สิวในทารก (Infantile acne)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 2 พฤษภาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- สิวในทารกมีกลไกการเกิด/สาเหตุอย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดสิวในทารก?
- สิวในทารกมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยสิวในทารกได้อย่างไร?
- รักษาสิวในทารกอย่างไร?
- สิวในทารกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- สิวในทารกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลทารกอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันสิวในทารกได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- สิว (Acne)
- สิวในทารกแรกเกิด (Acne neonatorum)
บทนำ
สิวในทารก (Infantile acne) พบได้ในทารกช่วงอายุ 3-6 เดือน ต่างจากสิวในทารกแรกเกิด (Neonatal acne หรือ Acne neonatorum) ที่พบในเด็กที่เล็กกว่า คืออายุประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ สิวในทารกจะมีอาการรุนแรงมากกว่าสิวในทารกแรกเกิด
สิวในทารกมีกลไกการเกิด/สาเหตุอย่างไร?
สิวในทารก เกิดจากการเพิ่มขึ้นชั่วคราวของฮอร์โมนเพศชายที่ผลิตจากต่อมหมวกไตที่พัฒนายังไม่สมบูรณ์ อาจร่วมกับแนวโน้มทางพันธุกรรม คือมีประวัติครอบครัวเป็นสิวรุนแรง
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดสิวในทารก?
ทารกที่มีพ่อแม่เป็นสิวรุนแรงในวัยรุ่น จะมีแนวโน้มการเกิดสิวในทารก สูงกว่าทารกทั่วไป
สิวในทารกมีอาการอย่างไร?
สิวในทารก พบได้ทั้งสิวอุดตัน คือ มีลักษณะเป็นตุ่มสีขาว, สิวอักเสบ, สิวหนอง, ซีสต์ บริเวณใบหน้า คือ แก้ม จมูก หน้าผาก
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อทารกมีตุ่มขึ้นผิดปกติ สามารถพามาพบแพทย์เพื่อตรวจแยกจากโรคติดเชื้อ ที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำที่มีลักษณะดูคล้ายสิวได้ และยังต้องวินิจฉันแยกโรคจากผื่นแพ้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ (ผื่นแพ้สัมผัสในเด็ก: Contact dermatitis)
แพทย์วินิจฉัยสิวในทารกได้อย่างไร?
โดยทั่วไป แพทย์สามารถวินิจฉัยสิวในทารกได้จาก การสอบถามประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจรอยโรค แต่หากมีข้อสงสัยแยกได้ยากจากโรคติดเชื้ออื่น อาจต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการของทั้งหนองจากรอยโรค และ/หรือ การตรวจเลือด
รักษาสิวในทารกอย่างไร?
รักษาสิวในทารกด้วยยาทา (เช่น Retinoic acid, Benzoyl peroxide, Topical antibio tic) และ/หรือ ยากิน (เช่น Erythromycin, Isotretinoine) เช่นเดียวกับสิวในผู้ใหญ่ แต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เนื่องจากยาเหล่านี้มีฤทธิ์ระคายเคือง และทารกมีผิวที่บอบบาง จึงเกิดการแพ้ยา หรือผิวอักเสบจากยาได้ง่าย
สิวในทารกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของสิวในทารกคือ สิวมักหายได้เองที่อายุประมาณ 1-2 ขวบ แต่บางรายที่โรครุนแรง โรคอาจเป็นอยู่จนเด็กถึงอายุ 4-5 ปีได้ และถ้าเป็นโรคที่รุนแรง หรือเกิดมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน อาจเกิดเป็นแผลเป็นตามมาเช่นเดียวกับสิวในวัยรุ่นได้
สิวในทารกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
สิวในทารกสามารถทำให้เกิดแผลเป็นจากสิวได้เช่นเดียวกับสิวในวัยรุ่น ถ้าเป็นรุนแรง หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน
ดูแลทารกอย่างไร?
การดูแลทารกที่เป็นสิวในทารก คือ
- ทำความสะอาดผิวทารกด้วยสบู่เด็กอ่อนตามปกติ
- ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ให้ถูกต้อง ครบถ้วน
- เลือกใช้แป้ง ครีมบำรุงผิวเด็กอ่อน ที่ล้างออกได้ง่าย ไม่มีส่วนผสมจากน้ำมัน
- เลือกใช้ผ้าเช็ดตัวเด็กชนิดที่ไม่ก่อการระคายต่อผิว (เช่น ผ้าฝ้าย 100%) และ รวมถึงผลิตภัณฑ์ซักผ้า และปรับผ้านุ่ม
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
หลังการวินิจฉัยว่าเป็นสิวในทารก หากผื่นมีการเปลี่ยนแปลง ลุกลาม หรือเป็นหนอง หรือผู้ดูแลทารกกังวลใจ แนะนำให้มาพบแพทย์ก่อนนัด
ป้องกันสิวในทารกได้อย่างไร?
จากสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง จึงไม่สามารถป้องกันภาวะสิวในทารกได้ แต่สามารถลดความรุน แรงของอาการได้ จากการดูแลเด็กดังที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลทารก คือ การรักษาความสะอาดด้วยการใช้สบู่เด็กอ่อน และการลดการระคายเคืองจากสิ่งที่มาสัมผัสผิวทารก เช่น เลือกชนิดแป้งและชนิดผ้าเช็ดตัว ที่รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ซักทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิวทา รก
บรรณานุกรรม
1. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร . Dermatology 2020.พิมพ์ครั้งที่ 1.บริษัท โฮลิสติก พับลิชิ่ง จำกัด .
2. Lowell A.Goldsmith,Stephen I.Katz,BarbaraA.Gilchrest,Amy S.Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick Dermatology in general medicine .eight edition.McGraw hill
3. Infantile acne , dermnet :http://www.dermnetnz.org/acne/infantile-acne.html [2014,April 20].