ฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 กรกฎาคม 2562
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคฮิสโตพลาสโมซิสเกิดได้อย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงฮิสโตพลาสโมซิส?
- โรคฮิสโตพลาสโมซิสมีอาการอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคฮิสโตพลาสโมซิสได้อย่างไร?
- รักษาโรคฮิสโตพลาสโมซิสได้อย่างไร?
- โรคฮิสโตพลาสโมซิสก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคฮิสโตพลาสโมซิสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคฮิสโตพลาสโมซิสได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis/Septicemia)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- เอดส์ (AIDS)
- แอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B)
- ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคฮิสโตพลาสโมซิส หรือ ฮิสโตพลาสโมสิส (Histoplasmosis) คือ โรคเกิดจากร่างกายติดชื้อรา ชนิด Histoplasma capsulatum (H. capsulatum) ซึ่งเชื้อนี้ในระยะแรกจะเป็นการติดเชื้อในปอด หรือที่ผิวหนัง แต่เมื่อโรครุนแรงขึ้น เชื้อจะเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองและกระแสโลหิต ลุกลามแพร่กระจายไปได้ทุกเนื้อเยื่อ/ อวัยวะของร่างกาย เช่น สมอง ตับ ม้าม ไขกระดูก และกระดูก จนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
เชื้อรา Histoplasma capsulatum เป็นเชื้อพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมของทุกสถานที่ ทั่วโลก ในดิน ตามตึกร้าง โรงนาเก่า โรงสีเก่า ซากหักพังต่างๆที่รวมถึงซากต้นไม้ แต่จะพบได้มากขึ้นในแหล่งที่เป็นที่อาศัยของนกและค้างคาว เนื่องจากเป็นเชื้อที่จะอยู่ในมูลของสัตว์เหล่านี้ และเชื้อรานี้เจริญได้ดีในดินที่มีความชื้น และมีสารออร์กานิก(Organic compound)ต่างๆ เช่น มูลนก ซึ่งเชื้อรานี้จะสร้างสปอร์ (Spore)ได้ สปอร์นี้จะมีขนาดเล็กมาก มองเห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ ที่โดยปกติคนจะหายใจเอาสปอร์เหล่านี้เข้าสู่ปอด หรือสัมผัสกับผิวหนังอยู่แล้ว แต่เป็นปริมาณไม่มาก ร่างกายจึงสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานเชื้อนี้ได้ แต่เมื่ออากาศแห้งแล้ง หรือมีการทำให้เกิดฝุ่นฟุ่งกระจาย เช่น พรวนดิน เดินในถ้ำ รื้อบ้าน ตึก โรงงาน หรือโรงนาเก่า ที่ทำให้คนสูดดมเชื้อรานี้เข้าไปมากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านโรคต่ำ ร่างกายกำจัดเชื้อนี้ได้ไม่หมด เชื้อนี้จึงก่อให้เกิดโรค “ฮิสโตพลาสโมซิส”
เชื้อรา Histoplasma capsulatum นอกจากมีดินและซากผุพังเป็นทั้งรังโรค และเป็นโฮสต์ (Host)แล้ว ยังพบว่าสัตว์หลายชนิดก็เป็นโฮสต์ของราชนิดนี้ได้ เช่น ม้า วัว ควาย แมว สุนัข เป็ด ไก่ หนู และรวมถึงคน เชื้อนี้มีชีวิตได้นานเป็น 10 ปีในดิน และเจริญได้ดีในอุณหภูมิช่วง -18-37 องศาเซลเซียส(Celsius) และถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้ หรือในที่แห้งแล้ง เชื้อนี้ก็ยังอยู่ได้แต่จะอยู่ในรูปแบบของสปอร์ เชื้อนี้จึงฆ่าให้ตายได้ยากด้วยความร้อน แต่สามารถหยุดการเจริญเติบโค หรือตายได้เมื่อใช้น้ำยาฆ่าเชื้อบางชนิด เช่น Sodium hypochlorite, 2% Phenol, Isopropyl alcohol, Formaldehyde
ข้อสำคัญ โรคฮิสโตพลาสโมซิส ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ติดต่อจากคนสู่คน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน หรือจากคนสู่สัตว์ หรือในระหว่างสัตว์
โรคฮิสโตพลาสโมซิส เป็นโรคพบทั่วโลก เป็นโรคพบไม่บ่อยมัก แต่มักพบในทวีปอเมริกาเหนือซึ่งจัดเป็นโรคประจำถิ่น นอกจากนั้น ยังพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ และผู้ใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ทั้งนี้พบโรคนี้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดโรคได้เท่ากัน
โรคฮิสโตพลาสโมซิสเกิดได้อย่างไร?
โรคฮิสโตพลาสโมซิสเกิดจากการติดเชื้อรา Histoplasma capsulatum ที่ส่วนใหญ่เกิดจาก การสูดหายใจเอาเชื้อนี้จากอากาศเข้าไปในปอด ก่อให้เกิดการติดโรคกับอวัยวะภายใน โดยเริ่มที่ปอดก่อน
ซึ่งในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ หรือได้รับเชื้อในปริมาณน้อย ร่างกายจะมีกระบวนการควบคุมเชื้อนี้ได้โดยสร้างพังผืดหุ้มร่วมกับการมีหินปูนไปจับเนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยที่มักหายได้เอง
แต่ถ้าได้รับเชื้อปริมาณมาก และ/หรือมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง กระบวนการของร่างกายจะไม่สามารถควบคุมเชื้อนี้ได้ เชื้อจะก่อให้เกิดการลุกลามในปอด/ปอดอักเสบ ต่อมาลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องอก/ต่อมน้ำเหลืองช่องอกอักเสบ และลุกลามแพร่กระจาย เข้าสู่ระบบน้ำเหลือง เข้าสู่กระแสโลหิต แพร่กระจายเข้าสู่ทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะทั่วร่างกาย เช่น สมอง ตับ ม้าน กระดูก ไขกระดูก ผิวหนัง เรียกว่าเป็นโรคใน ‘ระยะแพร่กระจาย (Disseminated Histoplasmosis)’
นอกจากนี้ เมื่อผิวหนัง หรือเยื่อเมือก(เช่น ในช่องปาก)ที่มีบาดแผลสัมผัสเชื้อนี้โดยตรง ผิวหนังและเยื่อเมือกนั้นอาจติดเชื้อนี้โดยตรงได้ ซึ่งการติดเชื้อด้วยวิธีนี้ มักไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อกับอวัยวะภายใน จึงมักไม่เกิดการติดเชื้อที่รุนแรง หรือการแพร่กระจายของเชื้อทั่วร่างกาย เช่น การติดเชื้อที่เล็บ มือ และเท้า จากการพรวนดิน เป็นต้น
ใครมีปัจจัยเสี่ยงฮิสโตพลาสโมซิส?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคฮิสโตพลาสโมซิส คือ
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีเชื้อนี้เป็นโรคประจำถิ่น
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง/ต่ำ เช่น
- ผู้สูงอายุ
- เด็กอ่อน
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคเอดส์/ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือใช้ ยาสารเคมี/ยาเคมีบำบัด หรือ ยาCorticosteroid ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
โรคฮิสโตพลาสโมซิสมีอาการอย่างไร?
โรคฮิสโตพลาสโมซิส จะก่ออาการได้ในระยะเวลาประมาณ 3วัน ถึงประมาณ 3 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ (ระยะฟักตัวของโรค) บางคนอาจมีอาการได้ภายใน 4-7 วัน
ในคนทั่งไปที่ได้รับเชื้อ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ที่เป็นอาการไม่เฉพาะ ไม่รุนแรงที่มักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องมีการรักษา อาการดังกล่าว เช่น อ่อนเพลีย, อาจมีไข้ , และมีอาการไอ
แต่ในคนที่มีอาการมาก มักเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยง (ดังกล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’) หรือคนที่ได้รับเชื้อจากการสูดหายใจเอาเชื้อเข้าไปในปริมาณมาก (เช่น คนงานทุบตึก รื้อถอนบ้าน รื้อถอนเล้าสัตว์ ) โดยอาการมักเกิดจากการติดเชื้อนี้ที่ปอด และที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องอกก่อน ต่อไปจึงลุกลามแพร่กระจายเป็นการติดเชื้ออวัยวะต่างๆได้ทั่วตัว
ก. อาการจากการติดเชื้อครั้งแรกเฉียบพลันที่ปอดและที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องอก(ปอดอักเสบเฉียบพลันจากฮิสโตพลาสโมซิส: Acute pulmonary histoplasmosis): ในระยะแรกจะก่อให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรง และมี “โรค/ภาวะปอดอักเสบเฉียบพลัน” โรคในระยะนี้อาจมีอาการอยู่ได้นาน 2-3 สัปดาห์
อาการ(ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) เช่น
- ไข้สูงเฉียบพลัน
- เหงื่อออกมาก
- หนาวสั่น
- ไอมากมักไม่มีเสมหะ(แต่มีเสมหะก็ได้) อาจมีไอเป็นเลือด
- เจ็บหน้าอก
- อาจหายใจลำบาก
- เบื่ออาหาร
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดข้อ
- เอกซเรย์ปอด พบมีปอดอักเสบ อาจมีต่อมน้ำเหลืองในช่องอกโต/อักเสบ และอาจมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดได้
- การตรวจร่างกาย นอกจากพบมีอาการทางปอดแล้ว
- อาจคลำพบ ตับ ม้ามได้จากมีตับ ม้ามโต
- อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้าโต
- และ/หรืออาจมีผื่นแดงขึ้นที่ผิวหนัง
ข. แต่ถ้าโรค/อาการไม่ดีขึ้นใน 4 สัปดาห์ โรคมักลุกลามก้าวหน้า(Progress)ไปเป็น “โรค/ภาวะปอดอักเสบเรื้อรังจากฮิสโตพลาสโมซิส: Chronic pulmonary histoplasmosis” ร่วมกับต่อมน้ำเหลืองในช่องอกอักเสบเรื้อรัง โต และเป็นพังผืด ซึ่งอาการที่พบได้คือ อาการเรื้อรังต่างๆ เช่น
- ไข้
- ไอ
- เจ็บหน้าอก
- หายใจลำบาก
- อาจมีใบหน้า และแขนบวม จากต่อมน้ำเหลืองช่องอกกดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องอก ที่เรียกอาการนี้ว่า Superior vena cava obstruction/syndrome: SVC obstruction/syndrome
- เหงื่ออกกมาก ที่มักเป็นเหงื่อออกช่วงกลางคืน
- เมื่อเอกซเรย์ปอด จะพบว่า
- เนื้อปอดเกิดเป็นพังผืด และมีโพรงค่อนข้างกลม (Cavity)จุดเดียวหรือกระจายหลายจุด ร่วมกับมีก้อนเนื้อ กระจายได้ทั่วปอด
- ร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองช่องอกโต และมีหินปูนเข้าไปจับที่เนื้อเยื่อปอดที่อักเสบและที่ต่อมน้ำเหลืองช่องอกได้
- ซึ่งเมื่อโรคเข้าสู่ระยะนี้ เนื้อเยื่อปอดจะเสียหายตลอดไป ไม่ฟื้นตัวกลับเป็นปกติ และถึงแม้จะรักษาควบคุมโรคได้ เชื้อโรคก็ยังคงฝังตัวอยู่ในปอด และก่อการติดเชื้อใหม่เป็นระยะๆเมื่อภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำลง
ค. ถ้ารักษาควบคุมโรคระยะปอดอักเสบเฉียบพลัน หรือ ระยะปอดอักเสบเรื้อรังไม่ได้ โรคจะลุกลามแพร่กระจายทางกระแสโลหิต ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้กับทุกอวัยวะทั่วร่างกาย ที่เรียกว่า “ฮิสโตพลาสโมซิสระยะแพร่กระจาย(Disseminated histoplasmosis)” ซึ่งจะมีอาการต่างๆได้แตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นกับว่า เป็นการติดเชื้ออวัยวะอะไรบ้าง เช่น
- สมองอักเสบ
- ช่องปากอักเสบเป็นแผล
- ลูกตาอักเสบ (Uveitis)
- กระดูกอักเสบ
- เยื่อบุหัวใจอักเสบ
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- ตับอักเสบ
- ไตอักเสบ
- ต่อมหมวกไตอักเสบ
- และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วย “กลุ่มเสี่ยง”
*อนึ่ง อาการจากแผลผิวหนังติดเชื้อราชนิดนี้ คือการมีแผลเรื้อรัง เป็นหลายสัปดาห์โดยแผลไม่ดีขึ้นหลังการรักษาด้วยการทำแผลร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคฮิสโตพลาสโมซิสที่รุนแรง จนอาจถึงเสียชีวิต คือผู้ป่วย “กลุ่มเสี่ยง” ได้แก่
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง/ต่ำ เช่น
- ผู้สูงอายุ
- เด็กอ่อน
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคเอดส์/ติดเชื้อเอชไอวี)
- ผู้ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือ ยาสารเคมี/ยาเคมีบำบัด
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้ออาการ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยง(ดังกล่าวในหัวข้อ ใครมีปัจจัยเสี่ยง) ที่จะเกิดโรคนี้
แพทย์วินิจฉัยโรคฮิสโตพลาสโมซิสได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคฮิสโตพลาสโมซิส ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ถิ่นที่อยู่อาศัย การมีภาวะที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
- การตรวจร่างกาย
- การเอกซเรย์ภาพปอด
- การตรวจเชื้อและการเพาะเชื้อจาก เลือด เสมหะ น้ำไขสันหลัง ไขกระดูก น้ำจากโพรงเยื่อหุ้มปอด
- การตรวจเลือดเพื่อดูสารก่อภูมิต้านทาน และดูสารภูมิต้านทานสำหรับเชื้อนี้
- การตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่มีรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
*อนึ่ง การวินิจฉัยโรคนี้จะยากมาก ยุ่งยาก และซับซ้อน ซึ่งแพทย์อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 เดือนกว่าจะวินิจฉัยโรคนี้ได้
รักษาโรคฮิสโตพลาสโมซิสได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคฮิสโตพลาสโมซิส คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ และการให้ยาต้านเชื้อรา
ก. การรักษาประคับประคองตามอาการ คือ มีอาการอย่างไรก็ให้การรักษาไปตามนั้น เช่น การพักผ่อนที่เพียงพอ ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ซึ่งทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านโรคที่ปกติ และมีอาการไม่รุนแรง คือ โรคจำกัดอยู่เฉพาะจุดใดจุดหนึ่งของเนื้อเยื่อปอด ร่างกายจะมีกระบวนการควบคุมโรคนี้ให้หายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์
ข. การใช้ยาต้านเชื้อรา จะมีประโยชน์ต่อเมื่อ ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการนานมากกว่า 4 lปดาห์ขึ้นไป มีการติดเชื้อที่ปอดหลายจุด เป็นโรคปอดอักเสบฮิสโตพลาสโมซิสเรื้อรัง หรือเป็นโรคในระยะแพร่กระจาย ทั้งนี้ยาต้านเชื้อราที่ใช้รักษาโรคนี้มีหลายตัวยาที่มีทั้งชนิด ยากิน และชนิดยาฉีด เช่น ยา Itraconazole, Amphotericin B, Fluconazole, Voriconazole ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ยาชนิดใดขึ้นกับความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์ โดยการรักษามักให้ยานาน 3-6 เดือน บางครั้งอาจให้นานถึง 12 เดือน ขึ้นกับชนิดของอวัยวะที่ติดเชื้อและความรุนแรงของอาการ
โรคฮิสโตพลาสโมซิสก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
โรคฮิสโตพลาสโมซิสที่รุนแรงสามารถก่อผลข้างเคียงได้ จากการที่รุกรานรุนแรงทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ทำให้อวัยวะเหล่านั้น เกิดการล้มเหลวในการทำงานของอวัยวะนั้นๆได้ ที่สำคัญ ได้แก่ ปอด (เกิดระบบหายใจล้มเหลว) หัวใจ(เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว) สมอง(เกิดสมองอักเสบและ/หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ต่อมหมวกไต (เกิดต่อมหมวกไตล้มเหลวจนผู้ป่วยอาจช็อกได้)
โรคฮิสโตพลาสโมซิสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคฮิสโตพลาสโมซิสในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่านทานโรคปกติ เป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี โรคมักหายได้เองจากร่างกายมีกระบวนการในการควบคุมเชื้อได้เป็นอย่างดี
แต่ในผู้ป่วย”กลุ่มเสี่ยง”(ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรครุนแรงฯ’) โรคจะก่ออาการรุนแรง การวินิจฉัย การรักษาจะยุ่งยากซับซ้อนและใช้เวลารักษาเป็นหลายเดือน หรืออาจถึงปี และอาจเสียชีวิตได้ มีรายงานอัตราเสียชีวิตเมื่อโรคเกิดในเด็กเล็ก ประมาณ 5% และอัตราเสียชีวิตในผู้สูงอายุประมาณ 8%
อีกประการ ในโรคที่รุนแรง ถึงแม้จะรักษาได้หาย แต่ผู้ป่วยจะยังคงมีอาการผิดปกติต่างๆที่สืบเนื่องมาจากส่วนหนึ่งของอวัยวะต่างๆเหล่านั้นได้ถูกทำลายไปแล้วด้วยเชื้อนี้ และไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติได้ เช่น
- ความพิการทางสมอง
- อาการเหนื่อยหอบเมื่อออกแรงจากเนื้อเยื่อปอดและ/หรือเนื้อเยื่อหัวใจถูกทำลาย
- การมองเห็นภาพเสียไปเมื่อโรครุนรานเข้าตา เป็นต้น
นอกจากนั้น
- บ่อยครั้ง เชื้อรานี้ยังหลบซ่อนอยู่ได้ในร่างกาย และกลับมาก่ออาการได้เมื่อภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของคนคนนั้นต่ำลง
- รวมทั้ง คนที่เคยเป็นโรคนี้ จะไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนี้ ดังนั้น เมื่อร่างกายได้รับเชื้อนี้ครั้งใหม่ใหม่ ก็สามารถติดเชื้อครั้งใหม่ได้
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองหลังพบแพทย์ และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคฮิสโตพลาสโมซิส ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง ต้องระลึกเสมอว่า จะต้องได้รับยาอย่างน้อย 3 เดือน หรือนานหลายเดือน
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้ปกติ
- พักผ่อนให้ได้เต็มที่
- กินอาหารมีประโยชน์ให้ครบห้าหมู่ในทุกวัน
- เลิกบุหรี่/ไม่สูบบุหรี่
- เลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วถ้าแพทย์ไม่แนะนำให้จำกัดน้ำดื่ม
- ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัยเสมอ โดยเฉพาะเมื่อ ทำสวน พรวนดิน ใส่ปุ๋ยต้นไม้
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น มีไข้สูง ไอเป็นเลือดมากขึ้น อ่อนเพลียมากขึ้น
- มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
- อาการที่เคยหายไปแล้ว กลับมามีอาการอีก เช่น กลับมาไอเป็นเลือดอีก
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียน คลื่นไส้ มาก ขึ้นผื่น
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคฮิสโตพลาสโมซิสได้อย่างไร?
โรคฮิสโตพลาสโมซิส เป็นโรคป้องกันได้ยากมาก เพราะสปอร์ของเชื้อราชนิดนี้มีกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว ต่างกันที่มากหรือน้อย และปัจจุบันไม่มีวัคซีนหรือตัวยาที่จะป้องกันโรคนี้ได้ แต่เมื่อดูจากสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงแล้ว วิธีป้องกันโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ปกติ ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ดูแลสุขภาพไม่ให้เกิดโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง แต่เมื่อเป็นโรคแล้วก็ต้องดูแลรักษา ควบคุมโรคให้ได้อย่างดี
- ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่ หรือทำงานในสถานที่ ที่มีเชื้อรานี้สูง เช่น พรวนดิน จัดบ้านเก่า ทำความสะอาดเล้า/กรง/คอกสัตว์ ท่องเที่ยวในสถานที่ที่เป็นแหล่งอาศัยของเชื้อรานี้ เช่น ตามถ้ำที่มีนกค้างคาว อาศัย
บรรณานุกรม
- Hage,C. et al. (2008). Seminars in Respiratory and Critical Care Medicine. 29,151- 165
- Kauffman, C. (2007). Clinical Microbiology Reviews. 20, 115-132
- Kurowski, R., and Ostapchuk, M.(2002). Am Fam Physician. 66, 2247-2256
- https://emedicine.medscape.com/article/299054-overview#showall[2019,June29]
- https://www.cdc.gov/fungal/diseases/histoplasmosis/[2019,June29]
- https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/histoplasma-capsulatum.html[2019,June29]