อีฟลอร์นิทีน (Eflornithine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอีฟลอร์นิทีน (Eflornithine หรือ Eflornithine hydrochloride หรือ Eflornithine HCl)เป็นยาที่นำมาใช้กำจัดขนบนใบหน้าของสตรี มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาครีม(Cream)ทาผิวหนัง ก่อนการใช้ยานี้ผู้ป่วยควรขอคำปรึกษาและรับการตรวจจากแพทย์เพื่อให้ทราบสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะขนดกบนใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นด้วยจากฮอร์โมนเพศ, เนื้องอก, หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด ทั้งนี้เพื่อจะได้วางแผนการรักษาภาวะขนดกที่ต้นเหตุ

จากการศึกษาทางคลินิกพบว่า ยาอีฟลอร์นิทีนเป็นตัวยาที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Ornithine decarboxylase เอนไซม์ชนิดนี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของขนตามผิวหนัง ทั้งนี้ แพทย์จะแนะนำให้ทายานี้เฉพาะบริเวณใบหน้าที่มีขนเท่านั้น จะไม่แนะนำให้นำไปใช้กำจัดขนในบริเวณอื่นของร่างกาย โดยทั่วไป สามารถใช้ยานี้ได้ทั้งกับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

อนึ่งด้วยยาอีฟลอร์นิทีนเป็นยาชนิดทาภายนอก จึงมีข้อจำกัดการใช้ยานี้อยู่ไม่กี่ประการ ที่น่าเรียนรู้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยาอีฟลอร์นิทีน
  • ถึงแม้จะเป็นยาทาภายนอกก็จริง แต่การใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือสตรีในภาวะให้นมบุตร ควรต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น

การใช้งานยาอีฟลอร์นิทีนไม่ยุ่งยาก เพียงทายานี้บางๆบริเวณใบหน้าที่มีขนขึ้น วันละ 2 ครั้ง เว้นเวลาของการทายาห่างกันประมาณ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ควรทิ้งให้ยานี้สัมผัสผิวหน้าเป็นเวลานานประมาณ 4 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อให้ตัวยามีเวลาในการออกฤทธิ์แล้วจึงค่อยล้างหน้า/ล้างยาออก

กรณีที่พบว่า มีใบหน้าแห้งหลังการใช้ยาอีฟลอร์นิทีน แพทย์อาจแนะนำให้ใช้โลชั่นชนิดทาใบหน้าเพื่อป้องกันผิวแห้งดังกล่าว ผู้ป่วยไม่ควรไปซื้อหาเครื่องสำอางใดๆมาใช้ร่วมกับยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน และต้องหลีกเลี่ยงการทายาในบริเวณอวัยวะเพศ ตา จมูก และปาก ทั้งนี้ ยานี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับผิวหน้ามากกว่าที่จะนำไปใช้กำจัดขนในส่วนอื่นๆของร่างกาย

ยาอีฟลอร์นิทีน ไม่ใช่ยาทาสำหรับถอนขน แต่เป็นยาที่ใช้หยุดยั้งการเจริญหรือการงอกของขน ผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องใช้วิธีกำจัดขนไม่ว่าจะเป็นการถอน หรือการโกนขนร่วมด้วย และการใช้ยานี้ต้องทายาต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 4–8 สัปดาห์จึงจะเห็นประสิทธิผลในการรักษา

กรณีที่ใช้ยาอีฟลอร์นิทีนแล้วอาการขนดกไม่ดีขึ้นเลย หรือกลับมาเป็นมากกว่าเดิม ผู้ป่วย/ผู้บริโภคต้องรีบแจ้งแพทย์/กลับมาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

ตัวยาอีฟลอร์นิทีน อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)บางประการได้ เช่น ทำให้ผิวหนังที่สัมผัสยาเป็นรอยแดงคล้ายกับผิวหนังอักเสบ และรวมถึงเกิดอาการแสบคัน ทั้งนี้ โดยทั่วไป อาการเหล่านี้จะหายได้หลังจากหยุดใช้ยานี้ สิ่งสำคัญคือ ห้ามเผลอรับประทานยาอีฟลอร์นิทีน ด้วยตัวยาสามารถก่อให้เกิดอันตราย และแสดงออกมาด้วยอาการ วิงเวียน ใบหน้าบวม ผมร่วง ปวดศีรษะ หูดับ เบื่ออาหาร มีอาการชัก ปั่นป่วนในท้อง และไม่มีแรง กรณีนี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

อนึ่ง หากผู้ป่วยมีคำถามเพิ่มเติมต่อการใช้ยาอีฟลอร์นิทีน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้จากเภสัชกรได้ทั่วไป

อีฟลอร์นิทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อีฟลอร์นิทีน

ยาอีฟลอร์นิทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อรักษาภาวะขนดกในบริเวณใบหน้าของสตรี

อีฟลอร์นิทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอีฟลอร์นิทีน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในระดับเซลล์ที่มีชื่อว่า Ornithine decarboxylase ทำให้เกิดการชะลอตัวการงอกของขนที่บริเวณใบหน้า ซึ่งผู้บริโภคต้องใช้วิธีกำจัดขนแบบต่างๆร่วมในการรักษาด้วย เช่น การถอนหรือการโกนขน ด้วยกลไกดังกล่าว จึงทำให้ขนที่ขึ้นบริเวณใบหน้าลดน้อยลงและเป็นที่มาของสรรพคุณ

อีฟลอร์นิทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

อีฟลอร์นิทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาครีมใช้ทาใบหน้า ที่ประกอบด้วย Eflornithine เข้มข้น 13.9%

อีฟลอร์นิทีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอีฟลอร์นิทีน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป: ทายาบริเวณใบหน้าที่มีขนเพียงบางๆ วันละ 2 ครั้ง เว้นเวลาการทายาห่างกันประมาณ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ระยะเวลาของการใช้ยาอยู่ในช่วง 4–8 สัปดาห์ หรือเป็นตามคำสั่งจากแพทย์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ผู้บริโภคควรทายานี้หลังจากถอน/โกนขนบริเวณใบหน้าแล้วประมาณ 5 นาที
  • ห้ามรับประทาน ห้ามมิให้ทายาบริเวณ อวัยวะเพศ ตา จมูก และปาก
  • หลังทายานี้ควรทิ้งเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงขึ้นไป แล้วจึงค่อยล้างหน้า ทั้งนี้เพื่อให้ยาแทรกซึมเข้าผิวหนังและสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิผล

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีฟลอร์นิทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีฟลอร์นิทีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาอีฟลอร์นิทีน สามารถทายาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็นสองเท่า ให้ทายาในขนาดปกติ

อีฟลอร์นิทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอีฟลอร์นิทีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ต่อผิวหนังเสียเป็นส่วนมาก เช่น เกิดสิว เกิดผื่น แสบคันบริเวณที่ทายา ผิวแห้ง ผมร่วง ผิวเป็นรอยแดง ระคายเคืองผิวหนัง มีภาวะขนคุด รากขนอักเสบ ใบหน้าบวม นอกจากนี้ยังอาจได้รับผลข้างเคียงอื่นๆทั่วๆไปได้อีก เช่น เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ มีอาการหมดแรง/อ่อนแรง

มีข้อควรระวังการใช้อีฟลอร์นิทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีฟลอร์นิทีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาอีฟลอร์นิทีน
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการทายาด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป ยาละลายเป็นน้ำ
  • ห้ามรับประทานยานี้
  • ห้ามทายานี้ในบริเวณอื่นๆนอกจากใบหน้า
  • ทายานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีฟลอร์นิทีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อีฟลอร์นิทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยยาอีฟลอร์นิทีน เป็นยาทาภายนอก จึงยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่าง ยาอีฟลอร์นิทีนกับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาอีฟลอร์นิทีนอย่างไร?

ควรเก็บยาอีฟลอร์นิทีนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

อีฟลอร์นิทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีฟลอร์นิทีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
VANIQA (วานิกา)Bristol-Myers Squibb

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Eflora, Elyn

บรรณานุกรม

  1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2000/21145lbl.pdf[2017,April22]
  2. https://www.drugs.com/cdi/eflornithine-cream.html[2017,April22]
  3. https://www.drugs.com/monograph/eflornithine.html[2017,April22]
  4. https://www.drugs.com/dosage/eflornithine-topical.html[2017,April22]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Eflornithine#Chemo_preventative_therapy[2017,April22]