อินเตอร์ลิวคิน (Interleukins)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 17 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ยาอินเตอร์ลิวคินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยาอินเตอร์ลิวคินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอินเตอร์ลิวคินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอินเตอร์ลิวคินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาอินเตอร์ลิวคินควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?หากลืมเข้ารับการ
- บริหารยาอินเตอร์ลิวคินควรทำอย่างไร?
- ยาอินเตอร์ลิวคินก่อให้เกิดอาการผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอินเตอร์ลิวคินอย่างไร?
- ยาอินเตอร์ลิวคินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอินเตอร์ลิวคินอย่างไร?
- ยาอินเตอร์ลิวคินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)
- โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มะเร็งไฝ
- มะเร็งไต (Kidney cancer)
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)
- กลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอย (Systemic Capillary Leak Syndrome)
บทนำ
ร่างกายของมนุษย์ประกอบไปด้วยอวัยวะและระบบอวัยวะต่างๆหลายส่วนที่ทำงานอย่างสัมพันธ์กัน ระบบหนึ่งซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อร่างกายคือ ระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่หลักในการปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมจากทั้งภายในและภายนอกร่างกายโดยการทำงาน ผ่านเซลล์และผ่านสารภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆ โดยมีกลุ่มของสารโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นตัวสื่อสารระหว่างเซลล์เรียกว่า “ไซโตไคน์ (Cytokines)” ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มสารโปรตีนอีกหลายชนิด เช่นสาร คีโมไคน์ (Chemokines), อินเตอร์เฟอรอน (Interferons), อินเตอร์ลิวคิน (Interleukins), ลิมโฟไคน์ (Lymphokines), เป็นต้น
อินเตอร์ลิวคิน (Interleukins) เป็นกลุ่มสารโปรตีนสื่อสารกลุ่มหนึ่งของสารไซโตไคน์ โดยส่วนมากเกิดจากการหลั่งของเฮปเปอร์ทีเซลล์ (Helper T cell) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย
สารอินเตอร์ลิวคินมีหน้าที่หลักในการควบคุมการตอบสนองของระบภูมิคุ้มกันของร่างกาย, กระบวนการอักเสบ, ควบคุมการสร้างและการเติบโต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ, ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการค้นพบสารกลุ่มอินเตอร์ลิวคินของมนุษย์แล้วกว่า 36 ชนิดย่อย
การศึกษาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยเฉพาะโปรตีนสื่อสารอย่างอินเตอร์ลิวคินทำให้นำมาสู่การพัฒนาโปรตีนอินเตอร์ลิวคินมาใช้เป็นยารักษาโรค โดยปัจจุบัน มีการนำสารอินเตอร์ลิวคินมาใช้เป็นยาแล้ว 2 ชนิด ได้แก่
- ยาอินเตอร์ลิวคิน 2 (Interleukin 2) ที่ประกอบไปด้วยยาแอลเดสลูคิน (Aldesleukin) ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งไต (Renal Cell Cancer) และโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา และ ยาเดนิลิวคิน (Denileukin)ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และ
- ยาอินเตอร์ลิวคิน 11 (Interleukin 11) ที่นำมาใช้ในการป้องกันภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว
นอกจากนี้ ยังมียาอินเตอร์ลิวคินอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาและการทดลองทางคลินิก อาทิเช่น ยาทูโคทูซูแมบเซลโมลิวคิน (Tucotuzumab celmoleukin) ซึ่งเป็นการนำยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal antibody) มาใช้ร่วมกับอินเตอร์ลิวคิน นำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น
ยาอินเตอร์ลิวคินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอินเตอร์ลิวคินทำหน้าที่เป็นโปรตีนสื่อสารระหว่างเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำหน้าที่ในการกระตุ้น การเจริญเติบโต การเปลี่ยน และการตอบสนองของเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมไปถึงการเพิ่มจำนวนของสารภูมิต้านทานชนิดอิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) และการตอบสนองของร่างกายต่ออาการแพ้ต่างๆ
อินเตอร์ลิวคินที่นำมาใช้เป็นยาในปัจจุบันประกอบไปด้วยอินเตอร์ลิวคิน 2 ซึ่งมีบทบาทในการกระตุ้นการเติบโตและการเปลี่ยนรูปของทีเซลล์ (T cell) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีส่วนในการกระตุ้นการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันร่างกายชนิดอื่นๆ เช่น เนเชอรัลคิลเลอร์เซลล์ (Natural killer cells; NK cells), เซล์แมโครฟาจ (Macrophage), เป็นต้น จึงมีบทบาทในการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ส่วนอินเตอร์ลิวคิน 11 จะทำงานร่วมกับเนื้อเยื่อไขกระดูก (Bone Marrow Stroma) ซึ่งทำหน้าที่ในกระบวนการสร้างเม็ดเลือด(Hematopoiesis)
ยาอินเตอร์ลิวคินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอินเตอร์ลิวคินมีกลไกการออกฤทธิ์ คือตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ของสาร/ยาอินเตอร์ลิวคิน (Interleukin receptors) ซึ่งเป็นตัวรับแบบจำเพาะเจาะจงที่อยู่บนผิวของเซลล์ที่อินเตอร์ลิวคินชนิดนั้นๆทำงานร่วมอยู่ หรือเป็นตัวโปรตีนสื่อสารของเซลล์นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ตัวรับอินเตอร์ลิวคิน 2 อยู่บนผิวของเซลล์เม็ดเลือดขาว เช่น เซลล์ลิมโฟไซต์ เป็นต้น จึงก่อให้เกิดสรรพคุณในการควบคุมรักษาโรคต่างๆผ่านทางระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ยาอินเตอร์ลิวคินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอินเตอร์ลิวคินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
1. ยาแอลเดสลูคิน (Aldesleukin) มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาผงแห้ง( Lyophilized,ทำให้แห้งด้วยการแช่แข็ง) ขนาดความแรง 22 ล้านยูนิตต่อ 1 บรรจุภัณฑ์ (Vial)
2. ยาเดนิลิวคิน (Denileukin) มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาน้ำ ปราศจากเชื้อสำหรับฉีด ขนาดความแรง 150 มิลลิกรัมต่อมมิลลิลิตร (ขนาดบรรจุภัณฑ์ 2 มิลลิลิตร)
3. ยาโอเพรลวิคิน (Oprelvekin) มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาผงแห้งสำหรับฉีด (Sterile powder) ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัม ต่อ 1 หน่วยบรรจุภัณฑ์
ยาอินเตอร์ลิวคินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอินเตอร์ลิวคิน ต้องมีการสั่งใช้จากแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น โดยมีการคำนวณขนาดยาจากน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ร่วมกับการประเมินทางการแพทย์อื่นๆ เช่น ชนิดของโรค ข้อบ่งใช้ยานี้ สุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณการใช้ยานี้แต่ละชนิดและขนาดยานั้นๆให้แก่ผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
เมื่อมีการสั่งยาอินเตอร์ลิวคินควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาอินเตอร์ลิวคินควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร แลแพ้สารเคมีทุกชนิด
- ประวัติการใช้ยาต่างๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง รวมไปถึงวิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรชนิดต่างๆ
- ประวัติการเกิดโรค ทั้งโรคที่เป็นอยู่ โรคเรื้อรัง และประวัติโรคในอดีต โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคไต โรคระบบทางเดินอาหาร กระเพาะอาหารหรือลำไสเป็นแผล/ทะลุ เป็นต้น
- แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร
หากลืมเข้ารับการบริหารยาอินเตอร์ลิวคินควรทำอย่างไร?
หากผู้ป่วยลืมเข้ารับการบริหารยาอินเตอร์ลิวคิน/ยาในกลุ่มอินเตอร์ลิวคิน ควรแจ้งให้แพทย์/สถานพยาบาลที่กำลังเข้ารับการรักษาอยู่ให้ทราบโดยเร็วที่สุด เพื่อนัดหมายในการรับยานี้
ยาอินเตอร์ลิวคินก่อให้เกิดอาการผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อินเตอร์ลิวคินที่นำมาใช้ในทางยา เป็นการให้ด้วยการฉีดเข้าร่างกาย จึงอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้บริเวณที่ฉีดยา เช่น อาการเจ็บ /ปวด บวม แดง ซึ่งอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีความรุนแรงและหายได้เองภายใน 2-3 วัน
อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากยาในกลุ่มนี้ เช่น ความดันโลหิตต่ำ ท้องเสีย เกิดอาการสับสน คลื่นไส้ อาเจียน หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก มีไข้ หนาวสั่น เหนื่อยล้า บวมบริเวณแขนและขา น้ำหนักตัวเพิ่ม ซึ่งหากเกิดขึ้นโดยมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบแจ้งให้แพทย์ที่ทำการรักษาทราบ/ปโรงพยาบาลโดยเร็ว
หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรงจากยากลุ่มนี้ เช่น เกิดความวิตกกงวลมาก การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ สับสนมาก ท้องเสียหรืออาเจียนอย่างรุนแรง (4-6 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง) มีไข้สูง มีผื่น ห้อเลือด อุจจาระมีสีดำ เหนียว/ หรือมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด มึนงง อ่อนเพลียอย่างมาก หรือการมองเห็นเปลี่ยนไป ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
อนึ่ง ยาแอลเดสลูคินและยาเดนิลิวคิน อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างหนึ่งที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรง เรียกว่า กลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอย (Capillary leak syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่ของเหลวภายในหลอดเลือดไหลออกสู่เนื้อเยื่อหรือช่องว่างต่างๆภายในร่างกาย(เช่น ช่องท้อง) ก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ทำให้การไหลเวียนโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆภายในร่างกายลดลง ผู้ป่วยจะมีการบวมตามจุดต่างๆของร่างกายร่วมด้วย ดังนั้น หากผู้ใช้ยานี้เกิดมีอาการ หน้ามืด มีปัสสาวะออกน้อยในช่วง 8-12 ชั่วโมง หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเจ็บหน้าอก ควรต้องรีบเข้าพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด/ทันที/ฉุกเฉิน
หากผู้ป่วยใช้ยากลุ่มนี้ แล้วเกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันตามจุดต่างๆของร่างกาย มีริมฝีปาก เปลือกตา บวม หายใจไม่สะดวก/ ติดขั/หายใจลำบาก ให้รีบด่วนพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ยาอินเตอร์ลิวคินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอินเตอร์ลิวคิน เช่น
- ไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนขณะใช้ยานี้
- ไม่ควรใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตร หากเกิดการตั้งครรภ์ขณะใช้ยานี้ ควรต้องรีบแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล ทราบโดยทันที
- ผู้ใช้ยานี้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยไตวาย หรือผู้ที่มีประวัติโรคลมชักที่ไม่สามารถควบคุมได้
- ยาแอลเดสลูคิน: ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคเลือดออกในกระเพาะอาหาร/เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ที่ต้องได้รับการผ่าตัดหรือผู้ป่วยที่ลำไส้มีแผลและ/หรือมีแผลเป็นรูทะลุ
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาแอลเดสลูคิน อาจมีปฎิกิริยากับสารทึบรังสี/สารทึบแสง (Contrast Media) ที่มีสารไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ (สารที่ใช้ในกระบวนการตรวจ CT scan/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์) แม้ว่าจะหยุดยาอินเตอร์ลิวคินไปแล้ว หลายเดือน เช่น เกิดอาการไข้ อาเจียน คลื่นไส้ หนาวสั่น เกิดผื่นคัน ท้องเสีย เป็นต้น
- ยาเดนิลิวคิน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการสูญเสียการมองเห็น (Vision loss)
ยาอินเตอร์ลิวคินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอินเตอร์ลิวคินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ฤทธิ์ของยาแอลเดสลูคิน อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง จึงอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาจำพวก ยาแก้ปวด ยาช่วยผ่อนคลาย/ยาคลายเครียด(Tranquilizers) ยาแก้อาเจียน เป็นต้น และยาแอลเดสลูคินยังอาจทำให้พิษ/ผลข้างเคียงของยาบางชนิดเพิ่มขึ้น เช่น พิษต่อไตเมื่อใช้กับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) เป็นต้น
- ส่วนยาเดนิลิวคิน ยังไม่มีรายงานปฏิกิริยาระหว่างยาที่แน่ชัด และ
- ยาโอเพรลวิคิน พบว่ามีปฏิกริยากับยาอื่นๆน้อย
อย่างไรก็ดี ยาในกลุ่มอินเตอร์ลิวคิน ยังเป็นยาใหม่ ปฏิกิริยาระหว่างยาอาจยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัด ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มนี้ ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทราบถึงประวัติการใช้ยากลุ่มนี้ และยาอื่นๆทุกชนิดที่ใช้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาอินเตอร์ลิวคินอย่างไร?
ทั้งยาแอลเดสลูคินและยาโอเพรลวิคินมีวิธีการเก็บรักษาที่เหมือนกันคือ เก็บในตู้เย็น อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) และเก็บให้พ้นจากแสง/แสงแดด ส่วนยาเดนิลิวคินควรเก็บรักษาโดยการแช่แข็งอุณหภูมิต่ำกว่า -10 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ดี แต่ละสถานพยาบาลอาจมีนโยบายการเก็บรักษายาเฉพาะ จึงควรปรึกษาแผนกเภสัชกรรมของโรงพยาบาลถึงวิธีการเก็บยากลุ่มนี้ที่เหมาะสม
ยาอินเตอร์ลิวคินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอินเตอร์ลิวคิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
บรรณานุกรม
- Medication Information. PROLEUKIN® (aldesleukin). US FDA. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/103293s5130lbl.pdf [2017,Feb25]
- Aldesleukin – Drug Information. Chemocare.com http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/aldesleukin.aspx [2017,Feb25]
- Ontak Highlights of prescribing information. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/103767s5094lbl.pdf [2017,Feb25]
- NEUMEGA. Drugs.com https://www.drugs.com/cdi/neumega.html [2017,Feb25]
- NEUMEGA Drug Information http://www.rxlist.com/neumega-drug.html [2017,Feb25]
- Interleukin 2. Chemecare.com http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/interleukin-2.aspx [2017,Feb25]