อะโทรปีน (Atropine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 30 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาอะโทรปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอะโทรปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอะโทรปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอะโทรปีนมีขนาดการใช้อย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- ยาอะโทรปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอะโทรปีนอย่างไร?
- ยาอะโทรปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอะโทรปีนอย่างไร?
- ยาอะโทรปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- ยาแก้ท้องเสีย (Antidiarrhea drugs)
- ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline)
- ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หรือ เบนาดริล (Benadryl)
- สารระงับเหงื่อ (Antiperspirant)
บทนำ
อะโทรปีน (Atropine) เป็นสารที่ถูกค้นพบตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ มนุษย์สามารถสกัดอะโทรปีนจากพืชในวงศ์ Solanaceae (วงศ์เดียวกับวงศ์มะเขือ) ซึ่งมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ที่รู้จักกัน เช่น Atropa belladonna, Datura inoxia, D.metel, และ D.sotramonium แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์อะโทรปีนขึ้นมาได้ และนำมาใช้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางในวงการแพทย์หลายประการเช่น ทำเป็นยาหยอดตาเพื่อขยายรูม่านตาของคนไข้ ใช้ต้านพิษ (Antidote) ของสารจำพวก Organophosphate ที่เป็นส่วนผสมในยาฆ่าแมลง และใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นช้า เป็นต้น
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic: การศึกษาถึงความเป็นไปของยา เมื่อเข้าสู่ร่างกาย) ของยาอะโทรปีนพบว่า สามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร สามารถดูดซึมผ่านจากตา หรือแม้เพียงสัมผัสกับผิวหนังก็ยังดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ยาอะโทรปีนยังสามารถซึมผ่านรก ผ่านสมอง อีกทั้งตับก็เปลี่ยนโครงสร้างของยาอะโทรปีนได้ไม่สมบูรณ์แบบทีเดียวนัก ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงในการกำจัดอะโทรปีนออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ ทั้งในรูปที่เปลี่ยนโครงสร้างและยังไม่เปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี
องค์การอนามัยโลกจัดให้อะโทรปีนอยู่ในระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานที่แต่ละประเทศควรต้องสำรองไว้ใช้ในสถานพยาบาล คณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทยได้บรรจุอะโทรปีนซัลเฟต (Atropine sulfate) ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติอยู่ในหมวดยาต้านพิษของสาร Organo phosphate และ สาร Carbamates (สารทั้งสองชนิดเป็นส่วนประกอบสำคัญของยาฆ่าแมลง) และบำบัดอาการวิกฤตอันมีสาเหตุจากสารกลุ่มคลอลิเนอจิก (Cholinergic crisis: ระบบประสาทถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงจากสารกลุ่ม Acethylcholine ส่งผลให้กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้ เช่น จากได้รับแก๊สพิษบางชนิด)
อะโทรปีน มักถูกใช้ในสถานพยาบาลเสียเป็นส่วนมาก ด้วยมีความจำเพาะเจาะจงต่ออาการและความรุนแรงของโรค ทั้งต้องอาศัยความชำนาญจากแพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายยาได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
ยาอะโทรปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอะโทรปีนมีสรรพคุณดังนี้
- ลดเสมหะ และบรรเทาอาการปวดเกร็ง/ปวดบีบในระบบทางเดินอาหาร
- ป้องกันการเกิดสารคัดหลั่งในหลอดลมก่อนการใช้ยาสลบ
- ใช้ต้านพิษของสาร Organophosphate ที่มีในยาฆ่าแมลง
- บำบัดอาการหัวใจเต้นช้า
- ลดภาวะอักเสบในลูกตา
ยาอะโทรปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะโทรปีนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะต้านการทำงานของสารเคมีกลุ่มคลอลิเนอจิกที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ (Anticholinergic agent) ทำให้เกิดการปิดกั้นของหน่วยเซลล์ที่คอยตอบสนองต่อสารเคมีกลุ่มนี้ที่มีอยู่ในอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น หัวใจ ลำไส้เล็ก กล้ามเนื้อ หลอดลม ตา ต่อมมีท่อ บางครั้งก็เกิดการกระตุ้นต่อสมองได้เช่นกัน ซึ่งด้วยกลไกดังกล่าว จึงส่งผลให้ยาอะโทรปีนมีสรรพคุณดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สรรพคุณฯ
ยาอะโทรปีนยังออกฤทธิ์รักษาภาวะหัวใจเต้นช้าให้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยลดภาวะหัวใจหยุดเต้น ช่วยทำให้หลอดลมคลายตัว ขยายรูม่านตา และลดสารคัดหลั่งต่างๆของร่างกายอีกด้วย
ยาอะโทรปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะโทรปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- รูปแบบยาเดี่ยวชนิดเม็ด ขนาด 0.6 มิลลิกรัม/เม็ด
- รูปแบบยาฉีด ขนาด 0.6 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- รูปแบบยาเม็ดโดยผสมร่วมกับกลุ่มยาลดกรด ยาแก้ท้องเสีย
- รูปแบบยาหยอดตา ความเข้มข้น 0.5%, 1%
ยาอะโทรปีนมีขนาดการใช้อย่างไร?
ยาอะโทรปีนมีขนาดการใช้ดังนี้
ก. บรรเทาอาการปวดเกร็ง/ปวดบีบในระบบทางเดินอาหาร:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.4 - 0.6 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง
- เด็ก: แพทย์จะใช้น้ำหนักตัวในการคำนวณ ขนาดรับประทาน ขนาดการบริหารชนิดยาฉีด และยาหยอดตา
ข. ป้องกันการเกิดสารคัดหลั่งในหลอดลมก่อนใช้ยาสลบ:
- ผู้ใหญ่: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือผิวหนัง 300 - 600 ไมโครกรัม ก่อนวางยาสลบ 30 - 60 นาที
- เด็ก:
- น้ำหนักตัวมากกว่า 20 กิโลกรัม ฉีด 300 - 600 ไมโครกรัม
- น้ำหนักตัว 12 - 16 กิโลกรัม ฉีด 300 ไมโครกรัม
- น้ำหนักตัว 7 - 9 กิโลกรัม ฉีด 200 ไมโครกรัม
- น้ำหนักตัวมากกว่า 3 กิโลกรัม ฉีด 100 ไมโครกรัม
อนึ่ง โดยฉีดยาเข้ากล้ามหรือผิวหนัง 30 - 60 นาที ก่อนให้ยาสลบ
ค.สำหรับต้านพิษของสาร Organophosphate:
- ผู้ใหญ่: ฉีดเข้าเส้นเลือดหรือเข้ากล้ามเนื้อ 2 มิลลิกรัม ทุกๆ 10 - 30 นาที จนอาการดีขึ้น ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจเพิ่มความถี่ของการให้ยาเป็นทุกๆ 5 นาที
- เด็ก: ฉีด 20 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 5 - 10 นาที
ง. สำหรับภาวะหัวใจเต้นช้า (Bradycardia):
- ผู้ใหญ่: ฉีดเข้าเส้นเลือด 500 ไมโครกรัม ทุกๆ 3 - 5 นาที จนครบ 3 มิลลิกรัม ขนาดสูงสุดของการให้ยาไม่เกิน 0.04 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- เด็ก: เนื่องจากภาวะนี้พบน้อยในเด็ก ขนาดยาจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
จ.รักษาภาวะตาอักเสบ:
- ผู้ใหญ่: หยอดตา 1 - 2 หยด โดยใช้ยาที่เข้มข้น 0.5 - 1% วันละ 4 ครั้ง
- เด็ก: หยอดตา 1 - 2 หยด ของยาที่มีความเข้มข้น 0.5%
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะโทรปีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดัง นี้ เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา แล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาอะโทรปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ยาอะโทรปีนสามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาอะโทรปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะโทรปีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น
- ปากแห้ง
- ท้องผูก
- ผิวแห้ง
- หัวใจเต้นเร็ว
- ชีพจรเต้นผิดปกติ
- รูม่านตาขยาย
- ตากลัวแสง
- เพิ่มความดันลูกตา
- รู้สึกสับสน
- กระวนกระวาย
- ประสาทหลอน
- หายใจลำบาก
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะโทรปีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะโทรปีน เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหัวใจล้ม เหลว ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ เด็ก ทารก และหญิงตั้งครรภ์
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะโทรปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาอะโทรปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะโทรปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น การใช้ยาอะโทรปีนร่วมกับยาต้านเศร้า เช่น Amitriptyline, ยาต้านสารฮิสตามีน (เช่น Diphenhydramine), และยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (เช่นยา Quinidine), สามารถเพิ่มฤทธิ์ของการต้านสารคลอลิเนอจิก (Anticholinergic effect) หากไม่มีความจำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาอะโทรปีนอย่างไร?
ควรเก็บยาอะโทรปีน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดดและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาอะโทรปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะโทรปีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
A.N.H. Mat (เอ.เอ็น.เฮท. แมท) | A N H Products |
Alumag (อะลูแม็ก) | T.C. Pharma-Chem |
Alupep (อะลูเปป) | Sriprasit Pharma |
Atropine Sulfate A.N.H. (อะโทรปีน ซัลเฟต เอ.เอ็น.เฮท.) | A N H Products |
Atropine Sulfate GPO (อะโทรปีน ซัลเฟต จีพีโอ) | GPO |
Atropine Sulphate ANB (อะโทรปีน ซัลเฟต เอเอ็นบี) | ANB |
Atropine Sulphate Atlantic (อะโทรปีน ซัลเฟต แอตแลนติก) | Atlantic Lab |
Atropine-P (อะโทรปีน-พี) | P P Lab |
Atroren-P (อะโทรเรน-พี) | Indoco |
Ditropine (ไดโทรปีน) | Asian Pharm |
Droximag-P (โดรซิแม็ก-พี) | P P Lab |
Isopto Atropine (ไอซอปโต อะโทรปีน) | Alcon |
Lomotil (โลโมติล) | Pfizer |
Sinlumag (ซินลูแม็ก) | SSP Laboratories |
Spasil (สปาซิล) | Sriprasit Pharma |
บรรณานุกรม
1. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=atropine [2020,Jan25]
2. http://www.mims.com/USA/Drug/info/atropine/?type=full&mtype=generic#Dosage [2020,Jan25]
3. http://en.wikipedia.org/wiki/Atropine [2020,Jan25]
4. http://www.medicinenet.com/atropine-oral/article.htm [2020,Jan25]
5. http://www.drugs.com/ppa/atropine.html [2020,Jan25]