สังคัง โรคสังคัง (Tinea cruris)

สารบัญ

บทนำ

โรคสังคัง (Tinea Cruris) เป็นโรคเชื้อราผิวหนังที่พบได้บ่อย มักเกิดในบริเวณขาหนีบ และอาจลามมาที่อวัยวะเพศ เกิดจากเชื้อราในกลุ่ม Dermatophyte โดยเป็นโรคที่พบได้มากในภูมิอากาศร้อนชื้น พบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก และพบในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิงเป็น 3 เท่า

สาเหตุและกลไกการเกิดโรคสังคังคืออะไร?

สังคัง

สังคัง เกิดจากการติดเชื้อรา กลุ่มที่เรียกว่า Dermatophyte โดยเชื้อรานี้จะย่อยสลายสารเคอราติน (Keratin) ในชั้นหนังกำพร้า ทำให้เกิดรอยโรคที่มีลักษณะเป็นผื่นอักเสบที่มีสีแดง และเป็นขุย (เป็นผงที่ติดอยู่บนผิวหนังที่อักเสบ)

การติดเชื้อรานั้น เกิดจากการติดเชื้อรามาจากบริเวณอื่นของร่างกายตนเองเช่น ติดมาจากเชื้อราบริเวณ มือ เท้า หรือติดมาจากสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้มีเชื้อรานี้ เช่น ผ้าขนหนู เสื้อผ้า หวี กรรไกรตัดเล็บ เป็นต้น

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคสังคัง?

หลังจากติดเชื้อราโรคสังคัง เหงื่อและความอับชื้นจะทำให้เชื้อราเจริญเติบโตและเพิ่มจำ นวนมากขึ้น ดังนั้น โรคนี้จึงจึงพบได้บ่อยในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก ร่างกายและซอก/รอยพับต่างๆอับชื้น เช่น นักกีฬาที่เหงื่อออกมาก หมักหมม เป็นเวลานาน, ในผู้ป่วยเบาหวาน, ในคนอ้วน

โรคสังคังมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคสังคัง คือ มีผื่นแดงคัน มีขุย ขอบของผื่นนูนชัด ผื่นแดงอาจเป็นแผ่น หรือเป็นวง ขึ้นกับชนิดย่อยของเชื้อรา Dermatophyte ผื่นมักมีอาการคัน และ/หรือแสบ พบได้ทั้งบริเวณขาหนีบ หัวหน่าว รอบปากทวารหนัก

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่? แพทย์วินิจฉัยโรคสังคังได้อย่างไร?

หากมี ผื่นแดง คัน โดยเฉพาะที่ขาหนีบ และผื่นไม่หายไป หรือเป็นมากขึ้น ควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งโดย การสอบถามประวัติอาการ ประวัติทางการ แพทย์ต่างๆ การตรวจดูรอยโรค และอาจมี การตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยแพทย์อาจขูดขุยผิวหนังบริเวณรอยโรคไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูเชื้อรา ซึ่งถ้าพบเป็นรอยโรคจากเชื้อรา ก็จะให้การรักษาต่อไป

แพทย์รักษาโรคสังคังอย่างไร?

การรักษาโรคสังคัง ได้แก่

  • ยาทา เช่น ยา Ketoconazole, Clotrimazole โดยทาผื่นให้ทั่วหลังอาบน้ำ เช้า-เย็น เป็นเวลานานประมาณ 2-4 สัปดาห์
  • ยารับประทาน ใช้ในกรณีที่รอยโรคมีขนาดกว้าง โรคเป็นเรื้อรัง และ/หรือไม่ตอบสนองต่อยาทา ซึ่งควรต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งยาให้ ยาที่ใช้ในการรักษาเช่น Griseofluvin, Ketocona zole, Itraconazole, Terbinafine ซึ่งยาแต่ละตัวมีผลข้างเคียง (เช่น ท้องเสีย ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน นอนไม่หลับ ตับอักเสบ และแพ้ยา) และระยะเวลาในการรักษาต่างกัน จึงจำ เป็นต้องสั่งยาโดยแพทย์ และรวมทั้งราคายาก็แตกต่างกันด้วย โดยทั่วไประยะเวลาในการรักษาประมาณ 1-4 สัปดาห์

โรคสังคังก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากโรคสังคัง เช่น อาการคันในร่มผ้า, แผลถลอกเกิดติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน หรือติดเชื้อราชนิดแคนดิดา (Candida) ซ้ำซ้อน ทำให้เจ็บที่ผื่น อาจมีหนอง, มีรอยดำของผื่นหลังการอักเสบ ซึ่งจะค่อยๆจางหายไปหลังการรักษา

โรคสังคังมีพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคสังคังมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หาย/ตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา แต่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้เสมอ หากมีการอับชื้นอีก

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคสังคัง?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคสังคัง ได้แก่

  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู กรรไกรตัดเล็บ หวี
  • ใส่เสื้อผ้าที่โปร่งระบายอากาศได้ดี ไม่รัดตัวมาก
  • ในรายที่มีเชื้อราที่เท้าร่วมด้วย เมื่อแต่งตัว แนะนำให้สวมถุงเท้าก่อนสวมกางเกงชั้นในเพื่อป้องกันการพาเชื้อราจากเท้าไปที่บริเวณขาหนีบ
  • หลังอาบน้ำ ให้เช็ดบริเวณขาหนีบให้แห้งด้วยผ้าขนหนูแยกชิ้นจากที่เช็ดบริเวณอื่น แล้วจึงค่อยทายา
  • ในรายที่สาเหตุของความอับชื้นมาจากความอ้วน แนะนำให้ลดน้ำหนักด้วย เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำๆ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

หลังการรักษา หากผื่น กระจายเป็นบริเวณกว้างมากขึ้น ควรกลับมาพบแพทย์ก่อนนัด เพื่อการตรวจเช็คซ้ำว่า เป็นการติดเชื้อราชนิดอื่นหรือไม่, มีการติดเชื้ออื่นๆแทรกซ้อนหรือไม่, และ/หรืออาจต้องปรับชนิดและขนาดยา

ป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคสังคังได้อย่างไร?

ป้องกันโรคสังคังได้โดย

  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู กรรไกรตัดเล็บ หวี
  • ใส่เสื้อผ้าที่โปร่งระบายอากาศได้ดี ไม่รัดแน่น
  • ล้างมือบ่อยๆเป็นประจำ
  • ทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม ผ้าปูที่นอน ด้วยการซักและตากแดดจัด

บรรณานุกรม

  1. Klaus Wolff, Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest, Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; seven edition ; Mc Grawhill medical
  2. Tinea cruris: medscape ; http://emedicine.medscape.com/article/1091806-overview [2013,Nov25].
  3. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2548, 231-234.
  4. Dermatophyte ; Center of Disease control and prevention ; http://www.cdc.gov/fungal/dermatophytes/ [2013,Nov25].
  5. Guideline of management for superficial fungal infection : สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์