สารเคมีเข้าตา (Chemical eye burns)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 29 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
- สารเคมีเข้าตาได้อย่างไร?
- สารเคมีก่อให้เกิดผลเสียหายต่อตาอย่างไร?
- ชนิดของสารเคมีรุนแรงต่างกันอย่างไร?
- เมื่อสารเคมีเข้าตาควรดูแลเบื้องต้นอย่างไร?
- เมื่อสารเคมีเข้าตารุนแรงมีการรักษาอย่างไร?
- แพทย์มีคำแนะนำป้องกันสารเคมีเข้าตาอย่างไร?
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- กระจกตาอักเสบ (Keratitis) กระจกตาเป็นแผล (Corneal ulcer)
- กระจกตาถลอก (Corneal abrasion)
- เยื่อตาอักเสบ (Conjunctivitis)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
- การตรวจตา การตรวจสุขภาพตา (Eye examination)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- ต้อกระจก (Cataract)
สารเคมีเข้าตาได้อย่างไร?
ในโลกปัจจุบันมีการใช้สารเคมีอยู่ทั่วไป ในครัวเรือนมีสารเคมีที่ใช้ทำความสะอาดสุขภัณฑ์ ต่างๆที่อาจพลาดกระเด็นเข้าตาแม่บ้าน คุณพ่อบ้านตรวจแบตเตอรี่รถยนต์อาจพลาดน้ำกรดจากแบต เตอรี่กระเด็นเข้าตา แม้ในหมู่เกษตรกรมีการใช้ยาฆ่าแมลงสารฆ่าวัชพืชมีโอกาสพลาดเข้าตาได้เช่นกัน ในโรงงานอุตสาหกรรมก็มักจะมีสารเคมีใช้ในกิจกรรมต่างๆมากมาย กรรมกรก่อสร้างอาจ ทำงานพลาดพลั้งปูนกระเด็นเข้าตา สารเคมีเหล่านี้อาจบังเอิญกระเด็นเข้าตาเล็กน้อยในการทำงาน หรือเกิดจากแรงระเบิดในโรงงานซึ่งอาจจะเข้าตาในจำนวนมาก ซ้ำร้ายในการปองร้ายกันก็มักจะใช้สารเคมีสาดเข้าหน้าทำให้มีสารเคมีเข้าตาเป็นจำนวนมากได้
สารเคมีก่อให้เกิดผลเสียหายต่อตาอย่างไร?
ความรุนแรงหรือความเสียหายที่เกิดกับดวงตาเมื่อมีสารเคมีเข้าตาขึ้นอยู่กับ
1. ชนิดของสารเคมีเช่น ด่างมักจะรุนแรงกว่ากรด
2. ความเข้มข้นและปริมาณของสารเคมีที่เข้าตา หากบังเอิญกระเด็นเข้าตา กระพริบตาทัน อาจมีสารเคมีสัมผัสผิวตาเพียงเล็กน้อย ต่างจากที่เกิดจากแรงระเบิด เป็นต้น
3. ระยะเวลาที่สารเคมีสัมผัสผิวตา ถ้าสัมผัสและอยู่ในตานาน ความเสียหายของตาก็สูงขึ้น นั่นคือการรีบล้างสารเคมีออกเร็วที่สุดจะเป็นผลดีที่สุด
โดย:
- เมื่อสารเคมีที่ไม่รุนแรงเข้าตา จะสัมผัสเพียงผิวนอกได้แก่ เยื่อบุตา และผิวตาดำ (กระจกตา) ก่อให้เกิดเพียงเยื่อบุตาอักเสบและ/หรือผิวตาดำถลอกเท่านั้น
- แต่ถ้าเป็นสารเคมีเข้มข้นหรือสารที่รุนแรง
- จะซึมผ่านตาดำทำลายตาดำ ทำให้ตาดำซึ่งแต่เดิมใสเกิดเป็นฝ้าขาว ตาจึงมัวลงทันที
- บางรายสารเคมีซึมผ่านตาดำเข้าไปภายในลูกตา ทำลายม่านตา ก่อให้เกิดต้อหิน ต้อกระจก
- บางรายรุนแรงทำให้ภายในดวงตาขุ่นขาว มีการอักเสบภายในลูกตาทั้งดวงตา ทำลายส่วนต่างๆ ลงเอยด้วยตาฝ่อไปทุกส่วน แม้จะพยายามให้การรักษาก็อาจไม่ทัน
อนึ่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับดวงตาเมื่อสารเคมีเข้าตา เช่น
- อาจเป็นความเสียหายเพียงเล็กน้อย ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็หายเป็นปกติ ไม่มีการสูญเสียสายตา
- หรือจนถึงขั้นรุนแรง สูญเสียสายตาถึงขั้นตาบอดก็มี
- บางรายแม้ไม่ถึงกับตาบอด แต่มีการทำลายต่อมต่างๆของเยื่อบุตาทำให้อยู่ใน
- ภาวะตาแห้ง
- แสบตา และ/หรือ ตาสู้แสงไม่ได้ ไปตลอดชีวิตก็มี
ชนิดของสารเคมีรุนแรงต่างกันอย่างไร?
อาจแบ่งสารเคมีออกเป็น 2 กลุ่มคือ ด่าง และกรด คนทั่วไปเข้าใจผิดว่ากรดทำลายดวงตา ได้มากกว่า ความจริงด่างทำลายได้มากกว่าโดยเฉพาะด่างแอมโมเนียม ไฮดรอกไซด์ (Ammo nium hydroxide/NH4OH)
ทั้งนี้เมื่อกรดสัมผัสผิวดวงตา ตัวกรดจะไปรวมกับโปรตีนที่ผิวตาเกิดเป็นตะกอนป้องกันมิให้ น้ำกรดซึมลึกลงไป นอกจากเป็นน้ำกรดที่แรงและเข้มข้นมากจึงกัดลึกเข้าไปในตา กรดมักจะก่อให้ เกิดผลเสียต่อตาภายใน 2 - 3 ชั่วโมง (ช.ม.) หลังถูกกรดเท่านั้น ไม่ทำลายดวงตาเพิ่มขึ้นหลัง 3 ช.ม. ไปแล้ว
ส่วนด่างมักจะทะลุทะลวงผ่านตาดำได้ดีกว่า และจะทำลายดวงตาต่อไปเรื่อยๆอีกหลายชั่วโมงหรือหลายวันต่อมา ด่างบางชนิดซึมเข้าภายในดวงตาได้ภายใน 7 - 15 วินาที ด่างจะรวม กับกรดไขมันในเนื้อเยื่อตาทำลายเซลล์กระจกตา ทำให้กระจกตาอ่อนยุ่ยสลายตัวได้รวดเร็ว ทำให้ตาดำทะลุได้ และด่างที่รุนแรงเมื่อเข้าภายในดวงตาสามารถทำให้ตาฝ่อจึงสูญเสียการมองเห็น ได้รวดเร็ว
ด่าง: ชนิดด่างที่เข้าตาได้บ่อย: ได้แก่
1. แอมโมเนีย พบในปุ๋ย สารทำความเย็น น้ำยาทำความสะอาด และในโรงงานอุตสาหกรรม ตัวแอมโมเนียอาจถูกอัดอยู่ในแท้งค์ (Tank) ถ้าเกิดอุบัติเหตุแท้งค์ระเบิด ตัวแอมโมเนียรวมกับน้ำจะเกิดไอระเหยของแอมโมเนียม ไฮดรอกไซด์ ซึ่งจะซึมผ่านตาดำได้รวดเร็ว ก่อให้เกิดการเสีย หายรุนแรงที่สุด ผู้ทำงานเกี่ยวกับแท้งค์แอมโมเนียจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
2. โซดาไฟ/โซเดียม ไฮดรอกไซด์ (Sodium hydroxide/NaOH ) รวมทั้งโปแตสเซียมไฮดรอก ไซด์ (Potassium hydroxide/KOH) ทั้งในรูปผลึกหรือของเหลว พบมากในน้ำยาทำความสะ อาดท่อระบายน้ำ ซึมเข้าตาได้รวดเร็วใกล้เคียงกับแอมโมเนีย
3. ดอกไม้ไฟ/แมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide/Mg(OH)2) ที่มักจุดเล่นกันในเทศกาลต่างๆ มักก่อให้เกิดผลเสียจากความร้อนร่วมกับฤทธิ์ของด่างอ่อนๆ
4. แคลเซียม ไฮดรอกไซด์ (Calcium hydroxide/Ca(OH)2) มีในปูนฉาบผนัง ปูนซีเมนต์ และปูนขาว เป็นอุบัติเหตุเข้าตาในคนงานฉาบปูนได้บ่อยที่สุด นอกเหนือจากนั้น มักมีเศษปูนติดค้างอยู่ในตา ถ้าไม่เอาออกปูนจะปล่อยสารเคมีออกมาเรื่อยๆ
กรด: ชนิดกรดที่เข้าตาบ่อย: ได้แก่
1. กรดซัลฟูริค (Sulfuric acid/H2SO4) พบในแบตเตอรี่รถยนต์ น้ำยาทำความสะอาด และในภาคอุตสาหกรรม เมื่อรวมกับน้ำตาจะเกิดความร้อนทำลายตาจากฤทธิ์ของกรดและความร้อน
2. กรดซัลฟูรัส (Sulfurous acid/H2SO3) พบในสารกันบูดที่ใช้ในผัก ผลไม้ สารฟอกสี หรือในตู้เย็น กรดตัวนี้ซึมเข้าตาได้ง่ายกว่ากรดตัวอื่น
3. กรดไฮโรฟลูออริค (Hydrofluoric acid/HF) กรดกัดกระจกเป็นสารเคมีใช้ขัดกระจก กลั่นแร่ ปรับคุณภาพของน้ำมันเบนซิน ตลอดจนผลิตซิลิโคน (สารใช้ทางศัลยกรรมเสริมความงาม) กรดตัวนี้ซึมเข้าตาได้ง่าย มักก่อให้เกิดผลเสียที่รุนแรงเมื่อเทียบกับกรดตัวอื่น
4. กรดน้ำส้ม/กรดอะซีติก (Acetic acid) มีตั้งแต่น้ำส้มสายชู 4 - 10% (มีกรดประมาณ 4 -10 %) ไปจนถึง Glacial acetic acid 90% (มีกรดอยู่ 90%) กรดตัวนี้ถ้าต่ำกว่า 10% มักจะไม่รุนแรง
5. กรดโครมิค (Chromic acid) ใช้ในอุตสาหกรรมโครเมี่ยมมักจะไม่รุนแรง
6. กรดเกลือ/ไฮโดรคลอริค แอซิด (Hydrochloric acid) ที่ใช้กันขนาด 32 - 38% ถ้าสัมผัสตานานถึงจะมีอาการรุนแรง
เมื่อสารเคมีเข้าตาควรดูแลเบื้องต้นอย่างไร?
ทันทีที่สารเคมีเข้าตา ต้องรีบล้างตาเพื่อขจัดสารเคมีออกให้ได้เร็วและมากที่สุดด้วยน้ำสะ อาด น้ำเกลือ และ/หรือน้ำยาล้างตาที่หาได้เร็วที่สุด อย่าได้นำน้ำกรดมาล้างด่างที่เข้าตาเด็ดขาด เพราะจะเกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงเกิดความร้อน ทำลายดวงตาได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่ากรดหรือด่างเข้าตา ล้างด้วยน้ำสะอาดทันที ผู้ป่วยบางรายปวดและเจ็บตามาก ทำให้ล้างตาไม่ทั่ว ถ้ามียาชาชนิดหยอดตา หยอดนำก่อนจะทำให้ล้างตาได้ทั่วยิ่งขึ้น
หลังล้างตาควรดูว่า ผู้ป่วยยังมีอาการปวดเจ็บตามากอยู่หรือมีความผิดปกติเช่น ไม่ยอมลืม ตา แสบตามาก หากพบว่าตาดำมีสีขาวขุ่นต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที โดยทั่วไปสถานพยาบาลจะยังให้ล้างตาต่อเพื่อขจัดสารเคมีออกจากตาให้หมด อาจต้องใช้เวลาล้างตาครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง หรืออย่างน้อยด้วยน้ำ 2 ลิตร แล้วประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยดูจากผลกระทบต่อตาดำ (มีการหลุดลอกของผิวตาดำหรือขุ่นมากน้อย) ตลอดจนดูว่ามีการทำลายของเซลล์ตัวอ่อนรอบๆตาดำ (Stem cell/สเต็มเซลล์) มากหรือน้อย ถ้ารุนแรงแพทย์ต้องรับตัวไว้รักษาต่อในโรงพยาบาล
เมื่อสารเคมีเข้าตารุนแรงมีการรักษาอย่างไร?
เมื่อสารเคมีเข้าตารุนแรง การรักษาต้องเป็นการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งโดยทั่วไปคือ
- ระยะแรก (1 - 2 สัปดาห์) เป็นการรักษาลดความเจ็บปวด ควบคุมความดันตา ให้ยากระตุ้นให้มีการสมานของแผล
- ระยะที่ 2 (หลัง 2 สัปดาห์ถึงหลายเดือน) เป็นระยะที่อาจจะมีการสลายของเซลล์ของตาดำ ทำให้ตาดำทะลุ จึงมักให้ยาที่ช่วยชะลอหรือลดการสลายตัวของตาดำ ในขณะเดียวกันควบคุมการอักเสบด้วยยาต่างๆและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
- การผ่าตัดรายที่เป็นรุนแรง ในระยะยาวอาจมีการผ่าตัดดังต่อไปนี้
- ปลูกถ่ายเยื่อบุตาหรือเซลล์ตัวอ่อนที่เสียหายไป
- เปลี่ยนกระจกตาในกรณีตาทะลุ
แพทย์มีคำแนะนำป้องกันสารเคมีเข้าตาอย่างไร?
จะเห็นได้ว่า วิธีที่ง่ายกว่าในการดูแลเรื่องสารเคมีเข้าตาคือ
- การพยายามป้องกันไม่ให้สาร เคมีเข้าตา ต้องตระหนักว่าอะไรบ้างเป็นสารเคมีซึ่งเป็นอันตรายต่อดวงตา ทั้งของใช้ในบ้าน เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ และปุ๋ยเคมีในการปลูกต้นไม้ ดังนั้น การใช้ของเหล่านี้ต้องระวังการกระเด็นเข้าดวงตา
- อาจต้องสวมใส่แว่นตาช่วยในการเปิดหรือในการเท
- หรือต้องหลับตาขณะเปิดใช้
- หรือเปิดใช้ให้ไกลลูกตาเท่าที่จะทำได้
- ส่วนเมื่อต้องทำงานกับสารเคมีต่างๆ
- ควรปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ หรือคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน
- รวมทั้งอาจจำเป็นต้องสวมใส่อุปกรณ์ปกป้องดวงตาขณะทำงานสม่ำเสมอตามกฎระเบียบ
- และผู้รับผิดชอบ อาจจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมพนักงานในเรื่องการป้องกันเหล่านี้