อะไซโคลเวียร์ (Aciclovir)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะไซโคลเวียร์ (Aciclovir หรือ Acyclovir ย่อว่า ACV) เป็นกลุ่มยาใช้ต้านเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเริม โรคงูสวัด รวมไปถึงช่วยรักษาโรคอีสุกอีใส ทางเภสัชกรรมยานี้ได้ถูกพัฒนาการใช้ทั้งในรูปแบบของยาเม็ด ยาครีม ยาป้ายตา และยาฉีด สำหรับการบริหารยาแบบรับประทานนั้น ยาสามารถถูกดูดซึมได้ 15 - 30% ดังนั้นหากต้องการระดับความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดที่สูงกว่านี้จำเป็นต้องบริหารยาโดยการฉีดเข้าร่างกาย

ยาอะไซโคลเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อะไซโคลเวียร์

ยาอะไซโคลเวียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้ป้องกันและรักษาเชื้อไวรัสที่ก่อโรคเริม (Herpes simplex) ที่แสดงอาการในบริเวณอวัยวะต่างๆ เช่น ริมฝีปาก อวัยวะเพศ (เริมอวัยวะเพศ) หรือแม้แต่เยื่อหุ้มสมอง(ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
  • นอกจากนี้ยังใช้รักษาและบรรเทาอาการของโรคงูสวัด (Herpes zoster) และโรคอีสุกอีใส (Chicken pox) ได้อีกด้วย

ยาอะไซโคลเวียร์ออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะไซโคลเวียร์จะออกฤทธิ์เข้าไปยับยั้งการแพร่พันธุ์ของเชื้อไวรัส โดยรบกวนการสร้างและสังเคราะห์สารทางพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) ของเชื้อไวรัส และทำให้ไวรัสไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างต่อเนื่องจึงส่งผลให้อาการของโรคบรรเทาลงในที่สุด

ยาอะไซโคลเวียร์มีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะไซโคลเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายในรูปแบบของ

  • ยาเม็ด ขนาด 200, 400 และ 800 มิลลิกรัม
  • ยาครีม ขนาดความเข้มข้น 5%
  • ยาขี้ผึ้งป้ายตา ขนาดความเข้มข้น 3%
  • ยาฉีดเข้าหลอดเลือด ขนาดความเข้มข้น 25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ยาอะไซโคลเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดของยาอะไซโคลเวียร์ที่รับประทานในผู้ใหญ่และในเด็กมีขนาดที่ต่างกัน อีกทั้งขึ้น กับชนิดของเชื้อไวรัสที่ก่อโรค สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ การรับประทานยาหลังอาหารอาจช่วยให้การระคายเคืองของกระเพาะและลำไส้ลดลง

ขนาดรับประทานในปริมาณสูงสุดในผู้ป่วยแต่ละคนยังต้องอาศัยปัจจัยเรื่องการทำงานของไตมาเป็นเงื่อนไขในการบริหารยา จึงไม่ควรซื้อยากินเอง ต้องได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์เท่านั้น

เมื่อมีการสั่งจ่ายยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอะไซโคลเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยาทุกชนิดรวมทั้งอาการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น /หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะไซโคลเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้วได้
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาหลายประเภทอาจจะ/มักผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาอะไซโคลเวียร์ควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะไซโคลเวียร์สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากลืมรับประ ทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาอะไซโคลเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ผลไม่พึงประสงค์จากยา /ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง จากยาอะไซโคลเวียร์ เช่น

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดหัว/ปวดศีรษะ
  • ท้องร่วง/ท้องเสีย
  • ผื่นคัน
  • ตาแดง

สำหรับยานี้ชนิดยาฉีด อาจก่อให้เกิดอาการปวดบริเวณหลอดเลือดดำที่มีการฉีดยา หากมียาบางส่วนไหลออกนอกหลอดเลือด อาจก่อให้เกิดภาวะเป็นแผลในบริเวณเนื้อเยื่อใกล้เคียง

อาจพบว่า ผู้ป่วยบางรายหลังได้รับยานี้แล้วมีอาการไตล้มเหลว แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก

ยาอะไซโคลเวียร์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

ยาอะไซโคลเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • เมื่อกินร่วมกับยาขยายหลอดลม สามารถส่งเสริมให้ความเข้มข้นของยาที่ใช้ขยายหลอดลมมีความเข้มข้นและอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น และอาจมีผลข้างเคียงของยาที่ใช้ขยายหลอดลมเพิ่มมากขึ้น กลุ่มยาที่ใช้ขยายหลอดลม เช่นยา อะมิโนฟิลลีน (Aminophylline), และทีโอฟิลลีน (Theophylline) เป็นต้น
  • เมื่อกินร่วมกับยาปฎิชีวนะสามารถส่งผลให้เกิดความเป็นพิษจากยาปฎิชีวนะได้มากยิ่ง ขึ้นเช่น ต่อหู ไต เส้นประสาทต่างๆ ซึ่งกลุ่มยาปฎิชีวนะดังกล่าว เช่นยา อะมิคาซิน (Amikacin),เจนตามัยซิน (Gentamicin)

มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาอะไซโคลเวียร์?

ข้อควรระวังในการใช้ยาอะไซโคลเวียร์ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีการแพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะตับ,ไต ทำงานผิดปกติ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาอะไซโคลเวียร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาอะไซโคลเวียร์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาอะไซโคลเวียร์ทุกรูปแบบของผลิตภัณฑ์ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ห้ามเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ยาอะไซโคลเวียร์มีชื่ออื่นๆอีกไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อทางการค้า และบริษัทผู้ผลิตยาอะไซโคลเวียร์ เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
A.C.V. (เอซีวี) Greater Pharma
Acyvir (อะไซเวียร์)Pharmasant Lab
Azovax (อะโซแวค)T P Drug
Clinovir (ไคลโนเวียร์)Bangkok Lab & Cosmetic
Clovin (โคลวิน)Nakornpatana
Clovira (โคลวิรา)M & H Manufacturing
Colsor (โคลเซอร์)Seng Thai
Covir (โคเวียร์)Community Pharm PCL
Declovir (ดีโคลเวียร์)HOE Pharmaceuticals
Entir (เอนเทียร์)Unison
Falerm (ฟาเลิร์ม) Pharmahof
Vivir (ไวเวียร์)Unison
Vizo (ไวโซ)Farmaline
Zevin (เซวิน)Biolab
Zocovin (โซโควิน)T. O. Chemicals
Zovirax (โซวิแรกซ์)GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. Drug Information Handbook 20th edition with Charles Flacy RPh. Ms, Pharm D FCSHP , Lora L.Armstrong RPh, PharmD BCPS , Morton P.Goldman, RPh, PharmD BCPS,FCCP , Leonard L. RPh. BSPharm
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Aciclovir [2019,Feb9]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=acyclovir [2019,Feb9]