ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (Pituitary hormones)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 6 เมษายน 2561
- Tweet
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง (Pituitary tumor)
- โกรทฮอร์โมน (Human Growth Hormone Drugs)
- เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)
- ฮอร์โมนจากไฮโปธาลามัส
- ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus)
- ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland)
ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง หรือฮอร์โมนต่อมใต้สมอง(Pituitary hormones หรือ Hormones of the pituitary หรือ Hormones secreted by pituitary gland)มี หลากหลายชนิดโดยผลิต/หลั่งทั้งจาก ต่อมใต้สมองกลีบหน้า, ต่อมใต้สมองกลีบขั้นกลาง, และจากต่อมใต้สมองกลีบหลัง(อ่านเพิ่มเติ่มเรื่อง ต่อมใต้สมอง จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ต่อมใต้สมอง”)
ก. ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองกลีบหน้า ซึ่งสร้างและหลั่งฮอร์โมนภายใต้การกำกับของสมองส่วนไฮโปธาลามัส (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ฮอร์โมนจากไฮโปธาลามัส”) ได้แก่
- Human growth hormone(HGH หรือ hGH)หรือ Growth hormone(GH) หรือ Somatotropin ที่มีหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ทุกเนื้อเยื่อของร่างกาย ที่สำคัญได้แก่ กระดูก(เพิ่มความสูงของกระดูก), กระตุ้นตับให้สร้างสาร Insulin like growth factor I(ช่วยการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆและช่วยลดน้ำตาลในเลือด), กระตุ้นกระบวนการสันดาปของเซลล์ต่างๆทั้งจาก โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต
- Adrenocorticotropic hormone (ACTH) หรือ Adrenocorticotropin หรือ Corticotropin มีหน้าที่ปรับระดับการสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมน(Steroid hormone)จากต่อมหมวกไตให้อยู่ในสมดุลย์ เช่น Corticosteroidsซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ควบคุมเกี่ยวข้องกับการดำรงค์ชีวิต เช่น ความดันโลหิต ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ ช่วยร่างกายตอบสนองต่อความเครียด(Stress) ลดปฏิกิริยาก่อการอักเสบต่างๆในร่างกาย
- Thyroid-stimulating hormone (TSH) หรือ Thyrotropin หรือ Thyrotropic Hormone หรือ Human TSH(hTSH): ทีหน้าที่ควบคุมต่อมไทรอยด์ในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน
- Luteinizing hormone (LH) หรือ Lutropin หรือ Lutrophin: ในสตรี จะควบคุมการทำงานของรังไข่ เช่น กระตุ้นการตกไข่ และการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงProgesterone ส่วนในบุรุษจะเรียก LH ว่า Interstitial cell–stimulating hormone (ICSH)ที่ควบคุมการทำงานของอัณฑะเพื่อการสร้างฮอร์โมนเพศชายTestosterone
- Follicle-stimulating hormone (FSH): ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของรังไข่ในสตรี(สร้างไข่ รวมไปจนถึงการตกไข่) อัณฑะในบุรุษ(สร้าง ตัวอสุจิและน้ำอสุจิ/น้ำกาม), เพื่อการเจริญเติบโตเป็นวัยรุน วัยผู้ใหญ่ จากการสร้างฮอร์โมนเพศ
- Prolactin (PRL) หรือ Luteotropic hormone หรือ Luteotropin มีหน้าที่หลักคือ ช่วยการหลั่งน้ำนมที่รวมถึงมีส่วนช่วยในการสร้างน้ำนม นอกจากนั้น PRL ยังมีส่วนช่วยในกระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เช่น สันดาป ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค รวมถึงด้านอารมณ์/จิตใจ
ข. ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองกลีบขั้นกลาง ได้แก่ Melanocyte-stimulating hormones (MSH) หรือ Melanotropins หรือ Intermedin มีหน้าที่ควบคุมการสร้าง สารเม็ดสีในร่างกาย โดยเฉพาะที่ผิวหนัง
ค. ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองกลีบหลัง
- Antidiuretic hormone (ADH)หรือ Vasopressin(VP) หรือ Arginine vasopressin (AVP) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากสมองส่วนไฮโปธาลามัส แล้วนำมาเก็บไว้ รอการหลั่งที่ต่อมฯกลีบหลัง ฮอร์โมนนี้มีหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำ(Fluid-electrolyte balance)ในร่างกายผ่านทางการทำงานของไต และยังช่วยการขยายและ/หรือการบีบตัวของหลอดเลือด ซึ่งกลไกทั้งหมดของ ฮอร์โมนนี้จึงมีส่วนช่วยควบคุมความดันโลหิตด้วย
- Oxytocin ย่อว่า OTC หรือ OT หรือ OXY เป็นฮอร์โมนสร้างจากไฮโปธาลามัส และนำมาเก็บไว้เพื่อรอการหลั่งจากต่อมใต้สมองกลีบหลัง ในสตรีจะเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการบีบตัวของมดลูก โดยเฉพาะในการคลอดบุตร และเมื่อทารกคลอดแล้ว ฮอร์โมนนี้ยังช่วยเสริมการหลั่งน้ำนมของมารดา และอาจช่วยในด้านจิตใจ ความรู้สึกทางเพศ ความวิตกกังวล ส่วนในบุรุษ หน้าที่ของOTยังไม่ทราบชัดเจน
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง
- ไฮโปธาลามัส และเรื่อง
- ฮอร์โมนจากไฮโปธาลามัส
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pituitary_gland [2018,March17]
- http://www.yourhormones.info/glands/pituitary-gland/ [2018,March17]
- https://www.hormone.org/diseases-and-conditions/pituitary [2018,March17]