อะคาเลเซีย: กล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย (Esophageal achalasia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

อะคาเลเซีย หรือ กล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย(Esophageal achalasia) คือ โรค/ภาวะทำงานผิดปกติของกล้ามเนื้อเรียบผนังหลอดอาหาร,และของหูรูดส่วนล่างหลอดอาหาร(หูรูดปิดกั้นระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร), จึงส่งผลต่อเนื่องให้อาหารที่บริโภคทางปากกักคั่งอยู่ในหลอดอาหาร ไม่ไหลลงสู่กระเพาะอาหาร จนก่ออาการผิดปกติต่างๆ ที่พบบ่อยคือ กลืนลำบาก โดยเกิดจาก

  • หลอดอาหารไม่บีบตัวหรือบีบตัวลดลง ที่ส่งผลให้อาหารในหลอดอาหารไม่สามารถไหลลงสู่กระเพาะอาหารได้ และ
  • หูรูดส่วนล่างหลอดอาหารหดเกร็งตัว ส่งผลให้อาหารในหลอดอาหารไม่สามารถไหลเข้าสู่กระเพาะอาหารได้

กล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย/อะคาเลเซีย เป็นโรคพบน้อย พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบประมาณ 0.1-1.6 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบทุกอายุ แต่พบบ่อยช่วงอายุ 25-60ปี พบในเด็กประมาณ 5%ของในผู้ใหญ่ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดโรคนี้ใกล้เคียงกัน

อนึ่ง:

  • Esophageal achalasia มาจากภาษากรีก โดย Esophagus หมายถึง หลอดอาหาร/ท่อส่งอาหาร, achalasia หมายถึง ไม่เคลื่อนไหว, ไม่ผ่อนคลาย
  • ชื่ออื่นของกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไมคลาย มีหลายชื่อ ได้แก่ Esophageal aperistalsis, Dyssynergia esophagus, Megaesophagus, Cardiospasm

โรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลายมีสาเหตุจากอะไร?

อะคาเลเซีย

กล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย/อะคาเลเซีย แพทย์เชื่อว่า น่าเกิดจากมีการเสื่อมของเซลล์ประสาทของข่ายประสาทในช่องอกที่ควบคุมการทำงานบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบในหลอดอาหาร ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมนั้นยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีการศึกษาพบว่า อาจเกิดจาก

  • พันธุกรรมผิดปกติชนิดถ่ายทอดได้ เพราะพบโรคนี้เกิดในคนครอบครัวเดียวกันได้สูงขึ้น แต่สาเหตุนี้พบน้อยมาก และถ้าเป็นสาเหตุนี้ผู้ป่วยมักมีอาการตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
  • จากโรคออโตอิมมูนที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติที่กลับมาต่อต้านเซลล์ประสาทของหลอดอาหาร ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการสร้างภุมิคุ้มกันต้านทานผิดปกตินี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดจากร่างกายติดเชื้อบางชนิดโดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัส

โรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลายมีอาการอย่างไร?

อาการของกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย/อะคาเลเซีย ที่พบบ่อย คือ อาการที่เป็นๆหายๆ เรื้อรัง และอาการจะค่อยๆเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่

  • กลืนลำบาก
  • ขย้อนอาหารที่ยังไม่ย่อยออกมา
  • สำลักอาหารหลังกลืน
  • เมื่อเป็นมากขึ้น อาการที่พบได้คือ
    • เจ็บหน้าอก หรือ เจ็บช่องอก
    • แสบร้อนกลางอก
    • แน่นในช่องอก คล้ายมีก้อนอยู่ในช่องอก/ในลำคอ
    • น้ำลายมากผิดปกติ
    • สะอึกบ่อย หรือสะอึกต่อเนื่อง
    • ปอดอักเสบ/ปอดบวม บ่อยจากสำลักอาหารเข้าไปในปอด
    • น้ำหนักลด/ผอมลงมาก

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ที่ดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น กลับมีอาการต่อเนื่อง หรือเป็นๆหายๆ หรือแย่ลง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลายได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย/ อะคาเลเซีย จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยที่ผ่านมา โรคต่างๆของคนในครอบครัว ประวัติการติดเชื้อต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเพื่อการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • เอกซ์เรย์ภาพปอด เพื่อดูขนาดหลอดอาหารที่อยู่ในช่องอกที่อาจขยายใหญ่และมีกากอาหารค้างอยู่ และ/หรือกรณีมีไอเรื้อรัง หรือแพทย์สงสัยปอดอักเสบ/ปอดบวม
    • การตรวจภาพหลอดอาหารด้วยเอกซเรย์กลืนแป้ง
    • การตรวจภาพช่องอกและหลอดอาหารด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) เพื่อดูภาพพยาธิสภาพโดยละเอียดของหลอดอาหาร
    • การตรวจหลอดอาหารด้วยเครื่องมือเฉพาะทางเพื่อ ดูการบีบตัวของหลอดอาหาร(Esophageal manometry)
    • การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อบริเวณ รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา แยกจากมะเร็งหลอดอาหาร หรือโรคหลอดอาหารชนิดอื่นๆ

รักษาโรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลายอย่างไร?

กล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย/ อะคาเลเซีย มีแนวทางการรักษา คือ การใช้ยา, การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร, การขยายหูรูดหลอดอาหารช่วงล่างด้วยลม, การผ่าตัด, และการรักษาประคับประคองตามอาการ (การรักษาตามอาการ)

ก. การใช้ยา : เช่น

  • ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบที่รวมถึงกล้ามเนื้อเรียบของหูรูดหลอดอาหารช่วงล่าง เพื่อช่วยขยายช่องให้อาหารสามารถไหลเข้ากระเพาะอาหารได้มากขึ้น เช่น
    • ยาไนเตรท ที่อาจเป็นยากิน หรือยาอมใต้ลิ้น
    • ยา Calcium channel blocker ซึ่งมีทั้งยาฉีด และยากิน
  • การฉีดยาโบทอกซ์ (Botulinum toxin) ผ่านทางการส่องกล้องหลอดอาหาร เพื่อคลายกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารช่วงล่าง ซึ่งอาจต้องฉีดยาซ้ำทุก 3เดือน-1ปี

ข. การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร: ควรปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล โภชนากร แนะนำ ซึ่งทั่วไป เช่น

  • เคี้ยวอาหารให้ละเอียด และ/หรือ กินอาหารอ่อน หรืออาหารเหลว และกินครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยขึ้น เพื่อให้อาหารไหลเข้ากระเพาะอาหารได้ดีขึ้น (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ประเภทอาหารทางการแพทย์’)
  • พยายามไม่นอนราบ นอนเอนตัวให้ศีรษะและลำตัวสูงเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มการไหลของอาหารเข้าสู่กระเพาะอาหารตามแรงโน้มถ่วงของโลก โดยเฉพาะหลังการบริโภคอาหาร ดื่มน้ำ ทุกครั้ง
  • อาหารมื้อสุดท้ายของวันต้องห่างจากการกินอาหารอย่างน้อยหลายชั่วโมง เพื่อให้อาหารจากหลอดอาหารมีเวลาไหลลงสู่กระเพาะอาหารได้มากที่สุดก่อนการนอนหลับกลางคืน
  • เมื่อกินยาและ/หรือผ่าตัดขยายหูรูดหลอดอาหารฯ ที่อาจเกิดผลข้างเคียง คือเกิดกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าหลอดอาหาร(โรคกรดไหลย้อน) ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสเปรี้ยว เครื่องดื่มกาเฟอีน/คาเฟอีน, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ซอสมะเขือเทศ, ช็อกโกแลต, การสูบบุหรี่

ค. การขยายหูรูดหลอดอาหารช่วงล่างด้วยลม(Pneumatic dilatation หรือ Balloon dilatation) คือ การส่องกล้องหลอดอาหาร/กระเพาะอาหารและสอดเครื่องมือเฉพาะทางเพื่อการใช้ลมขยายหูรูดหลอดอาหารช่วงล่าง ซึ่งอาจต้องทำซ้ำกรณีมีอาการย้อนกลับเป็นซ้ำ ทั่วไปพบเกิดได้ประมาณที่ 5 ปีหลังการรักษาครั้งแรก

ง. การผ่าตัด: การผ่าตัดขยายหูรูดหลอดอาหารช่วงล่าง ซึ่งอาจต้องผ่าตัดซ้ำ ถ้า มีอาการฯย้อนกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัดที่ทั่วไปพบได้ประมาณ 5-10ปี หลังผ่าตัด และการผ่าตัดอาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น

  • ในระยะสั้นหลังผ่าตัด: เช่น
    • หลอดอาหารทะลุ
    • แผลผ่าตัดติดเชื้อ
    • เลือดออกมากจากแผลผ่าตัด
  • ในระยะยาว เช่น โรคกรดไหลย้อนสาเหตุจากหูรูดหลอดอาหารช่วงล่างหย่อนตัวมากเกินไป กรดในกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนเข้าหลอดอาหาร

จ. การรักษาประคับประคองตามอาการ คือ การรักษาตามอาการ ซึ่งจะต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามอาการ เช่น

  • ยาแก้ปวด กรณี เจ็บหน้าอก
  • การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ
  • การผ่าตัดใส่หลอดให้อาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กโดยตรง เพื่อไม่ให้อาหารต้องผ่านหลอดอาหาร
  • การรักษาอาการไอ เช่น
    • ยาแก้ไอ
    • ยาปฏิชีวนะ กรณีมีปอดอักเสบ/ปอดบวมจากการสำลักอาหารร่วมด้วย

โรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลายรุนแรงไหม? ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

กล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย/ อะคาเลเซีย จัดเป็นโรครักษาไม่หาย แต่การรักษาจะช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น และช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิผล รวมถึงกรณีทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอายุขัยใกล้เคียงกับคนทั่วไปที่ไม่เป็นโรคนี้

อย่างไรก็ตาม:

  • การรักษาด้วยการขยายหูรูดหลอดอาหารช่วงปลาย ด้วยลม หรือ ด้วยการผ่าตัดมีโอกาสที่อาการจะย้อนกลับเป็นซ้ำได้
  • โรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย/อะคาเลเซีย ในระยะยาวพบมีโอกาสที่จะเกิดเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ แต่พบน้อย มีรายงานพบได้ประมาณน้อยกว่า 1%ของผู้ป่วยทั้งหมด

*อนึ่ง ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากโรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย คือ

  • ปอดบวม/ปอดอักเสบเป็นๆหาย จากการสำลักอาหารเข้าปอด

ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อเป็นโรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย/อะคาเลเซีย การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล โภชนากร แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ปรับพฤติกรรมการกินอาหาร ตามแพทย์ พยาบาล โภชนากร แนะนำ ซึ่งทั่วไปดังได้กล่าวในตอนต้น ’หัวข้อ การรักษาฯ’
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง และ/หรือ มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเกิดขึ้น เช่น มีไข้ร่วมกับอาการไอมากขึ้นๆ , อาเจียนเป็นเลือด
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะต่อเนื่อง ใจสั่นมาก เป็นลมบ่อย
    • กังวลในอาการ

มีการตรวจคัดกรองโรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลายไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย/ อะคาเลเซีย ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการรักษา

ป้องกันโรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลายได้อย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุแล้ว ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคกล้ามเนื้อเรียบหลอดอาหารไม่คลาย/ อะคาเลเซีย ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการรักษา

บรรณานุกรม

  1. Guy E Boeckxstaens, Giovanni Zaninotto, Joel E Richter. Lancet. 2014; 383: 83–93
  2. Eckardt VF, Hoischen T, and Bernhard G. Eur J Gastroenterol Hepatol. 2008; 20(10):956-60.
  3. I.I. Momodu, and J.M. Wallen. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK519515/ [2020,Dec12]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Esophageal_achalasia [2020,Dec12]
  5. https://reference.medscape.com/article/169974-overview#showall [2020,Dec12]
  6. https://rarediseases.org/rare-diseases/achalasia/ [2020,Dec12]
  7. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18787460 [2020,Dec12]