อิมาทินิบ หรือ อิมมาตินิบ (Imatinib)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอิมมาตินิบ หรือ อิมาทิมิบ (Imatinib) หรือมีชื่อยาการค้าในประเทศไทยว่า “กลีเวค (Gleevec)” เป็นยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน (Oral chemotherapy) ซึ่งกลไกของยาอิมมาตินิบสามารถออกฤทธิ์รักษาตรงกับกลไกของการเกิดโรคที่เรียกว่า การรักษาแบบพุ่งเป้า/ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy)

ยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ มีข้อบ่งใช้ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล (Chronic Myelogenous Leukemia: CML)ระยะที่โรคอยู่ในภาวะคงที่ (Chronic stable phase) โดยต้องได้รับการตรวจไขกระดูกยีนยืนยันว่ามีโครโมโซมฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia chromosome, โครโมโซมผิดปกติชนิดหนึ่งที่จะช่วยชี้วัดว่าโรค CML ตอบสนองต่อยานี้) ให้ผลบวกหรือมีจีน/ยีน Bcr-abl fusion gene (จีน/ยีนผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับ Philadelphia chromosome ที่จะช่วยชี้วัดว่าโรค CML ตอบสนองต่อยานี้) ให้ผลบวก

อีกหนึ่งข้อบ่งใช้คือ รักษามะเร็ง/เนื้องอกของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหารที่เรียกว่า เนื้องอกจิสต์ (Gastrointestinal Stromal Tumors ย่อว่า GISTs) ระยะลุกลามหรือระยะที่มีการกระจายของโรคที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ อีกทั้งต้องได้รับการตรวจก้อนเนื้อมะเร็งนี้ยืนยันว่ามียีน/จีนที่มีชื่อว่า คิท (ซีดี 117) (Kit gene หรือ CD117/Cluster of differentiation 117, จีนผิด ปกติที่เป็นตัวชี้วัดว่าโรคจีสต์จะตอบสนองต่อยานี้) ให้ผลบวก

นอกจากนั้น อาจนำมาใช้ในการรักษาเสริม (Adjuvant therapy) ในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดมะเร็ง/เนื้องอกจิสต์ออกไปแล้วแต่ไม่สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งนี้ออกได้ทั้งหมด กล่าวคือยังมีก้อนมะเร็งหลงเหลืออยู่ มีข้อควรระมัดระวังการใช้ยานี้เป็นพิเศษกับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ เนื่องจากยานี้สามารถทำให้เกิดการคั่งของสารน้ำ(Fluid/ของเหลว)จนนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ อีกทั้งควรตรวจสอบรายการยาต่างๆที่กำลังใช้อยู่ก่อนการเริ่มใช้ยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ เพราะยาอิมมาตินิบอาจมีอันตรกิริยา/ปฏิกิริยา ระหว่างยากับยาอื่นจำนวนมาก

ยาอิมมาตินิบ/ อิมาทิมิบ เป็นยาเคมีบำบัดที่มีข้อบ่งใช้และขนาดยาที่จำเพาะต่อบุคคล, ต่อสภาวะโรค, การทำงานของตับและของไต, อีกทั้งยังสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆได้หลายชนิด, การใช้ยานี้จึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ก็ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในการใช้ยานี้และควรติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดการรักษา รวมถึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาอื่นๆร่วมกับยาอิมมาตินิบ

ยาอิมมาตินิบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อิมมาตินิบ

ข้อบ่งใช้/สรรพคุณของยาอิมมาตินิบ/ อิมาทิมิบ ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ

  • ใช้สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล (Chronic Myelogenous Leukemia : CML)ระยะที่โรคอยู่ในภาวะคงที่ (Chronic stable phase) โดยต้องได้รับการตรวจยีนยืนยันว่า มีโครโมโซมฟิลาเดลเฟียให้ผลบวกหรือมี bcr-abl fusion gene ให้ผลบวก
  • รักษาโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหารที่เรียกว่า “เนื้องอกจิสต์” (Gastrointestinal Stromal Tumors; GISTs) ระยะลุกลามหรือมีการกระจายของโรคที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ อีกทั้งต้องได้รับการตรวจยืนยันว่ามียีน/จีนที่มีชื่อว่า คิท (ซีดี 117) [Kit (CD117)] ให้ผลบวก

ยาอิมมาตินิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ มีกลไกการออกฤทธิ์ดังนี้

ก. กลไกการออกฤทธิ์ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอมแอล: ยาอิมมาตินิบเป็นยาตัวแรกในกลุ่มยายับยั้งไทโรซีนไคเนส (Tyrosine kinase เป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โปร ตีนเพื่อการเจริญเติบโตของเซลล์) ชื่อภาษาอังกฤษคือยา Tyrosine kinase inhibitors (TKIs) ที่ได้รับการพัฒนานำมาใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล (CML) ซึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่จะมีการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาวที่มีชื่อว่ามัยอีลอยด์เซลล์ (Myeloid cell) เพิ่ม ขึ้นอย่างผิดปกติในไขกระดูกจนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในเลือด ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดแรกที่พบความเชื่อมโยงกับความผิดปกติทางพันธุกรรมกล่าวคือ เกิดการสลับที่ของชิ้นส่วนของโครโมโซม (เรียกการสลับชิ้นส่วนนี้ว่า bcr-abl fusion) เกิดขึ้นโดยยีน/จีนของโครโมโซมที่ 22 (ถูกเรียก ว่า bcr) ย้ายไปเชื่อมต่อกับยีนของโครโมโซมที่ 9 (ถูกเรียกว่า abl) จึงเรียกโครโมโซมที่ผิด ปกตินี้ใหม่ว่า โครโมโซมฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia chromosome) ยีนที่ผิดปกติบนโครโม โซมนี้จะทำการสร้างโปรตีนที่มีชื่อว่า ไทโรซีนไคเนส (Tyrosine kinase) ซึ่งจะทำงานโดยร่าง กายควบคุมไม่ได้และกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์จนเกิดเป็นมะเร็ง โดยช่วงแรกจะเป็นระยะที่โรคเกิดคงที่ (Chronic stable phase) ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ แต่ตรวจพบความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวจากการตรวจความสมบูรณ์ของเลือด(ซีบีซี/ CBC) ต่อมาโรคจะดำเนินสู่ระยะเร่งให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย (Accelerated phase) และระยะสุดท้ายที่เป็นระยะรุนแรง เรียกว่าระยะบลาส (Blast phase) โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ ซึ่งยาอิมมาตินิบเป็นยารักษามะเร็งที่ออกฤทธิ์ตรงกับกลไกการเกิดโรค/ยารักษาตรงเป้า(Targeted therapy) โดยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนสที่เซลล์มะเร็งใช้เพื่อการเจริญแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง จึงทำให้โรค มะเร็งฯสงบได้ อย่างไรก็ตามอาจมีการดื้อยานี้เกิดขึ้นได้จากการกลายพันธุ์ของยีน bcr-abl

ข. กลไกการออกฤทธิ์ในมะเร็ง/เนื้องอกของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหารที่เรียกว่า เนื้องอกจิสต์ (Gastrointerstinal stromal tumors: GISTs): มะเร็ง/เนื้องอกชนิดนี้มีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของยีนที่มีชื่อว่า Kit หรือยีน PDGFRA (Platelet derived growth factor receptor) ซึ่งมีผลต่อการทำงานของโปรตีนตัวรับ/ หน่วยรับความรู้สึก (Protein receptor) ที่ผิวของเซลล์ชื่อ CD117 หรือ c-kit receptor เพราะโปรตีนตัวรับที่กล่าวมีหน้าที่เป็นตัวรับของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส เมื่อถูกกระตุ้นจะมีการแบ่งตัวของเซลล์จนเกิดเป็นมะเร็งขึ้นโดยร่างกายยับยั้งไม่ได้ ทั้งนี้การรักษา GISTs โดยวิธีการผ่าตัดเป็นการรักษามาตรฐาน แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ผ่าตัดไม่ได้หรือโรคมีการแพร่กระจาย การรักษาด้วยยาอิมมาตินิบจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยผู้ป่วยที่จะตอบสนองต่อยาอิมมาตินิบได้ดีนั้นต้องมียีน kit (CD117) ซึ่งยาอิมมาตินิบเป็นยารักษามะเร็งที่ออกฤทธิ์ตรงกับกลไกการเกิดโรค (Targeted therapy) โดยการยับยั้งตัวรับที่มีชื่อว่า PDGFRA และเมื่อใช้ยานี้ไประยะหนึ่ง โรคมะเร็งชนิดนี้ก็อาจเกิดการดื้อยานี้ได้เช่นเดียวกับในการรักษามะเร็ง CML ด้วยยานี้

ยาอิมมาตินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ :

  • ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet) สำหรับรับประทาน ขนาด 100 และ 400 มิลลิกรัม

ยาอิมาตินิบมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาอิมมาตินิบ/ อิมาทิมิบ เป็นยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ มีเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบได้จากร้านยาทั่วไป ขนาดยาสำหรับเด็กและผู้ ใหญ่จะต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น โดยพิจารณาจากข้อบ่งใช้ของยาต่อโรค ระยะการดำเนินโรค ทั้งนี้การปรับขนาดยาจะมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เช่น น้ำหนักตัว อายุ ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(ซีบีซี /CBC) ค่าการทำงานของตับ ค่าการทำงานของไต

ดังนั้น หากท่านกำลังใช้ยานี้อยู่ควรรับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง ไม่เพิ่ม ลด หรือปรับขนาดยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด หากท่านมีอาการ/ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ที่รุน แรงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเกิดขึ้นในช่วงระหว่างกำลังได้รับยานี้อยู่ ท่านควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนกำหนดนัด และแจ้งยาที่ท่านกำลังได้รับอยู่ให้แพทย์ทราบ การซื้อยาเองหรือบริหารยาชนิดอื่นๆด้วยตนเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาอันเนื่องมาจากปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction)

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมีภาวะการทำงานของตับหรือไตบกพร่อง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ มีผลพิษต่อทารกในครรภ์ อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตรแนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยานี้ถูกขับออกทางน้ำนมอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตรได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบให้ตรงเวลาทุกวัน โดยอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยาจึงสามารถรับประทานยาอิมมาตินิบได้ทั้งขณะท้องว่าง ก่อนอาหาร หรือหลังอาหาร โดยมักแนะนำให้รับประทานหลังอาหารเพื่อลดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และดื่มน้ำเปล่าตามมากๆ (หลีกเลี่ยงการรับประทานยาคู่กับน้ำผลไม้เนื่องจากมีน้ำผลไม้จำพวกส้มเปลือกแข็ง เช่น น้ำทับทิม น้ำส้มโอ น้ำส้มเช้ง น้ำเกร๊ปฟรุท/Grape fruit juice เพราะน้ำผลไม้ที่กล่าวมาสามารถเพิ่มระดับยาอิมมาตินิบในเลือดให้สูงขึ้นได้)

โดยปกติแล้วยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ แพทย์อาจกำหนดวิธีการรับประทานวันละ 1 ครั้งหรือ 2 ครั้ง ขึ้นกับข้อบ่งใช้ของยาและขนาดยาต่อวัน

กรณีลืมรับประทานยาสำหรับวิธีการรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง: ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัด ไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 8.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 15.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันที หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 22.00 น. ของวันนั้น ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม

กรณีลืมรับประทานยาสำหรับวิธีการรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง: ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อ) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 2 ครั้งเวลา 8.00 น. และ 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 10.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงห่างจากเวลารับประทานยาปกติถึงมื้อถัดไป) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 16 น. ให้รอรับ ประทานยามื้อถัดไปคือ เวลา 20.00 น. ในขนาดยาปกติโดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม

*การรับประทานยานี้เกินขนาดโดยอุบัติเหตุ ยังมีรายงานไม่มากนักถึงผลข้างเคียง แต่พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาอิมมาตินิบเกินขนาดอาจทำให้เกิดค่าการทำงานของไตลดลง, เอนไซม์การทำงานของตับเพิ่มสูงขึ้น, เกิดกล้ามเนื้อเกร็ง/ตะคริว, พบว่าอาการต่างๆหายไปเมื่อหยุดยาอิมมาตินิบ และเริ่มใช้ยาในขนาดยาปกติเมื่ออาการต่างๆหายไป อย่างไรก็ตามไม่มียาต้านพิษที่จำเพาะเจาะจงสำหรับยาอิมมาตินิบ การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการทางคลินิกของผู้ป่วยหลังได้รับยานี้เกินขนาด

ยาอิมมาตินิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ของยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ เช่น

ก. ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย: เช่น การคั่งของสารน้ำในร่างกายจนเกิดการบวมน้ำโดยอาจบวมน้ำที่ใบหน้า ขา หรือเท้า ท้องมาน มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจและน้ำท่วมปอด(ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด) อ่อนเพลีย มีไข้ ปวดหัว เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า วิตกกังวล หนาวสั่น ผื่นผิวหนัง คัน ผมร่วง โพแทสเซียมในเลือดต่ำ คลื่น ไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวเพิ่ม อาหารไม่ย่อย เลือดออกง่าย เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ เลือดจาง/โรคซีด เอนไซม์การทำงานของตับเพิ่มขึ้น พิษต่อตับ ตะคริว ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง ปวดกระดูก น้ำตาไหล เจ็บคอ ไอ น้ำมูกไหล หายใจลำบาก ปอดบวม เหงื่อออกกลางคืน เหงื่อออกมากผิดปกติ

ข. ผลข้างเคียงอื่นที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงตายได้: เช่น อาการแพ้ยาอย่างรุนแรงเฉียบพลันที่เรียกว่า แอแนฟิแล็กซิส/อะนาไฟแลกทิคช็อก(Anaphylactic shock หรือ Anaphylaxis), กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Steven's Johnson Syndrome: SJS) หรือ เทนส์ (Toxic Epider mal Necrolysis: TEN), หัวใจหยุดเต้น, ภาวะหัวใจล้มเหลว, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ความดันในกะโหลกศีรษะสูง, ชัก, แผลในกระเพาะอาหาร, ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ, กระเพาะอาหารทะลุ/ ลำไส้ทะลุ, ตับอักเสบ, ตับวาย, เลือดออกในปอด, เลือดออกในก้อนเนื้องอกจิสต์, เลือดออกในลูกตา, ประสาทตาอักเสบ, กล้ามเนื้อลายสลาย

*อนึ่ง: หากท่านกำลังใช้ยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบและเกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯดังต่อไปนี้เช่น มีการคั่งของสารน้ำและรู้สึกบวมน้ำบริเวณใบหน้า, รู้สึกแน่นหน้าอก, หายใจลำบาก, อาเจียนอย่างหนัก, ปวดท้องอย่างรุนแรง, ท้องเสียหรือถ่ายท้องอย่างมากจนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง, และมีภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ (อาการที่สังเกตได้เช่น เหนื่อยง่าย สับสน อ่อนเพลีย อ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว), มีปัญหาภาวะเลือดออก เช่น อุจจาระมีสีดำ ปัสสาวะมีสีแดง มีจ้ำแดงๆตามผิวหนัง, มีสัญญาณของภาวะติดเชื้อ เช่น มีไข้ (สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส/Celsius) หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ มีอาการปวดหรือร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปวด บวม แดง และเจ็บตามร่างกาย, หากท่านมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์หรือไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สะดวกทันที/ฉุกเฉินก่อนวันแพทย์นัด

มีข้อควรระวังการใช้ยาอิมมาตินิบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือ แพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • กรณีผู้ป่วยตับบกพร่อง: ควรติดตามการใช้ยานี้อย่างใกล้ชิดตามแพทย์พยาบาลแนะนำในผู้ป่วยตับบกพร่องรุนแรง ยานี้อาจมีพิษต่อตับ แพทย์จึงติดตามการทำงานของตับเป็นระยะ
  • กรณีผู้ป่วยไตบกพร่อง: การใช้ยานี้อาจทำให้เกิดภาวะบวมน้ำกับเนื้อเยื่อส่วนปลายเช่น เท้า ขา มือ แขน (Peripheral edema) จนอาจทำให้ผู้ป่วยน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่คาดหมาย ผู้ป่วยจึงควรต้องคอยสังเกต และเมื่อเกิดอาการดังกล่าวต้องรีบพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลก่อนนัด
  • ห้ามใช้ยานี้ในขณะตั้งครรภ์เนื่องจากยานี้มีผลพิษต่อทารกในครรภ์ การใช้ยานี้ขณะตั้ง ครรภ์จะได้รับคำแนะนำใช้ได้เฉพาะเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วพบว่ามีประโยชน์เหนือความเสี่ยงจากการใช้ยานี้เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตรเนื่องจากไม่มีข้อมูลการขับออกของยาทางน้ำนมในมนุษย์
  • กรณีผู้ป่วยเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ไม่มีข้อมูลประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ
  • กรณีผู้ป่วยสูงอายุ ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการบวมน้ำและการคั่งของสารน้ำในร่าง กายขั้นรุนแรงจนเกิดภาวะหัวใจวายได้
  • ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีอาการหรือมีประวัติโรคหัวใจหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจวาย เนื่องจากยามีผลทำให้หัวใจทำงานผิดปกติรวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว/หัวใจวายขั้นรุนแรง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาอิมมาตินิบ) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาอิมมาตินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ คู่กับยาดังต่อไปนี้ เช่นยา แอสเทมมีโซล(Astemizole), บีพริดิล (Bepridil), ซิสซาพาย (Cisapide: ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้), โคลซาปีน (Clozapine: ยานอนหลับ), Ergot derivetives (ยาที่มีส่วนผสมของ Ergot ประกอบด้วย เออโกตามีน/Erogatamine: ยารักษาไมเกรน, เออร์โกโนวีน /Ergonovine: ยาบีบมดลูก, เมททิวเออร์โกโนวีน/Methylergonovine: ยาบีบมดลูก), ฟรีเคนไนด์ (Flecainide: ยารักษาผิดปกติของการเต้นของหัวใจและภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ), พิโมซายด์ (Pimozide: ยาต้านโรคจิต), ไทโอลิดาซีน (Thioridazine: ยาจิตเวช), เทอร์เฟนาดีน (Terfenadine: ยาแก้แพ้)
  • ยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ สามารถเพิ่มระดับยาในเลือดของยาดังต่อไปนี้ แนะนำหลีกเลี่ยงหรือ ระมัดระวังการใช้ยาอิมมาตินิบร่วมกับยาดังต่อไปนี้ เช่นยา พาราเซตามอล (Paracetamol: ยาลดไข้, ยาแก้ปวด), อัลปราโซแลม (Alprazolam: ยานอนหลับ), อะมิโอดาโรน (Amiodarone: ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ), ยาวาร์ฟาริน (Warfarin: ยาต้านการแข็งตัวของเลือด), ยาต้านเอชไอวี กลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์ (Antiretrovirus, protease inhibitor เช่น อะทาซานาเวียร์/ Atazanavir, ดารุนาเวียร์/Darunavir, ฟอสแอมพรีนาเวียร์/Fosamprenavir, อินดินาเวียร์/ Indinavir, ซาควินาเวียร์/Saquinavir, ทิพล่านาเวียร์/Tipranavir), ยาอะริพิพราโซล (Aripipra zole: ยาต้านจิตเภท, ยาต้านโรคอารมณ์สองขั้ว), อะโทวาสติน (Atorvastatin: ยาลดไขมัน), เซาเมทารอล (Salmeterol: ยาขยายหลอดลม), ซิเดนาฟิว (Sidenafil: ยารักษาภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง/Pulmonary Hypertension), ไมด้าโซแลม (Midazolam: ยาสงบระงับประ สาท/ยาคลายเครียด/ยานอนหลับ), ไตรอะโซแลม (Triazolam: ยาสงบระงับประสาท/ยานอนหลับ)
  • ทุกครั้งที่มีการใช้ยาอิมมาตินิบ/คู่อิมาทิมิบ กับยาชนิดอื่นๆควรตรวจสอบปฏิกิริยาระหว่างยาอิมมาตินิบกับยาอื่นๆเสมอเพี่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หรือหากจำเป็นต้องใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกัน แพทย์จะพิจารณายาทางเลือกอื่นที่มีโอกาสในการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาลดลง หรือติดตามการใช้ยาใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษายาอิมมาตินิบอย่างไร?

แนะนำเก็บยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ:

  • เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
  • หลีกเลี่ยงนำยานี้สัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง, มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน
  • ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ หรือ ห้องครัว
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาอิมมาตินิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอิมมาตินิบ/อิมาทิมิบ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Gleevec (กลีเวค) film coated tablet 100, 400 mg Novartis

บรรณานุกรม

  1. Taketomo CK, Hodding, JH, Kraus DM, .Pediatric & Neonatal Dosage Handbook, 19th ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc.; 2012
  2. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  3. Product Information:Gleevec, Imatinib, Novartis, Thailand.
  4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
  5. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ.คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ(2). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.2553
  6. บริษัท โนวาร์ตีส(ประเทศไทย) จำกัด. ไขปัญหาข้องใจ มะเร็งของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร (จีสต์) Gastrointestinal Stromal Tumor (GIST)