หลอดเลือดขอด หลอดเลือดขาขอด หลอดเลือดดำขอด (Varicose vein)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 7 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- หลอดเลือดขอดเกิดได้อย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดหลอดเลือดขอด?
- หลอดเลือดขอดก่ออาการอะไรบ้าง?
- แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นหลอดเลือดขอด?
- รักษาหลอดเลือดขอดอย่างไร?
- หลอดเลือดขอดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีหลอดเลือดขอด? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันหลอดเลือดขอดได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- ตะคริว (Muscle cramp)
บทนำ
หลอดเลือดขอด หรือหลอดเลือดดำขอด (Varicose vein) เป็นโรคที่เกิดจากการมีเลือดดำคั่งในหลอดเลือดดำจึงส่งผลให้หลอดเลือดดำยืดตัว โป่งพอง และขดไปมา ซึ่งโรคนี้เกิดกับหลอดเลือดดำได้ทั่วร่างกายเช่น หลอดเลือดดำของหลอดอาหาร หลอดเลือดดำของอวัยวะเพศหญิง และหลอดเลือดดำในถุงอัณฑะ เป็นต้น แต่ที่พบบ่อยคือ เกิดกับหลอดเลือดดำของขา ดังนั้นในบทความนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะโรคของหลอดเลือดดำขาขอดเท่านั้นโดยขอใช้คำว่า “หลอดเลือดขอดหมายถึง หลอดเลือดดำของขาขอด”
หลอดเลือดขอดเป็นโรคของผู้ใหญ่และยิ่งอายุสูงขึ้นโอกาสเกิดโรคก็ยิ่งสูงขึ้น โดยพบได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย แต่พบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย ทั่วไปพบโรคนี้ได้ประมาณ 10 - 20% ของผู้ชายและประมาณ 25 - 33% ของผู้หญิง ทั้งนี้มีรายงานพบโรคนี้ได้สูงถึง 72% ในผู้หญิงอายุ 60 - 69 ปี แต่พบได้เพียง 1% ในผู้ชายอายุ 20 - 29 ปี นอกจากขึ้นกับอายุและเพศแล้วยังพบโรคนี้ในคนตะวันตกสูงกว่าในคนเอเชีย
หลอดเลือดขอดเป็นโรคไม่รุนแรง ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่จากการที่มักเกิดกับหลอดเลือดดำ ของขาส่วนที่อยู่ตื้นๆใต้ผิวหนัง (Superficial vein) ดังนั้นเมื่อเกิดหลอดเลือดขอดจึงมองเห็นได้ชัดเจนจึงส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านความสวยงามโดยเฉพาะเมื่อเกิดในผู้หญิง
หลอดเลือดขอดเกิดได้อย่างไร?
กลไกการเกิดหลอดเลือดขอดเกิดจากการเสื่อมประสิทธิภาพของลิ้น (Valve) ที่มีอยู่หลากหลายลิ้นในหลอดเลือดดำของขา ซึ่งลิ้นเหล่านี้มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการไหลเวียนของเลือดดำ โดยการปิดกั้นไม่ให้เลือดดำจากขาซึ่งจะต้องไหลย้อนต้านแรงโน้มถ่วง/แรงดึงดูดของโลกเพื่อนำเลือดดำกลับเข้าสู่หัวใจ (ผ่านทางหลอดเลือดดำขาที่อยู่ตื้นๆที่อยู่ลึกๆที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานและในช่องท้องตามลำดับ) ไหลย้อนกลับลงมาคั่งในขา
ดังนั้นถ้าลิ้นเหล่านี้เสื่อมประสิทธิภาพ การไหลเวียนของเลือดดำจึงเสียไปก่อให้เกิดเลือดดำคั่งในหลอดเลือดดำขาเรื้อรัง จึงเกิดแรงดันในหลอดเลือดดำนั้นๆสูงขึ้นเรื้อรังตามไปด้วย ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดดำยืด โป่ง หย่อน เกิดเป็นหลอดเลือดขอดขึ้น
การเสื่อมประสิทธิภาพของลิ้นหลอดเลือดอาจเกิดจากลิ้นเสื่อมหรือจากลิ้นปิดไม่สนิทหรือ ทั้ง 2 สาเหตุร่วมกัน
สาเหตุที่ทำให้ลิ้นหลอดเลือดดำเสื่อมเช่น จากการเสื่อมตามอายุหรือตามพันธุกรรม
แต่ถ้ามีการเพิ่มความดันเรื้อรังในหลอดเลือดดำจากสาเหตุต่างๆเช่น ยืนนานๆ หรือมีการอุดกั้นทางเดินของเลือดดำเช่น การกดทับหลอดเลือดดำจากก้อนเนื้อหรือจากก้อนมะเร็งในอุ้งเชิงกราน หรือมีการเพิ่มความดันในช่องท้องเช่น จากโรคอ้วน จากการตั้งครรภ์ หรือจากท้องผูก เรื้อรัง จะส่งผลให้มีเลือดคั่ง ผนังหลอดเลือดดำจึงยืดขยายโป่งออก ส่งผลให้ลิ้นในหลอดเลือดไม่สามารถปิดกั้นได้สนิท จึงส่งผลให้การไหลเวียนเลือดดำลดลงเรื้อรัง เกิดการคั่งของเลือดดำในหลอดเลือดดำเรื้อรัง หลอดเลือดดำจึงยิ่งยืดขยาย โป่งพอง
พยาธิสภาพทั้งหมดดังกล่าววนเวียนเป็นวงจรจนในที่สุดเกิดเป็นหลอดเลือดขอดขึ้น ซึ่งแพทย์หลายท่านไม่นับว่าหลอดเลือดขอดเป็นโรค แต่ถือว่าเป็นอาการหรือเป็นภาวะที่เกิดจากการไหลเวียนโลหิตของขาไม่ดี
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดหลอดเลือดขอด?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดขอดได้แก่
- อายุ ยิ่งอายุสูงขึ้นโอกาสเกิดโรคยิ่งสูงขึ้น จากการเสื่อมของเซลล์ลิ้นหลอดเลือด และเซลล์ผนังหลอดเลือด
- เพศ เพศหญิงมีโอกาสเกิดสูงกว่าเพศชาย เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ซึ่งส่งผลถึงการเพิ่มความดันในช่องท้อง และเป็นผลจากมีภาวะหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ ซึ่งฮอร์โมนเพศมีส่วนในการคงความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือด
- เชื้อชาติและพันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงในคนตะวันตกสูงกว่าในคนเอเชีย และ พบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
- อาชีพ อาชีพที่ต้องยืนนานๆนั่งนานๆทั้งวันเช่น ทหาร พยาบาลในห้องผ่าตัด
- ขาดการออกกำลังกาย ขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย ใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย เพราะ ส่งผลให้กล้ามเนื้อขาเสื่อมประสิทธิภาพ ซึ่งกล้ามเนื้อขาเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการช่วยพยุงหลอดเลือดดำขา ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด/โลหิตของขา
- อ้วน โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน เพราะจะเพิ่มความดันในช่องท้องให้สูงขึ้น
- ท้องผูกเรื้อรัง เพราะต้องออกแรงเบ่งอุจจาระเป็นประจำส่งผลให้มีการเพิ่มความดันในช่องท้องตลอดเวลา
- การตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักครรภ์จะส่งผลให้เกิดการเพิ่มความดันในช่องท้อง ยิ่งตั้งครรภ์หลายครั้งโอกาสเกิดหลอดเลือดขอดก็ยิ่งสูงขึ้น
- มีลิ่มเลือดเรื้อรังในหลอดเลือดดำขาส่วนที่อยู่ลึก (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ )
หลอดเลือดขอดก่ออาการอะไรบ้าง?
อาการที่พบได้บ่อยของหลอดเลือดขอดคือ การมองเห็นหลอดเลือดที่ขาขยายใหญ่ขึ้นคตเคี้ยวไปมาเห็นได้อย่างชัดเจน ทั่วไปมักเกิดกับขาทั้งสองข้างแต่มากน้อยต่างกันได้ และในบางครั้งอาจเกิดกับขาเพียงข้างเดียวได้ ถ้ามีสาเหตุจากมีก้อนเนื้อในอุ้งเชิงกรานที่กดทับหลอดเลือดดำในอุ้งเชิงกรานเพียงข้างเดียว หรือเกิดจากมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดขาส่วนที่อยู่ลึก (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) เพียงข้างเดียว
อาการอื่นๆที่อาจพบได้แตกต่างกันในแต่ละบุคคลเช่น ปวดเมื่อยขา รู้สึกขาล้า หนักขา ขา บวม เป็นตะคริว มีขากระตุกโดยเฉพาะเมื่อไม่มีการใช้ขาเช่น ช่วงนอน คันขา/เท้าโดยเฉพาะตรงข้อเท้า (เพราะผิวหนังได้รับการระคายเคืองจากการมีเลือดคั่ง)
เมื่อมีหลอดเลือดขอดเรื้อรัง สีของเท้าจะคล้ำแดงขึ้นหรือออกดำคล้ำจากการคั่งของเลือด ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวหนังและของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณข้อเท้าอาจแข็งจากการแข็งตัวของไขมันใต้ผิวหนัง
นอกจากนั้นคือ จะเกิดแผลบริเวณขาและเท้าได้ง่าย และแผลจะหายช้าเนื่องจากการไหล เวียนโลหิตไม่ดี และถ้าแผลเลือดออก เลือดจะออกมากและหยุดได้ช้าเพราะความดันในหลอดเลือดดำจะสูงกว่าปกติ
แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นหลอดเลือดขอด?
แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดขอดได้จากประวัติอาการ และการตรวจร่างกายโดยเฉพาะการตรวจเห็นหลอดเลือดขอดที่ขาซึ่งก็จะเป็นตัวช่วยวินิจฉัยโรคได้ แต่อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อ ประเมินสาเหตุเช่น การตรวจภาพหลอดเลือดและการไหลเวียนโลหิตด้วยอัลตราซาวด์ หรือการตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ดูการทำงานของเกล็ดเลือด เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์
รักษาหลอดเลือดขอดอย่างไร?
แนวทางการรักษาหลอดเลือดขอดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดหลอดเลือดขอดมากขึ้นและการรักษาเพื่อความสวยงาม
การดูแลรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดขอดมากขึ้น ได้แก่ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำเช่น ไม่ยืน/นั่งนานๆ การลดน้ำหนัก การควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายและเคลื่อน ไหวร่างกายเสมอ สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่น และสวมถุงน่องเพื่อการพยุงขา
การรักษาเพื่อความสวยงาม คือ การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำที่ขอดเพื่อให้หลอดเลือดตีบตัน (Sclerotherapy) และการผ่าตัดเอาหลอดเลือดขอดออกซึ่งมีได้หลายเทคนิค รวมทั้งการใช้เลเซอร์ ทั้งนี้จะใช้การรักษาด้วยวิธีใดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์และความต้องการของผู้ป่วย
หลอดเลือดขอดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
หลอดเลือดขอดเป็นโรคไม่รุนแรง ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ส่งผลถึงความสวยงามจึงมีผลต่อคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากหลอดเลือดขอด นอกจากความสวยงามแล้วคือ อาการปวดเมื่อยขา ตะคริว ขากระตุก การเป็นแผลได้ง่าย นอกจากนั้นคืออาจเพิ่มโอกาสเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดขาส่วนที่อยู่ลึกได้ (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องรีบรักษา/รีบพบแพทย์ โดยอาการสำคัญคือขาบวมทันทีร่วมกับปวดขา
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีหลอดเลือดขอด? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีหลอดเลือดขอด ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการยืน/นั่งนานๆ
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่น
- สวมใส่ถุงน่องที่ช่วยพยุงขา
- ถ้าอ้วนต้องลดน้ำหนัก ถ้าไม่อ้วนต้องควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนัก ตัวเกิน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ เคลื่อนไหวร่างกายเสมอเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและเพิ่มประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อขา
- ควบคุมอาการท้องผูก
- ไม่นั่งไขว่ห้างนานๆ เมื่อนั่ง/นอนพยายามยกขาสูง
- ไม่สวมรองเท้าส้นสูง
- ควรพบแพทย์เมื่อมีความกังวลในอาการ
ป้องกันหลอดเลือดขอดได้อย่างไร?
การป้องกันหลอดเลือดขอดคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่หลีกเลี่ยงได้ดังกล่าวแล้ว ในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง โดยการป้องกันจะเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อการดูแลตนเอง (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อนั้น) ซึ่งที่สำคัญคือ
- หลีกเลี่ยงการยืน/นั่งนานๆ
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- กำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ
บรรณานุกรม
- Brittenden, J. et al. (2014). A randomized trial comparing treatments for varicose veins. N Engl J Med. 371, 1218-1227
- Evans, G. et al. (1999). Prevalence of varicose veins and chronic venous insufficiency in men and women in general population. J Epidemiol Community Health. 53, 149-153.
- Jones, R., and Carex, P. (2008). Management of varicose veins. Am Fam Physician. 78, 1289-1294.
- Krijnen, R. et al. (1997). Epidemiology of venous disorders in the general and occupational populations. Epidemiologic reviews.19, 294-307.
- Raju, S., and Neglen, P. (2009). Chronic venous venous insufficiency and varicose veins. N Engl J Med. 360, 2319-2327.
- Varicose vein http://en.wikipedia.org/wiki/Varicose_veins [2016,April16]
- Varicose veins and spider veins http://emedicine.medscape.com/article/1085530-overview#showall [2016,April16]
Updated 2016, April 16