อิมิดาโซล (Imidazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 เมษายน 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อิมิดาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- อิมิดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อิมิดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อิมิดาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อิมิดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อิมิดาโซลอย่างไร?
- อิมิดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอิมิดาโซลอย่างไร?
- อิมิดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Tranquilizer Drugs)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- ต้อหิน (Glaucoma)
บทนำ: คือยาอะไร?
อิมิดาโซล (Imidazole) คือ ยากลุ่มใช้รักษาโรคต่างๆได้หลายโรคขึ้นกับว่าเป็นยากลุ่มย่อยชนิดใด, เช่น ยาต้านเชื้อรา, ยาปฏิชีวนะกลุ่มไนโตรอิมิดาโซล (Nitroimidazole series of antibiotics), ยาสงบประสาท (ยากล่อมประสาท) ประเภทไมดาโซแลม (Midazolam), และมีรูปแบบยาได้หลากหลาย เช่น ยารับประทาน ยาฉีด ยาลูกอม ยาเหน็บ
ยาอิมิดาโซล ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1840 (พ.ศ. 2383) โดยมีการพัฒนาและสังเคราะห์ยาในกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ อาจสรุปหมวดหมู่/ประเภท/กลุ่มของยาอิมิดาโซลตามประโยชน์ทางคลินิกที่มีการนำตัวยามาใช้บ่อย เช่น ยาอิมิดาโซลประเภท
- ยาต้านเชื้อรา: เช่นยา Bifonazole, Butoconazole, Climbazole, Clotrimazole, Croconazole, Econazole, Enilconazol, Fenticonazole, Flutrima zole,, Isoconazole, Ketoconazole, Miconazole, Neticonazole, Omoconazole, Oxiconazole, Sertaconazole, Sulconazole, Tioconazole
- ยาปฏิชีวนะ ไนโตรอิมิดาโซล (Nitroimidazole antibiotics): ใช้ต้านเชื้อโปรโตซัวชนิดต่างๆ และมีบางรายการที่ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย, เช่นยา Azanidazole, Dimetridazole, Megazol, Metronidazole, Nimorazole, Ornidazole, Propenida zole, Secnidazole, Tinidazole
- กลุ่มยากันชัก: เช่น ยา Nafimidone, Midazolam
- ยาต้านไวรัส: เช่น ยา Netropsin
- ประเภทต่อต้านการรวมตัวของเกล็ดเลือด/ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: เช่น ยา Ozagrel
- กลุ่มป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน: เช่น ยา Lunosetron, Ondansetron
- กลุ่มใช้รักษาอาการซึมเศร้า: เช่น ยา Imafen
- กลุ่มใช้บำบัดอาการหดเกร็งของท่อปัสสาวะ: เช่น ยา Imidafenacin
- กลุ่มใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง: เช่น ยา Olmesartan
- กลุ่มใช้รักษาโรคต้อหิน: เช่น ยา Pilocarpine
- กลุ่มใช้รักษาไวรัสตับอักเสบ: เช่น ยา Ledipasvir
นอกจากนี้ ยังมียาในกลุ่มอิมิดาโซลอีกมากมายที่ไม่สามารถนำมากล่าวในบทความนี้ได้หมด, ซึ่งยาอิมิดาโซลทุกตัวยาจัดเป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น
อิมิดาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอิมิดาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้บำบัดรักษาโรคได้หลากหลายแตกต่างกันไป ขึ้นกับแต่ละชนิดของตัวยาย่อยต่างๆ ดังได้กล่าวในหัวข้อ “บทนำ” เช่น
- รักษาการติดเชื้อรา
- รักษาการติดเชื้อโปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียว
- ใช้เป็นยากันชัก
- ใช้เป็นยาต้านไวรัส
- ใช้เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ใช้เป็นยาป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน
- รักษาอาการซึมเศร้า
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- รักษาโรคต้อหิน
อิมิดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอิมิดาโซล จะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างทางเคมีของแต่ละตัวยา, ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างกลไกการออกฤทธิ์ของยาอิมิดาโซลเฉพาะกลุ่มเป็นยาต้านเชื้อราซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่และใช้กันเป็นที่แพร่หลายเท่านั้น
ยาอิมิดาโซลกลุ่มยาต้านเชื้อราจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในตัวเชื้อราที่มีชื่อว่า Lanosterol 14 alpha-demethylase, เอนไซม์นี้จะช่วยสร้างสารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์เชื้อราที่เรียกว่า Ergosterol, จึงมีผลให้เซลล์เชื้อราแตกออก และตายลงในที่สุด
อิมิดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอิมิดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายหลากหลายขึ้นกับแต่ละตัวยาย่อย เช่น
- ยาชนิดรับประทาน เช่น ยาเม็ด ยาน้ำ
- ยาเม็ดลูกอม
- ยาฉีด
- ยาทาเฉพาะที่
- ยาเหน็บ เช่น ยาเหน็บช่องคลอด ยาเหน็บทวารหนัก
อิมิดาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การบริหารยา/ใช้ยาอิมิดาโซลในแต่ละสูตรตำรับยาย่อยให้เป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา หรือใช้ข้อมูลในเอกสารกำกับยา/ฉลากยาเป็นแนวทางการใช้ยานั้นๆ, ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมของแต่ละตัวยาย่อยได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรเพื่อทำความเข้าใจในการใช้ยานั้นๆได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอิมิดาโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอิมิดาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาอิมิดาโซลสามารถรับประทานยา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทาน/ขนาดใช้ยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยา/ใช้ยาอิมิดาโซลตรงเวลา
อิมิดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มอิมิดาโซลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) โดยแบ่งตามหมวดหมู่ที่มีการใช้ยา เช่น
- กลุ่มยาต้านเชื้อรา: เช่น อาจมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ผื่นคัน รวมถึงทำให้ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
- กลุ่มยาต้านเชื้อโปรโตซัว: เช่น อาจพบอาการ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ ปวดหัว วิงเวียน โลหิตจาง
- กลุ่มยากันชัก: เช่น กดการหายใจ (หายใจช้าตื้นเบาจนถึงอาจหยุดหายใจ) ความดันโลหิตต่ำ ความสามารถในการเคลื่อนไหวลดลง
- กลุ่มยาต้านไวรัสตับอักเสบ: เช่น อ่อนเพลีย และปวดหัว
- กลุ่มยารักษาต้อหิน: เช่น ระคายเคืองตา ตาพร่า เยื่อบุตาอักเสบ ปวดบริเวณขมับ
- กลุ่มยาลดความดัน: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ระดับสารเกลือแร่/อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ในเลือดเปลี่ยนแปลงผิดปกติ น้ำหนักตัวลด
มีข้อควรระวังการใช้อิมิดาโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอิมิดาโซล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในแต่ละรายการของยาอิมิดาโซล
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- กรณีเป็นยารับประทาน ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองเป็นอันขาด
- ห้ามใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องแจ้งแพทย์ เภสัชกร ทุกครั้ง ด้วยยาหลายรายการในกลุ่มยาอิมิดาโซลสามารถส่งผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ต่ออาการโรคต่างๆเหล่านั้นได้
- แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นๆอยู่ด้วยหรือไม่เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยากลุ่มอิมิดาโซล
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอิมิดาโซล) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อิมิดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอิมิดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยา Midazolam ร่วมกับยาบางตัวอาจทำให้ความเข้มข้นของยา Midazolam ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจมีอาการข้างเคียงติดตามมา ยากลุ่มดังกล่าว เช่น ยา Cimetidine, Erythromycin, Clarithromycin, Diltiazem, Verapamil, Ketoconazole, Itraconazole, หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยา Miconazole ร่วมกับยา Warfarin อาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ Olmesartan ร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs อาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบกับไตของผู้ป่วยจนก่อให้เกิดภาวะไตวายได้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การรับประทานยา Ondansetron ร่วมกับยารักษาอาการสั่นในผู้ป่วยพาร์กินสัน เช่น ยา Apomorphine จะทำให้เกิดอาการความดันโลหิตต่ำ พร้อมกับมีอาการหมดสติตามมาจึงห้ามใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาอิมิดาโซลอย่างไร?
ควรเก็บยาอิมิดาโซล: เช่น
- เก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อิมิดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอิมิดาโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Azonit cream (อะโซนิท ครีม) | Pharma International Co |
Azonit vaginal cream (อะโซนิท วาไจนอล ครีม) | Pharma International Co |
Travogen (ทราโวเจน) | Intendis |
Travocort (ทราโวคอร์ด) | Intendis |
Daktacort (ดาคทาคอร์ท) | Janssen-Cilag |
Daktarin (ดาคทาริน) | Janssen-Cilag |
Daktarin Oral Gel (ดาคทาริน ออรัล เจล) | Janssen-Cilag |
Funga (ฟังกา) | Chinta |
Funcort (ฟังคอร์ท) | Thai Nakorn Patana |
Fungi-M (ฟังจิ-เอ็ม) | Nakornpatana |
Fungisil (ฟังจิซิล) | Silom medical |
Kelaplus (เคลาพลัส) | T. O. Chemicals |
Ladocort (ลาโดคอร์ท) | L.B.S. |
Lymarin (ไลมาริน) | 2M (Med-Maker) |
Micazin (ไมคาซิน) | Chew Brothers |
Miconazole GPO (ไมโคนาโซล จีพีโอ) | GPO |
Mysocort (มายโซคอร์ท) | Greater Pharma |
Nikarin (นิคาริน) | T. O. Chemicals |
Canesten solution (คาเนสเทน โซลูชั่น) | Bayer |
Isopto Carpine (ไอซอปโต คาร์พีน) | Alcon |
Salagen (ซาลาเจน) | Eisai |
Normetec (นอร์มีเทค) | Pfizer |
Olmetec (โอล์มีเทค) | Pfizer |
Olmetec Plus (โอล์มีเทค พลัส) | Pfizer |
Dormicum (ดอร์มิคุม) | Roche |
Midazol (มิดาโซล) | Hameln |
Dantron 8 (แดนทรอน 8) | Unison |
Emeset (เอเมเซท) | Cipla |
Emistop (เอมิสตอป) | Claris Lifesciences |
Ondavell (ออนดาเวล) | Novell Pharma |
Onsia (ออนเซีย) | Siam Bheasach |
Zetron (ซีทรอน) | Biolab |
Zofran/Zofran Zydis (โซฟราน/โซฟราน ไซดีส) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Imidazole [2023,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Imidazole_antifungals [2023,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Nitroimidazole_antibiotics [2023,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nafimidone [2023,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Netropsin [2023,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ozagrel [2023,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ondansetron [2023,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Imidafenacin [2023,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pilocarpine [2023,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ledipasvir [2023,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Antifungal#Imidazole.2C_triazole.2C_and_thiazole_antifungals [2023,April15]