สิ่งแปลกปลอมในช่องหู (Foreign body in the ear canal)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สิ่งแปลกปลอมในช่องหู (Foreign body in the ear canal) เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหารุนแรง สามารถรอได้เป็นวันๆก่อนที่จะนำเอาสิ่งแปลกปลอมออก ยกเว้นในบางกรณีซึ่งจะกล่าวต่อไป

สิ่งแปลกปลอมในช่องหูมีสาเหตุจากอะไร?

สิ่งแปลกปลอมในช่องหู

สาเหตุที่เกิดมีสิ่งแปลกปลอมในช่องหู ที่พบได้บ่อยที่สุด คือ เกิดจากการที่เด็กเอาสิ่งแปลกปลอมใส่ไว้เอง หรือเพื่อนเอามาใส่ เช่น ยางลบ ลูกปัด เมล็ดผลไม้ หรือ เกิดจากแมลงที่กระโดดเข้าไปในช่องหูเอง

สิ่งแปลกปลอมในช่องหูแบ่งได้เป็นกี่ชนิด?

สิ่งแปลกปลอมในช่องหูแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. สิ่งแปลกปลอมที่เป็นสิ่งมีชีวิตพวกแมลง เช่น แมลงสาบ มด หรือ จิ้งหรีด

2. สิ่งแปลกปลอมที่เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ยางลบ ปลายดินสอ กระดาษ เม็ดโฟม เมล็ดผลไม้

เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมในช่องหูจะมีอาการอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมในช่องหู อาจมีอาการได้ดังนี้ คือ

ก. ขึ้นอยู่กับชนิดขนาดของสิ่งแปลกปลอม

  • ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ไม่มีชีวิต ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการหูอื้อ หรือมีน้ำหนองไหลจากหู
  • ถ้าสิ่งแปลกปลอมเป็นสิ่งมีชีวิต เช่น แมลง ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการเจ็บปวดในรูหูฉับพลัน

ข. ผลข้างเคียง: ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมติดค้างอยู่ในช่องหูเป็นเวลานาน อาการคือ อาจเกิดการติดเชื้ออักเสบขึ้นที่หูชั้นนอก (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง หูติดเชื้อ) ซึ่งการอักเสบมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของสิ่งแปลกปลอมเช่นกัน

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยหรือพ่อแม่เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู

เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าช่องหู การรักษา คือ การคีบเอาสิ่งแปลกปลอมออก ซึ่งต้องทำด้วยความระมัดระวังมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ซึ่งมักดิ้น เพราะ ถ้าพ่อแม่พยายามที่จะเอาสิ่งแปลกปลอมออกด้วยตนเอง โดยที่ไม่มีเครื่องมือที่ดีเพียงพอ หรือแพทย์ผู้รักษาไม่มีความชำนาญ อาจจะเกิดบาดเจ็บต่อช่องหู ทำให้มีผนังช่องหูฉีกขาดหรือถลอก จนเกิดการบวมของช่องหูหรือเลือดออกจากหูได้ บางครั้งทำให้แก้วหูฉีกขาดและบาดเจ็บต่อกระดูกหูได้ ซึ่งจะทำให้เด็กสูญเสียการได้ยิน ตามมา

1. ข้อควรปฏิบัติ:

  • เมื่อพบว่ามีสิ่งแปลกปลอมในช่องหู ต้องรีบพาเด็กมาพบแพทย์/แพทย์หูคอจมูก โดยส่วนใหญ่สามารถรอได้จนถึงรุ่งเช้าถ้าเด็กไม่มีอาการอะไร
  • ถ้าสิ่งแปลกปลอมอยู่ตื้นๆพอมองเห็นได้ อาจจะลองเอียงศีรษะและขยับโยกใบหูดู บางครั้งอาจจะทำให้วัตถุหลุดออกมาได้
  • ถ้าสิ่งแปลกปลอม เป็นพวกแมลง ก็ควรทำให้แมลงนั้นตายก่อนโดยใช้น้ำมันพืชหรือน้ำมันมะกอก หยอดลงไปให้เต็มในช่องหู เพื่อทำให้แมลงตายเพราะความหนืดของน้ำมันและแมลงดิ้นไม่ค่อยไหวจึงส่งผลให้แมลงตาย ลดอาการเจ็บในช่องหู
  • ในเด็กบางรายแพทย์อาจจะต้องเอาสิ่งแปลกปลอมออก โดยทำภายใต้การดมยาสลบ ดังนั้นจึงแนะนำให้งดน้ำและอาหารประมาณ 6 ชั่วโมงก่อนมาพบแพทย์/แพทย์หูคอจมูก

2. ข้อห้ามในการกระทำ:

  • อย่าพยายามคีบเอาสิ่งแปลกปลอมออกเอง เพราะจะยิ่งดันเอาสิ่งแปลกปลอมลึกเข้าไปในหูมากขึ้น
  • ห้ามใช้คีมคีบแมลงในช่องหู ถ้าแมลงยังไม่ตาย
  • อย่าใช้คีมหรือแหนบคีบวัตถุทรงกลมในช่องหู เพราะจะทำให้ดันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องหูลึกมากขึ้นได้
  • ในเด็กที่ไม่ร่วมมือ อย่าใช้เครื่องมือแข็งๆเขี่ยสิ่งแปลกปลอม เพราะเด็กอาจจะสะบัดศีรษะ เกิดการบาดเจ็บของแก้วหูได้
  • อย่าใช้น้ำฉีดล้างในช่องหูเพื่อดันเอาเมล็ดถั่วออกจากช่องหู เพราะจะทำให้เปลือกถั่วบวมอุดตันช่องหูมากขึ้น และเกิดการอักเสบของช่องหูได้

3. กรณีเร่งด่วนที่ต้องรีบเอาสิ่งแปลกปลอมออกทันทีหรือรีบให้การรักษา:

  • แบตเตอรี่ขนาดเล็กๆต่างๆ (Disk battery) เช่น ของนาฬิกา เพราะจะปล่อยด่างออกมา ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้เนื้อเน่าตาย เกิดบาดแผลที่ช่องหูได้ ดังนั้นจึงควรต้องรีบพบแพทย์/แพทย์หูคอจมูก/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • สิ่งแปลกปลอมที่เข้าอยู่ในหูมานานและทำให้ช่องหูอักเสบ ถ้าเด็กมีอาการ ปวดหู มีเลือดไหล หรือ น้ำหนองออกจากช่องหู ต้องรีบมาพบแพทย์/แพทย์หูคอจมูกทันที/มาโรงพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อทำความสะอาดหู เอาสิ่งแปลกปลอมออก และ ให้ยาแก้อักเสบที่เหมาะสม

หลังจากเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากหูแล้วควรทำอย่างไร?

หลังจากแพทย์เอาสิ่งแปลกปลอมออกจากช่องหู ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาหยอดหู มาหยอดวันละ 3-4 ครั้ง เป็นเวลาประมาณ 5-7 วัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ดังนั้นถ้าเด็กมีอาการปวดหู มีน้ำหนองไหลจากช่องหู มีช่องหูบวมแดง จับใบหูแล้วเจ็บ ควรรีบนำเด็กมาพบแพทย์/แพทย์หูคอจมูก/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อทำการรักษาการติดเชื้อของช่องหู (หูติดเชื้อ) ต่อไป

ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าช่องหูได้อย่างไร?

เป็นธรรมชาติของเด็กในช่วงพัฒนาการที่ชอบสำรวจและอยากรู้อยากเห็น ดังนั้นการป้องกัน คือ พ่อแม่ต้องสอนให้เด็กทราบว่า ไม่ควรจะเอาสิ่งต่างๆใส่เข้าไปในช่องหู และในรายที่สงสัยว่า เด็กได้ใส่สิ่งของเข้าไปในช่องหูแล้ว พ่อแม่ต้องตระหนักและตรวจดูก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากวัตถุแปลกปลอม ตกค้างอยู่ในช่องหูเป็นเวลานานๆ

แต่เมื่อสงสัยมีสิ่งแปลกปลอมเข้าช่องหู ควรรีบพบแพทย์/แพทย์หูคอจมูก/พาเด็ฏมาโรงพยาบาลเสมอ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ คำแนะนำ

บรรณานุกรม

  1. ศิริเกียรติ ประเสริฐศรี :สิ่งแปลกปลอมด้าน หู คอ จมูก ใน กรีฑา ม่วงทอง บรรณาธิการ ตำราโรคหู คอ จมูก โครงการตำรำ วพม. นำอักษรการพิมพิ์ 2548:292-300.
  2. Torres AI, Backous DD. Clinical Assessment and Surgical Treatment of Conductive Hearing Loss In Cummings CW.ed. Otolaryngology Head and Neck Surgery. 2nded. St.Louis :Mosby-Year Book, 2010:143;2017-27.