หูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน หูอื้อจากเปลี่ยนความดันอากาศ (Barotitis)
- โดย นพ.มานพ จิตต์จรัส
- 20 พฤศจิกายน 2556
- Tweet
- ทั่วไป
- หูอื้อจากโดยสารเครื่องบินเกิดได้อย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงของหูอื้อจากการเปลี่ยนความดันอากาศ?
- หูอื้อจากโดยสารเครื่องบินมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไรควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยหูอื้อจากโดยสารเครื่องบินอย่างไร?
- รักษาหูอื้อจากโดยสารเครื่องบินอย่างไร?
- หูอื้อจากโดยสารเครื่องบินมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีหูอื้อจากโดยสารเครื่งบิน? เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันหูอื้อจากโดยสารเครื่องบินได้อย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ทั่วไป
หูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน หรือหูอื้อจากเปลี่ยนความดันอากาศ หรือหูอื้อจากเปลี่ยนความดันบรรยากาศ (Barotitis) เป็นการอักเสบของหูชั้นกลาง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศ/ความดันบรรยากาศ/ความกดดันอากาศ บางคนเรียกว่า Ear Squeeze, Aerotitis, Barotitis media, หรือ Airplane ear จึงทำให้มีการอักเสบหรือ เลือดออกในหูชั้นกลาง มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความสูงอย่างรวดเร็ว จากการบิน การดำน้ำ และในห้องปรับบรรยากาศความดันสูง (Hyperbaric chamber )
หูอื้อจากโดยสารเครื่องบินเกิดได้อย่างไร?
หูชั้นกลางอักเสบ หรือหูอื้อ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความกดดันบรรยากาศ/อากาศ เกิดขื้นได้โดย ปกติหูชั้นกลางมีช่องทางแคบๆ ที่เรียกว่า ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) เป็นท่อเปิดออกสู่ภายนอกในส่วนของลำคอ ทางโพรงหลังจมูก (Nasopharynx) ถ้าอากาศในหูชั้นกลางมีความดันสูงกว่าอากาศภายนอก มันจะดันผ่านออกไปสู่ภายนอกได้ แต่ในทางตรง กันข้าม เมื่ออากาศภายนอก มีความดันสูงกว่าอากาศภายในช่องหูชั้นกลาง จะทำให้ภายในท่อยูสเตเชียน เกิดความดันเป็นลบ (Negative pressure) เยื่อบุท่อยูสเตเชียนจึงถูกดูดเข้ามาติด กันสนิท ทำให้เกิดภาวะท่อตีบตัน ทำให้อากาศไม่สามารถถ่ายเฉลี่ยความกดดันได้ จึงไม่เกิดความสมดุลของความกดดันบรรยากาศระหว่างหูชั้นกลางกับบรรยากาศภายนอก มักเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงความสูง (Altitude) อย่างรวดเร็ว ดังที่พบได้ในภาวะต่อไปนี้
- เครื่องบินที่เปลี่ยนระดับขึ้น-ลงอย่างรวดเร็ว
- การลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ หรือ ดำน้ำลงสู่ความลึกอย่างฉับพลันของนักประดาน้ำ (Scuba)
- ดิ่งพสุธา (Skydiving) ที่ล่วงหล่นอย่างรวดเร็ว
- ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในห้องปรับบรรยากาศความดันสูง (Hyperbaric chamber)
ทั้งนี้ การอุดตันของท่อยูสเตเชียนดังกล่าว ยังมักพบได้ในรายติดเชื้อระบบทางเดินหาย ใจส่วนบน (URI, Upper respiratory tract infection), โรคภูมิแพ้, ไซนัสอักเสบ
ซึ่งการตีบตันของท่อยูสเตเชียนจากการเสียสมดุลของความดันอากาศภายในและภาย นอกหูชั้นกลางนี้ อาจแก้ไขได้โดย การกลืน การหาว การดูดน้ำ/นม และ/หรือการทำ Valsalva manoeuvre (หายใจเข้า แล้วบีบจมูก 2 ข้างและปิดปากให้แน่น แล้วเบ่งลมออก/หายใจออกเบาๆ) ซึ่งทั้งหมด จะทำให้รูเปิดของท่อยูสเตเชียนถ่างออก
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงของหูอื้อจากการเปลี่ยนความดันอากาศ?
ปัจจัยเสี่ยงของหูอื้อจากการเปลี่ยนความดันอากาศ คือ
- เป็นโรคหวัด
- เดินทางโดยเครื่องบิน
- นักประดาน้ำ
- นักดิ่งพสุธา
- นักปีนเขา (High altitude mountain climber)
- High impact sport
- ทารกและเด็กเล็ก ที่ท่อยูสเตเชียนมีขนาดเล็ก จึงปิดเปิดลำบาก
หูอื้อจากโดยสารเครื่องบินมีอาการอย่างไร?
อาการของหูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน/จากเปลี่ยนความดันอากาศ จะมากหรือน้อยขึ้น อยู่กับว่าการอุดตันของท่อยูสเตเชียนนั้นเกิดขึ้นนานเท่าไร รุนแรงเพียงไร และเป็นบ่อยแค่ไหน
รายที่อักเสบปานกลาง จะมีความรู้สึกตึงๆในหู ปวดหู หูอื้อ อาจปวดบริเวณโหนกแก้ม หน้าผาก
ในรายที่อาการรุนแรง จะมีเวียนศีรษะ หน้ามืด มีเสียงในหู และ การได้ยินลดลง อาจมีเลือดออกจากหู จมูก ถ้าเป็นในเด็ก เด็กจะร้องไห้โยเย
อาการเหล่านี้อาจมีเพียงเล็กน้อย หรือ เป็นมาก อาจเกิดขึ้นทันทีขณะอยู่บนเครื่องบิน หรือ ดำน้ำ หรือมีอาการหลังจากนั้นก็ได้ และอาการอาจเป็นอยู่ตลอดเวลา หรือ หายไปเองก็ได้ใน 1-2 วัน
เมื่อไรควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการหูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน/จากเปลี่ยนความดันอากาศ ควรพบแพทย์เสมอเมื่อ อาการหูอื้อยังคงอยู่หลังจากเกิดอาการ 2-3 วันแล้ว, มีอาการมากขึ้น, มีปัญหาทางการได้ยิน, มีน้ำ/ของเหลวออกจากหู, มีเลือดออกทางหู, มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน, และ/หรือมีเลือดออกทางจมูก/เลือดกำเดา หรือ เมื่อกังวลในอาการ
แพทย์วินิจฉัยหูอื้อจากโดยสารเครื่องบินอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะหูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน/จากเปลี่ยนความดันอากาศ ได้จาก อา การ ประวัติที่เป็นปัจจัยเสี่ยง (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) และ อาการแสดง การตรวจร่างกาย การตรวจหู และ/หรือ การตรวจการได้ยิน
การตรวจหู จะพบแก้วหูบุ๋มเข้าใน (Retracted tympanic membrane) อาจพบมีน้ำเลือด ก้อนเลือดในหูชั้นกลาง หรือ ที่แก้วหู รายที่เป็นมาก แก้วหูอาจทะลุหรือฉีกขาด
การตรวจการได้ยิน พบว่า การได้ยินลดลงเป็นแบบที่ไม่ได้เกิดจากเส้นประสาทหู แต่เป็นแบบที่เรียกว่า Conductive hearing loss
รักษาหูอื้อจากโดยสารเครื่องบินอย่างไร?
โดยทั่วไปการรักษาหูอื้อจากโดยสารเรื่องบิน/จากเปลี่ยนความดันอากาศ ถ้าอาการเป็นไม่มาก มักไม่ต้องให้การรักษา อาการจะหายไปใช้เวลาเป็นชั่วโมง หรือ เป็นวัน 1-2 วัน
บางรายที่เป็นมาก ซึ่งพบน้อยราย ต้องทำการผ่าตัด เปิดช่องที่แก้วหู (Myringotomy) เพื่อระบายของเหลว และอากาศที่อยู่ในหูชั้นกลางออก และ อาจใส่ท่อพลาสติกไว้ หรือ ทำผ่า ตัดปิดแก้วหู (Typanoplasty) ในรายที่แก้วหูทะลุ
ในรายที่เป็นโรคหวัด โรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการบิน การดำน้ำ แต่เมื่อมีความจำเป็น และเกิดอาการ ต้องมีการให้ยารักษาอาการ ได้แก่
- ยาแก้ปวด เมื่อมีอาการปวดหู
- ยาลดการบวมของเนื้อเยื่อหู (Decongestant)
- ยาพ่นจมูก/พ่นคอ เพื่อลดอาการบวมของเนื้อเยื่อจมูก/คอ เพื่อช่วยให้ลดการบวมของรูเปิดท่อยูสเตเชียน
- ยาปฏิชีวนะ เมื่อมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ และ/หรือของหูชั้นกลาง
หูอื้อจากโดยสารเครื่องบินมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
โดยทั่วไป การพยากรณ์โรคของหูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน/จากเปลี่ยนความดันอากาศ เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง หายได้เองในระยะเวลาเป็นชั่วโมง หรือ 1-3 วัน โดยไม่มีผลข้างเคียง แต่บางรายที่อาการรุนแรง ที่มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อแก้วหู หรือมีการติดเชื้อรุนแรงของหูชั้นกลาง อาจส่งผลให้หูด้านนั้น มีหูอื้อเรื้อรัง มีเสียงในหูเรื้อรัง มีการได้ยินลดลง หรือ มีหูหนวก ได้
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีหูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน? เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการหูอื้อจากโดยสารเครื่องบน/หูอื้อจากเปลี่ยนความดันอากาศคือ การเปิดท่อยูสเตเชียน โดย กลืน (น้ำลาย น้ำ หรืออาหาร) การหาว เคี้ยวหมากฝรั่ง ดูดน้ำ ดูดลูกกวาดอมยิ้ม และ/หรือ Valsalva manoeuvre
แต่ถ้าดูแลตนเองแล้ว อาการยังคงอยู่นานเกิน 2-3 วัน หรืออาการมากขึ้น ควรพบแพทย์ และเมื่อพบแพทย์แล้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการที่ผิดไปจากเดิม ก็ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด
ป้องกันหูอื้อจากโดยสารเครื่องบินได้อย่างไร?
การป้องกันหูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน/จากเปลี่ยนความดันอากาศ ได้แก่ ไม่ควรทำการบิน หรือ การดำน้ำ (SCUBA) เมื่อเป็นหวัด แต่หากจำเป็น ก็ต้องใช้ยาช่วยก่อนขึ้นเครื่องบินหรือทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเสียสมดุลของความดันอากาศฯ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อการรักษา
นอกจากนั้น คือ ระหว่างเครื่องบิน ขึ้น-ลง/มีการเปลี่ยนความดันอากาศ ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง และ/หรือ พยายามกลืนน้ำลายแรงๆ และบ่อยๆ เพื่อดันให้อากาศผ่านรูเปิดของท่อยูสเตเชียนเข้าไปในหูชั้นกลาง เพื่อปรับความดันอากาศกับความดันในหูชั้นกลางให้อยู่ในสมดุล
อนึ่ง การป้องกันอาการนี้ในทารกและในเด็กเล็ก คือ ให้เด็ก ดูดน้ำนม หรือดูดน้ำ ในช่วงขึ้น-ลงเครื่องบิน
สรุป
อาการ หูอื้อ ปวดหู จากการโดยสารเครื่องบิน โดยทั่วไปมักเป็นอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องให้การรักษา อาการก็จะหายไปในเวลาเป็นชั่วโมง หรือ เป็นวัน ในรายที่ให้การรักษา อาการจะดีขึ้น ส่วนใหญ่ไม่พบว่ามีความผิดปกติของอวัยวะแบบถาวร หรือ การได้ยินลดลง แต่ในรายที่มีอาการมาก อาจพบมีการสูญเสียการได้ยินแบบถาวร เยื่อแก้วหูทะลุ ฉีกขาด หรือ มีการติดเชื้อโรคของหูชั้นกลางได้
บรรณานุกรม
- RUSSELL B. RAYMAN, ET AL., CLINICAL AVIATION MEDICINE, 2000.
- CLAUS CURDT-CHRISTIANSEN ET AL., PRINCIPLES ANDPRACTICE OF AVIATION., 2010.
- JAMES M. WALLACE ET AL, HANDBOOK FOR CIVIL AVIAITON MEDICAL EXAMINERS, 1998.
- http://www.patient.co.uk/health/Ears-and-Flying.htm [2013,Oct29].