ผมร่วง: อาการผมร่วง (Hair loss หรือ Alopecia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เส้นผม (Hair) ของมนุษย์ มีสี ขนาด ลักษณะแตกต่างไปตามเชื้อชาติ แต่ปริมาณโดยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน คือประมาณ 100,000 เส้น อาจมีความยาวตั้งแต่ 2-3 มม. (มิลลิเมตร) จนถึง 1.5 ม.(เมตร) วงจรชีวิตของเส้นผมแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยในระยะเวลาเดียวกันจะมีผมทั้ง 3 ระ ยะบนศีรษะ คือ

  • ระยะเติบโต (มีปริมาณมากที่สุด)
  • ระยะพัก
  • และระยะหลุดร่วง

โดยมีอิทธิพลของ เพศ อายุ ฮอร์โมน พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เป็นตัวควบคุมลักษณะและการเจริญเติบโตของผม ดังนั้นในสภาวะปกติ เราจึงมีเส้นผมหลุดร่วงทุกวัน แต่มีปริมาณที่ไม่มากผิดปกติ ไม่มีลักษณะร่วงเป็นหย่อม หรือไม่มีภาวะผิดปกติอื่นๆของร่างกายร่วมกับอาการผมร่วง เช่น มือสั่น ผอมลง (อาการของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น)

ผมร่วงที่มากผิดปกติ (Hair loss หรือ Alopecia) นอกจากจะส่งผลถึงบุคลิกภาพแล้ว ยังอาจเป็นอาการแสดงของโรคอื่นๆที่ซ่อนอยู่ ถ้ามีลักษณะร่วงเป็นหย่อม หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆร่วมด้วยดังกล่าวแล้ว

อนึ่ง ในบทความนี้ เมื่อพูดถึง “ผมร่วง” จะหมายถึง “อาการผมร่วงที่ผิดปกติ”

แพทย์วินิจฉัยว่ามีผมร่วงได้อย่างไร?

ผมร่วง

แพทย์วินิจฉัยว่ามีผมร่วงได้โดยอาศัย ประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกายซึ่งรวม ถึงการตรวจผมและหนังศีรษะ และอาจจำเป็นต้องใช้การสืบค้น/การตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย

ผู้ป่วยผมร่วง มักมาพบแพทย์ด้วยประวัติผมบางลงจนเห็นหนังศีรษะ รวบผมได้มัดเล็กลง มีผมหลุดร่วงหลังจากสระผม หรือผมร่วงติดหมอนหลังตื่นนอนเยอะกว่าเดิมมาก ผมร่วงเป็นหย่อม แพทย์ผู้ดูแลจะประเมินประวัติต่างๆเหล่านี้ และตรวจร่างกาย ทั้งนี้ เมื่อมีการหลุดร่วงเกิน 50-100 เส้นต่อวัน ในคนที่มีปริมาณผมปกติ ผมร่วงเป็นหย่อม หรือมีอาการผิดปกติของระบบอวัยวะอื่นๆของร่างกายร่วมด้วย ถือว่า “ผมร่วงผิดปกติ หรือ ผมร่วง หรือ มีอาการผมร่วง” นอกจากนี้แพทย์จะตรวจหนังศีรษะ เส้นผม และตรวจร่างกายทุกระบบ เพื่อหาโรคที่อาจจะพบร่วมกับอาการผมร่วง หรือโรคที่เป็นสาเหตุของผมร่วง

ในผู้ป่วยที่ต้องสืบค้นเพิ่มเติม เช่น ใช้กล้องขยายตรวจลักษณะของหนังศีรษะ เส้นผม ดึงเส้นผม เพื่อนำมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรืออาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อตรวจจากหนังศีรษะ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการของผู้ป่วย และความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ

ผมร่วงมีกี่ชนิด?

ชนิดของผมร่วงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผมร่วงแบบมีแผลเป็น และผมร่วงแบบไม่มีแผล เป็น

ก. ผมร่วงแบบมีแผลเป็น (Scarring alopecia) ได้แก่ ผมร่วงที่สาเหตุของการหลุดร่วงของเส้นผม เป็นผลจากมีการทำลายอย่างถาวรของรากผม ทำให้ไม่สามารถสร้างเส้นผมเส้นใหม่ได้ การวินิจฉัยด้วยตาเปล่า บางกรณีอาจแยกยากจากผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น ดังนั้นในรายที่สงสัย แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อจากหนังศีรษะ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน

ผลการรักษาผมร่วงสาเหตุนี้ด้วยการใช้ยามักให้ผลไม่ดี เนื่องจากอาจมีเส้นผมกลับมาไม่เหมือนเดิม เพราะรากผมไม่สามารถสร้างเส้นผมใหม่ได้ แต่ยังพอที่จะสามารถรักษาโดยวิธีปลูกถ่ายเส้นผมได้

ข. ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น (Non-scarring alopecia) สาเหตุของการหลุดร่วงของเส้นผมจากสาเหตุนี้ มีผลจากมีการทำลายรากผมอย่างไม่ถาวร เส้นผมสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ในปริมาณปกติ หรือใกล้เคียงเดิม หลังจากได้รับการรักษา ผมร่วงชนิดนี้พบได้บ่อยกว่าผมร่วงแบบมีแผลเป็น

อะไรเป็นสาเหตุของผมร่วง?

ผมร่วงแบบมีแผลเป็นและผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น เกิดได้จากหลายสาเหตุ

  • ผมร่วงแบบมีแผลเป็น มีสาเหตุดังนี้
    • จากปัจจัยแวดล้อมภายนอก เช่น แผลน้ำร้อนลวก เส้นผมถูกดึงรั้งเป็นเวลานานๆ ได้รับรัง สีเอกซ์ (เอกซเรย์) เกินขนาด
    • มีการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคเรื้อน วัณโรค ซิฟิลิสระยะที่ 3
    • การติดเชื้อราที่มีการอักเสบมากที่หนังศีรษะ
    • หนังศีรษะได้รับสารเคมีต่างๆ เช่น จากแชมพู ครีมนวด หรือน้ำมันใส่ผม
    • การติดเชื้อไวรัสซ้ำๆที่ตำแหน่งเดิมของหนังศีรษะ เช่น เริม งูสวัด
    • เนื้องอกและการอักเสบเรื้อรังของหนังศีรษะ
    • โรคผิวหนังที่เกิดแผลเป็น เช่น โรค DLE (Discoid Lupus Erythematosus) โรค Lichen planus
    • ภาวะจิตใจผิดปกติ เช่น การแกะเกาหนังศีรษะจนเกิดบาดแผลลึกและเป็นซ้ำๆ
  • ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น มีสาเหตุดังนี้
    • ผมร่วงตามสภาวะปกติ เช่น ในทารกหลังคลอด ในสตรีหลังคลอดบุตร
    • ผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) พบได้บ่อย ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ปัจ จัยที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น การมีประวัติครอบครัว ประวัติภูมิแพ้ เครียด โดยเชื่อว่าภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของตนเอง ไปทำให้เกิดการอักเสบที่เซลล์เม็ดสีบริเวณรากผม ส่งผลให้ผมร่วง ลักษณะผมที่ร่วงมักมีขอบเขตชัดเจน บางคนร่วงที่ศีรษะ ขนคิ้ว ขนตาร่วงร่วมด้วย โรคนี้อาจหายเองได้ และกลับเป็นซ้ำได้ หากมีผมร่วงเป็นบริเวณกว้าง หรือมีขนที่อื่นร่วงด้วย ต้องตรวจหาโรคอื่นๆที่พบร่วมกัน เช่น ภาวะผิดปกติของต่อมไร้ท่อต่างๆ
    • ผมร่วงจากพันธุกรรม หรือผมร่วงจากฮอร์โมนเพศชาย (Androgenetic alopecia) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด พบในทั้งเพศชายและหญิง ส่งผลต่อบุคลิกภาพและสภาวะจิตใจของผู้ป่วย ส่วนมากไม่ก่อให้เกิดแผลเป็นที่หนังศีรษะ ยกเว้นปล่อยให้เป็นนานๆโดยไม่ ได้รับรักษา สาเหตุของโรคนี้ยังไม่แน่ชัด แต่เป็นปัจจัยร่วมกันหลายปัจจัย เช่น เพศ อายุ พันธุกรรม ฮอร์โมน สิ่งแวดล้อม โดยฮอร์โมนเพศชายจะออกฤทธิ์ต่อเส้นผมจำเพาะบริเวณของศีรษะ ทำให้เส้นผมบางลง และหลุดร่วงง่าย

      ลักษณะที่ปรากฏในเพศชาย จะมีผมบางลงบริเวณหน้าผาก กลางศีรษะ และในรายที่ปล่อยทิ้งไว้นานๆ จะเหลือแต่เส้นผมเหนือหูและท้ายทอย

      ลักษณะที่ปรากฏในเพศหญิง จะมีผมบางที่บริเวณกลางศีรษะและลามออกมา ถ้าเป็นมากจะคงเหลือแต่ผมบริเวณด้านหน้าไว้

      ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด มีการรักษาโดยยาทาและยารับประทาน เพื่อลดการหลุดร่วง เพิ่มขนาดเส้นผม และรักษาโดยการผ่าตัดในกรณีที่เป็นมาก หรือรักษาโดยยาแล้วได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ

    • Telogen effluvium เป็นภาวะที่มีเส้นผมระยะหลุดร่วง ร่วงมากกว่าปกติ โดยมีสาเหตุต่างๆกัน เช่น ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง ขาดสารอาหาร ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด (เช่น กรดวิตามินเอ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยากันชัก ยารักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ฯ)
    • กลากบนหนังศีรษะ
    • การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด
    • สารเคมีบางชนิด เช่น ยา Heparin (ยาลดการแข็งตัวของเลือด) ยาเคมีบำบัด การได้รับวิตามินเอเกินขนาด
    • โรคที่เกิดจากการกระทำตนเอง เช่น การถอนผมตลอดเวลา (Trichotillomania)
    • โรคต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมใต้สมอง
    • ปัจจัยภายนอก เช่น ได้รับรังสีรักษาบริเวณศีรษะ
    • โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น SLE (โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี), เนื้องอกต่อมใต้สมอง

ควรไปพบแพทย์เมื่อใด?

ปัญหาอาการผมร่วงไม่ได้มีความสำคัญเพียงแต่เรื่องบุคลิกภาพ แต่การไปพบแพทย์จะทำให้สามารถวินิจฉัยโรคอื่นๆ ที่มีอาการแสดงเป็นอาการผมร่วงได้ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้นหากมีอาการดังนี้ ควรรีบไปพบแพทย์/ไปรงพยาบาล

  • ปริมาณผมที่ร่วงเข้าเกณฑ์ผิดปกติ
  • ผมร่วง ร่วมกับมีอาการ ซึม สับสน น้ำหนักลด ท้องผูกหรือท้องเสีย อาเจียน มีไข้ และ/หรือ มีผื่นที่ส่วนอื่นๆของร่างกาย
  • ผมร่วงเป็นหย่อม

มีวิธีรักษาผมร่วงอย่างไร?

แพทย์จะให้ความสำคัญกับการวินิจฉัยสาเหตุของอาการผมร่วง เนื่องจากต้องรักษาที่สา เหตุที่ทำให้มีอาการผมร่วง การรักษามีทั้ง

  • การรักษาให้โรคที่เป็นสาเหตุของอาการผมร่วงหายขาด
  • และการรักษาอาการผมร่วงแบบบรรเทาอาการ

ซึ่งการรักษาผมร่วง จะมี

  • การใช้ยาทา ยารับประทาน
  • หากใช้ยาไม่ได้ผล หรือไม่สามารถใช้ยาได้ ก็สามารถผ่าตัดปลูกผมได้

*ทั้งนี้ แต่ละวิธีการตอบสนองการรักษาในแต่ละบุคคลก็จะแตกต่างกัน ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องประเมินผลการรักษาอย่างต่อเนื่องเสมอ

ดูแลตนเองได้อย่างไร?

นอกจากแพทย์จะอธิบายผลต่างๆ และระยะการเห็นผลของยาที่ใช้รักษา ทั้งการรักษาสา เหตุ และรักษาแบบบรรเทาอาการ การนับเส้นผมที่หลุดระหว่างวัน ผมที่หมอนหลังตื่นนอน ก็ช่วยประเมินผลการรักษาได้ รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผมหักเปราะง่าย หรือหนังศีรษะระคายเคือง เช่น การย้อมหรือทำสีผม หรือยาบางชนิดที่ทำให้ผมร่วง ก็จะทำให้อาการผมร่วงไม่แย่ลงได้

นอกจากนั้น คือ

  • การกินยา ใช้ยา และการปฏิบัติตนตามแพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน
  • ต้องสังเกตสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับอาการผมร่วง เพื่อหลีกเลี่ยง เช่น แชมพู ครีมนวดผม การเป่าผม น้ำยาย้อมผม ยารักษาโรคต่างๆ เป็นต้น
  • ถึงแม้ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่า อาหารอะไรเกี่ยวข้องกับอาการผมร่วง แต่การรักษาสุข ภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ก็อาจช่วยได้บ้าง เพราะผมก็เป็นเซลล์ชนิดหนึ่งที่ต้องการอาหารมีประโยชน์เช่นเดียวกับเซลล์ทุกชนิด
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ผมร่วง

ป้องกันผมร่วงอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันอาการผมร่วงจากสาเหตุต่างๆ ยกเว้นมีสาเหตุชัดเจน เช่น การดึงรั้ง การถอน หรือจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด ดังนั้นการรักษาผมร่วงตั้งแต่ระยะแรก จะทำให้ผลการรักษาดีกว่าปล่อยให้เป็นนานๆแล้วจึงรักษา

อีกประการสำคัญ คือ การป้องกัน รักษา และควบคุมโรคต่างๆที่ เป็นสาเหตุให้ผมร่วง เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ /ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคเนื้องอกของต่อมไร้ท่อบางชนิด โรคออโตอิมมูน (เช่น โรคเอสแอลอี)

บรรณานุกรม

  1. Habif, T.P et al. (2010). Clinical Dermatology 5th edition. China: MOSBY ELSEVIER.
  2. Wolff, K. et al. (2008). Fitzpatrick’s Dermatology in General Medicine 7thedition. New York: Mc Graw Hill.
  3. https://www.aad.org/public/diseases/hair-and-scalp-problems/hair-loss [2019,Sept21]