หลอดอาหารอักเสบ (Esophagitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หลอดอาหารเป็นอวัยวะหนึ่งในระบบทางเดินอาหาร โดย “หลอดอาหารอักเสบ(Esophagitis)” หมายถึง ภาวะที่มีการอักเสบที่อาจเกิดจากการติดเชื้อหรือไม่ใช้จากการติดเชื้อของเยื่อเมือกที่บุภายในหลอดอาหาร/เยื่อบุหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการสำคัญ คือ เจ็บคอมากเวลากลืนจนอาจถึงขั้นกลืนอาหาร ดื่มน้ำไม่ได้ และอาการแสบร้อนกลางอก

หลอดอาหารอักเสบ เป็นอาการ/ภาวะที่พบได้บ่อยทั่วโลก พบได้ประมาณ 33-44% ของประชากรทั้งหมด พบได้ใน ทุกเพศ ทุกวัย แต่พบในเด็กได้น้อยมาก

หลอดอาหารอักเสบ แบ่งได้เป็นหลายชนิดตามสาเหตุ ซึ่งที่พบบ่อย ได้แก่

  • Reflux esophagitis: คือหลอดอาหารอักเสบที่สาเหตุเกิดจากโรคกรดไหลย้อน
  • Drug-induced esophagitis: คือหลอดอาหารอักเสบที่สาเหตุเกิดจากยาที่รับประทาน เช่น ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs
  • Eosinophilic esophagitis: คือหลอดอาหารอักเสบที่สาเหตุจากโรคภูมิแพ้
  • Infectious esophagitis: คือหลอดอาหารอักเสบที่สาเหตุจากการติดเชื้อ
  • Radiation esophagitis: คือหลอดอาหารอักเสบที่สาเหตุเกิดจากการฉายรังสีรักษาบริเวณหลอดอาหาร
  • Chemotherapy esophagitis: คือหลอดอาหารอักเสบที่สาเหตุเกิดจากยาเคมีบำบัดทุกชนิด
  • Esophagitis associated with systemic disases: คือหลอดอาหารอักเสบที่สาเหตุเกิดจากโรคต่างๆที่มีผลต่ออวัยวะได้ทั่วร่างกายที่รวมถึงหลอดอาหาร เช่น โรคออโตอิมมูน

อนึ่ง เมื่อหลอดอาหารอักเสบเกิดจากสาเหตุที่เป็นสาเหตุเฉียบพลัน เช่น การฉายรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด และ/หรือยาบางชนิด และสามารถรักษาให้หายได้ในระยะเวลารวดเร็วเช่น 1-2 สัปดาห์เรียกว่า “หลอดอาหารเฉียบพลัน(Acute esophagitis)” แต่ถ้าหลอดอาหารอักเสบเกิดจากสาเหตุที่เรื้อรัง เช่น สูบบหรี่ ดื่มสุรา โรคกรดไหลย้อน โรคออโตอิมมูน จะเรียกว่า “หลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง(Chronic esophagitis)”

หลอดอาหารอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

หลอดอาหารอักเสบ

หลอดอาหารอักเสบ มีสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

  • Reflux esophagitis: สาเหตุเกิดจากโรคกรดไหลย้อน หรือผู้ป่วยที่มีการอาเจียนเรื้อรัง เพราะกรดในกระเพาะอาหารจะย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร และก่อให้เกิดการบาดเจ็บ/การอักเสบของหลอดอาหาร
  • Drug-induced esophagitis: สาเหตุเกิดจากผลข้างเคียงจากยาต่างๆที่รับประทาน เช่น ยาในกลุ่ม NSAIDs หรือยาป้องกัน/รักษาโรคกระดูกพรุนชนิดรับประทาน เช่นยา Alendronate
  • Eosinophilic esophagitis: สาเหตุจากโรคภูมิแพ้
  • Infectious esophagitis: สาเหตุจากการติดเชื้อ ที่พบได้ทั้งจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส หรือเชื้อรา
  • Radiation esophagitis: สาเหตุจากการฉายรังสีรักษาบริเวณหลอดอาหาร เช่น ในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ
  • Chemotherapy esophagitis: สาเหตุเกิดจากยาเคมีบำบัด ทุกชนิด
  • Esophagitis associated with systemic disases: สาเหตุจากโรคต่างๆที่มีผลต่ออวัยวะได้ทั่วร่างกายที่รวมถึงหลอดอาหาร เช่น โรคออโตอิมมูน กลุ่มอาการ Stevens Johnson syndrome โรคCrohn disease โรคหนังแข็ง
  • อื่นๆ: เช่น สารเคมีต่างๆ เช่น การกลืนสารเคมีต่างๆ เช่น กรด ด่าง หรือ แบตเตอรี การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสารเคมีต่างๆเหล่านี้จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อหลอดอาหาร

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดหลอดอาหารอักเสบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดหลอดอาหารอักเสบ ได้แก่

  • ผู้ที่สูบบุหรี่ และ/หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสารเคมีต่างๆในควันบุหรี่ และในแอลกอฮอล์จะก่อการระคายเคือง จนถึงการบาดเจ็บ/การอักเสบต่อหลอดอาหาร
  • ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน เพราะกรดที่ไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้าหลอดอาหาร จะก่อให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ซึ่งมักก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของหลอดอาหาร ทั้งแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และโดยเฉพาะเชื้อรา เช่นในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคเบาหวาน โรคเอชไอวี โรคมะเร็ง
  • ผู้ที่ได้รับการฉายรังสีรักษาในโรค มะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ มะเร็งปอด เพราะหลอดอาหารจะอยู่ติดกับอวัยวะที่เกิดโรคมะเร็งกลุ่มดังกล่าว การฉายรังสีรักษาในโรคเหล่านี้จึงโดนหลอดอาหารไปด้วย ทั้งนี้รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารที่หลอดอาหารจะได้รับรังสีรักษาโดยตรง
  • ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดทุกชนิด เพราะตัวยาจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเซลล์ปกติของทุกอวัยวะ ที่รวมหลอดอาหารด้วย
  • ยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่ม NSAIDs ยารักษาโรคกระดูกพรุนชนิดกิน(เช่นยา Alendronate) เพราะตัวยาจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเซลล์หลอดอาหารได้
  • โรคอ้วน เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของโรคกรดไหลย้อน
  • โรคภูมิแพ้ เพราะสารก่อภูมิแพ้ที่ป่วยได้รับจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเซลล์หลอดอาหาร
  • ดื่มเครื่องดื่มกาเฟอีน(ชา กาแฟ โคลา เครื่องดื่มชูกำลัง)ปริมาณสูงเป็นประจำ เพราะสารกาเฟอีน จะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดสูงขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อน

หลอดอาหารอักเสบมีอาการอย่างไร?

ถึงแม้หลอดอาหารอักเสบจะมีหลายประเภทตามสาเหตุ แต่ทุกประเภทจะมีอาการเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • เจ็บคอมากโดยเฉพาะเวลากลืน แสบร้อนกลางอกมาก
  • กลืน/ดื่มน้ำแล้วเจ็บคอมาก จนทำให้เกิด กลืนอาหารแล้วติด /การกลืนลำบาก
  • เสียงแหบ เพราะมักมีกล่องเสียงอักเสบร่วมด้วย
  • ไอมาก เป็นได้ทั้งไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ และจะไอมากขึ้นเมื่อ กินหรือดื่ม
  • เบื่ออาหาร
  • อาจคลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือ อาเจียนเป็นเลือด และ/หรือมีเลือดปนในน้ำลาย
  • ปวดท้อง/เจ็บในท้องบริเวณลิ้นปี่
  • น้ำหนักตัวลดลงจากกินอาหารไม่ได้ หรือกินได้น้อย
  • อาจเกิดภาวะขาดน้ำ ถ้าดื่มน้ำได้น้อย หรือดื่มไม่ได้จากการเจ็บคอมาก
  • มีไข้ ถ้าหลอดอาหารอักเสบจากติดเชื้อ แบคทีเรีย หรือ เชื้อไวรัส

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” และอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3วันหลังการดูแลตนเอง โดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยง ควรต้องรีบพบแพมย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยหลอดอาหารอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหลอดอาหารอักเสบได้จาก ประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย เช่น อาการ ประวัติการเป็นโรคต่างๆ ประวัติการใช้ยาต่างๆ ประวัติการรักษาด้วยรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การดื่มสารกาเฟอีน การตรวจร่างกาย การตรวจดูในช่องคอ และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดเพื่อการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน โรคเอชไอวี และอาจรวมไปถึงการตรวจภาพหลอดอาหารด้วยรังสีวินิจฉัย เช่น การเอกซเรย์หลอดอาหารด้วยการกลืนแป้ง(Esophagogram) การส่องกล้องหลอดอาหาร และอาจจำเป็นต้องมีการนำสารคัดหลั่งจากหลอดอาหารมาเพาะเชื้อ หรือเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา หรืออาจมีการตัดชิ้นเนื้อเมื่อส่องกล้องหลอดอาหารแล้วพบความผิดปกติ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาหลอดอาหารอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาหลอดอาหารอักเสบ คือ ให้การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น รักษาการติดเชื้อราด้วยยาต้านเชื้อรา รักษาโรคกรดไหลย้อนเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคกรดไหลย้อน เป็นต้น ทั้งนี้ อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com ถึงวิธีรักษา โรค/ภาวะต่างๆที่เป็นสาเหตุ

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: คือ การรักษาอาการต่างๆที่เกิดขึ้น ที่จะเหมือนกันในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การอมยาชาเฉพาะที่ช่วยระงับปวด/เจ็บช่วงกินอาหาร/ดื่มน้ำ เช่น ยา Xylocaine/Lidocaine viscous การรับประทานอาหารน้ำ/อาหารเหลวที่จะช่วยให้กลืนได้ง่ายขึ้น (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อาหารทางการแพทย์) การให้อาหาร/สารน้ำทางหลอดเลือดดำ เมื่อบริโภคทางปากได้น้อย หรือการให้อาหารทางหลอดให้อาหารผ่านทางจมูก หรือการผ่าตัดใส่ท่อให้อาหารผ่านทางหน้าท้อง เป็นต้น

หลอดอาหารอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคหลอดอาหารอักเสบ ในกรณีเป็นหลอดอาหารอักเสบเฉียบพลัน จะมีการพยากร์โรคที่ดี มักรักษาหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ส่วนน้อยที่เป็นการอักเสบเฉียบพลันที่รุนแรง เช่น กลืน กรด ด่าง ปริมาณมาก อาจทำให้หลอดอาหารเกิดแผลจนทะลุ ก่อให้เกิดการอักเสบในช่องคอ หรือในช่องอก และอาจเป็นอันตรายจากการติดเชื้อแบคทีเรีย/เชื้อรา ที่รุนแรงจนเสียชีวิตได้(พบได้น้อย)

กรณีเป็นการอักเสบที่เกิดจากสารเคมี หรือเป็นหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง มักส่งผลให้เกิดหลอดอาหารเกิดเป็นพังผืด หลอดอาหารจะตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดภาวะกินแล้วติดคอ จนอาจกินอาหารแข็ง หรืออาหารชิ้นใหญ่ไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะทุโภชนาจากร่างกายได้รับอาหารไม่เพียงพอ นอกจากนั้น ผู้ป่วยส่วนน้อยบางคน อาจเกิดหลอดอาหารทะลุได้จากผนังหลอดอาหารที่บางมากๆจากที่มีการอักเสบเรื้อรัง

มีผลข้างเคียงจากหลอดอาหารอักเสบอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากหลอดอาหารอักเสบ คือ ภาวะทุโภชนาการจากกินอาหารได้น้อย และอาจเกิดภาวะหลอดอาหารตีบแคบ หรือเกิดหลอดอาหารทะลุได้ ดังกล่าวในหัวข้อ “การพยากรณ์โรคฯ”

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีหลอดอาหารอักเสบ ได้แก่

  • เมื่อพบแพทย์แล้ว ต้องปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพราะร่างกายจะอ่อนแอลงจากขาดอาหาร จึงจะติดเชื้อได้ง้าย
  • พยายามดื่มน้ำ/จิบน้ำบ่อยๆ ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ
  • กินอาหารเหลว/อาหารน้ำ รสจืด ไม่กินรสจัดเพราะจะระคายคอ ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ และไอ มากขึ้น
  • รักษาความสะอาด ช่องปาก ช่องคอ เสมอ โดยเฉพาะหลังการกินอาหารทุกครั้ง ควรล้างปากด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำเปล่า ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากถ้าไม่ใช่คำสั่งจากแพทย์
  • หยุดบุหรี่ เครื่องดื่นแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน(เช่น กาแฟ ชา โคลา เครื่องดื่มชูกำลัง) หรือเครื่องดื่มที่ดื่มแล้วระคายคอ เช่น น้ำอัดลม
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อเป็นโรคหลอดอาหารอักเสบ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น กลืนแล้วเจ็บคอ มากขึ้น
  • กลับมามีอาการที่ที่เคยหายไปแล้ว เช่น กลับมากลืนลำบากหลังจากอาการดีขึ้นแล้ว
  • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ไอมากขึ้น ไอเป็นเลือด มีไข้ เป็นต้น
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก คลื่นไส้อาเจียนมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันหลอดอาหารอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันหลอดอาหารอักเสบ คือการหลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังได้กล่าวในหัวข้อ “สาเหตุฯ” และหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ” ซึ่งที่สำคัญ เช่น

  • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพกาย สุขภาพจิต แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อ ติดสารเสพติด ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดหลอดอาหารอักเสบ
  • ไม่สูบบุหรี่ที่รวมถึงบุหรี่มือสอง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าบริโภคอยู่ก็ต้องพยายามเลิกให้ได้

บรรณานุกรม

  1. http://emedicine.medscape.com/article/174223-overview#showall[2017,March11]
  2. https://medlineplus.gov/ency/article/001153.html[2017,March11]
  3. http://my.clevelandclinic.org/health/diseases_conditions/hic_Esophagitis[2017,March11]