หนองในเทียม (Chlamydia infection)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

หนองในเทียมคืออะไร?

หนองในเทียม (Chlamydia infection) ที่มักเรียกสั้นๆว่า โรคคลามายเดีย(Chlamydia) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อย มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อเรียกว่า คลามัยเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis) โรคหนองในเทียมมักจะไม่ปรากฏอาการให้เห็นอย่างชัดเจน แต่มักจะก่อให้เกิดการทำลายระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิงอย่างมาก จนอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ในผู้ ชายอาการที่อาจพบได้ คือมีน้ำลักษณะคล้ายหนองไหลออกจากอวัยวะเพศได้

มีผู้เป็นหนองในเทียมมากน้อยเพียงใด?

หนองในเทียม

ในสหรัฐอเมริกา หนองในเทียมเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากที่สุด อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์ที่รายงานโดยทั่วไปมักต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะผู้ที่ติดเชื้อมักไม่มีอาการ ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กองควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของเรา ปี พ.ศ.2548 รายงานอุบัติการณ์ของโรคหนองในเทียมเท่ากับ 26.35% ของทางเพสสัมพันอย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะโรคหนองในเทียมมักจะไม่ปรากฏอาการทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค

ทำไมจึงเป็นหนองในเทียม?

การติดต่อของโรคหนองในเทียมเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก หนองในเทียมอาจติดต่อจากแม่สู่ลูกขณะมีการคลอดทางช่องคลอด ดังนั้นในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์จึงเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดโรคหนองในเทียม ยิ่งมีจำนวนคู่นอนมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสการติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้นมากเป็นเงาตามตัว นอกจากนี้ในเด็กวัยรุ่นผู้หญิงที่เยื่อบุปากมดลูกยังไม่มีการพัฒนาเต็มที่ จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ การที่ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย หรือผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง ก็สามารถติดหนองในเทียมได้เช่นกัน เพราะเชื้อหนองในเทียมสามารถติดต่อได้ทางทวารหนัก หรือจากการที่อวัยวะเพศสัมผัสกัน

อาการของหนองในเทียมเป็นอย่างไร?

หนองในเทียมเป็นโรคที่มักจะไม่แสดงอาการ ซึ่งในผู้ที่มีอาการ อาการต่างๆมักปรากฏภายใน 1-3 สัปดาห์หลังจากสัมผัสเชื้อ (ระยะฟักตัวของโรค) ในผู้หญิง แบคทีเรียจะทำให้เกิดโรคที่ปากมดลูกและที่ท่อปัสสาวะ ดังนั้นผู้หญิงในกลุ่มนี้มักมีตกขาวผิดปกติหรือมีปัสสาวะแสบขัด กรณีการติดเชื้อลามไปถึงท่อนำไข่ ผู้หญิงที่ติดโรคอาจมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ กรณีมีอาการ ผู้หญิงมักจะมีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง คลื่นไส้ มีไข้ ปวดท้อง น้อยขณะที่มีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบประจำเดือน การติดเชื้อหนองในเทียมสามารถกระจายไปที่ลำไส้ตรง (ส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ที่ต่อกับทวารหนัก)ได้อีกด้วย

ในผู้ชายที่มีอาการ อาจพบว่า มีสารคัดหลั่งไหลจากท่อปัสสาวะ หรือรู้สึกปัสสาวะแสบขัด นอกจากนี้ อาจรู้สึกแสบ หรือคันที่บริเวณอวัยวะเพศ อาจพบอาการปวด บวมที่บริเวณลูกอัณฑะได้แต่ไม่บ่อย

ในผู้มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก อาจพบการติดเชื้อที่บริเวณดังกล่าวได้ ซึ่งอาจก่อให้ เกิดอาการปวดบริเวณทวารหนัก มีน้ำหรือเลือดออกจากทวารหนัก ผู้มีเพศสัมพันธ์ทางปาก อาจมีการติดเชื้อในลำคอ ก่ออาการเจ็บคอเรื้อรังได้

หากเป็นหนองในเทียมแล้วไม่รักษาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

หากเป็นหนองในเทียมแล้วไม่ได้รับการรักษา ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่ตาม มาอาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรงได้ ดังต่อไปนี้

ในผู้หญิงที่ไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคจะกระจายไปสู่มดลูก ท่อนำไข่ และก่อให้เกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานในที่สุด (การอักเสบของมดลูกและอวัยวะใกล้เคียง) ลักษณะดังกล่าวพบได้ 10-15% ของผู้หญิงที่ไม่ได้รับการรักษา การอักเสบของอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรีรวมทั้งของท่อนำไข่จากโรคหนองในเทียมนั้น มักจะไม่มีอาการปรากฏ และมักจะก่อให้เกิดการทำลายอย่างรุนแรง ทั้งที่ท่อนำไข่ มดลูกและอวัยวะข้างเคียงที่อยู่ใกล้ๆ การทำลาย/การติดเชื้อจะก่อให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ภาวะมีบุตรยาก หรือท้องนอกมดลูก นอกจากนี้ยังทำให้โอกาสในการติดเชื้อโรคเอดส์/เอชไอวีเพิ่มขึ้นอีกด้วยเมื่อได้รับการสัมผัสกับเชื้อเอดส์ในช่วงเวลาดังกล่าว

การป้องกันภาวะแทรกซ้อนทำได้โดยการตรวจคัดกรองโรค (ตรวจโรคนี้เป็นประจำใน ขณะยังไม่มีอาการ เริ่มตั้งแต่เมื่อมีเพศสัมพันธ์) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุ 25 ปีหรือน้อยกว่า ส่วนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 25 ปีที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีคู่นอนคนใหม่ หรือมีคู่นอนหลายคนในช่วงเวลาเดียวกัน และในสตรีตั้งครรภ์ ในผู้ชายมักจะไม่ค่อยมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แต่บางรายอาจเกิดการอักเสบของท่อนำน้ำเชื้ออสุจิทำให้เกิดอาการปวดอัณฑะ มีไข้ เป็นหมันได้เช่นกัน

อาการอื่นๆที่อาจพบได้ คือ การอักเสบของข้อ อันเนื่องมาจากการติดเชื้อหนองในเทียมซึ่งพบได้น้อยมาก บางรายอาจมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง บางรายอาจมีการอักเสบของตา และ/หรือของท่อปัสสาวะได้ด้วย เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า กลุ่มอาการไรเทอร์ (Reiter's syn drome)

การเป็นโรคหนองในเทียมมีผลต่อการตั้งครรภ์และทารกอย่างไรบ้าง?

ในสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหนองในเทียมแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตาและระบบทางเดินหายใจในทารกแรกคลอดได้อีกด้วย ทำให้เกิดตาแดง และปอดบวม ตามลำดับ

การวินิจฉัยโรคหนองในเทียมทำได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคหนองในเทียมทำได้โดยการเก็บสารคัดหลั่งจากตำแหน่งที่ต้องการตรวจเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหาเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า คลามัยเดีย ทราโคมาทิส ตัว อย่างสารคัดหลั่งที่เก็บ เช่น ปัสสาวะ สารคัดหลั่งจากท่อปัสสาวะเพศชาย หรือสารคัดหลั่งจากปากมดลูก เป็นต้น

วิธีรักษาหนองในเทียมมีอะไรบ้าง?

การรักษาหนองในเทียมสามารถทำได้ไม่ยาก โดยการใช้ยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะ เช่น การรับประทานยา Azithromycin ขนาด 1 กรัมเพียงครั้งเดียว หรือการรับประทานยา Doxycycline สองครั้งต่อวันเป็นระยะเวลา 7 วัน (ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง ควรเป็นการสั่งยาโดยแพทย์ เพื่อป้องกันการใช้ชนิดยาไม่ตรงกับโรค/หลักการใช้ยาปฏิชีวนะ)

นอกจากนั้น ควรงดเพศสัมพันธ์ตั้งแต่สงสัยว่าติดโรคจนกระทั่งครบ 7 วันหลังจากที่รับประทานยาเม็ดสุดท้าย และคู่นอนควรต้องได้รับการตรวจรักษาที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน

ผู้หญิงที่คู่นอนไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะมีโอกาสในการติดเชื้อซ้ำได้ การที่มีการติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกจะทำให้ผู้หญิงคนนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรี ไม่ว่าจะเป็นอุ้งเชิงกรานอักเสบ/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (หรือบางคนเรียกว่ามดลูกหรือปีกมดลูกอักเสบ ก็ให้ความหมายไปในทำนองเดียวกัน) หรือภาวะมีบุตรยาก

ในผู้หญิงหรือผู้ชายที่ติดโรคหนองในเทียม ต้องได้รับการตรวจซ้ำ 3 เดือนหลังการรักษา ไม่ว่าคู่นอนจะได้รับการรักษาแล้วหรือไม่ก็ตาม

ป้องกันการติดเชื้อหนองในเทียมได้อย่างไร?

วิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อหนองในเทียม คือ งดมีเพศสัมพันธ์ (ทำได้ยาก) หรือมีคู่นอนคนเดียวอย่างยั่งยืน โดยที่คู่นอนนั้นได้ผ่านการตรวจแล้วไม่พบการติดเชื้อหนองในเทียม วิธีอื่นได้แก่ การใช้ถุงยางอนามัยชายชนิดลาเท็กซ์อย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี

การตรวจคัดกรองหนองในเทียมอย่างสม่ำเสมอทุก 1 ปีในผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ที่มีอายุ 25 ปีหรือน้อยกว่า เป็นสิ่งที่ควรทำ

นอกจากนี้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 25 ปีและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหนองในเทียม ได้ แก่ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่มีคู่นอนคนใหม่ หรือมีคู่นอนในช่วงเวลาเดียวกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้หญิงกลุ่มนี้ก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคหนองในเทียมเช่นเดียวกัน และอาจจะทำมาก กว่าหนึ่งครั้งต่อปีขึ้นอยู่กับว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด และ/หรือตามคำแนะนำของแพทย์

อาการต่างๆที่ปรากฏที่บริเวณอวัยวะเพศ อาจบ่งชี้ว่าคุณกำลังเป็นโรคติดต่อทางเพศ สัมพันธ์ อาการผิดปกติมีหลายประการ เช่น แผล สารคัดหลั่งที่ผิดปกติ ตกขาวที่มีกลิ่น ปัสสาวะแสบขัด หรืออาการเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างรอบประจำเดือน หากสงสัยว่าจะเป็นโรค สิ่งสำคัญที่ควรทำ คือ งดมีเพศสัมพันธ์ และรีบพบแพทย์เพื่อ การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด จะช่วยป้องกันการเกิดอุ้งเชิงกรานอักเสบ/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานในผู้หญิงที่ติดโรคนี้ได้ นอกจากนี้ต้องแจ้งให้คู่นอน (ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยภายในช่วง 60 วัน) ได้ทราบเพื่อเข้ารับการตรวจรักษาที่เหมาะสม ก่อนที่จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ใหม่อีกครั้ง

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อสงสัยว่าจะเป็นหนองในเทียม?

เมื่อคุณมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นหนองในเทียม ควรงดมีเพศสัมพันธ์และพบสูตินรีแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ควรแนะนำให้คู่นอนของคุณเข้ารับการตรวจรักษาที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Centers for Disease Control and Prevention. Sexually Transmitted Diseases Treatment Guidelines 2006. MMWR 2006;55 (No. RR-11).
  2. Centers for Disease Control and Prevention. Sexually Transmitted Disease Surveillance, 2008. Atlanta, GA: U.S. Department of Health and Human Services, November 2009.
  3. SD Datta et al. Gonorrhea and chlamydia in the United States among persons 14 to 39 years of age, 1999 to 2002. Ann Intern Med. 2007:147:89-96.
  4. Stamm W E. Chlamydia trachomatis infections of the adult. In: K. Holmes, P. Sparling, P. Mardh et al (eds). Sexually Transmitted Diseases, 3rd edition. New York: McGraw-Hill, 1999, 407-422.
  5. Weinstock H, Berman S, Cates W. Sexually transmitted disease among American youth: Incidence and prevalence estimates, 2000. Perspectives on Sexual and Reproductive Health 2004; 36: 6-10.
Updated 2018,June2