สารสื่อประสาท (Neurotransmitter)

สารบัญ

บทนำ

โรคทางระบบประสาทหลายโรคเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) และโรคมายแอสทีเนียการ์วิส หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis เรียกย่อว่า โรค MG) และ โรคลมชัก

สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ถึงเป็นสาเหตุของการเกิดโรคทางระบบประสาทได้ บทความนี้จะกล่าวถึงความสำคัญของสารสื่อประสาท เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและสามารถนำมาใช้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงได้ในระดับหนึ่ง

สารสื่อประสาทคืออะไร?

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การทำงานของระบบประสาทนั้น เริ่มต้นจากสมองนั้นคิดว่าเราจะทำอะไร ก็จะมีคำสั่งออกมาจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่นั้นๆ แล้วคำสั่งนั้นก็ถูกส่งไปตามทาง เดินของสัญญาณประสาท เช่น ไขสันหลัง เส้นประสาท และกล้ามเนื้อที่ต้องทำกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งการส่งสัญญาณประสาทนั้นบางส่วนก็มีการติดต่อกันจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง แต่บางจุดก็ไม่มีการเชื่อมต่อโดยตรง เช่น ระหว่างเซลล์ประสาทกับเซลล์ประสาท หรือจากปลายเส้นประสาทไปยังกล้ามเนื้อ ตรงจุดการเชื่อมต่อนี้เอง ที่ต้องอาศัยสารสื่อประสาทเพื่อการเชื่อมโยงสัญ ญาณประสาทระหว่างรอยต่อดังกล่าว ให้การเดินทางของสัญญาณประสาทดังกล่าวครบวงจร และเกิดการทำงานตามคำสั่งของสมองได้

ดังนั้นสารสื่อประสาท คือ สารเคมีที่สร้างจากปลายเซลล์ประสาทหรือตัวเซลล์ประสาท และหลั่งออกจากปลายประสาท เพื่อเป็นตัวนําสัญญาณประสาท (Neurotransmission) ผ่านรอยต่อระหว่างเซลล์ประสาท ที่เรียกว่า ไซแนปส์ (Synapse) หรือ ช่องว่างระหว่างเซลล์ประ สาทกับเซลล์กล้ามเนื้อ หรือ ช่องว่างระหว่างเซลล์ประสาทกับเซลล์ประสาท เพื่อให้วงจรการทำงานของระบบประสาทเกิดความสมบูรณ์ และเกิดการทำงานขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสร้างและการทำงานของสารสื่อประสาทเกิดได้อย่างไร?

สารสื่อประสาทถูกสร้างขึ้นบริเวณปลายประสาท หรือสร้างจากกระบวนการสังเคราะห์สารโปรตีนทั่วไป จากนั้นจะถูกเก็บรักษาไว้ภายในกระเปาะที่ปลายประสาท ที่มีถุงขนาดเล็กและไมโตคอนเดรีย (Mitochondria, ชิ้นส่วนหนึ่งในเซลล์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างพลังงานของเซลล์) สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก จากนั้นจะถูกส่งไปยังเดนไดรต์ (Dendrite, แขนงเซลล์ประสาท) ของอีกเซลล์หนึ่ง ซึ่งจะมีรอยต่อระหว่างเซลล์ประสาทที่เรียกว่า ไซแนปส์ โดยสารสื่อประสาทที่ถูกปล่อยเข้าสู่ช่องไซแนปส์ จะไปจับกับโปรตีนตัวรับ (Receptor) ที่เยื่อหุ้มเซลล์ประสาทหลังไซแนปส์ ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของไอออน (ตัวพาสัญญาณประสาท) ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ มีการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ไฟฟ้าที่เดนไดรต์ของเซลล์ประสาทหลังไซแนปส์ และทำให้เกิดการส่งกระแสประสาทต่อไปเรื่อยๆ จากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งจนครบวงจรของคำสั่งนั้นๆ

ชนิดและหน้าที่ของสารสื่อประสาทมีอะไรบ้าง?

สารเคมีที่พบว่าเป็นสารสื่อประสาท แบ่งออกเป็น

1.สารสื่อประสาทกลุ่มโคลิเนอร์จิค (Cholinergic) ได้แก่ อะซิทิลโคลีน (Acetylcholine ) บางครั้งเรียกย่อว่า โคลีน/Choline) โดยอะซิทิลโคลีนถูกสร้างที่ปลายประสาทที่เรียกว่า โคลิเนอร์จิค พบมากที่ปมประสาทอัตโนมัติ เส้นประสาทกาย (Somatic nervous system, เป็นส่วนของเส้นประสาทส่วนปลาย) เรตินา (จอตา) และระบบประสาทส่วนกลาง การออกฤทธิ์ของ อะซิทิลโคลีน จะจับกับตัวรับ ซึ่งมีคุณสมบัติต่างกัน 2 แบบ คือ

  • ตัวรับชนิดนิโคตินิค (Nicotinic) พบที่ปมประสาทอัตโนมัติ รอยต่อเส้นประสาทกับกล้ามเนื้อ (Neuromuscular junction) ทำให้เกิดการตอบสนองแบบกระตุ้น
  • ตัวรับชนิดมาสคารินิค (Muscarinic) แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ตัวรับ ชนิด M1 พบในระ บบประสาทส่วนกลาง มีฤทธิ์ในการกระตุ้น และ ตัวรับ ชนิด M2 พบที่กล้ามเนื้อหัวใจ มีฤทธิ์ยับยั้ง
    หน้าที่หลักของสารสื่อประสาทกลุ่มโคลิเนอร์จิค คือ
    • ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
    • ควบคุมความเฉลียวฉลาด กระบวนการเรียนรู้ ความจำ และความตื่นตัว/การรับรู้

2.สารสื่อประสาทกลุ่มอะดรีเนอร์จิค (Adrenergic) หรือ แคทเทอโคลามีน (Catechola mine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทกลุ่มโมโนเอมีน (Monoamine, กรดอะมิโนชนิดหนึ่ง) ได้แก่ สารนอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) สารอะดรีนาลีน (Adrenaline) และ สารโดปามีน (Dopa mine)

  • อะดรีนาลีนและนอร์อะดรีนาลีน มีการสังเคราะห์ที่เส้นประสาทอะดรีเนอร์จิคของต่อมหมวกไตส่วนใน แล้วถูกเก็บในรูปของแคทเทอโคลามีนในถุง เพื่อป้องกันการถูกทำลาย ทั้งนี้ ฤทธิ์ของแคทเทอโคลามีนแตกต่างกันในอวัยวะต่างๆตามชนิดของตัวรับซึ่งแบ่งได้ ดังนี้
  • ตัวรับชนิดอัลฟา แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
    • ตัวรับอัลฟา 1 (α1 receptor) พบที่หลอดเลือดของไต หลอดเลือดดำทั่วร่างกาย กล้ามเนื้อม่านตา ลำไส้ เมื่อตัวรับนี้ถูกกระตุ้นจะทำให้หลอดเลือดหดตัว ม่านตาหด (รูม่านตาขยาย) ลำไส้เคลื่อนไหวลดลง
    • ส่วนตัวรับอัลฟา 2 (α2 receptor) พบที่กระเพาะอาหาร ตับอ่อน การกระตุ้นตัวรับนี้ จะให้ผลเป็นการยับยั้ง เช่น ยับยั้งการหลั่งน้ำย่อย และการหลั่งอินซูลิน (Insulin, ฮอร์โมนควบคุมน้ำตาลในเลือด) ของตับอ่อน ลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร
  • ตัวรับเบตา (Beta receptor) แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
    • ตัวรับเบตา 1 (β1 receptor) พบที่กล้ามเนื้อหัวใจ ไต ลำไส้ หลอดเลือดแดงฝอยที่ไต เซลล์ไขมัน การกระตุ้นตัวรับนี้จะทำให้หัวใจบีบตัวแรงและเต้นเร็วขึ้น หลอดเลือดขยาย ไตหลั่งสารรีนิน (Renin, ฮอร์โมนช่วยควบคุมสมดุลของเกลือโซเดียม และความดันโลหิต) เพิ่มการสลายไขมัน และทำให้ต่อมใต้สมองส่วนหลังหลั่งฮอร์โมนควบคุมการดูดน้ำจากไตกลับเข้าร่าง กาย (Antidiuretic hormone : ADH) และ
    • ตัวรับเบต้า 2 (β2 receptor) พบที่กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดแดงเล็ก ปอด กระ เพาะอาหาร ถุงน้ำดี มดลูก กล้ามเนื้อลาย ตับอ่อน เมื่อถูกกระตุ้นจะทำให้ หลอดเลือดแดงในปอด หัวใจ ไตและกล้ามเนื้อลายขยายตัว หลอดลมขยายและขับเมือกมากขึ้น ลำไส้ลดการบีบตัว กล้ามเนื้อลายหดตัว และตับอ่อนหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น

    อะดรีนาลีนและนอร์อะดรีนาลีนจะมีผลต่อการตื่นตัวของอารมณ์ กระฉับกระเฉง มีสมาธิมากขึ้น ไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆรอบตัว เป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ มีอารมณ์พึงพอ ใจ ปีติยินดี รักใคร่ชอบพอ เรียบเรียงความนึกคิด และการทำหน้าที่ของสมองในการควบคุมการเคลื่อนไหว
  • โดปามีน จะถูกสร้างมาจากกรดอะมิโนที่ชื่อไทโรซีน (Tyrosine) นอกจากนี้โดปามีนยังจัดเป็นนิวโรฮอร์โมน (Neurohormone, ฮอร์โมนของระบบประสาท) ที่หลั่งจากสมองส่วน ไฮโปธาลามัส โดปามีนออกฤทธิ์ผ่านตัวรับโดปามีนที่เป็นโปรตีนซึ่งอยู่บนเยื่อหุ้มเซลล์ โดปามีนทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวต่ออารมณ์ของบุคคล ช่วยให้มีความตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิมากขึ้น ไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆรอบตัว

3.ซีโรโตนีน (Serotonin) สร้างจากสารตั้งต้น คือ กรดอะมิโน ชื่อTryptophan ช่วยควบ คุมการนอนหลับระยะหลับตื้น ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย สภาวะอารมณ์ และการรับรู้ความรู้สึก ความเจ็บปวด ทำงานสัมพันธ์กับโดปามีน และเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ

4.สารสื่อประสาทที่เป็นกรดอะมิโน (Amino group) ประกอบด้วย

  • แกมมาอะมิโนบิวไทริคแอซิด หรือ กาบา (Gamma - aminobutyric acid (GABA)) เป็นสารสื่อประสาท ชนิดยับยั้ง ออกฤทธิ์ยับยั้งสัญญาณประสาทก่อนถึงจุดประสาน เป็นสารสื่อประสาทที่พบมากในสมองและไขสันหลัง เป็นสารสื่อประสาทชนิดที่ผ่านบริเวณเชื่อมต่อระ หว่างเซลล์ประสาท จึงทำให้กระแสประสาทผ่านได้น้อยลง เพื่อรักษาสมดุลในสมองที่ได้รับการกระตุ้น ทำให้ผ่อนคลายและหลับสบาย ช่วยกระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior pitui tary gland) ที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต ทำให้สร้างเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ ป้องกันการสะสมไขมัน
  • ไกลซีน (Glycine) เป็นสารสื่อประสาทชนิดยับยั้ง พบมากที่เซลล์เชื่อมของไขสันหลังและของสมองส่วนที่เรียกว่า เมดัลลา (Medulla) และพอนส์ (Pons)
  • กลูตาเมต (Glutamate) และ เอสปาร์เทต (Aspatate) เป็นสารสื่อประสาทชนิดกระตุ้น พบมากในระบบประสาทส่วนกลาง มีความสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ และความจำ

5.นิวโรเปปไตด์ (Neuropeptide) เป็นสารสื่อประสาทที่มีความแรงของการออกฤทธิ์สูง จึงมีปริมาณต่ำ โดยทั่วไปมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ช้า สารสื่อประสาทในกลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่

  • โอพิออยด์ เปปไตด์ (Opioid peptide) เช่น ไดนอฟฟิน, เอนโดร์ฟิน (Endorphin) มีโครงสร้างคล้ายมอร์ฟีน (Morphine) ทำหน้าที่ยับยั้งการส่งสัญญาณความเจ็บปวด
  • ซับสแตน –พี (Substance-P) เป็นสารที่พบมากในลำไส้ จากการศึกษาในเนื้อเยื่อที่เพาะเลี้ยงพบว่า จะหลั่งสารพีเมื่อได้รับสัญญาณกระตุ้นเป็นความเจ็บปวด เมื่อฉีดสารพีเข้ากล้ามเนื้อจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว

6.ฮีสตามีน (Histamine) เป็นสารพบมากในต่อมใต้สมอง มีตัวรับ 2 ชนิดคือ H1 และ H2 receptor หน้าที่ของฮีสตามีนในสมองเชื่อว่า เกี่ยวข้องกับการควบคุม การดื่มน้ำ การหลั่งฮอร์ โมน ADH (ฮฮร์โมนควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย) การอาเจียน การตื่น การควบคุมอุณหภูมิ และ การทำงานของต่อมใต้สมองส่วนหน้า

อาการจากการขาดสารสื่อประสาทเป็นอย่างไร

อาการจากการขาดสารสื่อประสาทส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นตามหน้าที่ของสารสื่อประสาทนั้น โดยแบ่งตามกลุ่มสารสื่อประสาท ดังนี้

  • สารสื่อประสาทกลุ่มโคลิเนอร์จิค
    หากพบภาวะขาดสารสื่อประสาทกลุ่มนี้ในระบบประสาทส่วนปลาย จะพบความผิดปกติของการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย และในบางครั้งจะมีภาวะที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันทำ ลายตัวรับบนกล้ามเนื้อ จะส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis)
    ถ้าพบภาวะขาดสารสื่อประสาทกลุ่มนี้ในระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมาธิลดลง ขี้ลืม ความจำไม่ดีโดยเฉพาะความจำระยะสั้น นอนหลับไม่สนิท และโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์
  • สารสื่อประสาทกลุ่มอะดรีเนอร์จิค
    • อะดรีนาลีน: หากร่างกายขาดอะดรีนาลีน จะทำให้เราขาดความสุข ขาดความผ่อนคลาย เจ็บปวดง่าย รู้สึกไม่พึงพอใจในสิ่งต่างๆ และอารมณ์ที่ไม่เป็นสุข
    • นอร์อะดรีนาลีน: หากร่างกายขาดนอร์อะดรีนาลีน อาจเกิดการไม่ตื่นตัว ความจำและการเรียนรู้ก็ลดลง อาจเกิดโรคซึมเศร้า
    • โดปามีน: ถ้าโดปามีนต่ำ มีผลต่อความจำที่ใช้กับการทำงานที่กระตุ้นให้คิด จนอาจจะไม่สามารถมีสติควบคุมความคิดของตนเองได้ มีการศึกษามากมายพบว่าภาวะโดปามีนต่ำจะส่ง ผลให้เกิดโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ถึงอย่างไรก็ตาม หากพบว่าโดปามีนนั้นสูงมากเกินไป อาจส่งผลให้เป็นโรคจิตประสาทหลอนได้
  • ซีโรโตนิน ถ้าขาดซีโรโตนิน จะพบมีอาการซึมเศร้า ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลด ลง ซึมเศร้า กังวล ย้ำคิด กลัว คิดแง่ไม่ดี หงุดหงิด ไม่อดทน คิดฆ่าตัวตาย ความเชื่อมั่นลดลง โกรธง่าย ก้าวร้าว นอนไม่หลับ นอนหลับตื้น (นอนหลับไม่สนิท)
  • สารสื่อประสาทที่เป็นกรดอะมิโม
    • กาบา: ถ้าระดับกาบาต่ำ จะเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ และอาจมีผลต่ออา การชักได้
    • กลูตาเมต: ถ้าปริมาณกลูตาเมตต่ำ จะส่งผลต่อการเรียนรู้และจดจำ แต่ในขณะเดียว กัน ถ้าระดับกลูตาเมตมากจนเกินไป จะมีผลต่อการทำลายเซลล์ประสาท และกระตุ้นเซลล์ประ สาทมากจนเกินไป เช่น อาการชัก
อนึ่ง ในส่วนสารสื่อประสาทกลุ่มที่ 5 และ 6 นั้น ไม่ส่งผลให้เกิดโรคหรืออาการผิดปกติโดยตรง เพราะไม่ได้เป็นองค์ประกอบหลักของการเกิดโรคโดยตรง

การผิดปกติของสารสื่อประสาทพบได้บ่อยไหม?

การผิดปกติของสารสื่อประสาทพบบ่อยมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นกับโรคที่พบนั้นขาดสารสื่อประสาทชนิดไหน เช่น

  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบในวัยรุ่น วัยกลางคน
  • โรคพาร์กินสัน พบในผู้สูงอายุ ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • ส่วนโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์นั้นพบในผู้สูงอายุ
  • โรคซึมเศร้า โรคจิตเวช พบในวัยกลางคน เป็นต้น

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของสารสื่อประสาท?

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความผิดปกติของสารสื่อประสาทนั้นขึ้นอยู่กับโรคนั้นๆ เช่น

  • โรคกล้ามเนื้ออ่นแรง พบปัจจัยเสี่ยงคือ ผู้ป่วยโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน (เช่น โรคเอส แอล อี)
  • และโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคพาร์กินสัน ปัจจัยเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุที่มีประวัติอุบัติเหตุที่ศีรษะ นักมวย เป็นต้น

เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการผิดปกติ ก็ควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรรอ เพราะการรักษาในปัจจุบัน บางโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี ถ้าเริ่มมีอาการหนังตาตก มองเห็นภาพซ้อน ก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะถ้าเริ่มให้การรักษาตั้งแต่ต้น โอกาสหายขาดก็มีสูง เช่นเดียวกับโรคพาร์กินสัน ถ้ามาพบแพทย์เร็ว ก็สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้มาก และมีการใช้ยาป้องกันการเสื่อมของเซลล์สมอง ซึ่งสามารถชะลออาการของโรคได้ เป็นต้น

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเกิดการผิดปกติของสารสื่อประสาท?

แพทย์ไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ป่วยเกิดการขาดสารสื่อประสาทชนิดใด และในทางปฏิบัติทั่วไป แพทย์จะไม่มีการส่งตรวจวัดระดับสารสื่อประสาท มีแต่การตรวจเฉพาะในห้อง ปฏิบัติการวิจัยเท่านั้น

ดังนั้นแพทย์จะวินิจฉัยว่า อาการผิดปกติของผู้ป่วยเกิดจากโรคอะไรก่อน เช่น โรคกล้าม เนื้ออ่อนแรงเอมจี โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคซึมเศร้า และ โรคลมชัก ซึ่งโรคเหล่านี้ได้มีการศึกษาแล้วว่า สาเหตุเกิดจากมีความผิดปกติเกี่ยวกับสารสื่อประสาท ดังนั้น เมื่อวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร แพทย์จึงสรุปตามมาว่า โรคนั้นๆของผู้ป่วยเกิดจากมีความผิดปกติของสารสื่อประสาท

รักษาโรคที่มีความผิดปกติของสารสื่อประสาทได้อย่างไร?

การที่แพทย์ทราบว่าโรคแต่ละโรคนั้นมีกลไกการเกิดโรคจากการขาดสารสื่อประสาท ดัง นั้นการรักษาโรคเหล่านี้ จึงมุ่งไปที่การปรับสารสื่อประสาทต่างๆที่เกี่ยวข้องตามแต่ละโรค ให้เกิดความสมดุล เช่น โรคพาร์กินสัน เกิดจากการขาดสารสื่อประสาทโดปามีน และทำให้เสมือนมีสารสื่อประสาทโคลีนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเกิดการไม่สมดุลของสารสื่อประสาททั้งสองชนิด ดังนั้นการรักษาจึงให้ยาเพิ่มสารฯโดปามีน (Dopaminergic) และยับยั้งสารฯโคลีน เป็นต้น

การพยากรณ์โรคที่เกิดจากสารสื่อประสาทเป็นอย่างไร? รักษาหายไหม?

โรคส่วนใหญ่มีการพยากรณ์ (ผลการรักษา) โรคที่ดี เพราะสามารถให้การรักษาได้โดย ตรงตามกลไกการเกิดโรคนั้น เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรือโรคพาร์กินสัน ก็สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ ถึงแม้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ก็ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตเหมือนคนปกติได้

เมื่อมีความผิดปกติของสารสื่อประสาทควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองที่ดี เมื่อมีโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของสารสื่อประสาท คือ

  • การทานยาที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
  • ออกกำลังกาย
  • ออกกำลังสมอง (อ่านเพิ่มเติม วิธีออกกำลังสมอง ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง สมองฝ่อ)
  • ไม่เครียด
  • ผ่อนคลายและการทำสมาธิ
  • พบแพทย์ตามนัด
  • และเมื่อทานยาแล้วมีผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง หรือการแพ้ยาเกิดขึ้น ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อที่แพทย์จะได้ปรับการรักษาให้เหมาะสม เกิดผลเสียน้อยที่สุด
  • ที่สำคัญไม่ควรทานยาสมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่างๆ เพราะมีโอกาสเกิด ผลเสียจากยาที่ทำปฏิกิริยากับสมุนไพร และ/หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้รับร่วมด้วย

สามารถป้องกันไม่ให้ขาดสารสื่อประสาทได้หรือไม่?

การทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและครบห้าหมู่ (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่) และการดูแลร่างกายให้แข็งแรง มีสุขภาพที่ดีนั้น ก็เป็นการป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดสารสื่อประสาท ร่วมกับ การออกกำลังสมองที่สม่ำเสมอ (อ่านเพิ่มเติม วิธีออกกำลังสมอง ในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง สมองฝ่อ) ก็เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ที่จะช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง ที่ไม่ให้ร่างกายมีความผิดปกติของสารสื่อประสาท