สิวในทารกแรกเกิด (Acne neonatorum)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 2 พฤษภาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- กลไกการเกิด/สาเหตุสิวในทารกแรกเกิดเป็นอย่างไร?
- สิวในทารกแรกเกิดมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยสิวในทารกแรกเกิดได้อย่างไร?
- รักษาสิวในทารกแรกเกิดอย่างไร?
- สิวในทารกแรกเกิดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- สิวในทารกแรกเกิดมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลทารกอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันสิวในทารกแรกเกิดได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- สิว (Acne)
- สิวในทารก (Infantile acne)
บทนำ
สิวในทารกแรกเกิด (Acne neonatorum) พบได้ประมาณ 20% ของทารกอายุประมาณ 2 สัปดาห์ พบในทารกเพศชายมากกว่าเพศหญิง แตกต่างจาก สิวในทารก (Infantile acne) ซึ่งพบในทารกที่โตกว่าคือช่วงอายุ 2-6 เดือนที่มีความรุนแรงมากกว่าและหายช้ากว่า คือหายภายใน 1-2 ปี
กลไกการเกิด/สาเหตุสิวในทารกแรกเกิดเป็นอย่างไร?
สาเหตุการเกิดสิวในทารกแรกเกิด เชื่อว่าเกิดจากระดับฮอร์โมนเพศชายที่เพิ่มสูงขึ้นชั่ว คราว ทั่งที่ได้รับจากมารดาหรือจากตัวทารกเอง จึงทำให้พบสิวในทารกแรกเกิดในทารกเพศชายมากกว่าในเพศหญิง
สิวในทารกแรกเกิดมีอาการอย่างไร?
สิวในทารกแรกเกิด พบได้ทั้ง
- สิวอุดตัน คือเป็นตุ่มเล็กสีขาวที่บริเวณใบหน้าคือ แก้ม จมูก หน้าผาก หรือ
- สิวอักเสบ เป็นตุ่มสีแดง และตุ่มหนอง
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อทารกมีตุ่มขึ้นผิดปกติ สามารถพามาพบแพทย์เพื่อตรวจแยกจากโรคติดเชื้อ ที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำที่มีลักษณะดูคล้ายสิวได้
แพทย์วินิจฉัยสิวในทารกแรกเกิดได้อย่างไร?
โดยทั่วไป สามารถวินิจฉัยสิวในทารกแรกเกิดได้จาก การสอบถามประวัติอาการ การคลอด และการตรวจร่างกาย แต่ถ้าหากมีข้อสงสัยที่ต้องแยกจากโรคติดเชื้ออื่น อาจต้องทำการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของทั้งหนองจากสิวและ/หรือการตรวจเลือด
รักษาสิวในทารกแรกเกิดอย่างไร?
สิวในทารกแรกเกิด หายได้เองในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน แต่หากเป็นมาก และเป็นนาน แพทย์รักษาด้วยยาทา 2.5% Benzoyl peroxide ที่ควรรักษาภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากยามีฤทธิ์ระคายเคือง ซึ่งแพทย์มักตรวจสอบการแพ้ของผิวหนังก่อนทายาที่บริเวณใบหน้า
สิวในทารกแรกเกิดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
สิวในทารกแรกเกิด มีการพยากรณ์โรคที่ดี หายเป็นปกติได้เองภายในประมาณ 3เดือน โดยไม่มีรอยแผลเป็น
สิวในทารกแรกเกิดมีผลข้างเคียงอย่างไร?
สิวในทารกแรกเกิด ไม่ทิ้งรอยแผลเป็นใดๆ แต่ทารกที่มีภาวะนี้ มักมีแนวโน้มที่จะเป็นสิวรุนแรงในช่วงวัยรุ่น สูงกว่าวัยรุ่นทั่วไป
ดูแลทารกอย่างไร?
การดูแลสิวในทารกแรกเกิด คือ ทำความสะอาดผิวทารกด้วยสบู่สำหรับเด็กอ่อนตามปกติ เลือกใช้แป้งและครีมบำรุงผิวชนิดอ่อนโยนสำหรับเด็กอ่อน ชนิดที่ล้างออกง่าย ไม่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม และเลือกใช้ผ้าเช็ดใบหน้า เนื้อตัวเด็ก ชนิดที่อ่อนนุ่ม ไม่ก่อการระคายเคือง เช่น ผ้าฝ้าย 100% รวมไปถึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่อ่อนโยนต่อผิวทารกด้วย
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
หลังการพบแพทย์เพื่อดูแลรักษาสิวในทารกแรกเกิด หากผื่นมีการเปลี่ยนแปลงลุกลาม หรือเป็นนานเกินกว่า 3 เดือน หรือผู้ดูแลทารกกังวลใจ แนะนำให้พบแพทย์ก่อนนัด
ป้องกันสิวในทารกแรกเกิดได้อย่างไร?
จากสาเหตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของเด็กแรกเกิด จึงไม่สามารถป้องกันภาวะสิวในทารกแรกเกิดได้ แต่สามารถลดความรุนแรงของอาการได้จากการดูแลเด็กดังที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลทารก คือ การรักษาความสะอาดด้วยการใช้สบู่เด็กอ่อน และการลดการระคายเคืองจากสิ่งมาสัมผัสผิวทารก เช่น เลือกชนิดแป้งและชนิดผ้าเช็ดตัว ที่รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ซักทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิวทารก
บรรณานุกรรม
1. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร . Dermatology 2020.พิมพ์ครั้งที่ 1.บริษัท โฮลิสติก พับลิชิ่ง จำกัด .
2. Lowell A.Goldsmith,Stephen I.Katz,BarbaraA.Gilchrest,Amy S.Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick Dermatology in general medicine .eight edition.McGraw hill
3. http://www.medscape.org/viewarticle/568652 [2014,April12].