ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin)

สารบัญ

ทั่วไป

ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มแมคโครไลด์ (Macrolide) ถูก สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย และใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) รูปแบบของยาที่มีวางขายตามร้านขายยาและในสถานพยาบาล เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน

ยาอิริโทรมัยซิน จะถูกดูดซึมได้ดี เมื่อรับประทานในขณะที่ท้องว่าง จึงควรรับประทานยานี้ก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง

อนึ่ง ได้มีการทดสอบการใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์พบว่า ไม่ก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อนในครรภ์ จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยสำหรับการใช้ยากับหญิงมีครรภ์ อย่างไรก็ตามการใช้ยาทุกชนิดรวมทั้งยาอิริโทรมัยซิน ควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์หรือได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรเท่านั้น

ยาอิริโทรมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาอิริโทรมัยซิน มีสรรพคุณใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ แผลที่ผิวหนัง แผลฝี-หนอง โรคคอตีบ โรคไอกรน และโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆที่เชื้อโรคไวต่อยาตัวนี้

ยาอิริโทรมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอิริโทรมัยซิน มีกลไกการออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนและสารตั้งต้นทางพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรีย และทำให้เชื้อแบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต

ยาอิริโทรมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายยาอิริโทรมัยซิน ที่พบบ่อยๆในประเทศไทย ได้แก่ ยารับประ ทานที่เป็น ยาเม็ด ยาแคปซูล และยาน้ำแขวนตะกอน

ยาอิริโทรมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดของยาอิริโทรมัยซิน ที่รับประทานในผู้ใหญ่สำหรับการรักษาโรค ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมีขนาดสูงสุดไม่เกิน 4 กรัมต่อวัน สำหรับเด็กขนาดรับประทานอยู่ที่ 30-50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม การปรับขนาดรับประทานต้องให้แพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้นเป็นผู้แนะนำและสั่งจ่ายการใช้ยานี้กับผู้ป่วย

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอิริโทรมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว ขึ้นผื่น คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาอิริโทรมัยซิน กับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะการตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทาน ยาอิริโทรมัยซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

ยาอิริโทรมัยซิน มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงของยาอิริโทรมัยซิน เช่น

  • อาการทางผิวหนัง อาจก่อให้เกิดภาวะผื่นคันและลมพิษ
  • อาจทำให้รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • สามารถก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น วิงเวียน ชัก หรือ สับสน
  • สามารถก่อให้เกิดภาวะใจสั่น และเป็นพิษต่อตับอ่อน

มีข้อควรระวังการใช้ยาอิริโทรมัยซินอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาอิริโทรมัยซิน คือ

  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ
  • การใช้ยานานมากกว่า 10 วัน มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอักเสบ
  • ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ

ยาอิริโทรมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอิริโทรมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้

  • การรับประทานยาอิริโทรมัยซินร่วมกับยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสภาวะเลือดออกง่าย ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดที่กล่าวถึง เช่น อะซีโนคูมารอล (Acenocoumarol)
  • การใช้ยาอิริโทรมัยซินร่วมกับยารักษาอาการวิตกกังวล สามารถทำให้ระดับของยาดัง กล่าวอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานมากขึ้น และนำไปสู่ภาวะ ง่วงซึม อ่อนเพลีย ยารักษาอาการวิตกกังวลที่กล่าวถึง เช่น อัลปราโซแลม (Alprazolam)
  • การใช้ยาอิริโทรมัยซินร่วมกับยาขยายหลอดลม สามารถทำให้ระดับของยาอิริโทรมัย ซินในกระแสเลือดต่ำลง และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา อีกทั้งยังเพิ่มความเป็นพิษของยาขยายหลอดลมด้วย ยาขยายหลอดลมที่กล่าวถึง เช่น ธีโอฟีลีน (Theophylline)

ควรเก็บรักษายาอิริโทรมัยซินอย่างไร?

ให้เก็บยาอิริโทรมัยซินชนิดรับประทาน ที่อุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียส

ยาอิริโทรมัยซิน มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่ออื่นและบริษัทในประเทศไทยที่ผลิตยาอิริโทรมัยซิน เช่น

ชื่อการค้า ผู้ผลิต
E S Cap (อี เอส แคป) Community Pharm PCL
Erathrom (อีราทรอม) Asian Pharm
Ericin (S) (อีริซิน) Chew Brothers
Erimit (อีริมิท) T P Drug
Erimycin (อีริมัยซิน) Siam Bheasach
Eryacne (อีรีแอคเน่) Galderma
Erycin (อีรีซิน) Atlantic Lab
Erycon (อีริคอน) T.O. Chemicals
Erymin (อีรีมิน) Milano
Eryo Dry Syrup (อีริโอ ดราย ไซรัป) Vesco Pharma
Erypac (อีริแพค) Inpac Pharma
Erysate (อีริเสท) The United Drug (1996)
Erysil (อีริซิล) Silom Medical
Eryth-mycin (อีริท-มัยซิน) Pond’s Chemical
Erythorate (อีริโทเรท) Inpac Pharma
Erythromed (อีริโทรเมด) Medicpharma
Erythromycin Asian Pharm (อิริโทรมัยซิน เอเชียน ฟาร์ม) Asian Pharm
Erythromycin Osoth (อิริโทรมัยซิน โอสถ) Osoth Interlab
Erytomin (อีริโทมิน) Acdhon
Erytomin Dry Syrup (อีริโทมิน ดราย ไซรัป) Acdhon
Malocin (มาโลซิน) M & H Manufacturing
Medthrocin (เมดโทรซิน) Utopian
Pocin (โพซิน) Polipharm
Rintacap (รินทาแคป) T. Man Pharma
Rintacin (รินทาซิน) T. Man Pharma
Rytho-Cap (รีโท -แคป) Medicine Products
Stacin (สเตซิน) Macro Phar
Stiemycin (สเตมัยซิน) Stiefel
Suthrocin (สุโทรซิน) Suphong Bhaesa
Tomcin (ทอมซิน) General Drugs House

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Erythromycin [2013,Feb15].
  2. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/erythromycin/?q=erythromycin&type=brief&mtype=generic [2013,Feb15].