ออทิสติก : กลุ่มโรคออทิสติก (Autistic spectrum disorder)
- โดย แพทย์หญิง จอมสุรางค์ โพธิสัตย์
- 17 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- กลุ่มโรคออทิสติกมีสาเหตุจากอะไร?
- กลุ่มโรคออทิสติกมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยกลุ่มโรคออทิสติกอย่างไร?
- มีความผิดปกติหรืออาการที่พบร่วมกับกลุ่มโรคออทิสติกไหม?
- ในเด็กกลุ่มโรคออทิสติก ควรตรวจอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง?
- รักษาเด็กกลุ่มโรคออทิสติกอย่างไร?
- กลุ่มโรคออทิสติกมีธรรมชาติของโรคเป็นอย่างไร? อะไรเป็นปัจจัยถึงผลการรักษาที่ดี?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- บรรณานุกรม
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- เด็กพัฒนาการภาษาล่าช้าหรือภาวะพูดช้า (Child’s Delayed language or speech development)
- โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity disorder: ADHD)
- กลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome)
บทนำ
กลุ่มโรคออทิสติก (Autistic spectrum disorder) เป็นกลุ่มของโรคที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของสมอง ทำให้มีความบกพร่องของพัฒนาการหลายด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านภาษาและสังคมล่าช้า มีพฤติกรรม ความสนใจและการกระทำที่ซ้ำๆ และจำกัด โดยอาการดังกล่าวเกิดก่อนอายุ 3 ขวบ ซึ่งมีความรุนแรงของแต่ละโรคในกลุ่มแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางภาษา ระดับสติปัญญา/ไอคิว (IQ, Intelligence Quotient) และความผิดปกติอื่นๆที่พบร่วมด้วย ทั้งนี้ ความบกพร่องยังคงมีต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยเฉพาะทักษะด้านสังคม มีเพียง 1- 2% ที่สามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติ อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย จะทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาได้มากกว่าการรักษาเมื่ออายุมากขึ้น
อุบัติการณ์ของกลุ่มโรค หรือกลุ่มอาการออทิสติก
- พบกลุ่มอาการออทิสติกในเด็กเฉลี่ย 2 - 8 คน ต่อเด็ก 1,000
- การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบกลุ่มอาการออทิสติก 1:110 ในเด็กวัยเรียน
- การศึกษาเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ในประเทศไทยพบโรคออทิสติก 9.9 คนต่อเด็ก 10,000 (ศรีวรรณา พูลสรรพสิทธิ์ และคณะ,2005 )
- พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิง (ชาย : หญิง 3 - 6 : 1) โดยเด็กผู้หญิงจะมีอา การรุนแรงกว่าเด็กผู้ชาย ยกเว้น Rett’s disorder (ความผิดปกติกลุ่มหนึ่งในกลุ่มโรคออทิสติก ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในหัวข้อ การวินิจฉัยโรค) จะพบเฉพาะในผู้ หญิงเท่านั้น
กลุ่มโรคออทิสติกมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของกลุ่มโรคออทิสติก คือ ความผิดปกติของสมองและระบบประสาทที่หลากหลาย แต่ไม่พบความผิดปกติที่จำเพาะ และไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของการเลี้ยงดู หรือบุคลิก ภาพของพ่อแม่
-ความผิดปกติของระบบสมอง/ระบบประสาท
- พบว่ากลุ่มโรคออทิสติก 10 - 83% มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง และมีโอกาสเกิดโรคลมชักมากกว่าคนทั่วไปในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเด็กกลุ่มโรคออทิสติกที่มีระ ดับเชาวน์ปัญญา/ไอคิว (IQ) ต่ำ จะมีโอกาสเกิดอาการชักได้มากขึ้น
- ความผิดปกติของลักษณะทางกายวิภาคของสมองและการทำงานของสมองหลายตำ แหน่งส่งผลให้เกิดความบกพร่องหลายด้าน โดยความผิดปกติของสมองและการทำงานของสมองที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนทำให้ความบกพร่องและความรุนแรงแตกต่างกันไปด้วยในผู้ป่วยแต่ละคน
- ความผิดปกติของสารสื่อประสาท (Neurotransmitter สารเคมีที่ทำหน้าที่สื่อสารเพื่อให้การทำงานของระบบประสาทเป็นไปอย่างปกติ)
- เด็กกลุ่มนี้มีขนาดสมองใหญ่กว่าเด็กทั่วไป 2 - 10% โดยช่วงขวบปีแรกขนาดสมองจะมีขนาดปกติจนอายุ 2 - 4 ปี สมองจะมีขนาดใหญ่ขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของวงจรประสาทที่มีขนาดสั้น และทำให้วงจรประสาทที่มีขนาดยาวลดลง ทำให้กลุ่มโรคออทิสติกมีความสน ใจเฉพาะรายละเอียดของสิ่งต่างๆ และมีความบกพร่องเรื่องความคิดรวบยอด
-ปัจจัยทางพันธุกรรม
- พบว่าพี่น้องของเด็กกลุ่มโรคออทิสติก มีโอกาสเป็นโรคในกลุ่มนี้ มากกว่าคนทั่วไปถึงประมาณ 22 เท่า และมีโอกาสพบความผิดปกติของพัฒนาการด้านภาษา และพัฒนา การด้านอื่นๆ รวมถึงการเรียนรู้ มากกว่าคนทั่วไปด้วย
- พบกลุ่มโรคออทิสติกในแฝดไข่ใบเดียวกันมากกว่าแฝดไข่คนละใบ
- พบมีความผิดปกติของบางยีน/จีน (Gene) และบางโครโมโซม (Chromosome)
-ปัจจัยทางการเลี้ยงดู เดิมเชื่อว่าพ่อแม่ของเด็กกลุ่มโรคออทิสติกมักประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีความบกพร่องด้านความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินเย็นชาโดยเปรียบเทียบพ่อแม่ลักษณะนี้ว่าเป็นพ่อแม่ตู้เย็น ซึ่งการศึกษาในปัจจุบันไม่พบว่าการเลี้ยงดู หรือระดับความสำเร็จของพ่อแม่ มีความสัมพันธ์กับการเกิดกลุ่มโรคออทิสติก แต่อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ของเด็กกลุ่มโรคออทิสติก ก็มักประสบภาวะตึงเครียดจากการดูแลเด็กกลุ่มนี้ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะวิตกกังวล หรือซึมเศร้าได้
กลุ่มโรคออทิสติกมีอาการอย่างไร?
อาการของเด็กกลุ่มโรคออทิสติก มีดังนี้ คือ
-ความผิดปกติด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social disturbance)
เป็นความบกพร่องที่มีความรุนแรงมากที่สุดของกลุ่มโรคออทิสติกและดำเนินอยู่ตลอดในแต่ละช่วงวัย โดยกลุ่มออทิสติกที่มีความบกพร่องทางสังคมน้อยถือว่ามีการพยากรณ์โรคที่ดี ความบกพร่องทางสังคมได้แก่
- ไม่มองหน้า ไม่สบตา แม้นขณะสนทนาหรือมีกิจกรรมร่วมกัน
- ไม่แสดงสีหน้าท่าทาง ไม่ยิ้ม ดูเป็นเด็กหน้าเฉย ดูไร้อารมณ์
- ไม่มีภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสาร เช่น ไม่ชี้นิ้วบอกถึงสิ่งที่ต้องการ แต่จะจูงมือแม่ไปยังสิ่งที่ต้องการแทน ไม่พยักหน้า หรือส่ายหน้าเพื่อบอกว่าเอาหรือไม่เอา
- ไม่หันหาเสียงเรียกชื่อ แต่สนใจเสียงชนิดอื่นแทน ไม่สนใจฟังเวลาพูดคุยด้วย
- ขาดความสนใจร่วมกับผู้อื่น (Joint attention) โดยปกติ เด็กปกติจะมีความสนใจร่วมตามลำดับขั้นของพัฒนาการดังนี้
- อายุ 10 - 12 เดือน มองตามสิ่งที่พี่เลี้ยงชี้ชวนให้ดู
- อายุ 12 - 14 เดือน ชี้เพื่อบอกสิ่งที่ตนต้องการ
- อายุ 14 - 16 เดือน ชี้สิ่งที่ตนสนใจ และชี้ชวนให้พี่เลี้ยงสนใจด้วย
- เล่นคนเดียว หรืออยู่ตามลำพัง ไม่สนใจเข้าไปเล่นกับเด็กคนอื่น หรือถ้าสนใจเล่นกับเด็กอื่นก็เล่นไม่เป็น ไม่เข้ามาหาพ่อแม่เพื่อชวนเล่นด้วยหรืออวดของเล่น มีความบกพร่อง ของพัฒนาการด้านการเล่น พัฒนาการด้านการเล่นของเด็กปกติได้แก่
- อายุ 4 เดือน เป็นการเล่นโดยใช้ประสาทสัมผัส (Sensory - motor play) เช่น การมอง การสัมผัส การดม การอม
- อายุ 12 - 14 เดือน เข้าใจหน้าที่ของของเล่น (Functional play) เช่น เอาช้อนตักอาหาร เอาโทรศัพท์มาทำท่าโทร
- อายุ 16 - 18 เดือน เล่นสมมุติได้ (Pretend play) แต่ไม่ซับซ้อน เช่น ป้อนนมให้ตุ๊กตา
- อายุ 2 ปี อยากเล่นกับเด็กอื่น เข้าไปนั่งเล่นข้างๆ แต่ยังไม่มีปฏิสัมพันธ์ (Pa rallel play)
- อายุ 3 ปี เล่นแบบมีปฏิสัมพันธ์ และเล่นสมมุติเป็นเรื่องราว (Interactive and imaginative play)
- ไม่แสดงท่าทางดีใจเมื่อพบพ่อแม่ เช่น ยิ้ม วิ่งมาหา หรือ เข้ามากอด และไม่ร้องตามเมื่อพ่อแม่จากไป รวมถึงไม่กลัวคนแปลกหน้า
- ไม่เข้ามาแสดงความรักกับพ่อแม่ เช่น การกอด การจูบ การเข้ามาซบอก
- ไม่วิ่งมาหาพ่อแม่เพื่อขอความช่วยเหลือหรือให้ปลอบเมื่อได้รับบาดเจ็บ
- ไม่เข้าใจสถานการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อน ดูเหมือนไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของตนเองและของผู้อื่น ไม่สามารถแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม
- ไม่รู้จักแบ่งขนม หรือของเล่นให้เด็กคนอื่น
- ไม่สามารถทำท่าเลียนแบบผู้ใหญ่ได้ เช่น แต่งหน้า หวีผม
-ความผิดปกติด้านภาษาและการสื่อสาร (Impairment in language and communi cation) มีปัญหาพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า เป็นอาการแสดงที่นำเด็กกลุ่มโรคออทิสติกมาพบแพทย์บ่อยที่สุด โดย 50% ของเด็กกลุ่มโรคนี้ไม่สามารถใช้ภาษาพูดเพื่อการสื่อสารได้ โดยความผิดปกติด้านภาษาและการสื่อสารที่พบในเด็กกลุ่มโรคออทิสติกได้แก่
- พัฒนาการด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารล่าช้าหรือไม่สามารถพูดได้เลย
- ไม่สามารถใช้ภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสาร
- เรียกชื่อไม่หัน ไม่เข้าใจคำสั่ง ไม่สนใจฟังเวลาพูดด้วย
- ในรายที่สามารถพูดได้ จะไม่สามารถเริ่มต้นการสนทนาและดำเนินการสนทนาได้อย่างต่อเนื่องตรงตามวัตถุประสงค์ ตอบไม่ตรงคำถาม
- พูดคำหรือวลีที่ไม่มีความหมาย ซ้ำ ๆ หรือส่งเสียงไม่เป็นภาษา พูดเล่นเสียง
- พูดทวนคำที่คนอื่นพูดจบ หรือพูดตามโทรทัศน์ ทั้งแบบทันทีทันใดหรือสักระยะหลังจากได้ยิน
- ใช้ภาษาผิดปกติ โดยใช้คำที่ตนเองเข้าใจความหมายเท่านั้น
- โทนเสียงในการพูดผิดปกติ เช่น พูดระดับเสียงเดียว พูดเสียงสูง หรือ พูดเสียงต่ำ
- เข้าใจภาษาแบบตรงไปตรงมาตามตัวหนังสือ ทำให้ไม่เข้าใจมุกตลก สุภาษิต หรือสำ นวนคำพังเพย
-ความผิดปกติของพฤติกรรม
- มีพฤติกรรมที่ซ้ำๆ เช่น ฟังเพลงเดิมๆ ดูการ์ตูนเรื่องเดิม ติดของบางอย่างมากเกินไป
- ชอบดูของหมุนๆ เช่น พัดลม เครื่องซักผ้า ล้อรถหมุน
- สนใจแต่บางส่วนของวัตถุ
- เอาของเล่นมาต่อเรียงเป็นแถว
- กิจวัตรประจำวันมีแบบแผนเฉพาะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น กินยาก กินแต่อาหารชนิดเดิมๆ ดูเป็นเด็กเจ้าระเบียบกว่าเด็กวัยเดียวกัน
- มีการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ เช่น สะบัดมือ หมุนตัว เขย่งเท้า โยกตัว โขกศีรษะ ทำร้ายร่างกายตัวเอง
- ปรับตัวยากต่อการเปลี่ยนแปลง
- ในกลุ่มที่มีความสามารถสูง จะมีความสนใจเฉพาะเรื่อง จนกลายเป็นความสามารถพิเศษ มีการสะสมของที่สนใจ พูดแต่เรื่องที่ตนเองสนใจ
- เล่นของเล่นไม่เป็น มักเอามาเคาะ โยน ถือ ดม หรือเอาเข้าปาก
- ตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากหรือน้อยเกินไป เช่น ไม่สามารถทนเสียงดังได้ ชอบทำให้เกิดเสียงดังๆแล้วหัวเราะชอบใจ ทำร้ายร่างกายตัวเอง
- สนใจต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่คน ไม่สนใจสิ่งเร้าทางสังคม เช่น การยิ้มการทักทาย มักสน ใจเสียงที่ไม่ใช่เสียงคน และไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกชื่อหรือเสียงพูดเพื่อการสื่อสาร
-เชาวน์ปัญญา 50%ของเด็กกลุ่มโรคออทิสติกมีความบกพร่องของระดับเชาวน์ปัญญา โดยความสามารถด้านภาษาจะบกพร่องมากกว่าความสามารถด้านการกระทำ หรือการเคลื่อน ไหว ระดับเชาวน์ปัญญาที่ต่ำ สัมพันธ์กับการเกิดอาการชักร่วมด้วย และเป็นปัจจัยการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี
-อายุที่เริ่มมีอาการ เด็กกลุ่มโรคออทิสติกจะมีอาการก่อนอายุ 3 ปี ส่วนใหญ่พบอาการช่วง 2 ขวบปีแรก และ 1 ใน 4 ของพ่อแม่ รายงานว่าลูกมีพฤติกรรมด้านภาษา และสังคมถดถอยหลังจากเริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมายได้ไม่กี่คำ
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มโรคออทิสติกอย่างไร?
เกณฑ์การวินิจฉัยกลุ่มโรคออทิสติก (4 โรค) ขององค์การอนามัยโลกและสมาคมจิตแพทย์อเมริกา คือ
-1. โรคออทิสติก (Autistic disorder/Autism)
ก. มีอาการครบ 6 ข้อ โดยมีอาการจากข้อ (1) อย่างน้อย 2 ข้อ และมีอาการจากข้อ (2) และข้อ (3) อย่างน้อยข้อละ 2 อาการ
(1) ความผิดปกติของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างน้อย 2 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.1 ไม่สามารถใช้ภาษาท่าทางสื่อสารทางสังคมกับบุคคลอื่น เช่น การสบตา การแสดงอารมณ์ความรู้สึกทางสีหน้า และภาษาท่าทางอื่นๆ เพื่อการสื่อสาร
1.2 ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลให้เหมาะสมตามวัย
1.3 ขาดความสามารถในการแสวงหาการมีกิจกรรม ความสนใจ และความสนุก สนานร่วมกับผู้อื่น
1.4 ขาดทักษะการสื่อสารทางสังคมและทางอารมณ์กับบุคคลอื่น
(2) ความผิดปกติด้านการสื่อสารอย่างน้อย 1 ข้อ ดังต่อไปนี้
2.1 มีความล่าช้าหรือไม่มีการพัฒนาในด้านภาษาพูด
2.2 ในรายที่สามารถพูดได้แล้วแต่ไม่สามารถที่จะเริ่มต้นบทสนทนาหรือโต้ตอบบทสนทนากับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม
2.3 พูดซ้ำๆ หรือมีรูปแบบจำกัดในการใช้ภาษา เพื่อสื่อสารหรือส่งเสียงไม่เป็นภาษา (ภาษาต่างดาว) อย่างไม่เหมาะสม
2.4 ไม่สามารถเล่นสมมุติหรือเล่นลอกตามจินตนาการได้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ
(3) มีพฤติกรรม ความสนใจ และกิจกรรมที่ซ้ำๆ และจำกัด อย่างน้อย 1 ข้อ ดังต่อไปนี้
3.1 มีความสนใจที่ซ้ำๆ อย่างผิดปกติ
3.2 มีกิจวัตรประจำวันหรือกฎเกณฑ์ที่ต้องทำโดยไม่สามารถยืดหยุ่นได้ ถึงแม้นว่ากิจวัตรหรือกฎเกณฑ์นั้นจะไม่มีประโยชน์
3.3 มีการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ เช่น สะบัดมือ เล่นมือ หมุนตัว
3.4 สนใจเพียงบางส่วนของวัตถุ
ข. พบความผิดปกติอย่างน้อย 1 ด้านดังต่อไปนี้ (โดยอาการเกิดก่อนอายุ 3 ขวบ)
- ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
- การใช้ภาษาเพื่อสื่อความหมาย
- การเล่นสมมติหรือการเล่นตามจินตนาการ
ค. ความผิดปกติที่พบไม่เข้าเกณฑ์วินิจฉัยของความผิดปกติจากโรคอื่นๆ เช่น โรคกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome)
-2. โรค Rett’s disorder
ก. มีความปกติทุกข้อดังต่อไปนี้
1) มีประวัติการตั้งครรภ์และการคลอดผิดปกติ
2) ขนาดเส้นรอบศีรษะปกติตอนแรกเกิด
3) มีพัฒนาการปกติช่วง 5 เดือนแรก
ข. หลังจากช่วงพัฒนาการปกติพบความผิดปกติดังนี้
1) การเจริญเติบโตของศีรษะหยุดชะงักเมื่ออายุ 5 เดือน - 4 ปี ทำให้มีศีรษะขนาดเล็ก
2) สูญเสียความสามารถในการใช้มือและมีการเคลื่อนไหวมือซ้ำๆ ที่มีลักษณะจำเพาะเมื่ออายุ 5 - 30 เดือน
3) ทักษะทางสังคมถดถอย
4) มีปัญหาการเดินและการทรงตัว
5) พบความบกพร่องของพัฒนาการด้านภาษาทั้งการเข้าใจภาษาและการสื่อความหมาย รวมถึงมีความบกพร่องของพัฒนาการด้านอื่นอย่างรุนแรง
3. โรค Childhood Disintegrative Disorder (CDD)
ก. พัฒนาการปกติอย่างน้อยช่วง 2 ขวบปีแรก โดยมีพัฒนาการปกติด้านต่างๆ ดังนี้
- การใช้ภาษาและการสื่อสาร
- ทักษะสังคม
- การเล่น
- และพฤติกรรมการปรับตัว
ข. ช่วงอายุ 2 - 10 ปี มีการสูญเสียทักษะดังต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ด้าน
1) ภาษา : การเข้าใจภาษาหรือการสื่อสาร
2) ทักษะสังคมหรือพฤติกรรมการปรับตัว
3) การควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ
4) การเล่น
5) พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว
ค. มีความผิดปกติดังต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ด้านได้แก่
- ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
- การสื่อสาร
- มีพฤติกรรมหรือความสนใจที่ซ้ำๆ หรือจำกัด
4. โรค Asperger’s Disorder ผู้ป่วยมีอาการเหมือนเด็กโรคออทิสติก/Autism ทุกอย่างยกเว้น พัฒนาการภาษา และระดับเชาวน์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ก.ความผิดปกติของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างน้อย 2 ข้อ ดังต่อไปนี้
1) ไม่สามารถใช้ภาษาท่าทางสื่อสารทางสังคมกับบุคคลอื่น เช่น การสบตา การแสดงอารมณ์ความรู้สึกทางสีหน้า และภาษาท่าทางอื่นๆ เพื่อการสื่อสาร
2) ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลให้เหมาะสมตามวัย
3) ขาดความสามารถในการแสวงหาการมีกิจกรรม ความสนใจ และความสนุก สนานร่วมกับผู้อื่น
4) ขาดทักษะการสื่อสารทางสังคมและอารมณ์กับบุคคลอื่น
ข. มีพฤติกรรม ความสนใจ และกิจกรรมที่ซ้ำๆ และจำกัด อย่างน้อย 1 ข้อ ดังต่อไปนี้
1) มีความสนใจที่ซ้ำๆ อย่างผิดปกติ
2) มีกิจวัตรประจำวันหรือกฎเกณฑ์ที่ต้องทำโดยไม่สามารถยืดหยุ่นได้ ถึงแม้นว่ากิจวัตร หรือกฎเกณฑ์นั้นจะไม่มีประโยชน์
3) มีการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ เช่น สะบัดมือ เล่นมือ หมุนตัว
4) สนใจเพียงบางส่วนของวัตถุ
ค. พัฒนาการด้านภาษาและพัฒนาการด้านอื่นๆ(ยกเว้นด้านสังคม) ปกติ
มีความผิดปกติหรืออาการที่พบร่วมกับกลุ่มโรคออทิสติกไหม?
มีความผิดปกติหรืออาการที่พบร่วมกับกลุ่มโรคออทิสติกได้ คือ
- ปัญญาอ่อน: เด็กกลุ่มโรคออทิสติก 70% มีภาวะปัญญาอ่อนร่วมด้วยยกเว้น โรค Asperger’s disorder จะมีระดับเชาวน์ปัญญาปกติ
- ชัก: เด็กกลุ่มโรคออทิสติก มีโอกาสชักสูงกว่าประชากรทั่วไป และพบว่าการชักสัมพันธ์กับ IQ ต่ำ โดย 25% ของเด็กกลุ่มที่มี IQ ต่ำจะพบอาการชัก แต่พบอาการชักในกลุ่มมี IQ ปกติเพียง 5% ส่วนใหญ่อาการชักมักเริ่มในวัยรุ่น โดยช่วงอายุที่มีโอกาสชักมากที่สุดคือ 10 -14 ปี
- พฤติกรรมซน/อยู่ไม่นิ่ง/หุนหันพลันแล่น/ขาดสมาธิ พบบ่อย ส่งผลกระทบต่อปัญ หาการเรียน และการทำกิจกรรมอื่นๆ
- พฤติกรรมก้าวร้าวและพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง พบบ่อย มีสาเหตุจากการไม่สามารถสื่อสารความต้องการได้ และกิจวัตรประจำวันที่ปฏิบัติเป็นประจำไม่สามารถทำได้ตามปกติ พบปัญหานี้บ่อยมากขึ้นในช่วงวัยรุ่น ส่วนพฤติกรรมทำร้ายตัวเองพบบ่อยในโรคกลุ่มที่มี IQ ต่ำ
- ปัญหาการนอน พบปัญหาการนอนได้บ่อยในเด็กกลุ่มโรคออทิสติกโดยเฉพาะปัญหานอนยาก นอนน้อย และนอนไม่เป็นเวลา
- ปัญหาการกิน กินยาก เลือกกิน กินอาหารเพียงบางชนิด กินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร
- มีการเคลื่อนไหว และการทรงตัวผิดปกติ
- มีปัญหาทางอารมณ์
ในเด็กกลุ่มโรคออทิสติก ควรตรวจอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง?
เด็กกลุ่มโรคออทิสติก ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้
1. ตรวจการได้ยิน เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าด้านการพูด และภาษาควรตรวจการได้ยินทุกราย
2. ตรวจวัดระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) หรือระดับพัฒนาการ ควรตรวจระดับเชาวน์ปัญญาและพัฒนาการด้านอื่นๆด้วย เพื่อบอกการพยากรณ์โรคและวางแผนการรักษาต่อไป
3. ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ตรวจในกรณีสงสัยอาการชัก ได้แก่ มีอาการเหม่อจ้องมองโดยไร้จุดหมายร่วมกับมีอาการไม่รู้สึกตัว ประวัติพัฒนาการถดถอย หรือตรวจพบความผิดปกติของระบบประสาท
4. ตรวจโครโมโซม ส่งตรวจในกรณีพบลักษณะความผิดปกติที่จำเพาะต่อโรคทางพันธุ กรรม หรือมีภาวะปัญญาอ่อนหรือพัฒนาการบกพร่องในครอบครัว
รักษาเด็กกลุ่มโรคออทิสติกอย่างไร?
กลุ่มโรคออทิสติก ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป้าหมายของการรักษาคือการส่ง เสริมพัฒนาการและลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้ใกล้เคียงเด็กปกติมากที่สุด การวินิจฉัยและได้รับการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย และต่อเนื่องทำให้ผลการรักษาดี โดยวิธีการรักษาที่เหมาะสมคือ บูรณาการ การรักษาด้านต่างๆเข้าด้วยกันตามความจำเป็นของเด็กแต่ละคน วิธีการรักษา ได้แก่
- การปรับพฤติกรรมและฝึกทักษะทางสังคม เพื่อเพิ่มพฤติกรรมที่เหมาะสมและลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การลดพฤติกรรมซ้ำๆ การลดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง แนวคิดพื้น ฐานของพฤติกรรมบำบัดคือ ถ้าผลที่ตามมาหลังเกิดพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ชอบก็จะทำให้พฤติกรรมเพิ่มขึ้น แต่ถ้าผลที่เกิดขึ้นหลังพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ไม่ชอบก็จะทำให้พฤติกรรมลดลง โดยมีเทค นิคการปรับพฤติกรรมที่หลากหลาย เช่น การให้รางวัล/คำชมเมื่อมีพฤติกรรมที่เหมาะสม การเพิกเฉยเมื่อเด็กงอแง หรือการเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปยังสิ่งอื่นที่เด็กชอบในขณะที่เด็กงอ แง
- การฝึกพูด เป็นการรักษาที่สำคัญโดยเฉพาะในรายที่มีพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อความหมายล่าช้า การฝึกการสื่อสารได้เร็วเท่าไหร่จะทำให้เด็กเรียนรู้จากการใช้ภาษาได้เร็วเท่า นั้น และช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดจากการไม่สามารถสื่อสารความต้องการได้
- การส่งเสริมพัฒนาการ ส่งเสริมพัฒนาการด้านอื่นที่ล่าช้าควบคู่กับการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร สังคม และการปรับพฤติกรรม
- การศึกษาพิเศษ มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาทักษะสังคม การสื่อสาร และพัฒนาการด้านอื่นๆ ควรจัดบริการการศึกษาที่มีระบบชัดเจน ไม่มีสิ่งเร้าที่มากเกินไป และมีครูการศึกษาพิเศษดูแลโดยควรวางแผนการศึกษาร่วมกันระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียน ควรจัดกิจกรรมและการเรียนการสอนช่วงหยุดเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อให้เด็กมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเด็กสามารถพัฒนาความสามารถด้านการช่วยเหลือตัวเอง ภาษา สังคม และจัดการกับปัญหาพฤติกรรมที่รบกวนได้แล้ว สามารถเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติได้เพื่อพัฒนาความ สามารถทางสังคมต่อไป โดยมีการจัดแผนการสอนเฉพาะบุคคล (Individual Educational Plan;IEP) และนำกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการและการปรับพฤติกรรมไปประยุกต์ใช้ร่วมกับการศึกษาด้วย
หากมีข้อจำกัดด้านพัฒนาการ หรือปัญหาพฤติกรรม ก็จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนพิ เศษเฉพาะเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ชั้นเรียนปกติต่อไป
- การฝึกอาชีพ การฝึกอาชีพให้เหมาะสมตามความสามารถเป็นการฟื้นฟูศักยภาพและเตรียมพร้อมเพื่อการดำรงชีวิตอย่างอิสระ
- การช่วยเหลือครอบครัว ส่งเสริมให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรค การดำเนินโรค พัฒนาทักษะในการดูแล ให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจเมื่อครอบครัวเผชิญกับความเครียด และเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของผู้ดูแลเด็ก
- การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาเพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและช่วยให้ฝึกเด็กได้ง่ายขึ้น การรักษาด้วยยาไม่ได้เป็นการรักษาอาการหลักของโรค
ยาที่ใช้ในการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโรคออทิสติก ได้แก่
- Methylphenidate (Ritalin) ช่วยลดอาการไม่นิ่ง/ซน/หุนหันพลันแล่น/ขาดสมาธิผลข้างเคียงของยา ได้แก่ หงุดหงิด กระวนกระวาย กินไม่ได้นอนไม่หลับ คลื่นไส้
- Risperidone/Haloperidol ช่วยลดอาการอยู่ไม่นิ่ง หงุดหงิด หุนหันพลันแล่น พฤติกรรมซ้ำๆ พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ผลข้างเคียงได้แก่ ตัวแข็ง น้ำลายไหล พูดลำบาก ปากขมุบขมิบ ง่วงนอน
- ยาในกลุ่ม Anticonvulsant (ยากันชัก) เช่น Sodium valproate (Depakine), Carbamazepine (Tegretol) ใช้ได้ผลในรายที่มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง ควรมีการตรวจระดับยาในเลือด และติดตามผลการรักษา และผลข้างเคียงของยาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ผลข้างเคียงของยา คือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาจกดการทำงานของไขกระดูก และอาจทำให้ผิวหนังเกิดผื่นแพ้ทั้งตัว
กลุ่มโรคออทิสติกมีธรรมชาติของโรคเป็นอย่างไร? อะไรเป็นปัจจัยถึงผลการรักษาที่ดี?
ลักษณะตามธรรมชาติของโรคของเด็กกลุ่มโรคออทิสติก คือ อาการจะครบเกณฑ์การวิ นิจฉัย ในช่วงอายุ 3 ขวบ (Pre – school age)
เมื่อเข้าวัยเรียนจะมีพัฒนาการด้านภาษาและสังคมดีขึ้น แต่จะพบปัญหาพฤติกรรม และการกระตุ้นตัวเอง (พฤติกรรมซ้ำๆ เช่น เล่นเสียง เล่นมือ) รวมถึงพฤติกรรมทำร้ายตัวเองด้วย
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น จะเป็นช่วงที่มีปัญหามากที่สุด เช่น ชัก อยู่ไม่นิ่ง/กระสับกระส่าย เฉื่อยชา พฤติกรรมก้าวร้าว ปัญหาพฤติกรรมทางเพศ และการสูญเสียทักษะต่างๆที่เคยทำได้ เช่น ทักษะสังคม การสื่อสาร และพัฒนาการด้านอื่นๆ โดยพบได้ประมาณ 10% ซึ่งพัฒนาการที่สูญ เสียไปมักจะไม่กลับคืนมาเหมือนปกติ
กลุ่มโรคออทิสติก เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต เมื่อเป็นผู้ใหญ่มีเพียง 1 ใน 3 ที่สามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้ มีเพียง 1 - 2% ที่สามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติ ทั้งนี้
- ปัจจัยที่บอกถึงผลลัพธ์การรักษาที่ดี ได้แก่
- ระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) มากกว่า 70 หรือไม่มีภาวะปัญญาอ่อนร่วมด้วย
- สามารถพูดสื่อสารได้ก่อนอายุ 5 ขวบ
- ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาเร็ว และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- ไม่มีความผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น อาการชัก
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
บิดา มารดา ผู้เลี้ยงดูเด็ก ควรสังเกตพฤติกรรม และการพัฒนาของเด็กเสมอตั้งแต่แรกเกิด และเมื่อพบความผิดปกติ ที่ควรรีบนำเด็กพบแพทย์ คือ
- อายุ 1 ขวบแล้ว ยังไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ หรือไม่ชี้นิ้วหรือไม่มีภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสาร
- อายุ 16 เดือนแล้ว ยังไม่สามารถพูดเป็นคำ 1 พยางค์ได้
- อายุ 2 ขวบ ยังไม่พูด 2 พยางค์ติดกัน (วลี) ได้
- สูญเสียทักษะด้านภาษา หรือสังคมทุกช่วงอายุ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ และการวินิจฉัยโรค
บรรณานุกรม
- จริยา จุฑาภิสิทธิ์ และจุฑามาส วรโชติกำจร.กลุ่มอาการออทิซึม ( Autism Spectrum Disorders ). ใน:ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์, ชาคริยา ธีรเนตร, อดิศร์สุดา เฟื่องฟู, สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงษ์,พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์. บรรณาธิการ.ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กสำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป.กรุงเทพฯ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์,2554:324 – 48.
- ชาญวิทย์ พรนภดล.Autism and the Pervasive Developmental Disorders. ใน: วินัดดา ปิยะศิลป์, พนม เกตุมาน. บรรณาธิการ. ตำราจิตเวชเด็กและวัยรุ่น.กรุงเทพฯ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์, 2545:141 – 66.
- เพ็ญแข ลิ่มศิลา. Pervasive Developmental Disorders.ใน: วินัดดา ปิยะศิลป์, พนม เกตุมาน. บรรณาธิการ. ตำราจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เล่ม 2.กรุงเทพฯ:ธนาเพลส, 2550:97 – 105.
- Goodman R, Scott S. Autism Spectrum Disorders. Child Psychiatry. Oxford: Blackwell Publishing, 2005:43-51.
- Volkmar F, Lord Catherine, Klin A, Schultz R, Cook E.Autism and the pervasive developmental disorders,In: Martin A , Volkmar FR, editors. Lewis’s Child and Adolescent Psychiatry A Comprehensive Textbook.Philadelphia: Lippincott Williams &Wikins; 2007. p.384-400.