ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 เมษายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาฮาโลเพอริดอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาฮาโลเพอริดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาฮาโลเพอริดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาฮาโลเพอริดอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาฮาโลเพอริดอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาฮาโลเพอริดอลอย่างไร?
- ยาฮาโลเพอริดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาฮาโลเพอริดอลอย่างไร?
- ยาฮาโลเพอริดอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- หน้ากระตุก หรือ อาการเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้า (Abnormal Facial movements)
- โรคจิต (Psychosis)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- สะอึก (Hiccup)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette syndrome)
- กล้ามเนื้อกระตุก (Tic)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาฮาโลเพอริดอล (Haloperidol) คือ ยารักษาอาการทางจิต หรืออาการทางจิตประสาทชนิด เฉียบพลันที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยากลุ่มที่มีผลต่อจิตประสาท เช่น Amphetamines, Ketamine , Psilocybin, และ Phencyclidine การรักษายังรวมไปถึงเรื่องอารมณ์ก้าวร้าว มีภาวะอยู่นิ่งไม่ได้หรือเป็นที่รู้จักว่า Hyperactivity นอกจากนี้ยังใช้รักษาอาการอาเจียนหลังได้รับการผ่าตัด หรือหลังได้รับการฉายรังสีรักษา หรือผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาทางยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ฯลฯ
องค์การอนามัยโลกจัดให้ยาฮาโลเพอริดอลเป็นยาที่จำเป็นขั้นพื้นฐานของระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาก็ได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อย
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic: การศึกษาถึงความเป็นไปของยา เมื่อเข้าสู่ร่างกาย) ของยาฮาโลเพอริดอลพบว่า หลังจากยานี้ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ปริมาณยาประ มาณ 90% จะจับกับพลาสมาโปรตีน และบางส่วนจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 14 - 37 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% (หากเป็นลักษณะยาฉีดจะใช้เวลาน้อยกว่ายาชนิดรับประทาน)
ยาฮาโลเพอริดอลถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษและจัดอยู่ในหมวดของยาอันตรายเช่น เดียวกัน ด้วยมีข้อกำหนดในการใช้กับคนไข้แต่ละรายแตกต่างกันออกไป การใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ยาฮาโลเพอริดอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาฮาโลเพอริดอลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาอาการทางจิตประสาททั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก
- รักษา กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Touretter’s syndrome )ซึ่งมีอาการกระตุกที่กล้ามเนื้อใบหน้าและลำตัวอย่างมาก อาจมีการเปล่งเสียงคำรามหรือพูดติดอ่างร่วมด้วย
- รักษาอาการกระตุกซ้ำๆของใบหน้า คอ ไหล่ มุมปาก หรือที่เรียกว่า Tics (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง หน้ากระตุก หรืออาการเคลื่อนไหวผิดปกติของใบหน้า
- รักษาภาวะวิตกกังวล ภาวะร้อนรน/กระสับกระส่าย และ สับสน
- รักษาอาการสะอึกชนิดรักษายาก(Intractable hiccup) และ
- รักษาอาการคลื่นไส้-อาเจียนของผู้ป่วยหลังผ่าตัด หรือ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับ การฉายรังสีรักษา หรือใช้ยาเคมีบำบัด
ยาฮาโลเพอริดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาฮาโลเพอริดอล คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ปิดกั้นที่ตัวรับ (Receptor ) ของกลุ่มสารเคมีจำพวก Postsynaptic dopamine D1 และ D2 ที่ส่งผลให้ลดการหลั่งฮอร์โมน 2 กลุ่มคือ ไฮโปธาลามิกฮอร์โมน (Hypothalamic hormones: ฮอร์โมนจากสมองส่วน Hypo thalamus) และ ไฮโปไฟเชียลฮอร์โมน (Hypophyseal hormones: ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง) ส่งผลทำให้เกิดภาวะสงบทางจิต ลดอาการก้าวร้าว และภาพหลอน รวมไปถึงอาการหลงผิด (ประ สาทหลอน) ของผู้ป่วย จนนำไปสู่อาการที่เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติ
ยาฮาโลเพอริดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฮาโลเพอริดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 0.5, 2, 5, และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- รูปแบบยาฉีด ขนาดความแรง 5, 25, และ 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ยาฮาโลเพอริดอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฮาโลเพอริดอลมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. รักษาอาการทางจิต: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 0.5 - 5 มิลลิกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง หากมีอาการรุนแรงอาจ เพิ่มขนาดรับประทานเป็น 100 มิลลิกรัม/วัน และขนาดยาที่ใช้คงอาการได้อย่างปกติจะอยู่ที่ 3 -10 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กที่อายุมากกว่า 3 ปี: ขนาดรับประทานเริ่มต้นที่ 25 - 50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิ โลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง หากจำเป็นสามารถเพิ่มขนาดรับประทานได้สูง สุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน
ข. รักษากลุ่มอาการทูเร็ตต์ และ ภาวะกล้ามเนื้อกระตุก หรือ Tics: เช่น
- ผู้ใหญ่: ขนาดรับประทานเริ่มต้นที่ 0.5 - 1.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หากมีความจำเป็น สามารถปรับขนาดรับประทานได้ถึง 30 มิลลิกรัม/วัน และขนาดยาที่ใช้คงอาการได้อย่างปกติอยู่ที่ 4 มิลลิกรัม/วัน
ค. รักษาภาวะวิตกกังวลในระยะสั้น: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 0.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
ง. รักษาภาวะสับสนและอาการร้อนรน: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 1 - 3 มิลลิกรัม ทุกๆ 8 ชั่วโมง
จ. รักษาอาการสะอึก (Intractable hiccup): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 1.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
*อนึ่ง:
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้ในเด็กในทุกโรค ขนาดยานี้จะขึ้นกับ อายุ น้ำหนักตัว และความรุนแรงของอาการ ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะเป็นผู้ประเมินขนาดยา
- สามารถรับประทานยาฮาโลเพอรินอลก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ขนาดรับประทานของยานี้ต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ปรับขนาดรับประทานยานี้เอง
- *สำหรับอาการผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดโดยเฉพาะในเด็ก จะพบอาการง่วงนอน สับสน ร้อนรน/กระสับกระส่าย อุณหภูมิของร่างกายต่ำลง บางรายอาจเกิดอาการโคม่า
- *สำหรับการดูแลภาวะที่ร่างกายได้รับยานี้เกินขนาด คือ ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที ด้วยต้องใช้หัตถการทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพในการบำบัดรักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฮาโลเพอรินอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาฮาโลเพอรินอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรืออาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฮาโลเพอรินอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาฮาโลเพอริดอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฮาโลเพอริดอลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- มีอาการคล้ายวิตกกังวล ซึมเศร้า
- หัวใจเต้นเร็ว
- ความดันโลหิตต่ำ
- และเบื่ออาหาร
มีข้อควรระวังการใช้ยาฮาโลเพอริดอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฮาโลเพอริดอล เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าระดับรุนแรง (Severe toxic CNS depression)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วย ด้วยโรคหัวใจ หรือโรคตับ ในระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin
- ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็ก
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฮาโลเพอริดอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาฮาโลเพอริดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฮาโลเพอริดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาฮาโลเพอริดอลร่วมกับยา Carbamazepine และ Rifampicin ส่งผลให้ระดับยาฮาโลเพอริดอลในกระแสเลือดลดต่ำลงจนกระทบต่อประสิทธิภาพของการรักษา แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมต่อคนไข้
- การใช้ยาฮาโลเพอริดอลร่วมกับ ยานอนหลับ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้ สมควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ฮาโลเพอริดอลร่วมกับ ยาลดความดันโลหิตสูง เช่น Guanethidine สามารถลดฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตให้ด้อยประสิทธิภาพลง ควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน หรือแพทย์เป็นผู้ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสม
ควรเก็บรักษายาฮาโลเพอริดอลอย่างไร?
ควรเก็บยาฮาโลเพอริดอล เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาให้ พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาฮาโลเพอริดอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฮาโลเพอริดอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Halomed (ฮาโลเมด) | Medifive |
Halo-P (ฮาโล-พี) | P P Lab |
Haloperidol GPO (ฮาโลเพอริดอล จีพีโอ) | GPO |
Halopol (ฮาโลพอล) | General Drugs House |
Halox (ฮาล็อกซ์) | Ranbaxy |
Haricon (ฮาริคอน) | Condrugs |
Haridol (ฮาริดอล) | Atlantic Lab |
Haridol Decanoate (ฮาริดอล เดคาโนเอด) | Atlantic Lab |
H-Tab (เฮท-แทป) | Pharmaland |
Polyhadon (โพลีฮาดอน) | Pharmasant Lab |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Haloperidol [2021,April17]
- https://www.rxlist.com/consumer_haloperidol_haldol/drugs-condition.htm [2021,April17]
- https://www.drugs.com/dosage/haloperidol.html [2021,April17]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/haloperidol%20gpo [2021,April17]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=HALOPERIDOL [2021,April17]