าเสื่อมช้าลงได้ ด้วย

  • ไม่อ้วน
  • ไม่บาดเจ็บที่เข่า
  • ไม่ปล่อยขาที่โก่งในช่วงที่อายุน้อยไว้โดยไม่ทำการรักษา
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
  • ถ้ามีโรคข้อเข่าอักเสบ ก็อย่าทิ้งไว้ ควรต้องรักษาให้หายอักเสบโดยเร็ว

 

เมื่อไรจึงควรพบแพทย์?

เมื่อท่านมีอาการที่เข่า เช่น ปวด บวม ไม่สามารถ นั่ง ยืน เดิน ได้ตามปกติเพราะทุกข์ทรมานจากอาการปวดบวมเข่า ท่านก็ควรมาพบแพทย์

สรุป

ท่านที่มีเข่าเสื่อมควรมองชีวิตในแง่ดีว่า ได้มีอายุยืนยาวจนกระทั่งร่างกายรวมทั้งเข่านั้นเสื่อม หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร ก็ไม่มีเรื่องเข่าเสื่อมมาเป็นปัญหา อย่างไรก็ตามเข่าเสื่อมไม่ใช่โรคที่ทำให้เสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตพิการ เป็นเพียงโรคที่ทำให้ปวดเข่า ไม่สามารถใช้เข่าในการดำเนินชีวิต ตามที่ใจปรารถนาได้

ปัจจุบัน วิทยาการการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปมาก จนสามารถผ่าตัดเปลี่ยนใส่เข่าเทียมได้ ผลดี และยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวด การอักเสบ ก็มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง ถ้าผู้ สูงอายุมีความเข้าใจในเรื่องความเสื่อมเป็นธรรมดา ก็คงไม่ทุกข์ทรมานใจเพราะเข่าเสื่อม ส่วนทางร่างกายก็รักษากันไป

รูป 1. กระดูกอ่อนด้านหนึ่งสึกมากกว่าอีกด้านหนึ่ง และมีสนิมกระดูกจับตามขอบของข้อที่เสื่อม เทียบกับเข่าที่ปกติ

เข่าเสื่อม

รูป 2. กระดูกอ่อนสึกไปหมดทั้งเข่า

เข่าเสื่อม

รูป 3. เข่าที่ได้รับการเปลี่ยนเป็นข้อเข่าเทียม

เข่าเสื่อม