อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) ในประเทศไทยใช้เป็นยาบรรเทาอาการไอ แต่บางประเทศใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเสริมบางชนิด เพราะเชื่อว่ายานี้มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) และช่วยส่งเสริมการทำงานของตับได้

ยาอะเซทิลซิสเทอีนมีสรรพคุณอย่างไร?

ยาอะเซทิลซิสเทอีน

ยาอะเซทิลซิสเทอีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้ละลายเสมหะ จึงช่วยบรรเทาอาการไอชนิดที่มีเสมหะ ไม่เหมาะกับอาการไอแห้ง
  • นอกจากนี้ยังใช้เป็นยารักษาผู้ป่วยที่รับประทานยาพาราเซตตามอล (Paracetamol) เกินขนาดได้ด้วย

ยาอะเซทิลซิสเทอีนออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะเซทิลซิสเทอีน จะเข้าไปทำปฏิกิริยากับเสมหะ โดยทำให้โครงสร้างของเสมหะแตกออกจนกลายเป็นเสมหะที่ข้นน้อยลง และสามารถขับออกจากทางเดินหายใจโดยง่าย จึงบรรเทา อาการไอได้

ยาอะเซทิลซิสเทอีนมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะเซทิลซิสเทอีนมีรูปแบบจำหน่าย เช่น

  • ยาผงบรรจุซอง 100 และ 200 มิลลิกรัม (มก.)
  • ยาฉีด 300 มก.
  • ยาเม็ดฟู่ 600 มก.

ยาอะเซทิลซิสเทอีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะเซทิลซิสเทอีนมีขนาดการใช้ยาที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับอายุและความรุนแรงของ สภาวะความเจ็บป่วยของร่างกาย ดังนั้นจึงควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยสั่งจ่ายยาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อรับประทานเอง

กรณีใช้รักษาคนที่กินยาพาราเซตตามอลเพื่อฆ่าตัวตาย ขนาดเริ่มต้นให้รับประ ทาน 140 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จากนั้นลดลงเป็น 70 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 4 ชั่วโมงอีก 17 ครั้ง แต่ควรต้องให้แพทย์เป็นผู้รักษาผู้ป่วยเสมอ

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอะเซทิลซิสเทอีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด และอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะเซทิลซิสเทอีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาหลายประเภทอาจจะ/มักผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาอะเซทิลซิสเทอีนควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะเซทิลซิสเทอีน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมรับ ประทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาอะเซทิลซิสเทอีนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หรือผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง จากยาอะเซทิลซิสเทอีน เช่น

  • ความดันหลอดเลือดปอดสูง
  • ความดันในหัวใจห้องล่างขวาเพิ่มสูงขึ้น
  • อาจทำให้หลอดลมหดเกร็งตัวส่งผลให้หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • รู้สึกระคายเคืองในทางเดินอาหาร
  • ง่วงนอน
  • มีไข้
  • ช่องปากอักเสบ (โรคช่องปาก)
  • มีผื่นคัน

ยาอะเซทิลซิสเทอีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

ยาอะเซทิลซิสเทอีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอะเซทิลซิสเทอีนร่วมกับ ยาลดน้ำตาลในเลือด (ยาเบาหวาน)บางกลุ่ม อาจส่งผล ให้ความเข้มข้นของยาลดน้ำตาลในเลือดมีปริมาณสูงขึ้น จนทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปและผู้ป่วยอาจจะหมดสติได้ กลุ่มยาลดน้ำตาลในเลือดเช่น ยาอินซูลิน

มีข้อควรระวังในการใช้ยาอะเซทิลซิสเทอีนย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาอะเซทิลซิสเทอีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้ใน สตรีตั้งครรภ์ และให้นมบุตร ด้วยยังไม่มีการยืนยันรับรองความผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะช่วงระยะ 3 เดือนแรกของครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหืด ด้วยยาอะเซทิลซิสเทอีนอาจทำให้หลอดลมหดเกร็งตัว และหายใจลำบาก
  • ระวังใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด (โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย, โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ) ด้วยยาอะเซทิลซิสเทอีนอาจทำให้ความดันโลหิตในหัวใจเพิ่มสูงขึ้น
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิดที่รวมถึงยาอะเซทิลซิสเทอีน ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาอะเซทิลซิสเทอีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาอะเซทิลซิสเทอีน เช่น

  • เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด
  • เลี่ยงการเก็บยาในที่ชื้น และในที่ที่มีอุณหภูมิสูง
  • สามารถเก็บยาในอุณหภูมิห้องได้
  • ไม่ควรเก็บยาที่หมดอายุ ควรทิ้งทำลาย และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ชื่อทางการค้าและบริษัทผู้ผลิตยาอะเซทิลซิสเทอีนในประเทศไทย

ชื่อทางการค้า และบริษัทผู้ผลิตยาอะเซทิลซิสเทอีน เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
ACETIN (อะซีทิน) L. B. S.
ALISTINE/ALISTINE FORT (อะลิสทิน/อะลิสติน ฟอร์ท) T P Drug
FLEMEX - AC (เฟลมเม็ก - เอซี) Gemardi
FLUCIL/FLUCIL - EF (ฟลูซิล/ฟลูซิล - อีเอฟ) Masa Lab
FLUIMUCIL/FLUIMUCIL A (ฟลูมูซิล/ฟลูมูซิล เอ) Zambon
HIDONAC (ไฮโดรแน็ก) Zambon
MUCIL (มูซิล) T.O. Chemicals
MUCOCIL (มูโคซิล) Utopian
MUCOTIC (มูโคติก) B L Hua
MYSOVEN (ไมโซเว่น) Greater Pharma
NAC LONG (แน็กลอง) Temmler
RINOFLUIMUCIL (ไรโนฟลูมูซิล) Zambon
SIMUCIN (ไซมูซิน) Siam Bheasach

บรรณานุกรม

1 http://www.mims.com/Thailand/drug/AdvancedSearch/ [2020,Sept26]
2 http://en.wikipedia.org/wiki/Acetylcysteine [2020,Sept26]