อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแต่ละขนานที่ใช้อยู่ในการแพทย์แผนปัจจุบัน นอกจากมีคุณสมบัติในการช่วยบรรเทาหรือรักษาโรคได้แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลไม่พึงประสงค์)จากการใช้ยาต่างๆ(Adverse Drug Reaction ย่อว่า ADR)นั้นๆได้ ซึ่ง

  • อาการไม่พึงประสงค์นั้นๆอาจเกิดขึ้นโดยทันทีภายหลังการใช้ยาครั้งแรก หรือเกิดขึ้นเมื่อทานยาไปแล้วได้ระยะหนึ่ง อาการไม่พึงประสงค์บางชนิดอาจเป็นอาการฯที่สามารถคาดเดาได้จากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา(ทางการศึกษาทางเภสัชวิทยา) หรือจากกลไกการทำงานของยา โดยอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้พบได้บ่อย แต่อาการไม่รุนแรง ซึ่งแพทย์และ/หรือเภสัชกรจะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบทุกครั้งเมื่อได้รับยาต่างๆ อาการไม่พึงประสงค์จากยาในลักษณะนี้เรียกว่า “ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง(Side Effects)จากยา”
  • ส่วนอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่างๆอีกประเภทหนึ่ง คืออาการฯที่ ไม่อาจคาดเดาได้จากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหรือจากกลไกการทำงานของยา โดยอาจมีความสัมพันธ์กับกลไกการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน(ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกาย หรืออาการไม่พึงประสงค์นั้นๆอาจเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่เรียกอาการไม่พึงประสงค์ลักษณะนี้ว่า “อาการแพ้ยา(Drug allergy)” ซึ่งอาการฯจากการแพ้ยานี้ เกิดขึ้นได้น้อย แต่มักมีความรุนแรงมาก

องค์การอนามัยโลก เมื่อปี ค.ศ. 1972 ได้ให้คำจำกัดความของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/อาการไม่พึงประสงค์จากยา (Adverse Drug Reaction) ไว้ว่า “เป็นการปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายต่อยาที่มิได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น และปฏิกิริยาการตอบสนองนั้นสามารถเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ใช้ยานั้นๆในขนาดปกติเพื่อ การป้องกัน การวินิจฉัยโรค การรักษาโรค หรือเพื่อเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย”

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาหรือที่เรียกสั้นๆว่า ADR นั้น มีการศึกษาควบคู่กับประสิทธิภาพทางการรักษาของยา และได้มีการเก็บข้อมูลของยานั้นๆที่รวมถึง ADR ต่อเนื่องตั้งแต่ยาออกจำหน่ายจนถึงปัจจุบัน

ในประเทศไทย แพทย์และเภสัชกรจะร่วมกันประเมินอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาของผู้ป่วยร่วมกัน รวมถึงการรายงานไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อประเมินและติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่เกิดขึ้นของยาแต่ละขนานทั่วประเทศ เพื่อการใช้ยานั้นๆได้อย่างปลอดภัยต่อผู้ป่วย

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแบ่งได้เป็นกี่ประเภท? อะไรบ้าง?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา

อาการไม่พึงประสงค์/ผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา แบ่งได้เป็น 2 ประเภท/ชนิด คือ

ก. ปฏิกิริยาชนิดเอ (Type A reactions หรือ Intrinsic reaction หรือ Intrinsic drug reaction): เป็นอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 85-90(85-90%)ของอาการไม่พึงประสงค์จากยา ซึ่งแพทย์/เภสัชกรสามารถคาดเดาได้จากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยานั้นๆหรือจากกลไกการทำงานของยานั้นๆ ปฏิกิริยาชนิดนี้เกิดขึ้นได้กับคนไข้ทั่วไปอย่างไม่จำเพาะเจาะจง ซึ่งเรียก “ปฏิกิริยาชนิดเอ”นี้ว่า “ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง (Side Effects)”จากยา ทั้งนี้ ความรุนแรงของอาการผู้ป่วยที่เกิดจากปฏิกิริยาชนิดเอนี้ อาจมีความสัมพันธ์กับขนาด/ปริมาณยาที่ผู้ป่วยได้รับ ตัวอย่างของปฏิกิริยาชนิดเอ เช่น การรับประทานยาพาราเซตามอล(Paracetamol)เกินขนาดจะก่อให้เกิดการทำงานของตับล้มเหลว, ผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดมีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกง่ายผิดปกติ(Bleeding) เช่น อุจจาระเป็นเลือด มากกว่าคนทั่วไป, ผู้ป่วยที่รับประทานยาแก้แพ้(Antihistamines) อาจมีอาการ ปากแห้ง ผิวแห้ง” เป็นต้น

อนึ่ง การเกิดปฏิกิริยาชนิดเอ อาจเกิดจากผลข้างเคียงจากยาทางอ้อมคือไม่ได้เกิดจากตัวยาโดยตรง เช่น การรับประทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ)อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้ เนื่องจากยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียอาจเข้าไปทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์ที่อยู่ตามทางเดินอาหาร(Normal flora)ได้ เป็นต้น

ข. ปฏิกิริยาชนิด บี (Type B reactions): เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเป็นส่วนน้อยของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา คือ ประมาณร้อยละ 10-15(10-15%) อาการแสดงจากปฏิกิริยาชนิดบีนั้น ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด ไม่อาจคาดเดาได้จากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา หรือจากกลไกการทำงานของยานั้นๆ และยังแบ่งปฏิกิริยาชนิดนี้ออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย คือ

1) ภาวะที่ผู้ป่วยไม่มีความทนต่อยาหรือมีความไวต่อยาสูงกว่าคนทั่วไป (Exaggerated sensitivity to known drug toxicities/intolerance) เช่นในผู้ป่วยที่เกิดอาการหูอื้อภายหลังการได้รับยาแอสไพริน (Aspirin) ไปเพียงครั้งเดียว (ยาแอสไพรินเป็นยาใช้บรรเทาอาการปวด อาการอักเสบ หรือใช้เป็นยาต้านเกล็ดเลือด)

2) ปฏิกิริยาจำเพาะของยา (Idiosyncratic drug reactions): ยาบางชนิดมีคุณลักษณะจำเพาะบางประการที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ในเฉพาะผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยที่ร่างกายไม่มีเอนไซม์บางชนิดในการเมทาบอไลต์(Metabolite/กระบวนการสันดาป)ยา จึงทำให้เกิดการสะสมของยาในร่างกายเกินปกติที่ควร เพราะยาไม่สามารถถูกขับออกนอกร่างกายได้ จึงก่อให้เกิดพิษ/ผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยา เช่นในกรณีการใช้ ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยบางราย เป็นต้น

3) ปฏิกิริยาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อยานั้นๆหรือมักเรียกว่าการแพ้ยา(Immunologic drug reactions หรือ Drug allergy)นั่นเอง โดยปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นคิดเป็นประมาณร้อยละ 6 ถึง 10(6-10%) ของอาการไม่พึงประสงค์จากยาทั้งหมด ซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การแพ้ยายังแบ่งออกได้เป็นอีก 4 ชนิดย่อย คือ

3.1 ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นแบบทันที (Immediate type hypersensitivity reaction): เกิดจากยาเข้ารวมกับสารโปรตีนในร่างกาย แล้วไปกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวให้เกิดการหลั่งสารภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านยานั้นๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ภายในเวลาไม่กี่นาทีภายหลังจากการได้รับยานั้นๆ จนถึงประมาณ 72 ชั่วโมงหลังจากได้รับยานั้นๆ

3.2 ปฏิกิริยาภูมิแพ้ไวเกินที่เป็นพิษแก่เซลล์ (Cytotoxic type hypersensitivity reaction): โดยสารภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นจากปฏิกิริยาในรูปแบบนี้ จะก่อให้เกิดการทำลายเซลล์ของอวัยวะต่างๆ เช่น ไต ตับ เส้นประสาท กล้ามเนื้อ ระบบโลหิต เช่น การเกิดกลุ่มอาการ กล้ามเนื้อลายสลาย เป็นต้น

3.3 ปฏิริยาจากอิมมูนคอมเพล็กซ์ (Immune complex type hypersensitivity reaction): อิมมูนคอมเพล็กซ์คือ ปฏิกิริยาที่เกิดจากการรวมกันของยาและของสารภูมิต้านทานเมื่อยานั้นๆอยู่ในกระแสโลหิตเป็นเวลานาน โดยอิมมูนคอมเพล็กซ์จะไปจับกับผนังเส้นเลือดและก่อให้เกิดการทำลายเส้นเลือด(Vasculitis)นั้นๆ ปฏิกิริยาในรูปแบบนี้จะใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ภายหลังการได้รับยาครั้งแรก

3.4 ปฏิกิริยาภูมิแพ้ไวเกินแบบช้า (Delayed type hypersensitivity reaction): เป็นปฏิกิริยาที่ส่วนมากเกิดกับยาที่ได้รับทางผิวหนัง เช่น การแพ้ยาโดยการทาที่บริเวณผิวหนัง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการเกิดปฏิกิริยานี้เนื่องจากร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นช้ากว่าการบริหารยา/การใช้ยาในรูปแบบอื่น เช่น แบบรับประทาน หรือแบบฉีด

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามีกลุ่มเสี่ยงหรือปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?

อาการไม่พึงประสงค์/ผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อข้างต้น โดยส่วนใหญ่ เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่สามารถคาดเดาได้(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) และไม่ได้เกิดในเฉพาะกลุ่มบุคคล แต่เกิดได้กับผู้ป่วยส่วนหญ่เกือบทุกคน

แต่อาการไม่พึงประสงค์บางชนิดมีความจำเพาะแก่กลุ่มบุคคลและไม่สามารถคาดเดาได้แน่ชัด ซึ่งส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมของผู้ป่วย ได้แก่

ก. ผู้ป่วยที่ร่างกายพร่องเอนไซม์บางชนิดที่มีความจำเป็นในการเมทาบอไลต์ยา: เช่น ผู้ป่วยที่ขาดเอนไซม์จีซิกพีดี(G6PD, Glucose-6-phosphate dehydrogenase) หรือโรค/ภาวะ G6PD deficiency(ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี) ซึ่ง เอนไซม์G6PDเป็นเอนไซม์สำคัญในกระบวนการเมทาบอลิซึมของยาบางชนิด ผู้ที่พร่องเอนไซม์ชนิดนี้ อาจไม่สามารถใช้ยาบางชนิดได้ เช่น ยาคลอโรควิน (Chloroquine), ยาไพรมาควิน (Primaquine) ซึ่งใช้รักษาโรคมาลาเรีย, ยาคลอแรมฟินิคอล (Chloroamphenicol) ยาไนโตรฟูแรนทอยน์ (Nitrofuranoin) ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

ข. ยาบางชนิดมีอุบัติการณ์การเกิดอาการแพ้ยาที่รุนแรง เช่น กลุ่มอาการ Steven-Johnson Syndrome (SJS) ซึ่งเซลล์ผิวหนังของผู้ป่วยจะตาย เกิดผื่นผิวหนังลอกไปทั้งตัว รวมถึงบริเวณริมฝีปากและลิ้น ซึ่งอาจพอคาดเดาได้บ้างจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin/ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) ยาแอลโลพูรินอล (Allopurinol/ยารักษาโรคเกาต์) เป็นต้น ผู้ป่วยที่จะเริ่มใช้ยาเหล่านี้จะมีความเสี่ยงในการเกิด SJS ได้ ซึ่งแพทย์และเภสัชกรจะให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยก่อนเริ่มใช้ยาเหล่านี้ ซึ่งกลุ่มอาการนี้พบเกิดได้อย่างเฉียบพลันจนถึงนานเป็นสัปดาห์ถึงเป็นเดือนหลังจากการใช้ยา โดยระยะเวลาที่เกิดจะขึ้นกับชนิดของยา เช่น ระยะเวลาเป็นวัน ในกรณีแพ้ยาปฏิชีวนะ หรือระยะเวลาเป็นสัปดาห์หรือเดือนกรณีแพ้ยากันชัก

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามีอาการอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา จะประกอบไปด้วยอาการ 2 กลุ่มหลักๆ คือ

ก. อาการจากผลข้างเคียงของยา: อาการเหล่านี้จะเป็นไปตามฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยาแต่ละชนิด ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป เช่น ท้องเสียจากการรับประทานยาฆ่าเชื้อ, ผิวหนังไวต่อแสงจากการรับประทานยาฆ่าเชื้อชนิด ดอกซิไซคลิน (Doxycycline), ปวดท้อง หลังรับประทานยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDs)บางชนิด, เป็นต้น

ข. อาการแพ้ยา: อาการแพ้ยาประกอบไปด้วยอาการหลายอย่าง ทั้งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น อาการคัน การเกิดผื่นขึ้นทั้งตัว เป็นลมพิษ หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบากเนื่องจากเกิดหลอดลมหดตัว/ตีบ ความดันโลหิตต่ำ เสียงแหบจากกล่องเสียง บวม โดยการแพ้ยานี้ อาจก่อให้เกิดระบบหายใจล้มเหลว หรือระบบหัวใจล้มเหลว ได้ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ภายหลังการรับยาไปไม่กี่นาทีถึง ประมาณ 72 ชั่วโมง

อนึ่ง อาการแพ้ยาชนิดอิมมูนคอมเพล็กซ์ดังที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้าแล้ว จะก่อให้เกิดอาการแสดงช้ากว่าในชนิดที่เกิดขึ้นทันที โดยจะใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน โดยจะพบว่าอวัยวะบางอย่างที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงจำนวนมากถูกทำลาย(เช่น ไต ตับ หัวใจ) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ เกิดภาวะ ไตอักเสบ ตับอักเสบ และเส้นประสาทอักเสบ เกิดผื่นลมพิษ และผื่นขึ้นตามตัว เป็นต้น

มีการแพ้ยาในอีกประเภทหนึ่งที่มีความรุนแรงมาก เรียกว่า Steven-Johnson Syndrome (SJS) ซึ่งจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้จากการที่เซลล์ผิวหนังทั่วตัวตาย ผู้ป่วยจะมี ไข้ เจ็บคอ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะเริ่มจากการมี แผลในบริเวณช่องปากและริมฝีปาก (อาจเกิดแผลที่บริเวณอวัยวะเพศและที่ก้นด้วยก็ได้) และเริ่มมีอาการทางผิวหนังคือเกิดผื่น/ผิวหนังลอกอย่างรุนแรง และหากมีอาการรุนแรงมากจะเรียกว่า Toxic epidermal necrolysis หรือ TEN

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

หากพบว่าเกิดอาการใดอาการหนึ่งขึ้นดังหัวข้อ”อาการ”ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มใช้ยาในช่วง 2 อาทิตย์แรก ควรหยุดใช้ยานั้นๆทันที และรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน เนื่องจากอาการอาจมีความรุนแรงขึ้นได้

แพทย์วินิจฉัยอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาอย่างไร?

การวินิจฉัยอาการไม่พึงประสงค์/ผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานั้น แพทย์จะพิจารณาจากอาการที่ผู้ป่วยเป็น (จากหัวข้อ “อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา มีอาการอะไรบ้าง?”) ร่วมกับประวัติการใช้ยาต่างๆของผู้ป่วย ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเองในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมารวมถึงยาที่เพิ่งเริ่มใช้ โรคประจำตัวของผู้ป่วย ประวัติการเกิดโรคภูมิแพ้ ซึ่งหากอาการไม่พึงประสงค์เหล่านั้นเป็นผลข้างเคียงจากยา แพทย์อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือปรับเปลี่ยนตัวยา แต่ถ้าอาการเป็นลักษณะการแพ้ยา แพทย์จะหยุด/เลิกการใช้ยานั้นๆ และเฝ้าระวังผู้ป่วยโดยดูจากอาการที่บ่งบอกว่าอาการแพ้ยาอาจมีความรุนแรงและนำไปสู่การทำงานของระบบหัวใจล้มแหลว และ/หรือระบบหายใจล้มเหลว เช่น ความรุนแรงของการเกิดผื่นลมพิษ มีการหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก การเกิดความดันโลหิตต่ำ การปวดบวมบริเวณข้อ การมีต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายบวมโตกว่าปกติ และผลการตรวจเพื่อทดสอบสมรรถนะการทำงานของปอด ผิดปกติ เป็นต้น

แพทย์อาจพิจารณาการตรวจทางห้องปฏิบัติการ(Laboratory Tests) ร่วมด้วย หากเป็นอาการแพ้แบบฉับพลัน/เฉียบพลันหรือแบบ Anaphylaxis เช่น การตรวจค่า Mast Cell Tryptase ในเลือด เพื่อยืนยันผลว่า อาการที่เกิดขึ้นเกิดจาก Mast Cell หรือไม่ (Mast Cell เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง หากถูกกระตุ้นและแตกออกจะทำให้เกิดการหลั่งสารฮีสตามีน/Histamines ซึ่งก่อให้เกิดอาการแพ้), การทดสอบผิวหนัง(Skin Tests)เพื่อหาตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้, รวมไปถึงการตรวจหาสารภูมิต้านทานชนิดอี (Immunoglobulin E) ที่มีความจำเพาะกับสารก่อภูมิแพ้ในเลือด (Allergen-specific IgE) เป็นต้น ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมเหล่านี้จะต่างกันในผู้ป่วยแต้ละราย โดยจะตรวจวิธีใดขึ้นกับ อาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

รักษาอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้อย่างไร?

เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าอากาที่เกิดขึ้นเป็นอาการไม่พึงประสงค์/ผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา โดย หากเป็นอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) การดูแลรักษา คือ แพทย์อาจปรับลดขนาดยา หรือปรับเปลี่ยนตัวยา

แต่หากเป็นอาการแพ้ยา การดูแลรักษา เช่น การหยุดใช้ยานั้น และ หลีกเลี่ยงการให้ยาที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกับยาที่ผู้ป่วยแพ้โดยทันที และให้การรักษาอาการการแพ้แบบเฉียบพลัน โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ยาต่างๆ เช่น ยาเสตียรอยด์ เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone), ยาแก้แพ้ (Antihistamine) เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), และยาเอฟีดรีน (Ephedrine) เพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำ และอาจร่วมกับการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อคงความดันโลหิตให้เป็นปกติ

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนอย่างไรบ้าง?

ยาต่างๆอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลไม่พึงประสงค์)ในหลายรูปแบบ ได้แก่

ก. ผลข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อนหรืออาการข้างเคียง ที่สามารถคาดเดาได้จากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยาหรือจากข้อมูลการใช้ยาที่ผ่านมา เช่น อาการปากแห้งจากการรับประทานยาในกลุ่มยาแก้แพ้ (Antihistamines), ความเสี่ยงในการเกิดอากาคล้ายโรคลูปัส (Lupus-like Syndrome) เมื่อรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาไฮดราลาซีน (Hydralazine) ซึ่งเป็นยาลดความดันโลหิต เป็นต้น

ข. ผลข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อนที่ไม่สามารถคาดเดาได้จากการแพ้ยา ซึ่งการตอบสนองต่อการแพ้ยาของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันออกไป บางคนมีอาการแพ้ยาเพียงเล็กน้อย เช่น อาจมีเพียงผื่นคัน แต่บางคนเป็นมากและมีความรุนแรงมาก อาจนำไปสู่การทำงานของหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เช่น อาการหายใจลำบาก หรือภาวะ Anaphylaxis หรือ Steven-Johnson Syndrome

การพยากรณ์โรคของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของอาการไม่พึงประสงค์/ผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ ถึงกว่าร้อยละ 85-90(85-80%) เป็นอาการข้างเคียงจากยาที่มีความรุนแรงไม่มาก มีเพียงประมาณร้อยละ 10-15(10-15%) เท่านั้นที่เป็นการแพ้ยา ที่มักมีความรุนแรงมาก ซึ่งมักเป็นอาการที่ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า

ป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้อย่างไร?

การตอบสนองของแต่ละบุคคลต่อตัวยาชนิดหนึ่งๆ(อาการไม่พึงประสงค์จากยา/ผลไม่พึงประสงค์จากยา)มีความแตกต่างกันไป บางคนมีความไวต่อยาสูงจะมีการตอบสนองต่อยามากผิดปกติ จนอาจได้รับผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงจากยามาก หรืออาจเกิดการแพ้ยา อาการข้างเคียงจากยาโดยทั่วไปเป็นสิ่งที่คาดเดาได้จากกลไกการทำงานของตัวยาหรือจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ซึ่งแพทย์และเภสัชกรจะให้คำแนะนำก่อนการเริ่มการใช้ยาต่างๆ เพื่อให้ลดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้ เช่น เมื่อเริ่มใช้ยาลดความดันโลหิตในระยะแรก ผู้ป่วยอาจจะมีอาการวิงเวียนศีรษะ มึนงง เนื่องจากยานี้ได้เข้าไปปรับระดับความดันโลหิตของร่างกาย การเปลี่ยนท่าทางอย่างช้าๆ เช่น โดยปกติตื่นนอนแล้วจะลุกออกจากเตียงทันที การนั่งบนเตียงซักพักก่อนยืน/ลุกออกจากเตียง ก็จะช่วยลดอาการวิงเวียนจากการเปลี่ยนท่าทางได้ เป็นต้น

ผู้ป่วยบางคนมีโรคหรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีเอนไซม์บางชนิดในการทำลายตัวยา/เมตาบอไลต์ยา ถึงแม้ได้รับตัวยาในขนาดปกติ ก็อาจก่อให้เกิดการสะสมของตัวยาในร่างกาย จนทำให้เกิดพิษของยาได้ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคขาดเอนเซม์จีซิกส์พีดี (G6PD) ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนการรับยาต่างๆทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสั่งยาที่ต้องใช้เอนไซม์ดังกล่าวในการเมทาบอไลต์ยา หรือยาบางชนิดมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงในกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่มีความแปรผันทางพันธุกรรม เช่น ยาคาร์บามาซิพีน (Carbamazipine) ซึ่งเป็นยากันชัก ผู้ป่วยที่มียีน/Gene ชนิด HLA-B* 1502(ยีนที่เกี่ยวข้องกับสารโปรตีนที่สัมพันธ์กับยานี้) อาจมีแน้วโน้มที่จะเกิดอาการแพ้ยานี้อย่างรุนแรงชนิด Steven-Johnson Syndrome (SJS) และ Toxic epidermal necrolysis (TEN) ได้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งพบมากในกลุ่มชาวเอเชียโดยเฉพาะชาวจีน แพทย์จึงอาจสั่งตรวจยีนส์ดังกล่าวก่อนการพิจารณาสั่งใช้ยานี้เพื่อป้องกันอาการอันไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง

อย่างไรก็ดี ยังมีอาการที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาอีกหลายอย่างที่ไม่อาจคาดเดาได้จากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยานั้นๆ หรือจากข้อมูลที่มีการศึกษาในปัจจุบัน ดังนั้น หากมีอาการแพ้ยาหรือมีอาการข้างเคียงที่มีความรุนแรง ควรรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

นอกจากนั้น ในการรับยาทุกครั้ง ควรตั้งใจฟังคำแนะนำจากเภสัชกร เนื่องจากยาแต่ละขนาน/ชนิด มีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไป และ

อีกประการที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากยา คือ การซื้อยาต่างๆใช้เองที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยานั้นๆก่อนเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Daphne E. Smith Marsh. Adverse Drug Reactions. MSD http://www.msdmanuals.com/en-sg/professional/clinical-pharmacology/adverse-drug-reactions/adverse-drug-reactions [2017,Oct21]
  2. Lawrence B Schwatz. Laboratory tests to support the clinical diagnosis of anaphylaxis. Uptodate. 2016
  3. MARC A. RIEDL, ADRIAN M. CASILLAS, and David Geffen. Adverse Drug Reactions: Types and Treatment Options. Am Fam Physician. 2003 Nov 1;68(9):1781-1791.
  4. Werner J Pichler. Drug allergy: Classification and clinical features. Uptodate. 2016.
  5. ADR Definition. Medicines Safety. WHO http://www.who.int/medicines/areas/quality_safety/safety_efficacy/trainingcourses/definitions.pdf [2017,Oct21]
  6. เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Events; ADEs) โรงพยาบาลสวนปรุง http://www.suanprung.go.th/medicine/pdf/med02.pdf [2017,Oct21]
  7. Adverse Drug Reaction. โรงพยาบาลสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. มิถุนายน 2553 http://203.157.186.111/ssh/download/Pharmacy/pharmacy_1/pc19.pdf [2017,Oct21]
  8. แนวทางปฏิบัติ เรื่อง การดูแลผู้ป่วยที่เกิดปฏิกิริยา Anaphylaxis ระหว่างการให้การระงับความรู้สึก. โรงพยาบาลศิริราช. พ.ศ. 2559. http://www.si.mahidol.ac.th/anesth/KM/AS-00-4-008-00%20%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B2%20Anaphylaxis%20%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%87%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B6%E0%B8%81.pdf [2017,Oct21]
Updated 2017,Oct21