สิวอุดตัน (Comedone)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 29 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- สิวอุดตันเกิดได้อย่างไร?
- สิวอุดตันติดต่อไหม?
- สิวอุดตันมีอาการอย่างไร?
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยสิวอุดตันได้อย่างไร?
- รักษาสิวอุดตันอย่างไร?
- สิวอุดตันมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- สิวอุดตันมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองและป้องกันสิวอุดตันอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- สิว (Acne)
- สิวในทารก (Infantile acne)
- สิวในทารกแรกเกิด (Acne neonatorum)
- สิวเสี้ยน (Trichostasis spinulosa)
- โรซาเซีย (Rosacea)
- ฝ้า (Melasma)
- กระ (Freckle)
- โรคด่างขาว (Vitiligo)
บทนำ
สิวอุดตัน (Comedone) คือ ต่อมไขมันและรูขุมขน (ต่อมไขมันและรูขุมขนมีรูเปิดร่วมกันจึงเรียกรวมกันว่า Pilosebaceous gland unit) ที่อุดตันด้วย Keratin (โปรตีนที่สร้างจากเซลล์ผิว หนัง), ไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมัน และแบคทีเรียที่ชื่อ P.acne (Propionibacterium acnes)
สิวอุดตัน พบได้บ่อยทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่ไม่มีการศึกษาสถิติไว้ชัดเจน แต่หากนับอัตราเกิดเป็นการเกิดสิวในภาพรวมทั้งหมด พบการเกิดสิวในวัยรุ่นได้ประมาณ 80% ของวัยรุ่นทั้งหมด และประมาณ 50% ในวัยผู้ใหญ่ทั้งหมด
เมื่อสิวอุดตัน เกิดการอักเสบ จะพัฒนากลายเป็นสิวอักเสบ (Inflammatory acne) ดังนั้น การรักษาสิวอุดตัน จึงเป็นการลดการเกิดสิวอักเสบและผลข้างเคียงที่ตามมาจากสิวอักเสบ เช่น รอยแดง รอยดำ และรอยแผลเป็นจากสิว
สิวอุดตันเกิดได้อย่างไร?
สิวอุดตัน เกิดจากต่อมไขมันและรูขุมขนใต้ผิวหนังเกิดการอุดตันด้วย Keratin และไขมันที่สร้างจากเซลล์ในต่อมไขมันนั้นร่วมกับแบคทีเรีย P.Acne ที่อาศัยอยู่ในต่อมไขมันและรูขุมขน (Pilosebaceous gland unit) โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวอุดตันมีทั้งจากในร่างกายเราเอง คือ ฮอร์ โมนเพศ ที่กระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน และปัจจัยภายนอก คือ สารก่อให้เกิดสิว (Comedo genic) ที่ทำให้เกิดการอุดตันรุมขน
ตัวอย่างปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดสิว เช่น
- ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ทั้งแบบกิน ทา และฉีด, วิตามิน บี 12
- เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของ Olive oil, White petrolatum lanolin, Butyl stearate, Sodium lauryl sulfate, Isopropyl myristate, Oleic acid
- การทำงานในที่มีอุณหภูมิร้อน ชื้น เหงื่อออกมาก ก็ทำให้เกิดการบวมของท่อไขมันเป็นสา เหตุของสิวได้
- ผลิตภัณฑ์ใส่ผม เช่น น้ำมันใส่ผม
สิวอุดตันติดต่อไหม?
สิวอุดตัน ไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่สามารถติดต่อสู่กันได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด เช่น การสัมผัส การใช้สิ่งของร่วมกัน
สิวอุดตันมีอาการอย่างไร?
อาการของสิวอุดตัน คือ เป็น ตุ่ม นูน ที่ผิวหนัง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 - 3 มิลลิ เมตร สีเดียวกับผิวหนัง แบ่งเป็นสองแบบ คือ
- สิวอุดตันหัวปิด (Closed comedones) หรือสิวอุดตันหัวขาว (Whitehead comedone) คือ สิวอุดตันที่ท่อเปิดของต่อมไขมันและรูขุมขนมีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็น และไม่สามารถเป็นทางออกของสารที่อุดตันอยู่ภายในต่อมไขมันและในรูขุมขนได้ ทำให้สิวมีลักษณะเหมือนตุ่มสีเนื้อฝังอยู่ในผิวหนัง
- สิวอุดตันหัวเปิด (Open comedone) หรือสิวอุดตันหัวดำ (Blackhead comedone) จะเห็น มีจุดสีดำที่หัวของตุ่มนูนที่สีเดียวกับผิวหนัง จุดสีดำนี้คือ ท่อเปิดของต่อมไขมันและรูขุมขนที่อัดแน่นไปด้วยสารสีดำที่เกิดจาก Keratin, ไขมัน และแบคทีเรีย P.Acne ทำปฏิกิริยากับอากาศ
สิวอุดตัน พบได้ที่ผิวหนังบริเวณที่มีความมันและมีต่อมไขมันอยู่หนาแน่น เช่น ใบหน้า อก หลัง มักพบร่วมกับสิวระยะอื่นๆ เช่น สิวอักเสบ และรอยดำจากสิว
ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
หากมีสิวหรือมีผิวหนังมีลักษณะดังกล่าว และต้องการการวินิจฉัย และ/หรือการรักษา สามารถพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับคำแนะนำและการรักษาได้เสมอ
แพทย์วินิจฉัยสิวอุดตันได้อย่างไร?
โดยทั่วไป แพทย์สามารถวินิจฉัยสิวอุดตันได้จาก
- การสอบถามอาการ
- และจากตรวจรอยโรคด้วยตา ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม
รักษาสิวอุดตันอย่างไร?
รักษาสิวอุดตันได้โดย ใช้ยาทาในกลุ่มที่มีฤทธิ์ละลายหัวสิว (Comedolytic) เช่น
- ยาในกลุ่มกรดวิตามิน A เช่น Retinoic acid (Tretinoin) ความเข็ม 0.025%, 0.05% , Isotretinoin (ความเข็ม 0.05%) ทาบริเวณสิวอุดตันก่อนนอน
ผลข้างเคียงจากยาคือ ช่วงหนึ่งเดือนแรกที่ใช้ยา จะทำให้สิวเห่อได้ และมีอาการระคายเคืองหน้าแดง แสบ แห้ง ลอก เป็นขุย
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Salicylic acid, AHA (Alpha hydroxy acid), BHA (Beta hydroxy acid) ที่มีฤทธิ์ในการละลายหัวสิวเช่นกัน โดยอ่านวิธีใช้จากเอกสารกำกับยาที่แตกต่างกันตามชนิดของยา
- Benzoyl peroxide (ความเข็ม 2.5%, 5%) มีฤทธิ์ทั้งการฆ่าเชื้อ P.Acne และละลายหัวสิว ล้างหน้าให้สะอาด ทายาบริเวณสิวอุดตัน ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วล้างยาออกด้วยน้ำเปล่า เช้า-เย็น ยานี้ทำให้เกิดผิวแห้ง ระคายเคืองผิวได้เช่นกัน
- การกดสิว (Acne extraction) ควรทำโดยผู้ชำนาญเท่านั้น เพราะอาจเกิดการอักเสบของผิวหนังตามมาได้
สิวอุดตันมีผลข้างเคียงอย่างไร?
สิวอุดตัน อาจพัฒนาเกิดผลข้างเคียง เช่น
- การอักเสบเป็นหนอง
- ทิ้งเป็นรอยดำ
- และเกิดแผลเป็นจากสิวได้
สิวอุดตันมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของสิวอุดตัน คือ
- อาจหายได้เอง
- หรือพัฒนาเป็นสิวอักเสบได้ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เช่น การแกะสิว การบีบสิว
ดูแลตนเองและป้องกันสิวอุดตันอย่างไร?
วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นสิวอุดตัน เช่นเดียวกับวิธีป้องกันสิวอุดตัน ซึ่งที่สำคัญได้แก่
- ใช้ผลิตภัณฑ์กับผิวหนังที่ลดการเกิดสิวอุดตัน เช่น ล้างหน้าด้วยสบู่ที่มีส่วนผสมของ Salicylic acid เช้า-เย็น
- ทายา Benzoyl peroxide และ Tretinoin เป็นประจำเพื่อลดการเกิดสิวอุดตัน
- การทำความสะอาดใบหน้า ให้ล้างหน้าด้วยสบู่ที่มีส่วนผสมของสารที่มีฤทธิ์ละลายหัวสิว เช่น Salicylic acid , AHA, BHA วันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น ไม่ควรล้างหน้าฟอกสบู่บ่อยๆมากกว่า 4 ครั้งต่อวัน เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดสิวได้
- เมื่อมีสิว ไม่ควรขัดหน้า นวดหน้า เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดสิวอักเสบมากขึ้น
- เมื่อมีสิวอุดตัน ไม่ควรแกะบีบ เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบตามมาได้
- สังเกตุตนเองเพื่อเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่กระตุ้นให้เกิดสิว เช่น ในผู้ชายการใส่น้ำมันใส่ผมมาก อาจเป็นสาเหตุให้รูขุมขนอุดตัน เกิดเป็นสิวตามมาได้
- รับประทานอาหารได้ตามปกติ ควรเลี่ยงอาหารบางประเภท เนื่องจากอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดสิวผ่านทางกลไกกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันมากขึ้นได้ เช่น
- อาหารหวาน
- อาหารคาร์โบไฮเดรตสูง
- อาหารไขมันสูง
- ผลิตภัณฑ์จากนม
- เลี่ยงเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสาร Comedogenic (สารที่ทำให้รูขุมขนอุดตันก่อให้เกิดสิว) ตัวอย่าง เช่น Olive oil, White petrolatum, lanolin, Butyl stearate, Sodium lauryl sulfate, Isopropyl myristate, Oleic acid
บรรณานุกรม
- ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:ชื่อบท.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
- Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick’s dermatology in general medicine :chapter.eight edition.McGraw-Hill.2012
- David j. Goldberg,Alexander L.Berlin.Acne and Rosacea Epidermiology diagnosis and treatment .2012.Manson
- Leslie Baumann,MD.Cosmetic Dermatology,second edition .2009.McGrawHill