สารระงับกลิ่นกาย หรือ สารระงับกลิ่นตัว (Deodorant)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 20 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- สารระงับเหงื่อ (Antiperspirant)
- ภาวะหลั่งเหงื่อมาก (Hyperhidrosis)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- สารระงับกลิ่นกายคืออะไร?
- สารระงับกลิ่นกายมีส่วนประกอบอะไรบ้าง?
- สารระงับกลิ่นกายมีจำหน่ายในรูปแบบใด?
- มีข้อบ่งใช้สารระงับกลิ่นกายอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้สารระงับกลิ่นกายอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้สารระงับกลิ่นกายอย่างไร?
- การใช้สารระงับกลิ่นกายในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้สารระงับกลิ่นกายในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้สารระงับกลิ่นกายในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้สารระงับกลิ่นกายอย่างไร?
- บรรณานุกรม
สารระงับกลิ่นกายคืออะไร?
สารระงับกลิ่นกาย/ยาระงับกลิ่นกาย/สารระงับกลิ่นตัว/ยาระงับกลิ่นตัว(Deodorant) เป็นผลิตภัณฑ์ที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (United States Food and Drug Administration, U.S. FDA) จัดให้อยู่ในประเภทของเครื่องสำอาง ใช้ลดการเกิดกลิ่นกาย/กลิ่นตัว ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บริเวณต่อมเหงื่อจะปล่อยของเสียจากตัวมันออกมาสู่ร่างกายมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีกลิ่นไม่พึงประสงค์(กลิ่นกาย/กลิ่นตัว)เกิดขึ้นในบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น ใต้วงแขน(รักแร้) เท้า(โดยเฉพาะซอกนิ้วเท้า) และบริเวณอื่นๆในร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม สารระงับกลิ่นกายนี้ ไม่มีฤทธิ์ระงับการเกิดเหงื่อ/หรือเป็นสารระงับเหงื่อ (Antiperspirant) ทำให้เมื่อใช้สารนี้ เหงื่อจึงยังสามารถออกได้ตามปกติ
สารระงับกลิ่นกายมีส่วนประกอบอะไรบ้าง?
สารระงับกลิ่นกาย มีส่วนประกอบหลักในตำรับผลิตภัณฑ์ ดังนี้
1. สารต้านเชื้อจุลชีพ (Antimicrobial agents)โดยเฉพาะ ต้านเชื้อ แบคทีเรีย : เช่น ไตรโคลซาน (Triclosan), ซิงค์ริซิโนลีเอต (Zinc Ricinoleate), ไตรเอทิลซิเตรต (Triethyl citrate), สารประกอบเชิงซ้อนคอปเปอร์คลอโรฟิลล์ลิน (Chlorophyllin copper complex), อะลูมิเนียมอลัมหรือสารส้ม (Aluminium alum)
2. น้ำหอม (Fragrances, Perfumes): ซึ่งจะให้กลิ่นแตกต่างกันไปตามผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตัวอย่างเช่น เจอรานิออล (Geraniol), ยูจีนอล (Eugenol), ไฮดร็อกซีซิโทรเนลลัล (Hydroxycitronellal)
นอกจากนี้สารระงับกลิ่นกาย ยังมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ใช้เป็นตัวทำละลายในสูตรตำรับผลิตภัณฑ์ และทำหน้าที่เสริมฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียด้วย
สารระงับกลิ่นกายมีจำหน่ายในรูปแบบใด?
สารระงับกลิ่นกายมีจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ เช่น
- โลชั่น (Lotion)
- ครีม (Cream)
- แท่ง (Stick)
- ผง (Powder)
- สเปรย์ (Aerosol)
- ลูกกลิ้ง (Roll-on)
- เจล (Gel)
มีข้อบ่งใช้สารระงับกลิ่นกายอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้สารระงับกลิ่นกาย ดังนี้ เช่น
1. สารต้านจุลชีพ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย: ใช้ฆ่าและหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย จึงลดกลิ่นกายที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียได้
2. น้ำหอม: ทำหน้าที่บดบังกลิ่นกายที่เชื้อเแบคทีเรียสร้างขึ้นมาแล้ว
มีข้อห้ามใช้สารระงับกลิ่นกายอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้สารระงับกลิ่นกาย ดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ส่วนประกอบต่างๆในผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น หากผู้บริโภคแพ้น้ำหอม ควรเลือกใช้สารระงับกลิ่นกายชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม (Fragrance-free deodorant) เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้สารระงับกลิ่นกายอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้สารระงับกลิ่นกาย ดังนี้ เช่น
1. สารระงับกลิ่นกายชนิดต่างๆ อยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะภายนอกเท่านั้น ห้ามกลืน หรือรับประทาน ผลิตภัณฑ์
2. ระวังการใช้สารระงับกลิ่นกาย เมื่อมี แผล รอยถลอก/แผลถลอก ในบริเวณผิวหนังที่ใช้สารนี้ หรือใช้หลังจากการโกนขนทันที
3. หากใช้สารระงับกลิ่นกายแล้วมีอาการ ระคายเคือง คัน แดง มีรอยถลอก หรือผื่นขึ้นบริเวณที่ใช้ ควรหยุดใช้ทันที
4. เมื่อใช้สารระงับกลิ่นกายในรูปแบบสเปรย์ ควรหลีกเลี่ยงการฉีดพ่นบริเวณใบหน้าและปาก เพื่อป้องกันการสูด/สูดหายใจ ที่นำสารเข้าไปในร่างกาย
การใช้สารระงับกลิ่นกายในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
สารระงับกลิ่นกาย เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ แต่ต้องระมัดระวังผลิตภัณฑ์บางชนิด ที่มีส่วนผสมของทั้งสารระงับกลิ่นกายและสารระงับเหงื่อ (Antiperspirant) ผสมอยู่ด้วยกัน เพราะสารระงับเหงื่อบางชนิดมีส่วนประกอบของเกลือของอะลูมิเนียม เช่น Aluminium chloride ซึ่งจัดเป็นยาที่อาจเกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ หรือเป็นยาที่ยังไม่เคยมีการศึกษาทั้งในหญิงตั้งครรภ์และในสัตว์ทดลอง ดังนั้นจึงควรใช้เมื่อประโยชน์ที่ได้รับ คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์เท่านั้น
การใช้สารระงับกลิ่นกายในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
สารระงับกลิ่นกายนั้น สามารถใช้ได้ในผู้สูงอายุ แต่ต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงเรื่องผื่นผิวหนัง เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีผิวแห้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อผิวหนังที่สัมผัสสารนี้เกิดอาการแพ้ เช่น ระคายเคือง ผื่นคัน บริเวณที่ใช้ผลิตภัณฑ์นี้
การใช้สารระงับกลิ่นกายในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้สารระงับกลิ่นกายในเด็ก ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพ ความปลอดภัย รวมถึงช่วงอายุที่แน่นอนสำหรับการเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ในวัยเด็ก ดังนั้นหากยังไม่จำเป็น สามารถเลือกใช้วิธีอื่นที่ช่วยระงับกลิ่นกายในวัยเด็กได้ เช่น รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยการอาบน้ำเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น อาบน้ำหลังจากทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก สวมเสื้อผ้าสะอาดเปลี่ยนใหม่ทุกวัน โปร่งสบาย ไม่รัดแน่น เป็นต้น
มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้สารระงับกลิ่นกายอย่างไร?
อาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากสารระงับกลิ่นกายพบได้น้อย เช่น อาจทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ คัน ระคายเคือง และรอยดำจากผื่นบริเวณที่ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่อาการแพ้เหล่านี้ เกิดจากการแพ้น้ำหอมที่ถูกผสมลงไปในผลิตภัณฑ์นั้นๆ
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม เครื่องสำอาง(รวมสารระงับกลิ่นกาย) และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กลิ่นตัว วิธีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/277/กลิ่นตัว-วิธีระงับกลิ่นตัว/ [2016,Oct29]
- Zirwas, M. J., and Moennich J., Antiperspirant and Deodorant Allergy Diagnosis and Management. Clinical Contact Dermatitis 1. (September 2008) : 38-43
- Scientific Committee on Consumer Safety. Opinion on the safety of aluminium in cosmetics products http://www.ec.europa.eu/health/scientific_committees/consumer_safety/docs/sccs_o_153.pdf" rel="external nofollow [2016,Oct29]
- U.S. Food and Drug Administration. Cosmetics Safety Q&A: Personal Care Products http://www.fda.gov/Cosmetics/ResourcesForYou/Consumers/ucm136560.html [2016,Oct29]