สารกันเสีย/สารกันบูด/ยากันบูด (Preservatives)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 กรกฎาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ใช้เกณฑ์อะไรบ้างในการจัดประเภทสารกันเสีย?
- สารกันเสียที่มีใช้ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง?
- พิษหรือผลอันไม่พึงประสงค์ของสารกันเสียมีอะไรบ้าง?
- ใช้ชีวิตอยู่กับสารกันเสียอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite)
- สารกันเสียในยา (Pharmaceutical Preservatives)
- วัตถุเจือปนในอาหาร (Food additive)
- สารฟอกขาวในอาหาร (Bleaching agents)
- สารก่อมะเร็ง (Carcinogen)
บทนำ
สารกันเสีย หรือเรียกชื่ออื่น เช่น สารกันบูด, ยากันบูด, วัตถุกันเสีย(Preservatives) หมายถึง สารประกอบที่ใช้เติมลงใน อาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค เครื่องสำอาง ตัวอย่างสารชีวภาพที่ใช้ในห้องทดลอง สี กาว ตลอดจนกระทั่งไม้ หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากไม้ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเสื่อมสลายจาก แบคทีเรีย เชื้อรา สารต้านอนุมูลอิสระ และโลหะหนัก ต่างๆ อาจแบ่งกระบวนการป้องกันมิให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเกิดการเสื่อมสภาพออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
1. โดยการใส่สารกันเสียลงในผลิตภัณฑ์ ปล่อยให้สารกันเสียทำหน้าที่ต่อต้านการเจริญเติบโตของ เชื้อแบคทีเรีย หรือรา ที่อาจปนเปื้อนลงสู่ผลิตภัณฑ์ สารกันเสียบางประเภทจะทำให้หน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระที่คอยทำให้ผลิตภัณฑ์เสื่อมสลายได้อย่างรวดเร็ว
2. โดยกระบวนการป้องกันทางกายภาพ เช่น การนำผลิตภัณฑ์เข้าช่องแช่แข็งของตู้เย็น การอบหรือตากแห้ง การรมควัน สามารถยืดอายุการจัดเก็บของผลผลิตได้ยาวนานด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ ไม่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
3. โดยธรรมชาติของตัวผลิตภัณฑ์เองสามารถป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และรา ได้ เช่น น้ำเชื่อมที่มีความเข้มข้นสูง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำมันละหุ่ง ล้วนแต่ปกป้องตัวเองได้โดยไม่ต้องใส่สารกันบูด
โลกปัจจุบัน สารกันบูดบางกลุ่มสามารถส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคได้โดยตรง โดยเฉพาะสารกันบูดที่ใส่ในอาหาร เช่น โซเดียม ไนไตรท์(Sodium nitrite)ที่ผสมลงในเนื้อสัตว์ เมื่อนำมาปรุงด้วยความร้อน โซเดียม ไนไตรท์ จะทำปฏิกิริยากับโปรตีนในเนื้อสัตว์และเปลี่ยนไปเป็นสาร เอน-ไนโตรซามีน (N-nitrosamine) ที่สามารถก่อมะเร็งได้ หรือการใช้ โซเดียม เบนโซเอท (Sodium benzoate)ใส่ในซอสมะเขือเทศสามารถป้องกันการบูดหรือการเสื่อมสภาพของซอสมะเขือเทศได้ยาวนานถึง 40 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม หากนำอาหารที่มี โซเดียม เบนโซเอทเป็นส่วนประกอบมาปรุงผสมร่วมกับ วิตามินซี จะได้สารก่อมะเร็งอีกตัวหนึ่ง คือ Carcinogenic benzene
อาจเป็นด้วยเหตุผลจากผลกระทบต่างๆดังกล่าว มนุษย์มีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารกันเสีย หรือที่เรียกกันว่า “Preservative free” มากยิ่งขึ้น เช่น ใช้วัตถุดิบที่สดจากธรรมชาติมาปรุงอาหารทันที อย่างไรก็ตามสภาพแวดล้อมในประเทศที่เป็นเมืองร้อนอย่างประเทศไทยที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างวันมากกว่า 30 องศาเซลเซียสเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆที่ปนเปื้อนใน อากาศ อาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ได้เป็นอย่างดี จึงอาจกล่าวว่า คงจะเป็นการยากที่จะไม่ใช้สารกันบูดเลย
ใช้เกณฑ์อะไรบ้างในการจัดประเภทสารกันเสีย?
มีการจัดหมวดหมู่สารกันเสียได้หลายแบบ อยู่ที่ว่าเราจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ เช่น
1. ใช้การออกฤทธิ์ต่อเชื้อโรคครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียร่วมกับเชื้อรา หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือออกฤทธิ์แบบต้านอนุมูลอิสระ หรือไม่ก็ออกฤทธิ์โดยเข้ารวมตัวกับโลหะหนัก
2. ใช้เกณฑ์ของผลิตภัณฑ์ ด้วยสารกันบูดแต่ละชนิดมีความเหมาะสมต่อผลิตภัณฑ์ที่ แตกต่างกันออกไป เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ฯลฯ
3. ใช้ธรรมชาติหรือคุณสมบัติของสารกันเสีย อาทิ เป็นสารกันเสียที่มีฤทธิ์เป็นกรด สารกันเสียที่มีโครงสร้างโมเลกุลเป็นเอสเทอร์ (Ester, สารเคมีชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์เป็นแอลกอฮอล์) สารกันเสียที่มีโครงสร้างของ หมู่แอลกอฮอล์ หรือ หมู่ฟีนอล(Phenol,สารเคมีชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์เป็นกรด) เป็นต้น
4. ใช้แหล่งกำเนิดของสารกันบูดเป็นเกณฑ์ โดยแบ่งเป็นสารกันเสียที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น หรือสารกันเสียที่ได้จากธรรมชาติ
สารกันเสียที่มีใช้ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง?
ในบทความนี้ขอใช้เกณฑ์การจัดกลุ่มสารกันเสียโดยอ้างอิงกับผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญดังนี้
1. สารกันเสียที่ใช้ในอาหารเพื่อปกป้องคุณประโยชน์และรูปลักษณ์ของอาหาร รวมถึงเพิ่มระยะเวลาในการจัดเก็บหรือยืดอายุได้ยาวนานขึ้น เช่น
- สารกันเสียที่ป้องกันการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา อาทิ Sodium benzoate, Benzoic acid, Sodium nitrite, Sulphur dioxide, Sodium sorbate, Sorbic acid, Propionic acid, และ Potassium sorbate
- สารกันเสียที่ป้องกันอาหารจากอนุมูลอิสระต่างๆ(Antioxidant) เช่น Vitamin C และ Butylated hydroxyanisole หรือย่อว่า BHA
- สารกันเสียที่ป้องกันอาหารจากโลหะหนัก(Chelating agent) เช่น Vitamin E ,Thiamine, Folic acid, และ EDTA (Ethylenediaminetetraacetic acid) สารเหล่านี้ จะป้องกันโลหะหนักที่เป็นสาเหตุทำให้ผลไม้และอาหารมีสีสันที่แตกต่างไปจากเดิม
2. สารกันเสียที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภท เบียร์ ไวน์ ไซเดอร์ และเครื่องดื่มประเภทมอลต์ เช่น Ascorbic acid, Calcium ascorbate, Erythorbic acid, Sodium ascorbate, Sulphites, Sodium benzoate, Benzoic acid, Sulphurous acid, Sorbic acid, Dimethyldicarbonate
3. สารกันเสียที่ใช้ในยารักษาโรค ซึ่งมีทั้ง ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ ยาฉีด ยาหยอดตา ยาขี้ผึ้ง ยาครีม วัคซีน เภสัชภัณฑ์ดังกล่าวก็มีความจำเป็นในการใช้สารกันเสียได้เช่นกัน อาจสรุปรายการสารกันเสียที่มีใช้ในผลิตภัณฑ์ยา ดังนี้ เช่น Phenol, Benzyl alcohol, Phenoxy ethanol, Metacresol, Benzalkonium chloride, Butyl paraben, Chlorobutanol, Chlorocresol, Methyl paraben, Ethyl alcohol, Propyl paraben
4. สารกันเสียที่ใช้กับสารชีวภาพ ตัวอย่างสารชีวภาพต่างๆ เช่น เนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต เลือด พลาสมา ปัสสาวะ อุจจาระ ผม ผิวหนัง ตัวอย่างชีวภาพหลายรายการเมื่อมีการเก็บรักษาเพื่อรอการนำไปใช้วิเคราะห์หรือนำไปช่วยเหลือผู้ป่วย สารกันเสียจะเข้ามามีบทบาทช่วยยืดอายุในระหว่างการจัดเก็บ ตัวอย่าง สารกันเสียที่พบเห็นการใช้กับสารชีวภาพ เช่น EDTA, Sodium citrate, Formaldehyde, Alcohol ผสมกับ Glycerine, Isopropyl alcohol, และ Ethyl alcohol
5. เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลความสะอาดของร่างกายหลายชนิด ก็จำเป็นต้องมี สารกันเสียเพื่อคงสภาพตัวผลิตภัณฑ์ให้มีระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการใช้งานของผู้บริโภค ตัวอย่างสารกันเสียที่ใช้กับเครื่องสำอาง ได้แก่ Germaben II, Methylparben, Propylparaben, Butylparaben, Germall plus, DMDM hydantoin, Imadozolidinyl urea, Diazolidinyl urea, Kathon, Phenoxyethanol, Benzoic acid, Sodium benzoate, Sorbic Acid, Potassium sorbate, Levulinic Acid, Anisic Acid, Methylisothiazolinone, Methylchloroisothiazolinone, Benzisothiazolinone
6. สีทาบ้าน ทาวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรต่างๆ ก็มีก็มีการใช้สารกันเสียเช่นกัน เช่น Dowicil 75
พิษหรือผลอันไม่พึงประสงค์ของสารกันเสียมีอะไรบ้าง?
พิษหรือผลอันไม่พึงประสงค์ของสารกันเสียสามารถเกิดกับระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบสืบพันธุ์ ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ และรวมถึง การระคายเคืองต่อผิวหนัง อันตรายเหล่านี้แฝงตัวมาแบบเงียบๆ การบริโภคหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารกันเสียมากผิดปกติ อาจทำให้ร่างกายมีการสะสมสารกันเสียเข้าไปด้วย ปัจจุบันผลิตภัณฑ์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือเครื่องสำอาง ก็มีการะบุชนิดของสารกันเสียไว้ที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคสามารถสังเกตและใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจในการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ
ขอยกตัวอย่างพิษหรือผลข้างเคียงของสารกันเสียบางรายการที่พบเห็นการใช้บ่อยๆโดยสังเขปดังนี้
1. Methylisothiazolinone: เป็นสารกันเสียที่ใช้มากในเครื่องสำอาง แชมพู โลชั่น สบู่อาบน้ำ สบู่ล้างมือและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดเสื้อผ้า หรือสุขภัณฑ์ หากมีการสะสมในร่างกายมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดพิษต่อ ปอด ระบบประสาท และกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนัง
2. Paraben : เป็นสารกันเสียที่นิยมใช้มากในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น Methylparaben Propylparaben, Ethylparaben และ Butylparaben การสะสมในร่างกายเป็นปริมาณ มากอาจทำให้เกิดพิษต่อระบบทางเดินสืบพันธุ์ ระบบประสาท ระคายเคืองผิวหนัง รวมถึงกระตุ้นการเกิดมะเร็ง
3. Methylchloroisothiazolinone: เป็นสารกันเสียที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย เครื่องสำอาง สารประกอบชนิดนี้ อาจกระตุ้นให้มีอาการแพ้ทางผิวหนัง ระคายเคืองตา ระคายเคืองในปอด
4. Benzisothiazolinone: สารกันเสียนี้ พบได้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย หากปนเปื้อนลงแหล่งน้ำอาจทำให้เกิดพิษต่อสัตว์น้ำอย่าง ปลา
5. BHA และ BHT (Butylated hydroxytoluene) : มักถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำมันต่างๆเพื่อป้องกันการเหม็นหืน ทั้ง BHA และ BHT สามารถสร้างผลกระทบต่อร่างกายคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน และสามารถกระตุ้นการเกิดมะเร็งในมนุษย์ได้ นอกจากนี้อาจส่งผลกระทบต่อระดับฮอร์โมนเทสทอสเตอโรน(Testosterone) และไทรอยด์ฮอร์โมน เราอาจหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี BHA หรือ BTH โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารกันเสียทั้ง 2 ตัวเป็นส่วนประกอบ
6. Phenoxyethanol : พบในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดส่วนบุคคล และเครื่องสำอาง อาการพิษที่เกิดขึ้นได้ เช่น ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อ ผิวหนัง ตา ปอด รวมถึงเป็นพิษต่อระบบประสาท
ใช้ชีวิตอยู่กับสารกันเสียอย่างไร?
หลักสำคัญในการใช้ชีวิตอยู่กับสารกันเสีย เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้สารกันเสียที่เป็นเคมีสังเคราะห์ และหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ สารกันเสียตามธรรมชาติ ฟังดูคงยากต่อการปฏิบัติ แต่ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราเป็นผู้ตัดสินใจเอง เช่น การบริโภคอาหารปรุงสุกใหม่ๆ และใช้วัตถุดิบสด ปราศจากสารกันเสีย
- ใช้วิธีถนอมอาหารทางกายภาพ เช่น นำเก็บในตู้เย็น หรือตากแห้ง หลีกเลี่ยง การใช้อาหารสำเร็จรูปที่มักใส่สารกันเสีย
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ การบริโภคอาหาร ที่มีสารกันเสียแบบซ้ำซาก เพื่อ ป้องกันการสะสมสารกันเสียในร่างกายอย่างต่อเนื่อง บริโภค ผักสด ผลไม้สด - ตรวจสอบรายการสารกันเสียบนฉลากของผลิตภัณฑ์ที่ต้องซื้อเข้าบ้าน ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารกันเสียที่ไม่เป็นมิตรต่อร่างกาย หรือต่อสภาพแวดล้อม
- ตุนอาหารสดและผลิตภัณฑ์ต่างๆเข้าบ้านเพียงพอประมาณ เพื่อช่วยลดการใช้ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารกันเสียทางอ้อม ด้วยของสดไม่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ
- ติดตามข่าวสารด้านสุขภาพหรือประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อได้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันทันสมัย และใช้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีสารกันเสียที่มิได้เป็นไปตามหลักวิชาการ และปฏิเสธการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น
- การใช้สารกันเสียในผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้น ผู้ผลิตต้องมีแนวนโยบายตั้งอยู่บน จรรยาบรรณ โดยใช้สารกันเสียที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคเท่านั้น
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Preservative [2018,June 23]
- https://www.chemicalsafetyfacts.org/preservatives/ [2018,June 23]
- http://www.holiday-weather.com/bangkok/averages/ [2018,June 23]
- http://www.srmuniv.ac.in/sites/default/files/downloads/Preservatives.pdf [2018,June 23]
- http://www.differencebetween.net/object/comparisons-of-food-items/difference-between-class-i-preservative-and-class-ii-preservative/ [2018,June 23]
- http://blog.oziva.in/class-1-preservatives-vs-class-2-preservatives-all-that-you-must-know/ [2018,June 23]
- http://www.foodadditivesworld.com/preservatives.html [2018,June 23]
- http://foodadditive.blogspot.com/2011/06/chelating-agents.html [2018,June 23]
- https://www.canada.ca/en/health-canada/services/food-nutrition/food-safety/food-additives/lists-permitted/11-preservatives.html [2018,June 23]
- https://www.unesda.eu/lexikon/preservatives/ [2018,June 23]
- https://www.lfatabletpresses.com/articles/preservatives-concentration-dosage-pharmaceutical-liquid-preparation [2018,June 23]
- http://www.labpedia.net/test/288 [2018,June 23]
- https://www.slideshare.net/nidasnangiana/methods-to-preserve-specimens [2018,June 23]
- http://microchemlab.com/five_most_common_types_of_preservatives_used_in_cosmetics [2018,June 23]
- http://msdssearch.dow.com/PublishedLiteratureDOWCOM/dh_0030/0901b80380030866.pdf?filepath=biocides/pdfs/noreg/253-00963.pdf&fromPage=GetDoc [2018,June 23]
- https://www.forceofnatureclean.com/avoid-preservatives-chemical-free-products/ [2018,June 23]
- https://www.wikihow.com/Eat-Foods-Without-Preservatives [2018,June 23]