หลักการใช้ยาปฏิชีวนะ (Effective use of antibiotics)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 8 กรกฎาคม 2558
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เชื้อดื้อยา ซูเปอร์บั๊ก (Superbug)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics ) คือยาฆ่าหรือชะลอหรือต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่ปัจจุบันยาปฏิชีวนะหลายชนิดสามารถฆ่าเชื้ออื่นๆที่ไม่ใช่แบคทีเรียได้เช่น เชื้อราบางชนิด ดังนั้นบางท่านจึงนิยามปฏิชีวนะว่า เป็นยาฆ่าหรือชะลอการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมากซึ่งคือเชื้อโรค (Antimicrobial compound) แต่โดยทั่วไปในความหมายที่เข้าใจกัน ยาปฏิชีวนะคือ ยาที่มีสารประกอบที่มีคุณสมบัติในการฆ่าหรือชะลอหรือต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ซึ่งในที่นี้ขอใช้ยาปฏิชีวนะในความหมายทั่วไปคือ ยาฆ่าหรือชะลอหรือต้านการเจริญ เติบโตของแบคทีเรีย ดังนั้นโรคที่เกิดจากเชื้อโรคอื่นๆที่ไม่ใช่แบคทีเรียเช่น เชื้อไวรัส เชื้อรา และเชื้อหนอนพยาธิ จึงรักษาไม่หายด้วยยาปฏิชีวนะ
ปัจจัยต่อประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะ:
แบคทีเรียที่ก่อโรคมีหลากหลายเป็นร้อยๆสายพันธุ์ ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าแบคทีเรียให้มีประสิทธิภาพ จึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะให้ตรงกับชนิดของเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนั้น ยังขึ้นกับอีกหลายปัจจัยที่สำคัญคือ ขนาดของยา (Dose) ระยะเวลาในการให้ยา และประสิทธิภาพในการ ดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายเช่น วิธีกินยา ฉีดยา กินก่อนอาหารหรือกินหลังอาหาร
ทำไมต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง:
ทำไมต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง:
ต้องใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกต้องมีประสิทธิภาพ เพราะแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการปรับตัวและพัฒนาตัวเองให้มีชีวิตรอดได้สูง และมีหลากหลายร้อยๆชนิด ดังนั้น ถ้ากินยาไม่ถูกต้อง แบค ทีเรียบางส่วนจะไม่ตาย ดังนั้นโรคจึงอาจไม่หาย หรือถึงแม้ดูว่าอาการดีขึ้น แต่อาจกลายเป็นโรคเรื้อรังและยังคงสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้โดยเราและเขาไม่รู้ตัว
แบคทีเรียที่รอดตายเหล่านี้มักพัฒนาตนเองเป็นเชื้อดื้อยา กล่าวคือ เมื่อมีการเจ็บป่วยคราว หน้าจากเชื้อดื้อยาหรือเชื้อดื้อยาแพร่สู่ผู้อื่น ยาปฏิชีวนะตัวเดิมหรือในกลุ่มยาเดิมจะฆ่าเชื้อแบคที เรียไม่ได้ ต้องใช้ยาตัวใหม่หรือต้องใช้ยาปฏิชีวนะหลายๆตัวร่วมกัน หรือบ่อยครั้งไม่มีตัวยารักษา ผู้ป่วยจึงต้องเสียชีวิต (ตาย) และยังเพิ่มค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาให้สูงขึ้นมาก บ่อยครั้งต้องเป็นการรักษาแบบเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล และโอกาสเสียชีวิตก็มักจะสูงขึ้นเนื่องจากยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อดื้อยาไม่ได้นั่นเอง
อีกประการ ในร่างกายเรามีแบคทีเรียอยู่เป็นร้อยสายพันธุ์ย่อยเช่นกันเรียกว่าเป็นแบคทีเรีย ประจำถิ่นหรือแบคทีเรียที่ดี เป็นตัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกันตานทานโรคให้กับร่างกายเรา แต่เมื่อเรากินยาปฏิชีวนะบ่อยๆพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น ยาจะไปฆ่าแบคทีเรียเหล่านี้ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคของร่างกายเสียไป และแบคทีเรียไม่ดีที่เคยถูกควบคุมสมดุลด้วยแบคทีเรียประจำถิ่น อาจรุนแรงขึ้น และโดยเฉพาะเชื้อราที่มีเป็นปกติในเยื่อเมือกและที่ผิวหนังจะแข็งแรงขึ้นจนก่อการติดเชื้อกับเราได้เช่น เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบ (ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย) หรือท้องเสีย เป็นต้น
นอกจากนั้น ยาปฏิชีวนะทุกชนิดมีผลข้างเคียงเสมอ มากหรือน้อยขึ้นกับชนิด ขนาด และวิธีกินยา และยังขึ้นกับความไวของแต่ละคนต่อยาด้วย ผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะที่พบบ่อย คือ ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย เบื่ออาหาร และบางครั้งอาจเกิดการแพ้ยาเช่น การขึ้นผื่นคัน หรือถ้ารุนแรง (มักเกิดกับยาฉีด) คืออาการช็อก อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน)
ควรใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไร?
การใช้ยาปฏิชีวนะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประหยัดค่าใช้จ่าย และป้องกันเชื้อดื้อยา คือ
- ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง ควรเป็นการแนะนำจากแพทย์เท่านั้น เพราะเป็นผู้ตรวจรักษาเราจึงสามารถสั่งการใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างถูกต้อง
- มีความรู้ว่ายาปฏิชีวนะรักษาได้เฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อไวรัสได้ ดังนั้น โรคจากติดเชื้อไวรัสที่พบบ่อยคือ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน รู้ได้คืออาการจะรุนแรงมากขึ้นหลังการดูแลตนเองด้วยการพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ และกินยาลดไข้ภายใน 3 - 4 วันในคนที่สุขภาพแข็งแรง แต่ภายใน 1 - 2 วันในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือที่เรียกว่ากลุ่มเสี่ยง (เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยได้ยาเคมีบำบัด) ดังนั้นในระยะเวลาดังกล่าวภาย หลังจากการดูแลตนเองในเบื้องต้น เมื่ออาการต่างๆเลวลงจึงควรพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลให้แพทย์เป็นผู้รักษาและสั่งยา
- เมื่อแพทย์สั่งยาปฏิชีวนะ
- ควรรู้จักชื่อยา (ชื่อยาเขียนอยู่บนซองยา)
- กินยาให้ครบถ้วนถูกต้องตามฉลากยา กินยาให้หมดตามแพทย์สั่ง ไม่หยุดยา เองเมื่ออาการดีขึ้น
- ควรแจ้งแพทย์เภสัชกรพยาบาลถึงยาตัวอื่นๆที่กำลังกินอยู่เพื่อป้องกันตัวยาต่างๆที่อาจเสริมหรือต้านฤทธิ์กัน (ปฏิกิริยาระหว่างยา/อันตรกิริยาระหว่างยา) ได้
- ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงข้อควรระวังในเรื่องอาหาร เครื่องดื่มกับยาปฏิชีวนะ เพราะอาจลดการดูดซึมยาปฏิชีวนะได้
- ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะ
- เมื่อกินยาปฏิชีวนะครบแล้วอาการยังอยู่ ต้องกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- ระหว่างกินยาฯถ้าอาการเลวลงหรือมีอาการผิดปกติอื่นๆแทรกซ้อนก็ต้องกลับ ไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเช่นกัน
- ไม่กินยาปฏิชีวนะของผู้อื่น หรือที่มีเหลือเก็บไว้ เพราะมักเป็นเชื้อแบคทีเรียคนละชนิดกัน
- การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อ ก็เป็นการป้องกันการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้โดย
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ล้างมือบ่อยๆโดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในแต่ละวันในปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้ เกิดโรคอ้วน จำกัดไขมัน แป้ง น้ำตาล เค็ม และเพิ่มผัก ผลไม้
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย และ
- รู้จักการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆโดยเฉพาะตั้งแต่แรกเกิดและตามกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ
Updated 2015, June 13