แซนทีน อนุพันธ์แซนทีน (Xanthine derivatives)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อนุพันธ์แซนทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- อนุพันธ์แซนทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อนุพันธ์แซนทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อนุพันธ์แซนทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อนุพันธ์แซนทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อนุพันธ์แซนทีนอย่างไร?
- อนุพันธ์แซนทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอนุพันธ์แซนทีนอย่างไร?
- อนุพันธ์แซนทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยา (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหืด(Asthma)
- โรคสมองเสื่อม
- โรคควาดันโลหิตสูง(Hypertension)
- โรคลมชัก(Epilepsy)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาแซนทีน (Xanthine) หรือยาในกลุ่มอนุพันธ์แซนทีน (Xanthine derivative) หรือMethylated xanthines หรือ Methylxanthines เป็นสาร อินทรีย์เคมีชนิดหนึ่งที่พบมากในสัตว์และพืช โดยจะอยู่ตามเนื้อเยื่อรวมถึงของเหลวต่างๆของสิ่งมี ชีวิต อนุพันธ์แซนทีนที่นำมาใช้รักษาทางคลินิกจะเป็นกลุ่มสารแอลคาลอยด์ (Alkaloid) ที่มีฤทธิ์กระตุ้นร่างกายอย่างอ่อนๆและช่วยให้เกิดการขยายตัวของหลอดลม จึงเป็นที่มาของยารักษาอาการโรคหืด ตัวอย่างสารอนุพันธ์แซนทีนที่มีประโยชน์ในการรักษาอาการป่วยเช่น Caffeine, Aminophylline, Paraxanthine, Pentoxifylline, Theobromine, Theophylline
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาอนุพันธ์แซนทีนจะมีทั้งยารับประทาน ยาฉีด และยาเหน็บทวาร เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีการดูดซึมยาอนุพันธ์แซนทีนเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดกลไกเปลี่ยนแปลงทางเคมีรวมถึงการกำจัดยาออกจากร่างกายที่แตกต่างกันออกไปตามธรรมชาติของอนุพันธ์แซนทีนแต่ละตัว
ผลิตภัณฑ์ของสารอนุพันธ์นี้มีใช้ตามสถานพยาบาลทั่วไปและมีจำหน่ายตามร้านขายยา การเลือกใช้ยาอนุพันธ์ของแซนทีนต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์หลังผู้ป่วยได้รับการตรวจคัดกรองอาการโรคของผู้ป่วยเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
อนุพันธ์แซนทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอนุพันธ์แซนทีนมีสรรพคุณรักษา /ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้กระตุ้นประสาทส่วนกลาง ลดอาการวิตกกังวล เช่น Caffeine
- รักษาอาการโรคหืด ช่วยขยายหลอดลม เช่นยา Aminophylline, Theophylline
- รักษาโรคสมองเสื่อมเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เช่นยา Pentoxifylline
- รักษาโรคความดันโลหิตสูงและกระตุ้นการเต้นของหัวใจ เช่นยา Theobromine
อนุพันธ์แซนทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอนุพันธ์แซนทีนออกฤทธิ์โดยเข้าไปยับยั้งการทำงานของสาร Phosphodiesterase (เอนไซม์ชนิดหนึ่งที่ใช้ในกระบวนการทำงานของเซลล์หลายชนิด) ส่งผลให้เกิด
- การเพิ่มระดับของ cAMP (Cyclic adenosine monophosphate, สารใช้ในการทำงานต่างๆของเซลล์) ในระดับเซลล์
- ยับยั้งการทำงานของ TNF-alpha (Tumor necrosis factor-alpha, สารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ)
- ลดการสังเคราะห์ Leukotriene (สารที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเลือดขาว) ทำให้ชะลอการสร้าง Histamine และ Prostaglandins (สารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆของเซลล์เช่น การทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ)
- เข้าแข่งขันและแย่งจับกับตัวรับที่มีชื่อว่า Adenosine receptor (สารที่เกี่ยวข้องกับการทำ งานของเซลล์ระบบประสาท)
จากกลไกข้างต้นจึงทำให้ลดการอักเสบของระดับเซลล์และก่อให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
อนุพันธ์แซนทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาอนุพันธ์แซนทีนในประเทศไทยจะเป็นลักษณะของยาเม็ด, ยาแคปซูล ,ยาน้ำชนิดรับประทาน, และยาฉีด
อนุพันธ์แซนทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยาอนุพันธ์แซนทีนจะขึ้นกับตัวยาแต่ละชนิดและดุลยพินิจของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลของตัวผู้ป่วยร่วมกับการเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการรับประทานจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอนุพันธ์แซนทีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้แล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอนุพันธ์แซนทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอนุพันธ์แซนทีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อนุพันธ์แซนทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาจพบผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยาอนุพันธ์แซนทีน เช่น
- คลื่นไส้- อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- นอนไม่หลับ
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- แสบร้อนกลางหน้าอก
- ปวดท้องมาก
- กระสับกระส่าย
- รู้สึกสับสน
- ปัสสาวะบ่อย
- เบื่ออาหาร
- เจ็บหน้าอก
- หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
*อนึ่ง: สำหรับอาการของผู้ที่ได้รับยากลุ่มนี้เกินขนาดจะพบอาการ
- หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้า ผิดปกติ
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้- อาเจียน
- นอนไม่หลับ
- กระสับกระส่าย
- ปวดหัว
- กระหายน้ำ
- มีไข้
- กล้ามเนื้อกระตุก
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เหงื่อออกมาก
- หายใจเร็ว
*****ซึ่ง หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
มีข้อควรระวังการใช้อนุพันธ์แซนทีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอนุพันธ์แซนทีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้
- ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยากับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ ผู้ป่วยด้วยแผลในกระเพาะอาหาร – ลำไส้ ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง/ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคลมชัก และผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มนี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (Caffeine) เช่น ชา กาแฟ โคลา หรือเครื่องดื่มที่มีช็อกโกแลตเป็นองค์ประกอบ ด้วยจะเพิ่มผลข้างเคียงของยาต่อผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมอนุพันธ์แซนทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อนุพันธ์แซนทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอนุพันธ์แซนทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา Aminophylline ร่วมกับยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะบางตัว เช่นยา Doxycycline และ Tetracycline อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของ Aminophylline มากยิ่งขึ้น การใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยา Theophylline ร่วมกับ ยาลดความดันยาลดความดันเลือดบางตัวสามารถทำให้ฤทธิ์ในการควบคุมความดันโลหิตด้อยประสิทธิภาพลงไป พร้อมกับอาจมีอาการต่างๆเหล่านี้ตามมาเช่น คลื่นไส้- อาเจียน นอนไม่หลับ ตัวสั่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น ยาลดความดันโลหิตดังกล่าว เช่นยา Acebutolol, Atenolol, Esmolol, Metoprolol , และ Nadolol
- การใช้ยา Pentoxifylline ร่วมกับยาต้านแบคทีเรีย เช่นยา Cyprofloxacin สามารถทำให้ปริมาณยา Pentoxifylline ในกระแสเลือดมีระดับสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ของยาทั้ง 2 ตัวให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษาอนุพันธ์แซนทีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาอนุพันธ์แซนทีน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
อนุพันธ์แซนทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอนุพันธ์แซนทีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Amino Patar (อะมิโน พาตาร์) | Patar Lab |
Aminophylline A.N.H. (อะมิโนฟิลลีน เอ.เอ็น.เฮช) | A N H Products |
Aminophylline Atlantic (อะมิโนฟิลลีน แอตแลนติก) | Atlantic Lab |
Aminophylline Greater Pharma (อะมิโนฟิลลีน เกรทเตอร์ ฟาร์มา) | Greater Pharma |
Aminophylline Union Drug (อะมิโนฟิลลีน ยูเนียน ดรัก) | Union Drug |
Almarion (อัลมาเรียน) | Chew Brothers |
Almasal (อัลมาซอล) | Chew Brothers |
Asiabron (เอเซียบรอน) | Asian Pharm |
Asma-Dec (แอสมา-เดค) | Medicine Products |
Asmasolon (แอสมาโซลอน) | Great Eastern |
Bronchil (บรอนชิล) | Siam Bheasach |
Brondry (บรอนดราย) | Suphong Bhaesaj |
Chintasma (จินทัสมา) | Chinta |
Duralyn-CR (ดูรารีน-ซีอาร์) | Raptakos |
Forasma (ฟอราสมา) | The Forty-Two |
Franol (ฟรานอล) | sanofi-aventis |
Mila-Asma (มิรา-แอสมา) | Milano |
Nuelin SR (นิวลิน เอสอาร์) | iNova |
Polyasma (โพลีแอสมา) | Pharmasant Lab |
Polyphed (โพลีเฟด) | Pharmasant Lab |
Qualiton (ควอลิตัน) | T.O. Chemicals |
Sinmaline (ซินมาไลน์) | SSP Laboratories |
Sinoline (ไซโนไลน์) | SSP Laboratories |
S-Phylline (เอส-ฟิลลีน) | Umeda |
Temaco (เทมาโก) | Nakornpatana |
Theocap (ทีโอแคพ) | A N H Products |
Theolin (ทีโอลิน) | T. Man Pharma |
Theophylline Medicine Products (ทีโอฟิลลีน เมดิซีน โพรดักซ์) | Medicine Products |
Theori-200 (ทีโอรี-200) | Meditab |
Theotrim (ทีโอทริม) | Trima |
Xanthium (แซนเทียม) | SMB |
Cerator (เซเรเตอร์) | Unison |
Ceretal (เซเรทัล) | Taiwan Biotech |
Trental 400 (เทรนทัล 400) | sanofi-aventis |
Trepal-400 (ทรีพอล-400) | Okasa Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Xanthine[2021,Jan30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Theophylline [2021,Jan30]
- https://www.medicinenet.com/xanthine_derivatives-oral/article.htm [2021,Jan30]
- http://www.druginfo.info/categories/91-XANTHINE-DERIVATIVES-ORAL[2021,Jan30]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=pentoxifylline [2021,Jan30]
- https://www.mims.co.uk/drugs/cardiovascular-system/circulatory-disorders/pentoxifylline [2021,Jan30]
- https://www.rxlist.com/trental-drug.htm [2021,Jan30]